‘แฟรงค์ เซอร์ปิโก’ ตำนานตำรวจมือปราบตงฉินแห่ง NYPD สหรัฐฯ จับหมด ไม่เลือกหน้า

‘แฟรงค์ เซอร์ปิโก’ ตำนานตำรวจมือปราบตงฉินแห่ง NYPD สหรัฐฯ จับหมด ไม่เลือกหน้า

‘แฟรงค์ เซอร์ปิโก’ ตำรวจมือปราบตงฉินแห่ง NYPD สหรัฐฯ จับหมด ไม่เลือกหน้า เปิดโปงความฉาวโฉ่ของกรมตำรวจจนหมดเปลือกว่า ใครทำผิดกฎหมาย หรือทำผิดหลักวิชาชีพร้ายแรงยังไงไว้บ้าง

“การต่อสู้กับการทุจริตเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น มันไม่เคยง่าย ทั้งในตอนนี้หรือในอนาคต

แต่ท้ายสุดแล้ว ผมเชื่อว่าในกรณีของผม ราคาที่จ่ายไปนั้น คุ้มค่าแล้วกับเกียรติยศศักดิ์ศรีของเรา”

ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่รอบตัวรายล้อมไปด้วยการทุจริต ทั้งเพื่อนและผู้บังคับบัญชาต่างรับสินบนเป็นอาจิณ แถมยังหาเรื่องใช้กำลังข่มขู่ทำร้ายประชาชนเกินกว่าเหตุ หลาย ๆ คนอาจอยู่เฉย ๆ ไม่ยอมทำอะไร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรอุดมการณ์ก็กินไม่ได้ และกลัวว่าหากทำอะไรลงไป ภัยจะมาถึงตัว

คงมีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นที่เลือกทางเดียวกับ แฟรงค์ เซอร์ปิโก (Frank Serpico) นั่นก็คือซัดให้หน้าหงาย แล้วจับเข้าซังเตไปซะ!

ในหน้าประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา แฟรงค์ เซอร์ปิโก คือนายตำรวจแห่งกรมตำรวจรัฐนิวยอร์ก (New York Police Department - NYPD) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1960-1970 เมื่อเขามีชื่อเสียงในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจตงฉิน ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ ยึดหลักรับใช้ประชาชนอย่างแข็งขัน และเปิดโปงความฉาวโฉ่ของกรมตำรวจจนหมดเปลือกว่าใครทำผิดกฎหมายหรือทำผิดหลักวิชาชีพร้ายแรงยังไงไว้บ้าง

วีรกรรมนับครั้งไม่ถ้วนของเซอร์ปิโก กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยออกมาเป็นหนังเรื่องเยี่ยม Serpico (1973) ผลงานของผู้กำกับระดับตำนาน ซิดนีย์ ลูเม็ต (Sidney Lumet) จากหนังคลาสสิก 12 Angry Men (1957) และ Dog Day Afternoon (1975) และได้นักแสดงหนุ่มมาแรงในสมัยนั้นอย่าง อัล ปาชิโน (Al Pacino) ที่เพิ่งแจ้งเกิดจากบทมาเฟีย ไมเคิล คอร์เลโอเน ใน The Godfather (1972) มารับบทเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตงฉิน ผู้ไม่ยอมอ่อนข้อให้ตำรวจ

ปาชิโนมีหลายอย่างคล้ายคลึงกับเซอร์ปิโกตัวจริง ประการแรก ทั้งคู่มีเชื้อสายอิตาเลียน นอกจากนั้นใบหน้าของปาชิโนตอนไว้หนวดเคราดกดำในหนังก็ยังคล้ายกับเซอร์ปิโกตัวจริงจนเกือบแยกไม่ออก และรู้หรือไม่ว่าใบหน้าของปาชิโนในคราบเซอร์ปิโก ยังเป็นสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่หลังรถบรรทุกหลาย ๆ คันในประเทศไทย จนอาจเรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในภาพคลาสสิกประจำวงการรถสิบล้อบ้านเราไปแล้ว เรียกว่าสูสีกับรูปของ เช เกบารา นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินาเลยทีเดียว

เพื่อให้เข้าถึงบทบาทและจิตวิญญาณความเป็นเซอร์ปิโกให้มากที่สุด ปาชิโนถึงกับเชิญเซอร์ปิโกมาพักอยู่ที่บ้านเพื่อศึกษาแง่มุมของเขาให้ละเอียด จะได้ถ่ายทอดออกมาอย่างสมจริง ยอดนักแสดงหนุ่มยอมรับว่ารู้สึกทึ่งในตัวของยอดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คนนี้ตั้งแต่แรกเห็น

“ตอนที่ผมจับมือและมองตาเขา ผมเข้าใจเลยว่าหนังจะออกมายังไง ผมคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ผมสามารถนำมาใช้ได้”

