ดร.เอ็มเบดการ์: มหาตมะคานธีสร้างมายาลวงดาลิตและชาวโลก

ดร.เอ็มเบดการ์: มหาตมะคานธีสร้างมายาลวงดาลิตและชาวโลก
"คุณคานธีเป็นพวกที่ชอบอยู่ในโลกมายาหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าสงสัย แต่ที่ไม่ต้องสงสัยเลยก็คือเขาเป็นคนที่ชอบสร้างภาพมายาเพื่อใช้สนับสนุนข้ออ้างของตัวเอง  "เหตุผลที่เขาให้เพื่อปฏิเสธการรับหน้าเป็นภาระเรื่องการยกฐานะของชาวดาลิต เป็นตัวอย่างที่ดีในการฉายพฤติกรรมของคุณคานธี การบอกกับชาวดาลิตว่า อย่าไปทำอะไรเป็นการต่อต้านชาวฮินดูเพราะนั่นเท่ากับเป็นการกระทำที่ต่อต้านญาติพี่น้องของตัวเอง มันอาจรับฟังได้ แต่การไปทึกทักเอาว่าชาวฮินดูล้วนเห็นดาลิตเป็นญาติพี่น้องเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในโลกแห่งมายา  "การขอให้ชาวฮินดูรับหน้าที่ยกเลิกจารีตการปฏิบัติต่อดาลิตเป็นคำแนะนำที่ดี แต่การมาสาธยายยืนยันว่า ชาวฮินดูต่างละอายในการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อชาวดาลิต และไม่มีทางปล่อยให้การกำจัดจารีตปฏิบัติต่อดาลิตล้มเหลวลงไปได้ รวมถึงการบอกว่านักปฏิรูปฮินดูที่ปฏิญาณว่าจะมุ่งมั่นกำจัดจารีตดังกล่าวเหนือภารกิจอื่นใดมีอยู่มากมาย ก็เป็นการร่ายมนต์สร้างมายาเพื่อหลอกลวงชาวดาลิต และคนทั้งโลก" ภีมราว รามชี อามเพฑกร หรือ “ดร.เอ็มเบดการ์” ผู้นำชาวดาลิต (หรือ “จัณฑาล” ชนชั้นนอกวรรณะที่ถูกจงเกลียดจงชังจากคนในระบบวรรณะ) หนึ่งในบิดาผู้ให้กำเนิดรัฐอินเดียสมัยใหม่ และเป็นบุคคลหลักในการร่างรัฐธรรมนูญอินเดีย กล่าวใน  What Congress and Gandhi Have Done to Untouchables ถึง “มหาตมะคานธี” ผู้นำการปลดแอกอินเดียและบิดาผู้ให้กำเนิดรัฐอินเดียสมัยใหม่อีกคน (ที่ได้รับการยกย่องยิ่งกว่า) ว่าด้วยแนวทางการจัดการปัญหาการกดขี่ชาวดาลิตของคานธีด้วยการฝากความหวังไว้กับชาวฮินดูสายปฏิรูปที่ (น่าจะ) ละอายต่อการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อชาวดาลิต  เอ็มเบดการ์เป็นผู้นำอินเดียร่วมสมัยกับคานธี ทั้งคู่เห็นร่วมกันในการปลดแอกอินเดียจากอังกฤษ แต่มองอนาคตของอินเดียต่างออกไปคนละทาง เพราะพื้นเพความเป็นมาที่ต่างกัน คานธีมาจากชนชั้นพ่อค้ามีการศึกษา ขณะที่เอ็มเบดการ์มาจากกลุ่มดาลิต คนนอกระบบวรรณะที่ถูกกดขี่ราวไม่ใช่คน ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า “untouchables” ไม่ใช่เพราะพวกเขามีอำนาจพิเศษจน “แตะต้องไม่ได้” หากเป็นเพราะในระบบความเชื่อของฮินดูมองว่าพวกเขา “ต่ำ” จนต้องห้ามแตะต้องไม่ให้ “แปดเปื้อน”  เอ็มเบดการ์เกิดเมื่อ 14 เมษายน 1891 มีพ่อเป็นดาลิตซึ่งรับราชการเป็นทหารในกองทัพบริติชอินเดีย