อารีธา แฟรงคลิน ราชินีเพลงโซล นักสิทธิสตรี และคุณแม่ยังเด็ก
อารีธา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) เจ้าของฉายาราชินีเพลงโซล เสียชีวิตลงในวัย 76 ปี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2018 ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน แฟรงคลินคือศิลปินเจ้าของเพลงดังอย่าง ‘Respect’, ‘(You Make Me Feel Like) A Natural Woman’, ‘Think’ และ ‘Spanish Harlem’ ซึ่งนอกจากความโด่งดังในฐานะนักร้องแล้ว สมัยยังมีชีวิตเธอยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่ช่วยปฏิรูป และคอยขับเคลื่อนสังคมด้านความเท่าเทียมของคนผิวสีช่วงยุค 50s-60s อีกทั้งผลงานของเธอก็ยังแฝงไปด้วยการพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี ที่คอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสตรีทุกคนบนโลก
แฟรงคลินเกิดที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี 1942 ชีวิตวัยเด็กของเธอเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวนักดนตรีในโบสถ์ มีพ่อเป็นนักเทศน์ ส่วนแม่เป็นนักร้องและนักเปียโน แฟรงคลินเริ่มเรียนรู้การเล่นเปียโนจากการใช้หู และในวัย 10 ขวบเธอก็เริ่มร้องเพลงในโบสถ์ครั้งแรกต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก
ชีวิตเริ่ม “พัง”
ชีวิตของแฟรงคลินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอต้องประสบปัญหาครอบครัวเมื่อพ่อแม่หย่าร้างกันตอนที่เธอมีอายุแค่ 6 ขวบ นับตั้งแต่ตอนนั้นชีวิตในวัยเด็กของแฟรงคลินก็เริ่มพัง แม้จะหย่าร้างกับสามี แต่บาร์บาราแม่ของแฟรงคลินก็ไม่เคยห่างจากลูกน้อย เธอมักจะเดินทางจากบัฟฟาโล่มายังดีทรอยต์เพื่อเยี่ยมแฟรงคลินเสมอ แต่ชีวิตคนเราก็ไม่เคยมีอะไรแน่นอน เพราะอยู่ดี ๆ วันหนึ่งบาร์บาราก็เสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย
“ฉันไม่สามารถบรรยายความเจ็บปวดเหล่านั้นได้ บางครั้งความเจ็บปวดก็เป็นเรื่องส่วนตัว มันคือความเจ็บปวดของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งที่สูญเสียแม่เท่านั้นเอง” แฟรงคลินกล่าว
กลายเป็นคุณแม่ยังเด็ก
ในวัย 12 ปี แฟรงคลินพบรักกับ โดนัลด์ เบิร์ก ชายหนุ่มที่เธอรู้จักที่โรงเรียน ไม่กี่เดือนต่อมาเธอก็ตั้งท้องลูกคนแรกโดยใช้ชื่อตามพ่อของเธอว่า คลาเรนซ์ แฟรงคลินเป็นคนที่ชอบเรียนหนังสืออย่างมาก แต่การมีลูกในวัยนี้ทำให้เธอต้องออกจากโรงเรียนเป็นการชั่วคราว (จากการเปิดเผยของอาร์มา พี่สาวของแฟรงคลิน)
“ตอนฉันตั้งท้องได้ห้าถึงหกเดือน ฉันต้องพักการเรียนไว้ก่อน ซึ่งครอบครัวก็สนับสนุนฉันในเรื่องนี้ พวกเขาสนับสนุนทุก ๆ อย่างที่ฉันทำเลย” แฟรงคลินเล่า
“อารีธากลับไปเรียนหนังสือหลังจากมีคลาเรนซ์แล้ว เธอเป็นคนที่หัวไว และทำได้ดีในทุกคลาสที่เรียน” อาร์มาบอก
สองปีต่อมา แฟรงคลินได้ให้กำเนิดลูกชายคนที่สอง เอ็ดเวิร์ด (ตอนนี้อายุ 63 ปี) ซึ่งนั่นทำให้สุดท้ายแล้วเธอต้องตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อหันไปมุ่งมั่นกับการร้องเพลงหาเลี้ยงชีพตัวเองกับครอบครัว
“ย้อนกลับไปตอนนั้นเราต่างอยู่ท่ามกลางยุคที่มีนักร้องสาวอายุน้อย ผู้ที่ยอมสละเวลาเลี้ยงลูก ๆ ของพวกเธอเพื่ออาชีพนี้ สำหรับคนเป็นแม่เรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร เราต่างทำมันด้วยความรู้สึกผิด” อาร์มาถ่ายทอดความรู้สึกขณะนั้น
แฟรงคลินเคยเปิดเผยว่า การเป็นคุณแม่ยังสาว ทำให้เธอต้องการออกไปหาความบันเทิงให้ตัวเองบ้าง บ่อยครั้งที่แฟรงคลินมักจะให้คุณยายและอาร์มาช่วยเธอเลี้ยงลูก ในยามที่เธอต้องการออกไปใช้ชีวิตตามภาษาวัยรุ่น
“ฉันยังต้องการออกไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ บ้าง ซึ่งฉันต้องการอยู่สองที่ในเวลาเดียวกัน คุณยายช่วยฉันมาก ๆ เช่นเดียวกับพี่สาวและญาติของฉัน พวกเขากลายเป็นพี่เลี้ยงเด็ก นั่นจึงทำให้ฉันสามารถออกจากบ้านได้บางครั้ง” แฟรงคลินเล่า
ถึงอย่างนั้น แฟรงคลินก็ไม่ชอบให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ เธอมักเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองเสมอ ซึ่งอาร์มาให้คำนิยามช่วงชีวิตของอารีธาในวัยเด็กว่า “silent suffering” หรือแปลเป็นไทยว่า “ความทุกข์ที่เงียบงัน”
เข้าวงการเพลงอย่างจริงจัง
แฟรงคลินในวัย 14 ปี ได้รับการหนุนให้เข้าสู่วงการเพลงโดยคลาเรนซ์ ซึ่งเป็นทั้งพ่อและผู้จัดการส่วนตัว เธอเซ็นสัญญากับค่าย JVB Records ก่อนออกอัลบั้มกอสเปลชุดแรก Songs Of Faith ในปี 1956
แซม คุก ตำนานนักร้องชื่อดังคือชายคนแรกที่แนะนำแฟรงคลินให้หันมาทำเพลงที่ “ป๊อป” มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองในตลาดดนตรีโลก แฟรงคลินที่ให้ความเคารพคุกอย่างมากตัดสินใจฟังคำแนะนำของนักร้องรุ่นพี่ และเริ่มหันมาจับผลงานเพลงที่ป๊อปมากขึ้น ในวัย 18 ปี ความโดดเด่นของแฟรงคลินเริ่มเปล่งประกาย จนค่ายใหญ่หลายแห่งตามจีบ ทั้ง Tamla, RCA ก่อนสุดท้ายเธอตัดสินใจไปอยู่กับ Columbia Records ในปี 1960
อาชีพนักร้องของเธอยังไม่โดดเด่นมากนักเมื่ออยู่ที่ Columbia ผลงานเด่นที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเพลง ‘Rock-A-Bye Your Baby With A Dixie Melody’ ที่ทะยานขึ้นไปติดท็อป 40 ของชาร์ท Billboard ในปี 1961
ปี 1966 แฟรงคลินย้ายไปอยู่กับค่าย Atlantic Records และที่นั่นชื่อเสียงของเธอก็เริ่มโด่งดังเป็นวงกว้าง หลังจากเพลง ‘I Never Loved A Man (The Way That I Love You)’ และ ‘Respect’ ที่ทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของชาร์ท Billboard แฟรงคลินกลายเป็นไอคอนและต้นแบบของนักร้องแนวโซลในยุคนั้น เธอโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงต้นยุค 70s
ในปี 1968 นิตยสาร Time นำแฟรงคลินไปขึ้นปกพร้อมแคปชั่นว่า “the sound of soul” ซึ่งเป็นการให้เกียรติ และยกย่องให้เธอเป็น “ราชินีเพลงโซล” ของวงการดนตรี ซึ่งใน 6 ทศวรรษต่อมา เธอได้ฝากผลงานสตูดิโอไว้ถึง 31 ชุด ได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดส ถึง 18 ครั้ง อีกทั้งในปี 2005 แฟรงคลินยังได้รับเชิญไปทำเนียบขาว เพื่อรับ “เหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี (Presidential Medal of Freedom)” ของสหรัฐอเมริกา จากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อีกด้วย
