ชนชาวข่า ลาวเทิง: การกดขี่ สังหารหมู่โดย 'พวกคนไทย' ที่ถูกลืม
"ประวัติของพวกลาวเทิงนั้น ทั้งน่ามหัศจรรย์จับใจและน่าเศร้าสลด พวกลาวเทิงแตกแยกออกเป็นเผ่าต่าง ๆ ถึงราวสี่สิบเผ่า ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามป่าเขาทางลาวใต้ และในที่ราบสูงที่เรียกว่า ที่ราบสูงบริเวณ (Bolevens Plateau)
“ในสมัยหนึ่งนั้น ข่าเผ่าเดียวเคยมีจำนวนคนถึง 300,000 คน แต่ได้ถูกลดจำนวนลงจนเหลือเพียงไม่กี่พัน เพราะการสังหารหมู่ของพวกคนไทย นิยายเก่า ๆ ของลาวเทิงยังมีเล่ารำลึกถึงทุ่งนาที่นองไปด้วยเลือด แม่น้ำลำธารอึดตันและหุบเขากองท่วมท้นไปด้วยทรากศพ พวกที่รอดพ้นการสังหารหมู่มาได้ก็ถูกพวกคนไทยกวาดต้อนไปเป็นข้าทาสหรือขายให้แก่ลาวลุ่มเพื่อใช้เป็นทาส นี่แหละคือที่มาแห่งนามของเขา ที่เรียกว่า ข่า"
วิลเฟรด เบอร์เชตต์ นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษกล่าว (Wilfred Burchett, Mekong Upstream - จากคำแปลของ จิตร ภูมิศักดิ์)
ในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น มีการเล่าถึงชนชาว “ข่า” หรือ “ลาวเทิง” ไว้น้อยมาก โดยเฉพาะในเอกสารของส่วนกลางซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขามากนัก ที่น่าจะผ่านหูผ่านตาบ้าง (เล็กน้อย) น่าจะเป็นกรณีที่เรียกได้ว่าเป็น “ปฐมบท” ของศึกเจ้าอนุวงศ์
เหตุการณ์คราวนั้นเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกไว้ว่า เจ้านครจำปาศัก (หมาน้อย) (จำปาศักบ้างสะกดว่า จำปาศักดิ์ หรือ จำปาสัก ในบทความนี้ขอใช้ว่า จำปาศักตามพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาฯ ไปตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นตัวสะกดตามเอกสารต้นฉบับอื่น ๆ) ได้ส่งทูตนำสาส์นมายังราชสำนักกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งว่า
“อ้ายสาเกียดโง้งลาว ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษมีบุญสำแดงวิชาให้พวกข่าเห็น พวกข่าสาละวัน ข่าคำทอง ข่าอัตปือ เข้าเกลี้ยกล่อมอ้ายสาเกียดโง้งประมาณแปดพันคน ยกมาตั้งอยู่ ณ ทุ่งนาหวา ไกลเมืองจำปาศักทางสามคืน เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนสาม ขึ้นแปดค่ำ ข้าพเจ้า (เจ้าจำปาศัก) ขอให้ท้าวเพี้ยคุมไพร่ข้ามฟากไปตั้งอยู่บ้านนพโพ ได้รบกันตั้งหนึ่ง เหลือกำลังรับไม่ได้ ถอยข้ามมาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงตะวันออก ณ วันเดือนสาม ขึ้นเก้าค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำไกลเมืองจำปาศัก ข้าพเจ้าแต่งให้เจ้าสุวรรณสารเพี้ยเมืองกลาง เพี้ยหมื่นน่า เพี้ยไชยภาพ เป็นแม่ทัพกับท้าวเพี้ยคุมไพร่พันเศษ ยกไปตั้งฝั่งแม่น้ำโขงให้ลาดระเวนทางบกทางเรือ
“ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือนสาม ขึ้นสิบสองค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกข้ามน้ำมา คนประมาณหกพันเศษจุดเผาเมืองจำปาศัก ผู้คนแตกกระจัดกระจาย ข้าพเจ้าคอยกองทัพเมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ ก็ไม่มา ไพร่ที่เมืองจำปาศักน้อยนักข้าพเจ้าเห็นว่าจะต่อสู้มิได้ ณ วันศุกร์ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองจำปาศัก ข้าพเจ้าพาครอบครัวหนีขึ้นมาอยู่บ้านเจียมแขวงเมืองอุบล เมืองเขมราฐต่อกัน เรื่องความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีตราโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา กับเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์ ยกทัพขึ้นไปจับอ้ายสาเกียดโง้ง ๆ สู้ไม่ได้ ก็จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งจำส่งลงมากรุงเทพมหานครกับครอบครัวข่าเป็นอันมาก อ้ายสาเกียดโง้งนั้นให้จำไว้ ณ คุก พวกครอบครัวข่านั้นโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านอยู่ที่บางบอนจึงเรียกข่าตะพุ่นหญ้าช้างมาจนทุกวันนี้ ที่เมืองจำปาศักโปรดให้ราชบุตร ๆ เจ้าเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองในเดือนสี่นั้น”
ในความส่วนนี้จึงเล่าเพียงแต่ว่า อ้ายสาเกียดโง้งตั้งตนเป็นผู้วิเศษหาสมัครพรรคพวกไปยึดเมืองจำปาศัก แต่ก็ไม่ได้ให้เบื้องหลังความเป็นมาว่า เหตุใดอ้ายสาเกียดโง้งกับชาวข่ากว่า 8,000 คน ถึงได้ตั้งตนเป็นกบฏยึดเมืองจำปาศัก?
ด้าน จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า แต่เดิมนั้น จำปาศัก เป็นถิ่นฐานของชาวข่าระแด ชนชาติในตระกูลภาษาชวา-มลายู และเป็นพลเมืองจามสาขาหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าเป็น นครจามปา ภายหลังตกอยู่ใต้อำนาจเขมร เมื่อเขมรเสื่อมอำนาจลง ชาวระแดก็ปกครองกันเองแต่ต้องจ่ายส่วยให้ทั้งเจ้าเวียงจันทน์และเจ้าอยุธยา และภายหลังเจ้าจากลาวก็แพร่อิทธิพลเข้ามา จน พ.ศ. 2237 ราชวงศ์ลาวที่หมดอำนาจในเวียงจันทน์ก็ลี้ภัยมาอยู่จำปาศัก จนในที่สุดข่าระแดก็กลายเป็น "ข้า" ที่ถูกปกครองโดยเจ้าเชื้อลาวไป
คำว่า “ข่า” ในภาษาลาวก็คือ ข้า หรือ ทาส ในภาษาไทยนั่นเอง
ครั้นถึงรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้ยกทัพมาตีนครจำปาศักไปเป็นประเทศราช โดยมีกำลังสำคัญเป็นข่าจากเมืองสุรินทร์ ทำให้อำนาจของราชสำนักจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นมามีอำนาจโดยตรงในจำปาศัก
ล่วงมายุครัตนโกสินทร์ มีคำสั่งจากส่วนกลางไปยังเจ้าผู้ปกครองข่าให้เรียกเก็บส่วย และเร่งรัดให้มีการสักเลขข่าไพร่ ข่าส่วย อย่างหนักหนา จนชาวข่าทนไม่ไหวลุกฮือขึ้นต่อต้านการขูดรีดใน พ.ศ. 2334 นำโดย “เชียงแก้ว” ซึ่งอาศัยพุทธคุณสร้างศรัทธาจากชาวบ้านรวมกำลังกันไปยึดอำนาจปกครองจำปาศักคืนจากเจ้าลาว
เจ้าไชยกุมารผู้ครองจำปาศักจึงหนีออกจากเมือง แต่ด้วยความชราภาพจึงทิวงคตระหว่างทาง ชาวข่าจึงยึดจำปาศักเอาไว้ได้ แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับการปกครองชาวข่าโดยชาวข่า จึงใช้กำลังไทย-ลาวเข้าปราบปรามกลุ่มชาวข่าลง และผลของการก่อกบฏก็ยิ่งทำให้การขูดรีดชาวข่าหนักมือยิ่งขึ้น