ทำให้เขามีโอกาสที่ดีกว่าชาวดาลิตทั่วไป แม้ว่าจะถูกเหยียดหยามขณะเล่าเรียน (เวลาเรียนต้องนั่งเรียนอยู่นอกห้อง เวลากินน้ำต้องรอให้ภารโรงมาเปิดน้ำรินให้จากที่สูง) แต่เขาก็เป็นนักเรียนที่เรียนดีเป็นเลิศ หลังจบตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ ก็ได้ทุนจากมหาราชาหัวก้าวหน้าแห่งบาโรดา (Baroda ปัจจุบันคือ วาโดดารา [Vadodara]) ให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ และอังกฤษ (รอบแรกที่ไปเขาจบโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และจบเนติบัณฑิตอังกฤษ ตอนหลังยังได้ปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยลอนดอนอีกด้วย) ความยากลำบากในการเป็นดาลิตของเขาไม่เคยหายไป แม้จะได้รับการศึกษาจากต่างประเทศได้ทำงานให้กับรัฐบาล แต่สำหรับสังคมฮินดูเขาคือชนชั้นต่ำที่ต้องหลีกเลี่ยง การจะใช้บริการสาธารณะใด ๆ เป็นเรื่องยากลำบากเสมอ แม้จะมีเงินก็ใช่ว่าจะผ่านด่านการกีดกันนั้นไปได้ และการกีดกันนั้นไม่ได้มาจากชาวฮินดูเท่านั้น ชาวฟาร์ซี (ชาวอินเดียเชื้อสายเปอร์เซียที่นับถือโซโรอัสเตอร์) หรือชาวมุสลิมก็ปฏิบัติต่อเขาไม่ต่างกัน จากปัญหาการใช้ชีวิตนอกชุมชนดาลิตและทำงานในระบบราชการ ทำให้เอ็มเบดการ์ต้องพ้นจากงานราชการในบาโรดาในเวลาไม่ถึงเดือน เนื่องจากหาเช่าที่พักไม่ได้ (เขาถูกข่มขู่ด้วยอาวุธให้ย้ายออกจากห้องเช่าหลังอ้างตัวว่าเป็นชาวฟาร์ซี) จะขอบ้านพักราชการก็ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงเดินทางกลับบอมเบย์ แล้วเบนเข็มไปทำงานสอนหนังสือแทน เขาพยายามทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านการลงทุนแต่ก็ต้องล้มเหลว เมื่อนักธุรกิจฮินดูส่วนใหญ่ไม่ยอมรับคำปรึกษาจากดาลิต เขาจึงหันไปทำงานสื่อเพื่อเป็นปากเสียงให้ชาวดาลิตผ่านงานเขียนต่าง ๆ ก่อนกลับไปลอนดอนในปี 1920 เพื่อเรียนต่อจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลอนดอน จบแล้ว เอ็มเบดการ์หันมาทำงานด้านกฎหมาย และสอนหนังสือ ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของบอมเบย์ในปี 1926 ตลอดเส้นทางการเมืองของเอ็มเบดการ์ เขาไม่นิยมใช้วิธีการอารยะขัดขืน หรือ “สัตยาเคราะห์” แบบคานธี เพื่อขับเคลื่อนขบวนการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวดาลิต เพราะนอกจากจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการกดดันด้วยการเอาชีวิตเข้าแลกกับความต้องการของตัวเองแล้ว การรวมกลุ่มชาวดาลิตไปใช้พื้นที่ของชนชั้นสูงก็เหมือนเป็นการ “ร้องขอ” ให้ชนชั้นสูงเห็นใจและยอมรับดาลิต ทั้งที่มันควรเป็นสิทธิที่พวกเขาพึงมีตั้งแต่กำเนิด จึงหวังใช้กลไกทางกฎหมาย อำนาจรัฐ รวมถึงใช้พื้นที่สื่อในการทำให้ปัญหาของชาวดาลิตเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก  "ชาวดาลิตของเรากว่า 43,000,000 คน ไม่ใช่ปัญหาของอินเดียเท่านั้น มันควรเป็นปัญหาระดับนานาชาติ เพราะมันกระทบต่อสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจระดับโลก และมันควรเป็นปัญหาขององค์การสันนิบาตชาติ เช่นเดียวกับปัญหาการค้าทาส การค้ายาเสพติด ระบบดาลิตเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าระบบทาส เนื่องจากระบบทาสอาจจะลบล้างได้ด้วยกฎหมาย แต่การถอนตราบาปของชาวดาลิตต้องอาศัยมากกว่ากฎหมาย อย่างน้อยก็ต้องอาศัยเสียงกดดันจากทั่วโลกถึงจะมีความเป็นไปได้" เอ็มเบดการ์กล่าว (The New York Times) ในการประชุมโต๊ะกลมที่อังกฤษเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1930s ถึงสิทธิทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย เอ็มเบดการ์และคานธีแย่งกันเป็นตัวแทนของชาวดาลิต ด้วยจุดยืนที่แตกต่าง เอ็มเบดการ์เชื่อว่า ชาวดาลิตจะมีสิทธิมีเสียงได้อย่างแท้จริงในสังคมประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อ ชาวดาลิตได้เลือกผู้แทนของชาวดาลิตเอง เพราะชาวดาลิตเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคมฮินดู การกำหนดสัดส่วนให้มีผู้แทนชาวดาลิต ก็ไม่ดีเท่ากับการให้ชาวดาลิตซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ด้วยระบบวรรณะเป็นร้อยเป็นพันปีได้เลือกตัวแทนของตนเอง เพราะต่อให้มีผู้แทนชาวดาลิตนั่งในสภา แต่หากให้ชาวฮินดูวรรณะอื่น ๆ มีสิทธิเลือกผู้แทนชาวดาลิตด้วยแล้ว ผู้แทนคนดังกล่าวก็จำเป็นต้องฟังเสียงของชนชั้นนำฮินดูมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับชาวดาลิต  แต่คานธีคัดค้านอย่างรุนแรง โดยอ้างว่า แผนการนี้เป็นเหมือน “ยาพิษ” ที่จะใช้ทำลายสังคมฮินดูทั้งปวง และไม่ได้ช่วยให้ชาวดาลิตได้รับประโยชน์อันใด "เพื่อนของคานธีเองก็ไม่เข้าใจความคิดของเขาต่อข้อเรียกร้องของชาวดาลิต เขายอมรับสิทธิ (ในการเลือกผู้แทนด้วยตนเอง) ของมุสลิม และซิกข์ แต่ไม่ยอมมอบสิทธินั้นให้กับชาวดาลิต ทำให้ใครต่างก็แปลกใจ พอพวกเขาถามหาเหตุผล แทนที่จะได้รับคำอธิบายก็กลายเป็นการโกรธเคือง คานธีไม่ได้ให้เหตุผลที่หนักแน่นและรับฟังได้ในการปฏิเสธข้อเสนอของชาวดาลิตเลย" เอ็มเบดการ์กล่าวถึงท่าทีของคานธีในการหารือปัญหาของชาวดาลิตในที่ประชุมโต๊ะกลมที่อังกฤษเมื่อปี 1931 ขณะที่คานธีให้เหตุผลถึงการยอมให้ชาวมุสลิมและชาวซิกข์เลือกผู้แทนของตัวเองว่า “"มุสลิมกับซิกข์เขามีการจัดการรวมกลุ่มที่ดี ต่างจากดาลิตที่ไม่มีสำนึกทางการเมืองเลย พวกเขาถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ผมเองก็อยากจะช่วยเขา ถ้าหากพวกเขามีสิทธิเลือกตัวแทนเอง ชีวิตในหมู่บ้านที่พวกเขาถูกแวดล้อมด้วยชาวฮินดูเคร่งจารีตก็จะยิ่งลำบาก มันเป็นหน้าที่ของชาวฮินดูชั้นสูงที่ต้องทำการไถ่บาปจากการละทิ้งพวกเขาเป็นเวลานาน การไถ่บาปนั้นทำได้ด้วยการปฏิรูปสังคมและทำให้ชาวดาลิตได้รับความช่วยเหลือให้มากขึ้น ไม่ใช่มาเรียกร้องการเลือกตั้งผู้แทนแยกออกไป การจัดเลือกตั้งแยกมีแต่จะสร้างความแตกแยกระหว่างชาวดาลิต กับชาวฮินดูเคร่งจารีต คุณต้องเข้าใจว่าที่ผมยอมรับข้อเสนอให้มีตัวแทนพิเศษสำหรับชาวมุสลิมและชาวซิกข์มันคือความชั่วที่จำเป็น" คานธีทำทุกทางให้ข้อเสนอของชาวดาลิตตกไป หนึ่งในนั้นก็คือ เมื่อคานธีรู้ว่าผู้นำมุสลิมที่เป็นแกนนำชนกลุ่มน้อยในการเจรจาให้การสนับสนุนข้อเสนอของดาลิตด้วย จึงขอแยกเจรจากับผู้นำมุสลิมและยอมรับข้อเรียกร้องของชาวมุสลิมทั้งหมดเพื่อซื้อเสียงแกนนำชาวมุสลิม แต่ความพยายามของเขาล้มเหลว และเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมชนกลุ่มน้อยก็สนับสนุนการให้ชาวดาลิตได้เลือกผู้แทนของตัวเอง  รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับข้อเสนอของที่ประชุม และประกาศจะให้สิทธิชาวดาลิตในการเลือกผู้แทนของตนเองในปี 1932 คานธีจึงออกมาประกาศว่าจะอดข้าวประท้วงจนตายเว้นแต่อังกฤษจะยอมถอนแผนการดังกล่าว ขณะเดียวกัน คานธีที่วางตัวเป็นผู้มีเมตตาก็ให้คำมั่นว่าจะช่วยเปลี่ยนให้สังคมฮินดูค่อย ๆ ละอคติต่อชาวดาลิต รณรงค์ให้สาวกรู้จักการพึ่งพาตนเอง ไปจนถึงการล้างส้วมกำจัดอุจจาระที่สาวกของเขาต้องรู้จักทำด้วยตนเอง เพื่อล้างมายาคติของชาวฮินดูที่ว่า ชนชั้นหนึ่ง “บริสุทธิ์” จนแปดเปื้อนไม่ได้ เรียกร้องให้ใช้คำว่า “Harijan” (คนของพระเจ้า) เรียกชาวดาลิต และสร้างโครงการกุศลเพื่อช่วยเหลือชาวดาลิต แต่ถึงต้องตาย คานธีก็จะไม่ยอมให้ชาวดาลิตได้เลือกผู้แทนของตัวเอง  ตอนนั้น คานธีเป็นวีรบุรุษผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของชาวอินเดีย แม้ตอนแรกเอ็มเบดการ์จะยังยืนยันจุดยืนเดิมต่อไป แต่เมื่อคานธีอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เขาและอังกฤษจึงต้องยอมลงให้กับการแบล็กเมล์ของคานธี    "คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปว่า คงไม่มีใครที่จะต้องอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากเท่าผมในตอนนั้นอีกแล้ว