เฟมินิสต์ตัวแม่
นอกจากบทบาทการเป็นศิลปิน ในด้านสังคมแฟรงคลินยังเป็นเฟมินิสต์ตัวแม่ และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญคนหนึ่ง ‘Respect’ เพลงดังของแฟรงคลิน (จากผลงานต้นฉบับของ ออร์ทิส เรดดิ้ง) กลายเป็นเพลงชาติของเหล่าเฟมินิสต์ ที่มักจะถูกหยิบมาสื่อสารเพื่อแสดงจุดยืนด้านสิทธิสตรี นอกจากนี้ แฟรงคลินคือบุคคลเดียวที่มีเพลงมากกว่าหนึ่งร้อยเพลงติดชาร์ท US Billboard เพลงของเธอเหล่านั้นคือสัญลักษณ์ของความหวังและความทะเยอทะยาน จึงไม่แปลกที่แฟรงคลินจะได้รับฉายาว่า “เสียงของคนอเมริกันผิวสี”
“ประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันจะเต็มเปี่ยมเมื่ออารีธาร้องเพลง ไม่มีใครที่จะเต็มไปด้วยความเชื่อมโยงกับดนตรีแบบแอฟริกัน-อเมริกัน บลูส์ อาร์แอนด์บี และ ร็อกแอนด์โรลได้เท่าเธออีกแล้ว อารีธานำเสนอดนตรีที่มีทั้งความเศร้าและความยากลำบากโดยเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นพลัง ความสวยงาม และความหวังได้” บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดถึงนักร้องชื่อดังไว้เมื่อปี 2015
“Lady Soul” ชื่อนี้ “ตลอดไป”
Lady Soul คือชื่ออัลบั้มชุดที่สิบสี่ของแฟรงคลิน ที่ถูกนำมาเรียกเป็นอีกหนึ่งฉายาของเธอ ซึ่งนักร้องรุ่นน้องคนดังอย่าง นาตาลี โคล, วิทนีย์ ฮุสตัน, เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ต่างก็มีไอดอลคนเดียวกันคือ อารีธา แฟรงคลิน โดยฮุสตัน นักร้องผู้ล่วงลับ เคยพูดถึงความประทับใจที่มีต่อไอดอลของเธอคนนี้ว่า
“ฉันจำได้ว่าตอนอายุ 12 ฉันมักจะลงไปที่ห้องใต้บันไดที่แม่เก็บแผ่นเสียงเอาไว้ ฉันมักจะนำผลงานของอารีธามาเปิดและร้องตามเสมอ ฉันปิดตาและจินตนาการว่าตัวเองอยู่บนเวที เธอกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากเป็นนักร้อง”
อารีธา แฟรงคลิน พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเมื่อปี 2010 ด้วยสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม เธอจึงประกาศอำลาวงการเพลงในปี 2017 ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2018 ด้วยวัย 76 ปี แม้ร่างกายจะจากไปแล้ว แต่บทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณและพลังการต่อสู้ของเธอจะยังคงอยู่กับโลกนี้ตลอดไป
ที่มา:
https://www.vulture.com/2018/08/9-incredible-aretha-franklin-stories.html
https://www.rollingstone.com/music/music-features/aretha-franklin-tribute-cover-story-queen-729053/
https://theundefeated.com/features/aretha-franklin-1942-2018-long-live-the-queen-of-soul/
https://edition.cnn.com/2018/08/28/entertainment/aretha-franklin-biggest-songs-stories-trnd/index.html
https://theundefeated.com/features/aretha-franklin
https://www.theguardian.com/music/2018/aug/19/aretha-franklin-life-of-heartbreak-heroism-hope