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) สมัยที่ยังเป็นพระพรหมยกกระบัตรคือหนึ่งในกองกำลังปราบข่าในคราวนั้น แต่กว่าที่จะยกทัพไปถึงก็พบว่า กลุ่มอาญาสี่เมืองอุบลได้ทำการปราบปรามกบฏเชียงแก้วลงได้เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว
"พอกองทัพเมืองนครราชสีมายกไปถึงก็พากันไปเมืองจำปาศักดิ์ แลพากันยกไปตีพวกข่าชาติกระเสงสวางจะรายระแดร์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับได้มาเป็นอันมาก จึ่งได้มีไพร่ข่าและประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น" (พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ)
หากไปดู “พื้นเวียง” หรือพงศาวดารเวียงจันทน์เอกสารบันทึกจากฝั่งลาวประกอบก็จะยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันและการกดขี่ประชาชนแต่กลับได้ดิบได้ดีในระบบศักดินาของกรุงเทพฯ ดังบันทึกที่กล่าวว่า
“หลวงยกบัตรเมืองโคราชขออนุญาตราชสำนักสยามเพื่อขอปราบไล่พวกข่าอยู่ดอนโขงบ้านด่าน บาดได้ฮับพระบรมราชานุญาต หลวงยกบัตรกะได้ออกมาขูดฮีดซาวบ้านซาวเมือง ยกทัพไปโจมตีซาวพื้นเมือง คนล้มตายเป็นจำนวนหลาย
“พระยาไกรเจ้าเมืองภูขันบ่ยอมอ่อนต่อเมืองโคราชกะได้ฮ้องมายังสำนักสยาม ราชสำนักสยามกะได้ส่งคุณมหาอมาตย์ขึ้นไปไต่สวนความ บ่พ่อกับหลวงยกบัตรเมืองโคราชกะได้พ่อคำเว่าเพ็ดทูลแล้วได้ฮับสินบน คุณมหาอามาตย์กะเดินทางต่อเพราะสิไปรายงานต่อราชสำนัก พระยาไกรกะได้ฮ้องไปอีก คุณมหาอามาตย์กะได้เดินทางไปอีกคือเก่า หลวงยกบัตรเพิ่นกะได้จัดแต่งเครื่องบรรณาการข้าทาสถวายราชสำนักนำ หลวงยกบัตรได้ฮับแต่งตั้งให้เป็นพระยาพรหมภักดีแล้วสัญญาว่าพอเจาเมื่องโคราชฮอดแกกรรมแล้วสิให้พรหมพระยาภักดีขึ้นครองเมืองแทน พระยาพรหมภักดีเพิ่นได้เป็นคนโปรดของราชสำนักสยาม ได้กดขี่ขูดฮีดซาวเมืองหลายขึ้น” (สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
กล่าวได้ว่า การเข่นฆ่าขูดรีดชนพื้นเมืองไม่ได้เป็นสิ่งที่ส่วนกลางให้ความสนใจ เมื่อมีข้อร้องเรียนมา ผู้ถูกร้องเรียนก็ให้สินบนและเครื่องบรรณาการเป็นการตอบแทน เรื่องร้องเรียนก็เป็นอันตกไป ฝ่ายผู้ถูกร้องกลับมีความดีความชอบ จนภายหลังได้รับคำมั่นว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองโคราช
การกดขี่ของไทย ทำให้ชาวข่ารวมตัวขึ้นต่อต้านกันอีกครั้งใน พ.ศ. 2358 โดยมีแกนนำเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “สา” เอกสารไทยระบุว่าเป็น “อลัชชี” และเรียกพระรูปนี้ว่า “อ้ายสาเกียดโง้ง” โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวข่าต้องออกมาต่อต้านการปกครองของฝ่ายไทยแต่ประการใด แล้วยกให้เป็นเรื่องของภิกษุชั่วและประชาชนโง่ที่ถูกหลอก
“ลุจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่งชื่อสา อยู่บ้านหลุบเลาเตาปูนแขวงเมืองสารบุรี เดินธุดงค์มาหยุดพักอาไศรยอยู่ที่เขาเกียดโง้งฝั่งโขงตวันออก ซึ่งเปนแขวงเมืองจำปาศักดิแต่ก่อน อ้ายสาแสดงตัวว่าเปนคนมีวิชาฤทธานุภาพต่าง ๆ เปนต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเปนไฟลุกขึ้นแล้วอวดว่าเรียก ไฟฟ้าได้ แลสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเผาบ้านเมือง แลมนุษย์ เดรัจฉาน ให้ไหม้วินาศฉิบหายไปทั้งโลกย์ก็ได้ ฝ่ายคนในประเทศเหล่านั้น มีพวกข่าเปนต้น อันประกอบไปด้วยสันดานความเขลา มิรู้เท่าเล่ห์กลอ้ายสา ครั้นเห็นอ้ายสาแสดงวิชาดังนั้นก็เห็นเปนอัศจรรย์ ต่างมีความกลัวเกรงก็พากันยินดีนิยมเชื่อถือ เข้าเปนพวกอ้ายสาเกียดโง้งเปนอันมาก” (พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ)
ขณะที่จิตรชี้ว่า "การเคลื่อนไหวของภิกษุสาคงใช้ไสยศาสตร์และอภินิหารตามทำเนียมของยุคสมัย และโดยเฉพาะก็ต้องอาศัยอิทธิพลของพุทธศาสนา" และยังให้ความเห็นเสริมด้วยว่า
"พงศาวดารมักเขียนว่า อ้ายสาเกียดโง้งใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกลวงให้พวกข่าเชื่อ มีใครบ้างที่จะยอมให้ถูกหลอกไปตายเป็นพัน ๆ ผู้จดพงศาวดารพยายามปกปิดสาเหตุที่แท้จริงแห่งการลุกฮือขึ้น จึงต้องออกทางเหมาให้พวกข่าโง่ หลงกลถูกหลอก เขียนอย่างดูถูกปัญญามนุษย์ และวิญญาณการต่อสู้ของพวกข่าจนเกินไป!”
กำลังพลของภิกษุสามากพอที่จะยึดนครจำปาศักได้ ฝ่ายเจ้านครจำปาศักได้แต่หนีและมาถึงพิลาไลยที่กรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) พงศาวดารฝ่ายไทยเล่าว่า ขณะที่กำลังเกิดเหตุวุ่นวายในจำปาศัก เขากำลัง “กำลังเทียวกำจัด ตีข่าพวกเสม็ดกันชา ข่าประไรนบ ประไรต่าง อยู่ณแขวงเมืองโขง”
ฝ่ายไทย-ลาวร่วมกันตีกองกำลังของภิกษุสาให้แตกพ่ายจากนครจำปาศักไปได้ โดยผู้ที่ปราบภิกษุสาได้เด็ดขาดก็คือ “เจ้าอนุเวียงจันท์ยกกำลังทัพเที่ยวตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง กองเจ้าราชบุตร (โย่) บุตรเจ้าอนุเวียงจันท์จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ส่งลงมากรุงเทพ ฯ”
เรื่องเล่าของฝ่ายไทยไม่มีการไล่เลียงต่อไปว่า การก่อกบฏของภิกษุสานั้นเป็นมาอย่างไร? มีผู้สมรู้ร่วมคิดอื่นอีกหรือไม่? ขณะที่พื้นเวียงเล่าว่า
“ได้สอบสวนเจ้าหัวสากะสารภาพว่าพระยาพรหมภักดีเป็นผู้ยุแหย่ แต่พระยาพรหมภักดีเพิ่นกะว่าบ่ได้เฮ็ด
“จากเหตุดั่งกล่าวเฮ็ดให้ทั้งสองขัดแย้งกันหลายกว่าเกิดจากการสอบสวนแม่ว่าพระยาพรหมภักดีสิมีความผิดแต่กะทรงเป็นว่ามีคุณต่อแผ่นดินกะยกความผิดให้ พระอนุรุทธาธิราชทูลขอให้ราชบุตรของพระองค์ครองเมืองจำปาศักดิ์กะทรงอนุญาต”
