แมรี ลาสเกอร์ ฟื้นฟูสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐฯ เพราะไฟแค้นที่แม่ตาย
เราอาจเคยได้ยินประโยค “ตายอย่างไม่ควรตาย” ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้คือ การตายของแม่ของ แมรี ลาสเกอร์ (Mary Lasker) ผู้ปฏิวัติวงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ที่ครั้งหนึ่งระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ปล่อยปละละเลยผู้ป่วยเหมือนหนูข้างทาง ซึ่งไฟแค้นแห่งการไม่สนใจไยดีสุขภาพประชาชนจนทำให้แม่ของแมรีตายนี้เอง กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society - ACS) ที่สร้างดัชนีชี้วัดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อพัฒนาการรักษาโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ย้อนไปต้นศตวรรษที่ 20 ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักโรคมะเร็ง แต่จะเรียกว่าไม่รู้จักซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะอาจเป็นการเพิกเฉยละเลยเสียมากกว่า สมัยนั้นมีหมอนักพยาธิวิทยาคนหนึ่งชื่อ ซิดนีย์ ฟาร์เบอร์ (Sidney Farber) ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าทำงานในโรงพยาบาลเด็กแห่งบอสตัน โรคที่สร้างความหดหู่อย่างมากในสมัยนั้นคือลูคีเมียในเด็ก เด็กทุกคนผอม อิดโรย นอนติดเตียง หรือถึงแม้จะเดินเล่นได้ ยิ้มได้ แต่ความโศกเศร้าเสียใจของคนเป็นพ่อแม่ก็ยังคงเป็นนิรันดร์
หมอฟาร์เบอร์มองแล้วมองเล่า แพทย์แต่ละคนทำได้เพียงบอกการบำบัดที่มโนขึ้นมาจากไหนไม่รู้ให้พ่อแม่เด็กฟัง พวกเขารับฟังด้วยความหวัง แต่ความจริงแล้วนั่นเป็นคำหลอกลวงที่ให้ความหวัง แล้วเฝ้าดูคนพวกนั้นแตกสลายเวลาที่ลูก ๆ ของพวกเขาตาย
ความหมกมุ่นในการหาทางรักษาลูคีเมียหรือลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ยาตัวนู้นยาตัวนี้ ผิดบ้างถูกบ้าง ในที่สุดก็ได้ยาตัวหนึ่งที่ชื่อ อะมินอปเทริน ที่สามารถลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวได้อย่างรวดเร็ว และทำให้คนไข้เด็กรายหนึ่งที่ได้ใช้ยาครั้งแรกกลับมาวิ่งเล่นอีกครั้ง
แต่มะเร็งเป็นโรคที่ร้ายกาจ ถ้าให้นับก็คงจะเป็นราชาแห่งโรคร้าย ลูคีเมียย้อนกลับมาหาเด็กคนนั้นในหกเดือนต่อมา อาการของเขารุนแรงขึ้นกระทั่งพรากชีวิตจากโลกนี้ไปตลอดกาล ฟาร์เบอร์ ซึ่งเป็นนักวิจัยของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์บทความลงนิตยสารนิวอิงแลนด์ เพื่อประกาศว่ายาที่เขาพัฒนาเริ่มได้ผล แทนที่เหล่าแพทย์จะเชื่อและยอมรับ พวกเขากลับแสดงความไม่เชื่อออกมา แถมทุนในการวิจัยยาตัวใหม่ ๆ ของเขาก็ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ฟาร์เบอร์พยายามหาวิธีและใช้รายการทีวีโชว์กับเด็กชายที่ป่วยเป็นลูคีเมียชื่อจิมมี เป็นเหมือนโฆษณาขอความเห็นใจ รายการนั้นสัมภาษณ์จิมมีออกอากาศ และได้รับเงินบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
แต่มันก็ยังไม่พอ
ฟาร์เบอร์รู้ว่า แม้กระทั่งการวิจัยเพื่อรักษาโรคก็ยังต้องการ “การโฆษณา” และต้องการ “การเมือง” แต่ใครเล่าจะหาทุนให้เขาได้ ใครเล่าที่มีทั้งทุน และคอนเนคชันในกลุ่มมูลนิธิของรัฐบาล
ในที่สุดฟ้าก็ประทาน แมรี ลาสเกอร์ กับไฟแค้นของเธอมาให้ฟาร์เบอร์
แมรีเกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 1900 ในวอเทอร์ทาวน์ รัฐวิสคอนซิน เธอเกิดมาเพื่อขายทุกสิ่ง ฝึกมาเพื่อขายทุกสิ่ง ทุกคนที่นั่นพูดว่า เธอขายได้ทุกอย่าง หลังจบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เธอตั้งตัวในนิวยอร์กและเริ่มเป็นตัวแทนขายภาพวาด จากนั้นก็ทำกิจการเสื้อผ้า