ซึ่งปาชิโนก็นำทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มาใช้อย่างละเอียด และลงเอยด้วยการได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในหนังดราม่า และยังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมอีกด้วย

ช่วงนั้น ปาชิโนถามเซอร์ปิโกในสิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ ทำไมเซอร์ปิโกต้องลุกขึ้นมาปราบปรามตำรวจกังฉิน คำตอบของเซอร์ปิโกไม่หวือหวา แต่กินความหมายลึกซึ้ง “คงเพราะถ้าผมไม่ทำ ผมจะกลายเป็นคนแบบไหนกันตอนที่นั่งแกร่วฟังเพลงอยู่เฉย ๆ”

นับตั้งแต่ทำงานเป็นตำรวจในปี 1959 เซอร์ปิโกผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจมาตลอด ค่อย ๆ ไต่เต้าจากการเป็นสายตรวจตัวเล็ก ๆ ใช้เวลาไม่กี่ปีก่อนจะได้รับมอบหมายให้เป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ เขาไว้หนวดไว้เครา บางครั้งแต่งตัวเหมือนแรบไบ บางคราวก็เหมือนคนจรจัด ไม่ก็คนขายเนื้อ ชนิดที่หากใครเดินเจอเขาตามท้องถนนอาจไม่คิดว่านี่คือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ไม่ว่าเซอร์ปิโกจะทำงานโดยสวมเครื่องแบบหรือไม่ สิ่งที่เขายึดถือเสมอคือพันธกิจวิชาชีพ โดยเฉพาะข้อแรกที่ว่า “ต้องรับผิดชอบต่อความต้องการของชุมชนที่ดูแล” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

เซอร์ปิโก (ซ้าย) และ อัล ปาชิโน (ขวา) นักแสดงเจ้าบทบาทที่รับบทเป็นเซอร์ปิโก

ตลอดอาชีพการเป็นตำรวจ เซอร์ปิโกผู้หาญกล้า เที่ยงตรง มั่นคงอุดมการณ์ มีหน้าที่หลักคือตรวจสอบเครือข่ายตำรวจทุจริต จับกุมและดำเนินคดีตำรวจที่รับสินบน ฉ้อโกง หรือการแตกแถวอื่นใด แต่ปัญหาคือต่อให้เขามีหลักฐานชัดเจนแค่ไหน ตำรวจเหล่านั้นก็แทบไม่เคยโดนลงโทษจริง ๆ จัง ๆ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่น้ำดีเพียงคนเดียวที่ต่อกรกับคนที่กัดกร่อนองค์กร เดวิด เดิร์ค (David Durk) และ วิทแมน แนปป์ (Whitman Knapp) เป็น 2 ตำรวจเบอร์ใหญ่ที่สนับสนุนเซอร์ปิโกให้นำการสืบสวนและเปิดโปงความฉาวโฉ่ภายในกรมตำรวจ และทำให้สังคมพอจะมีหวังอยู่บ้าง

อาจกล่าวได้ว่าหากไม่ได้ 2 คนนี้คอยหนุนหลัง ลำพังเซอร์ปิโกอาจสู้สงครามครั้งนี้ไม่ไหวและยอมแพ้ไปเองก็เป็นได้ เรื่องราวที่พวกเขาสืบพบว่าใครรับสินบน ใครมีส่วนในการค้ายา ใครมีบทบาทสำคัญในเหตุทุจริตทั้งหลายถูกตีแผ่ลงในหนังสือพิมพ์นำโดย The New York Times สั่นสะเทือนแวดวงตำรวจไปทั่วสหรัฐฯ เป็นบทพิสูจน์ว่า ขอแค่มีตำรวจเพียงไม่กี่คนที่กล้ายืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้อง จะส่งผลดีต่อสังคมและกรมตำรวจเองมากแค่ไหน

กระนั้นชื่อเสียงที่ได้จากการเป็นตำรวจน้ำดี ย่อมแลกมากับการมีศัตรูอยู่รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน เซอร์ปิโกรู้ตัวดีและพยายามระมัดระวังตัวอยู่ตลอด จนกระทั่งขณะปฏิบัติภารกิจจับกุมยาเสพติดครั้งสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 เซอร์ปิโกพลาดท่าถูกยิงแสกหน้าเข้าตรงแก้มจนอาการสาหัส ตำรวจในที่เกิดเหตุไม่ยอมเรียกรถพยาบาลเพื่อช่วยเหลือเขา แต่กลับปล่อยให้เซอร์ปิโกนอนจมกองเลือดอย่างทรมาน กลายเป็นชาวบ้านละแวกนั้นที่โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลมาช่วยชีวิตเขาแทน