ก็แปลว่า เจ้าพระยานครราชสีมา หรือขณะนั้นคือ พระยาพรหมภักดีถือเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดในการ “กบฏ” กับภิกษุสานั่นเอง แต่พระยาพรหมภักดีกลับมิต้องรับโทษใด ๆ สุดท้ายได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าพระยานครราชสีมาอีก และต้องการแข่งอิทธิพลกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ โดยยุแหย่ว่า การให้เจ้าราชบุตรครองเมืองจำปาศักจะทำให้ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์มีอำนาจมากเกินไป ควรให้มีการสักเลขชาวลาวเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวลาวในภาคอีสานกลับไปเข้ากับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์
“พระยาพรหมภักดีกะเห็นว่าพระยาอนุรุทธาธิราช (เจ้าอนุวงศ์) สิมีอำนาจขึ้นสุมื่อ พวกลาวสิกลับไปวังเวียงได้เบิด ทางแก้กะคือสักเลกพวกลาวไว้ก่อน ทางราชสำนักสยามก็เห็นนำจั่งใดสั่งโปรดให้หมื่นภักดี หมื่นพิทักษ์ไปเป็นแม่กองสักเลกพวกลวงอยู่กาฬสิน ละคร เหมราษฐ์บังมุขอุบล ฯ” เอกสารพื้นเวียงระบุ
นอกจากนี้ เอกสารพื้นเวียงยังกล่าวถึงพฤติกรรมของเจ้าพระยานครราชสีมาหรืออดีตพระยาพรหมภักดีต่อไปว่า “เจ้าเมืองโคราชถึงแก่อสัญกรรม พระยาพรหมภักดีได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให่เพิ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน พญาพรหมภักดีเฮ็ดความเดือดฮ้อนให้กับซาวลาวและข่าหลายขึ้นสุมื่อ พระอนุรุทธาธิราชเจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้ยกทัพมาเพื่อจับนายกองสักเลกแล้วกะได้กดขี่ราษฎรฆ่าเสีย แล้วหลายสิล้มอำนาจพระยาพรหมภักดีนำ”
แสดงให้เห็นว่า เจ้าพระยานครราชสีมานั้นมีพฤติกรรมกดขี่ชาวบ้านอย่างรุนแรง ตั้งแต่เป็นยกกระบัตร เป็นผู้ให้กำเนิด “ประเพณีตีข่า” และยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งแสดงความทารุณหนักมือขึ้น ทำให้เจ้าอนุวงศ์ต้องยกทัพลงมาปราบ ซึ่งเป็นการให้ภาพที่ต่างไปจากพงศาวดารฝั่งไทยอย่างสิ้นเชิง
“เจ้าเมืองโคราชถึงแก่อสัญกรรม พระยาพรหมภักดีได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให่เพิ่นได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน พญาพรหมภักดีเฮ็ดความเดือดฮ้อนให้กับซาวลาวและข่าหลายขึ้นสุมื่อ พระอนุรุทธาธิราชเจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้ยกทัพมาเพื่อจับนายกองสักเลกแล้วกะได้กดขี่ราษฎรฆ่าเสีย แล้วหลายสิล้มอำนาจพระยาพรหมภักดีนำ” เอกสารพื้นเวียงระบุ
จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า ทางกรุงเทพฯ มิได้สนใจความเป็นอยู่ของชาวข่าเท่าใดนัก นอกจากจะเห็นเป็นเพียงแหล่งรายได้และทรัพย์สิน จึงปล่อยให้มีการกดขี่ชาวข่าอย่างรุนแรง นำไปสู่การก่อกบฏในระยะเวลาห่างกันไม่นาน และการปราบปรามนั้นก็น่าจะรุนแรงจนทำให้กำลังของชาวข่าอ่อนแรง และกระจัดกระจายจนรวมตัวกันได้ยาก ชาวข่าที่ไม่ยอมตกเป็นไพร่ส่วย หรือเป็นผู้ถูกล่าไปเป็นทาสก็ต้องหลบหนีไปอยู่ตามป่าเขา และเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาก็เป็นได้เพียงเรื่องเล่ารอง หรือมิได้ถูกเล่าเสียเลยในบันทึกของผู้กระทำ