ตอนที่แมรีอายุ 38 เธอแต่งงานกับ อัลเบิร์ต ลาสเกอร์ (Albert Lasker) ซึ่งเป็นเจ้าของเอเจนซีโฆษณาในชิคาโก และถือว่าเป็น “คุณพ่อแห่งการโฆษณาแบบสมัยใหม่” นับเป็นการจับคู่ที่เหมาะสมมากเหลือเกิน คนหนึ่งเป็นสาวขายของเก่ง มีลุคที่ดูเป็นผู้หญิงทำงาน กับพ่อหนุ่มเจ้าของเอเจนซีโฆษณา ผู้คนยุคหลังพากันพูดว่า สองสามีภรรยาคู่นี้คือการรวมตัวกันอย่างสมบูรณ์แบบของวิทยาศาสตร์กับวงการโฆษณา
หน้าตาทางสังคมของทั้งคู่เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน แมรีเริ่มนึกย้อนไปสมัยเด็กที่เธอเคยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง (สมัยนั้นถือว่าน่ากลัวมาก) จึงมีแนวคิดที่จะทำมูลนิธิหรือโครงการเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นมา เธอกล่าวในช่วงแรก ๆ ของการริเริ่มสร้างมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อโรคมะเร็งว่า “ถ้ายาสีฟันได้งบโฆษณาไปสี่ล้านดอลลาร์ต่อปี งบเพื่อการวิจัยการรักษาโรคที่มันฆ่าผู้คนในอเมริกาหรือผู้คนบนโลก ควรได้มากกว่านั้นร้อยเท่า”
เพื่อโปรโมทและริเริ่มในสิ่งที่เธอจะทำ ในปี 1942 เธอเริ่มจากสร้าง Lasker Foundation สนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์ และใช้เงินทุนของตัวเธอเองในการให้รางวัล คล้าย ๆ กับการให้รางวัลบทความดีเด่นในวารสารทางการแพทย์
แต่การลงมือทำมูลนิธิหรือสมาคมจริง ๆ ค่อนข้างยาก เพราะต้องมีการ “ล็อบบี้” แมรีไม่รู้จักใครเลยในรัฐบาล เธอพูดประโยคเด็ดขึ้นมาว่า “คุณแก้ปัญหาทุกปัญหาได้ถ้าคุณมีเงิน คน และเครื่องมือ” ในเมื่อไม่รู้จักใครในรัฐบาล ก็เดินเข้าไปให้รัฐบาลรู้จักเธอเองเสียเลย!
เศรษฐินีอย่างแมรี เริ่มปรากฏตัวตามงานมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระทำเชิงรุกและมุ่งมั่นด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริง และผลที่ตามมาก็ไม่น่าผิดหวัง อิทธิพลของเธอและสามีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งทำให้เธอกลายเป็นสาวสังคมเฉิดฉาย มีเงิน มีคอนเนคชัน และได้เต้นรำกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) เสียด้วย
ในที่สุด ห้วงเวลาแห่งความพิโรธของแมรีก็มาถึง เมื่อแม่ของเธอตายด้วยสาเหตุเส้นเลือดอุดตันและหัวใจวาย แมรีเขียนจดหมายไปหาสมาคมการแพทย์ และผิดหวังอย่างแรงกับองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการตายของแม่เธอที่มีอยู่น้อยนิด “ไม่ใช่ทุกคนจะเส้นเลือดอุดตันตายนี่ มันต้องมีสาเหตุ” เธอบอก และด้วยการตายอย่างที่ไม่สมควรตายของแม่ ทำให้แมรีพูดอย่างโกรธเกรี้ยวว่า “ฉันเกลียดโรคหัวใจวายและมะเร็ง เหมือนคนที่เกลียดการทำบาป”
ไฟแห่งความโกรธแค้นที่รัฐไม่มีงบให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้แมรีเริ่มเขียนบทความลงนิตยสาร พบปะผู้คน และเงินก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาหาเธอและอัลเบิร์ตเป็นจำนวนมาก แมรีได้พบหมอฟาร์เบอร์ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง ทั้งคู่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบว่ามีอุดมการณ์คล้ายกัน นั่นยิ่งทำให้แมรีเชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว ท้ายที่สุดเธอก็สามารถใช้พลังเงินปรับปรุงสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งในปี 1913 จากที่มีแต่หมอมีความรู้แต่อาจจะขาดทักษะการบริหารจัดการเงินทุน ให้กลายเป็นสมาคมฯ ที่มีประสิทธิภาพในการวิจัยและรักษาขึ้นมาจนได้ เฉพาะปี 1946 เพียงปีเดียว แมรีและเพื่อน ๆ สามารถระดมทุนเข้าสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาได้มากถึงกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถึงจะทำเพื่อสังคม แต่แมรีก็มิวายถูกค่อนแคะจากคนบางพวกที่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องระดมทุนมากมายมหาศาลขนาดนี้ ซึ่งเธอก็ตอบข้อสงสัยดังกล่าวไว้อย่างแสบทรวงว่า “ถ้าคิดว่างบค่าวิจัยมันแพงนัก ลองป่วยดูเองมั้ย”