มันเป็นสถานการณ์ที่ยากจะตัดสินใจ ผมต้องเลือกหนึ่งในสองทาง ทางหนึ่งในฐานะมนุษย์ปุถุชน ผมต้องรักษาชีวิตของคุณคานธีที่กำลังเผชิญความตายอยู่ตรงหน้า ขณะเดียวกันผมก็มีภารกิจที่จะต้องช่วยรักษาสิทธิทางการเมืองของชาวดาลิตที่นายกรัฐมนตรี (เจมส์ แมคโดนัลด์) ได้มอบให้  “ผมจำเป็นต้องเลือกในฐานะมนุษย์เพื่อรักษาชีวิตของคุณคานธี โดยต้องยอมรับการแก้ไข Communal Award (ประกาศว่าด้วยการเลือกผู้แทนของตนเองในชนกลุ่มน้อย) ตามที่คุณคานธีพอใจ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Poona Pact" เอ็มเบดการ์กล่าว  อย่างไรก็ดี คำมั่นของคานธีไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อสถานะของชาวดาลิต การรณรงค์ของเขามีเพียงในระยะต้น ๆ หลังได้ Poona Pact มาหมาด ๆ ซึ่งถูกชาวฮินดูนำไปโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นเพราะคานธี ชาวดาลิตถึงได้รับการการันตีที่นั่งในสภา ทั้งที่ความจริงสิทธิของชาวดาลิตตาม Communal Award เดิมจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขามากกว่า  เอ็มเบดการ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า คานธีมักจะใช้วิธีการ “สัตยาเคราะห์” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องต่าง ๆ แต่การอดอาหารประท้วงของคานธีกว่า 20 ครั้ง ไม่มีแม้แต่สักครั้งที่จะเป็นไปเพื่อชาวดาลิต แม้ว่าคานธีจะอ้างตัวว่าเป็นสหายแท้ของชาวดาลิต ในทางกลับกันเขายอมอ่อนข้อให้กับชาวมุสลิม เพียงหวังว่าชาวมุสลิมจะเลิกสนับสนุนข้อเรียกร้องของชาวดาลิต และยังประกาศ “ยอมอดอาหารตาย” ดีกว่าจะให้ชาวดาลิตมีสิทธิได้เลือกผู้แทนเองเหมือนชาวมุสลิมหรือชาวซิกข์  และหากย้อนกลับไป เมื่อปี 1929 ก่อนจะเกิดข้อพิพาทเรื่องสิทธิเลือกตั้งของชาวดาลิต ตอนนั้นกลุ่มชาวดาลิตคิดจะใช้วิธีการสัตยาเคราะห์อันโด่งดังของคานธี เพื่อกดดันให้ชาวฮินดูยอมเปิดให้พวกเขาใช้วิหารและบ่อน้ำสาธารณะ โดยหวังว่าคานธีจะให้การสนับสนุน แต่ตรงกันข้ามชาวดาลิตถูกประณาม คานธีอ้างว่า “สัตยาเคราะห์” ต้องใช้กับ “คนต่างชาติ” เท่านั้น ไม่ใช่กับพี่น้องของตนเอง  ต่อมาในปี 1933 หลังได้มาซึ่ง Poona Pact ไม่เท่าไร คานธีก็รณรงค์ให้มีการเปิดวิหารให้กับชาวดาลิต และมีการประกาศว่าถ้ากรรมการวิหารพระกฤษณะไม่ยอมเปิดให้ชาวดาลิตเข้าสักการะ เขาจะอดอาหารจนถึงแก่ความตาย แต่ปรากฏว่า หลังคานธีประกาศข่มขู่ออกไป วิหารก็ไม่เปิดอยู่ดี แล้วคานธีก็ไม่ได้อดอาหารเพื่อสิทธิของชาวดาลิตอย่างที่ประกาศเลยจนถึงวันที่เขาถูกลอบสังหารในปี 1948 ทำให้เอ็มเบดการ์ไม่เชื่อว่า คานธีหวังดีต่อชาวดาลิตอย่างที่เขาพูดจริง ๆ