ถึงจะอาการสาหัส แต่เซอร์ปิโกรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ โดยมีบางส่วนของลูกตะกั่วฝังอยู่ในกระโหลกเป็นของที่ระลึก หลังรอดมาได้ เขาได้รับเหรียญเกียรติยศยกย่องวีรกรรมอันน่าสดุดี แม้จะไม่มีพิธีรีตองในการมอบมากมาย แต่จากคำบอกเล่าของเซอร์ปิโก เขาได้รับมันแบบเดียวกับตอนได้รับซองบุหรี่

หลังจากขึ้นให้การเปิดโปงว่าการทุจริตภายใน NYPD มีมูลค่าความเสียหายหลายล้านดอลลาร์ นำมาสู่การปฏิรูปวงการตำรวจทั้งประเทศ เซอร์ปิโกก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นตำรวจในเดือนมิถุนายน 1972 และย้ายไปอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ชีวิตอย่างสันโดษห่างไกลผู้คน ก่อนตัดสินใจกลับมายังประเทศบ้านเกิดในปี 2015 ปัจจุบันเซอร์ปิโกยังมีชีวิตอยู่ในวัย 84 ปี และยังหาโอกาสรณรงค์รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงเพื่อสังคมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ช่วงที่เซอร์ปิโกย้ายถิ่นฐานไปสวิตเซอร์แลนด์เงียบ ๆ เรื่องราวและคุณงามความดีของเขาไม่เคยหายไปไหน อย่างน้อยก็ยังมีคนคิดถึงเขาอยู่เสมอ เซอร์ปิโกในวัยชราเล่าว่ามีคนเขียนจดหมายมาหาเขาทุกวัน วันละหลายฉบับ ทั้งมาขอคำแนะนำและแนะนำตัวเอง ซึ่งเซอร์ปิโกก็ตอบแทบไม่หวาดไม่ไหว

การที่ผู้คนยังคงคิดถึงเซอร์ปิโกอาจตีความได้หลายประการ อาทิ ผู้คนยังคิดถึงและยกย่องเซอร์ปิโก หรือไม่ก็เพราะในโลกทุกวันนี้มีตำรวจตงฉินอย่างเขาให้พึ่งพาได้น้อยลงเรื่อย ๆ

“ผู้คนไม่อยากให้เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นในชุมชนของตัวเองหรอก แต่พวกเขาไม่โทรไปหาตำรวจ เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจตำรวจ” ตำนานตำรวจน้ำดีแห่ง NYPD ให้ความเห็น

เซอร์ปิโก (ขวา) ขณะแถลงข่าวเรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นใน NYPD

แต่เมื่อผลประโยชน์มหาศาลมีมูลค่าเย้ายวนใจ สิ่งที่เซอร์ปิโกเคยคาดหวังไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจในอนาคตจะไม่ต้องเจอประสบการณ์น่าละเหี่ยใจและปวดร้าวแบบเดียวกับที่ผมเคยเผชิญ” เลยไม่เป็นไปตามนั้นเท่าไหร่ เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกนอกลู่นอกทางอยู่มาก เกิดการโกงกิน เอารัดเอาเปรียบ รวมถึงกระทำการเกินกว่าเหตุจนลุกลามบานปลาย อย่างกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีที่เสียชีวิตขณะถูกจับกุม กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของคนผิวสี #BlackLivesMatter

หากถามเซอร์ปิโกว่า ทำไมตำรวจหลายนายถึงหนีไม่พ้นวังวนผลประโยชน์เสียที เจ้าตัวให้คำตอบว่า ปัญหาอยู่ที่บรรยากาศการทำงานของตำรวจที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกเอาคืนจากตำรวจด้วยกันเอง “ที่ผ่านมาเราสร้างบรรยากาศที่ตำรวจน้ำดีกลัวตำรวจที่โกงกิน แต่เราแทบไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ตำรวจแย่ ๆ ต้องกลัวตำรวจน้ำดีเลย”

ผ่านไปหลายสิบปีนับตั้งแต่เซอร์ปิโกเป็นตำรวจที่เสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อความถูกต้องมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ เขาบอกว่า “ผมไม่คิดว่าตัวเองจะมีวันนี้ วันที่ผ่านไป 40 กว่าปีแล้ว แต่เรายังพูดกันแต่เรื่องเดิม ๆ ดังนั้นอย่าโทษคนที่ลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะนั่นคือสิ่งที่สังคมต้องการเพื่อจะอยู่รอด”

การแก้ไขปัญหาที่เกาะกินองค์กรและภาพลักษณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แบบถอนรากถอนโคนอาจจะยาก แต่เซอร์ปิโกก็ได้ทำให้เห็นมาแล้วว่า หากมีตำรวจที่กล้าต่อกรกับอำนาจมืดและความอยุติธรรม แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็นับว่าสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างความหวังที่สังคมมีต่อวงการตำรวจขึ้นมาได้อีกครั้ง

 

เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย

อ้างอิง:

villagevoice.com

New York Times

Foreign Policy

Al Jazeera

Gadfly Online

intergate.com

IMDB