มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII

มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII
ขณะที่ชายหนุ่มจากกองทัพอักษะและสัมพันธมิตรวิ่งเข้าใส่กันในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนทางกับเหล่าพลเรือนที่พยายามหนีให้ห่างจากเขตต่อสู้ ช่างภาพสาวคนหนึ่งกลับยืนยันที่จะวิ่งเข้าดงกระสุนพร้อมพวกทหาร เธอเคยอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกยิงจนตกแต่รอดมาได้ พออยู่บนเรือโดยสารก็ถูกขีปนาวุธพิสัยใกล้ยิงจนล่ม เธอก็รอดมาได้อีกครั้ง แถมตอนที่นักข่าวต่างชาติทุกคนหนีออกจากมอสโกเพราะนาซีบุกถล่มเมือง เธอยังคงอยู่ในเมืองไม่ไปไหน เรื่องราวถูกเล่าต่อกันในกองทัพจนพวกผู้ชายตั้งฉายาให้สาวคนนี้ว่า ‘แม็กกี้ฆ่าไม่ตาย’ ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในยุคสมัยที่ไม่สามารถเปิดกูเกิ้ลหรือชมถ่ายทอดสดการรบผ่านโทรทัศน์ สิ่งที่ทำให้ประชาชนรับรู้ความเป็นไปของโลก คือ แถลงการณ์ของผู้นำแต่ละประเทศ ข่าวจากวิทยุกระจายเสียงและบทความกับภาพถ่ายบนหน้าหนังสือพิมพ์ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์ (Margaret Bourke-White) ช่างภาพควบตำแหน่งนักข่าว ต้องการเผยแพร่เรื่องราวของสงครามที่เห็นด้วยตาตัวเองมากกว่ารอรับข้อมูลจากนักข่าวชายภาคสนาม เธอจึงขออยู่หน้าด่านร่วมกับทหารยศเล็ก ๆ รวมถึงติดสอยห้อยตามนายพลไปยังค่ายกักกันของนาซี มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มาร์กาเร็ตเติบโตมากับพ่อผู้เป็นวิศวกรลูกครึ่งยิว-โปแลนด์ ส่วนแม่เป็นสาวอังกฤษ แต่ทั้งหมดย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในมหานครนิวยอร์กตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์กาเร็ตเรียนจบมหาวิทยาลัยพร้อมกับการจากไปของบิดา เธอตัดสินใจเปิดสตูดิโอถ่ายภาพของตัวเองในรัฐโอไอโอ เน้นหนักไปทางภาพถ่ายเชิงสถาปัตยกรรมและอุตสาหกรรม เดินหน้าเป็นช่างภาพอาชีพแบบเต็มตัว ได้ร่วมงานกับ โอทิส สตีล คัมพานี (Otis Steel Company) ทำให้ได้เดินทางถ่ายภาพในโรงงานที่สหภาพโซเวียต มีโอกาสเก็บเกี่ยวเทคนิคกับประสบการณ์จากการไปถ่ายภาพโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง แม้จะเป็นช่างภาพหน้าใหม่มากด้วยพรสวรรค์ แต่เรื่องเพศเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเสมอ ถึงมาร์กาเร็ตจะไม่ได้มองว่าการเป็นผู้หญิงเป็นปัญหาต่อการทำงาน ทว่าเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่มักแสดงความกังวลเวลาเธอต้องลงไปถ่ายงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่น มลพิษ ความร้อนจากเครื่องจักร ไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงจะทนอยู่ในโรงงานได้นาน นอกจากนี้ งานของบริษัทโอทิส สตีล คือการทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ พวกเขากังวลเรื่องความลับหากให้เธอเห็นระบบการทำงานในโรงงาน แต่มาร์กาเร็ตยืนยันชัดเจนว่าตัวเองไม่ใช่พวกปากโป้ง และขอให้ไว้ใจปล่อยให้เธอทำสิ่งที่ต้องทำเถอะ หลังจากสร้างชื่อเสียงในแวดวงถ่ายภาพไว้พอสมควร มาร์กาเร็ตได้ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการร่วมควบกับตำแหน่งช่างภาพกับนิตยสารเชิงธุรกิจฟอร์จูน (Fortune Magazine) ทว่าเธอทำงานกับฟอร์จูนได้ปีเดียว (1929-1930) ก็ถูกเจ้าพ่อวงการนิตยสารอเมริกา เฮนรี่ ลูซ (Henry Luce) ที่มองเห็นความสามารถรอวันได้ปล่อยของของช่างภาพสาวไฟแรง จึงทาบทามให้รับตำแหน่งช่างภาพข่าวผู้หญิงคนแรกของนิตยสาร ไลฟ์ แมกาซีน (Life Magazine) มาร์กาเร็ตตกลงรับงานนี้เพราะเธออยากตระเวนถ่ายรูปไปทั่วอเมริกา มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII มาร์กาเร็ตมีผลงานสร้างชื่อก่อนเข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ภาพการสร้างเขื่อนฟอร์ตเพ็ก (Fort Peck Dam) ในรัฐมอนทานา ที่ได้ขึ้นปกนิตยสารไลฟ์ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1936 เธอถ่ายภาพทางน้ำล้นได้ออกมาเหมือนกับสถาปัตยกรรมจากโลกอนาคต ด้วยโทนภาพกับบรรยากาศเงียบสงบเห็นแสงเงาชัดเจน โครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างถูกถ่ายทอดให้เหมือนกับปราสาทสมัยเก่าเรียงตัวกันลึกลงไปในภาพ ภาพที่ให้ทั้งความรู้สึกโบราณ ร่วมสมัย แถมยังดูสมัยใหม่ในเวลาเดียวกันชวนให้ค้นหาอย่างน่าประหลาด ด้วยความสวยงามของภาพทำให้ไปรษณีย์นำผลงานของมาร์กาเร็ตไปทำเป็นแสตมป์ที่ระลึกฉลอง 100 ปี ไปรษณีย์สหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในผลงานภาพถ่ายที่บอกเล่าช่วงเวลาแห่งทศวรรษ 1930 ได้อย่างยอดเยี่ยม หลังถ่ายภาพสถาปัตยกรรมมานาน มาร์กาเร็ตเริ่มแตะประเด็นสิทธิมนุษยชนครั้งแรก เพราะได้เดินทางไปถ่ายภาพทำข่าวปัญหาปากท้องของเกษตรกร พวกเขาต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งติดต่อกันนาน 8 ปี ได้เห็นผู้คนจำนวนมากที่กำลังเดือดร้อนเพราะไม่มีอะไรจะกินต้องมายืนต่อแถวรอรับอาหารและเสื้อผ้าจากสภาชาด แถมพวกแรงงานผิวดำยังยืนอยู่หน้าป้ายที่เขียนว่า “มาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดีที่สุดในโลก” (World’s Highest Standard of Living) มีภาพประกอบโฆษณาเป็นกลุ่มคนขาวขับรถด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม มันช่างเสียดสีทำให้ขื่นขมได้โดยไม่ต้องทำอะไรมาก มาร์กาเร็ตจึงถ่ายภาพสิ่งที่ตัวเองเห็นกลับบ้านมาด้วย มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII หลังจากภาพคนผิวดำยืนต่อแถวรออาหาร ในยุคสมัยที่พรรคนาซีรุ่งโรจน์ มาร์กาเร็ตตัดสินใจเดินทางไปที่ยุโรปเพื่อถ่ายภาพชาวเยอรมัน ออสเตรีย เชโกสโลวาเกีย นอกจากนี้ ยังได้ภาพรอยยิ้มเล็ก ๆ หาดูได้ยากของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ขณะมาเยือนจอร์เจีย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนคาดเดา เพราะเยอรมนีตัดสินใจบุกโปแลนด์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939 ทุกคนต่างรู้ดีว่าสมรภูมิรบถูกสงวนไว้สำหรับผู้ชาย ชายหนุ่มทั้งหลายถูกส่งตัวไปยังแนวหน้า สวนทางกับผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ที่วิ่งย้อนกลับไปยังเขตปลอดภัยตามค่านิยมของสังคมสมัยก่อน แต่มาร์กาเร็ตกลับมองว่าถ้าผู้ชายถูกส่งไปทำงานยังพื้นที่อันตรายได้ เธอก็ต้องไปได้เช่นกัน จึงยื่นเรื่องขอเข้าไปทำข่าวในสมรภูมิพร้อมถูกปฏิเสธในทันที ไม่มีใครอยากให้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ วิ่งหลบห่ากระสุนท่ามกลางชายฉกรรจ์นับร้อยนับพันคน แต่ไม่ว่ายังไงมาร์กาเร็ตยืนยันจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII กองทัพที่เห็นผลงานของเธอมาบ้างและอยากเอาเวลาที่เถียงกับเธอไปทำอย่างอื่น จึงตกลงให้มาร์กาเร็ตขึ้นเครื่องบินไปกับกองกำลังติดอาวุธแห่งสหรัฐฯ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังแอฟริกาเหนือ หญิงสาวได้เห็นการโจมตีทางอากาศที่เมืองตูนิส ในประเทศตูนีเซีย จากนั้นติดสอยห้อยตามกองทัพไปยังสมรภูมิที่อิตาลี ถ่ายภาพการต่อสู้อันขมขื่นของเด็กชายที่ต้องจากบ้านมาไกล และกลับไปตีพิมพ์เรื่องราวของพวกเขาในนิตยสารไลฟ์ นักข่าวสาวเดินทางไปยังอียิปต์ในปี 1940 ได้ภาพทหารอินเดียเดินทัพผ่านพีระมิดกำลังตั้งรับรอการโจมตีจากอิตาลี จากนั้นเดินทางไปยังสหภาพโซเวียตในปี 1941 เธอเป็นช่างภาพต่างชาติเพียงคนเดียวที่ยังอยู่ในกรุงมอสโก เนื่องจากทีมงานชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ต่างหลบหนีออกจากเมืองกันไปหมดแล้วเพราะกองทัพนาซีบุกโจมตี มาร์กาเร็ตยังคงอยู่ในเมือง ซ่อนตัวพลางเก็บภาพการต่อสู้ของทหารโซเวียตและนาซี จนได้ภาพทะเลเพลิง ภาพการต่อสู้ทางอากาศตอนกลางคืนมาได้หลายรูป และได้เดินทางไปพบปะกับพวกผู้หญิงรัสเซียที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือประเทศ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII ทุกการเดินทางมาร์กาเร็ตจะไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือทีมข่าวทีมอื่น ๆ ที่เป็นผู้ชาย ในปี 1942 เธอพบกับสถานการณ์เฉียดตายครั้งแรก เมื่อเรือขนส่งที่แล่นอยู่กลางทะเลเมดิเตอร์เรนียนถูกฝ่ายอักษะโจมตีด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้จนเรือล่ม โชคดีที่ตัวเองไปเกยตื้นอยู่บนหาดในประเทศไอซ์แลนด์ ยิ่งไปกว่าเหตุการณ์เรือแตก เธอยังเคยอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกสอยจนร่วงในอ่าวเชพีก แต่ก็รอดจากความตายมาได้อีกครั้ง ช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์กาเร็ตข้ามแม่น้ำไรน์ไปยังแผ่นดินเยอรมนี พร้อมกับกองทหารราบที่สามภายใต้การบังคับการของ นายพล จอร์จ เอส. แพตตัน (George S. Patton) ลอบเข้าไปถึงค่ายกักกันบูเคินวัลท์ (Buchenwald) ที่กองทัพนาซีใช้ขังเชลยศึกกว่า 250,000 คน มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา รวมถึงชาวยิว นาซีจะใช้เชลยในค่ายบูเคินวัลท์เป็นหนูทดลองในการทดลองผิดหลักมนุษยธรรม โหดร้ายยากที่คนจิตใจปกติจะจินตนาการและยอมรับได้ มาร์กาเร็ตแอบเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของค่าย ถ่ายภาพนักโทษขาดสารอาหาร ผอมแห้งเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก ถ่ายภาพซากศพที่ทับถมกันเต็มห้องรมแก๊ส เพื่อตีแผ่ความโหดร้ายที่นาซีทำกับชาวยิวให้โลกได้รับรู้ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII

“กล้องถ่ายรูปเป็นเพียงสิ่งเดียวที่กั้นฉันกับความน่าสะพรึงกลัวที่อยู่ตรงหน้า”

มาร์กาเร็ตถือเป็นผู้หญิงที่เห็นภาพรวมของสงครามโลกครั้งที่ 2 มากที่สุดคนหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ เธอเดินทางไปหลายประเทศ พบเจอกับชีวิตชวนหดหู่ของผู้ลี้ภัย ชาวบ้านที่ไม่มีบ้านให้อยู่อีกต่อไป ศพกองพะเนินของเชลยสงคราม คราบเลือดของเหล่าทหารที่สู้จนตัวตาย แถมเคยเข้าใกล้ความตายหลายครั้งหลายหน เรื่องราวของเธอถูกพูดถึงอย่างมากในกลุ่มทหาร ใคร ๆ ต่างรู้จักนักข่าวหญิงภาคสนามเพียงคนเดียวได้แม่น แถมชอบแซวอยู่บ่อยครั้งว่า ‘แม็กกี้ฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่ได้’ (Maggie the Indestructible) มาร์กาเร็ตกลายเป็นคนดังในหมู่ทหาร พวกเขาหลายคนรู้สึกยอมรับในตัวผู้หญิงคนนี้ ระหว่างถ่ายภาพและทำข่าวสงคราม เธอจะต้องสวมเครื่องแบบกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อจะได้รู้ว่าอยู่ฝ่ายไหน มากับกองทัพของประเทศอะไร เมื่อสงครามใกล้จบลงกองทัพได้เชิญเธอมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ให้ทุกคนได้จดจำไว้ว่ามาร์กาเร็ตเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในเขตสงคราม ยกย่องถึงความกล้าหาญที่อยากถ่ายทอดความน่ากลัวของสงครามให้ประชาชนได้รับรู้ [gallery columns="2" link="none" size="large" ids="26310,26309"] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง มาร์กาเร็ตกลายเป็นช่างภาพที่อยากบอกเล่าชีวิตของผู้คนอย่างเต็มตัว เธอเขียนหนังสือ Dear Fatherland, Quietly บอกเล่าความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางจิตใจที่สงครามทิ้งไว้ให้ผู้คน จากเด็กสาววัยรุ่นชอบถ่ายภาพสถาปัตยกรรม แปรเปลี่ยนเป็นผู้หญิงที่อยากสร้างผลงานเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิ ความเป็นมนุษย์ สันติภาพ และความเท่าเทียม มาร์กาเร็ตเดินทางไปยังอินเดียในช่วงการแบ่งแย่งดินแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถานกำลังเข้มข้น ได้สัมภาษณ์และถ่ายภาพมหาตมะ คานธี กับเครื่องปั่นด้าย ก่อนเขาจะถูกลอบสังหารในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า รวมถึงยังได้ภาพโมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งปากีสถาน นั่งอยู่บนเก้าอี้ ภาพของเธอสื่ออารมณ์ลึกซึ้งทุกครั้ง จนทำให้นักข่าวชื่อดังของอินเดีย เอ่ยปากชมว่า “มาร์กาเร็ตคือผู้บันทึกเหตุการณ์ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยพบมา” พอเกิดสงครามเกาหลี เธอไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าว ติดตามกองกำลังทหารเกาหลีใต้ไปทุกที่ เพื่อถ่ายทอดความเศร้าของชาวเกาหลีที่รู้สึกว่าโลกกำลังทอดทิ้งพวกเขา มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์: นักข่าวหญิงคนแรกและคนเดียวที่วิ่งสู่สมรภูมิรบ WWII ผู้หญิงคนนี้ใช้ชีวิตอย่างโชกโชน ในปี 1952 มาร์กาเร็ตวัย 48 ปี พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แม้เธอจะต้องรักษาตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต มาร์กาเร็ตก็ยังคงทำงานอยู่เหมือนเดิม แม้จะไม่ได้ลงพื้นที่เหมือนเมื่อก่อนแต่ยังคงเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ แวะเวียนออกไปถ่ายภาพในพื้นที่ใกล้ ๆ เขียนหนังสือ ตีพิมพ์โฟโต้บุค แถมทางนิตยสารไลฟ์ได้ร่วมทำหนังสืออัตชีวประวัติของ มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์ สตรีผู้บุกตะลุยไปกับเหล่าทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้ชื่อว่า Portrait of Myself ประกอบด้วยภาพถ่ายและเรื่องเล่าชีวิตสมบุกสมบัน รวมถึงนักเขียนอีกหลายคนที่เล่าเรื่องราวของมาร์กาเร็ตเป็นหนังสือนิยายหลายเล่ม มาร์กาเร็ต เบิร์ก-ไวต์ นักข่าวและช่างภาพผู้ทรงคุณค่าคนหนึ่งของโลกจากไปอย่างสงบด้วยวัย 67 ปี ผลงานของเธอยังคงถูกพูดถึงเสมอในคาบเรียนของนักศึกษาวารสาร เล่าถึงจิตวิญญาณของการเป็นคนทำข่าว การใช้ชีวิตแบบไม่กลัวตายถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และสารคดี เพื่อไม่ให้โลกได้ลืมสิ่งที่เธอเคยทำไว้ในช่วงมีชีวิต   ที่มา https://www.life.com/photographer/margaret-bourke-white/ https://www.theatlantic.com/photo/2019/08/photography-of-margaret-bourke-white/596980/ http://100photos.time.com/photos/margaret-bourke-white-fort-peck-dam https://www.britannica.com/biography/Margaret-Bourke-White https://www.icp.org/browse/archive/constituents/margaret-bourke-white https://www.theartstory.org/artist/bourke-white-margaret/life-and-legacy/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์