แมรีล็อบบี้กิจกรรมของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา เพี่อทำเป็นแคมเปญขอรับเงินบริจาค แล้วก็ได้ผลเพราะผู้คนต่างเทเงินบริจาคด้วยความเห็นอกเห็นใจ เวลานั้น แซมูเอล บรอเดอร์ (Samuel Broder) ที่ต่อมาเป็นผู้บริหารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute – NCI) ได้บอกไว้ว่า แมรีคืออัจฉริยะที่สามารถบีบคอรัฐบาลกลางให้ตระหนักรู้ถึงการวิจัยเรื่องสุขภาพของประชาชน หรือของ “อเมริกา” ได้
อย่างไรก็ตาม ความเร่งรัดในการคิดค้นยาและความต้องการที่จะเอาชนะมะเร็งของเธอ ไปขัดขานักวิทยาศาสตร์และนักกฎหมาย เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องการให้การศึกษายีนหรือเซลล์หรือกลไกของร่างกายเป็นไปตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ (ขั้นตอนสังเกต ทดลอง วินิจฉัย) ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์บอกว่า แมรีเอาแต่พยายามจะเอาชนะมะเร็งเร็ว ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้กลไกการทำงานของการวิจัยหรือตัวโรคเลย
สุดท้ายแมรีได้เปิด “สงครามแห่งมะเร็ง” และโต้กลับว่า มะเร็งเป็นโรคถึงตายที่ควรจะเป็นส่วนของการเมือง และลึกไปถึงนโยบายของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร เธอได้ใช้เงินทุนของเธอช่วยในการวิจัยยารักษาโรคที่ถึงชีวิต รวมถึงช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการค้นคว้าได้มากที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา
จากไฟแค้นสู่วิสัยทัศน์ที่ทำเพื่อคนทั้งโลก แมรีมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้อเมริกามีศูนย์วิจัยมะเร็งที่คอยเทียบสถิติเพื่อการวิเคราะห์มะเร็งในกลุ่มคนอายุต่าง ๆ เพื่อการป้องกันล่วงหน้า ก่อนแมรีจะเสียชีวิต เธอมอบเงินสิบล้านเหรียญให้ Lasker Foundation เพื่อวิจัยเรื่องสาธารณสุข (และแน่นอนว่ามีเงินเอาไว้ล็อบบี้คนในวงการ เพื่อของบในการวิจัยด้วย) แม้คำว่า “ล็อบบี้” อาจฟังแล้วไม่สวยหรู แต่ก็เป็นทางหนึ่งที่เธอใช้เพื่อยกระดับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ
นับตั้งแต่ปี 1946 สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาใช้เงินไปแล้วกว่า 4.9 พันล้านเหรียญในการวิจัยและใช้เป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยให้ผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ปัจจุบัน สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็นสิบเอ็ดเขตทางภูมิศาสตร์ มีทั้งแพทย์และอาสาสมัครเชิงปฏิบัติการอยู่กว่า 900 สำนักงานทั่วสหรัฐฯ มีสำนักงานหลักตั้งอยู่ที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกายังมีผลงานจัดพิมพ์วารสารแคนเซอร์, ซีเอ และแคนเซอร์ไซโทพาโทโลจี อีกด้วย
ที่มา
http://www.laskerfoundation.org/about/lasker-legacy/
https://profiles.nlm.nih.gov/spotlight/tl/feature/biographical-overview
https://www.cancer.org/about-us/who-we-are/our-history.html
หนังสือ The Empreor of All Maladies by Siddhartha Mukherjee
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย