ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน เส้นทางของบัณฑิตหนุ่มอย่าง จักร กาญจนากาศ กำลังไปได้สวย เขาเปิดบริษัทก่อสร้างตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว แต่เมื่อฟองสบู่แตก ภาวะหนี้หลักสิบล้านก็ปรากฏชัดตรงหน้า แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาท้อ จักรฮึดสู้ด้วยการขับซาเล้งอยู่นานหลายปี โดยไม่หวั่นไหวกับเสียงดูถูกใด ๆ กระทั่งปลดหนี้ได้สำเร็จ พร้อมกับโอกาสงามที่เขามองเห็นในธุรกิจค้าขายของเก่าและของวินเทจ
ทุกวันนี้บุคคลชั้นนำระดับประเทศในหลายวงการ และนักสะสมของเก่ามือฉกาจ ต่างรู้จักมักคุ้นกับจักรเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างรู้จักตลาดนัดที่เขาก่อตั้งขึ้นในชื่อ “จตุจักรเพลย์กราวด์” (Chatuchak Playground Flea Market) และ “กรีนวินเทจ” (Green Vintage) แหล่งรวมของเก่าและของวินเทจหายากจากทั่วทุกมุมโลกที่ใหญ่สุดในไทยและอาเซียน
[caption id="attachment_27138" align="aligncenter" width="1200"]
ของเก่าชิ้นงามละลานตาในพื้นที่ด้านนอกของจตุจักรเพลย์กราวด์[/caption]
“ของเก่า” พลิกชีวิต
จักรชื่นชอบด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก จึงเข้าเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และจบปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่ในปี 2531 เขาก็เริ่มเก็บสะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความชื่นชมในพระราชจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์
หลังเรียนจบ จักรเข้าทำงานด้านออกแบบตกแต่งภายในกับบริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และเมื่อเป็นยุคเศรษฐกิจเติบโต เขาจึงเปิดบริษัทเพื่อรองรับงานก่อสร้าง แต่แล้ววิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ก็ซัดทุกอย่างพังระเนระนาด จักรแทบสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะมีหนี้ถึง 10 กว่าล้านบาท แต่เขาก็ยึดพระราชดำรัสและคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะเรื่อง “ความเพียร” เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
เขาหันไปทำขนมตาลขายอยู่สักพัก ก่อนจะมีบริษัทหนึ่งให้เขาไปปรับปรุงโรงแรมร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาอยู่ราวหนึ่งปีก็เปิดกิจการได้ ประกอบกับช่วงนั้นการสร้างรีสอร์ตหรูแต่ลึกลับกำลังได้รับความนิยม จักรที่พิสูจน์ฝีมือมาแล้วหลายโครงการก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้จัดการทั่วไป ฯลฯ กระทั่งทุกอย่างสำเร็จ จักรจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ว่างงานได้พักหนึ่งก็ได้งานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายออกแบบ ซึ่งแม้จะเงินเดือนดี แต่ก็ยังไม่พอใช้หนี้ธนาคาร
แล้วจุดที่เรียกว่า “พลิกชีวิต” ก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งในราวปี 2541-2542 เขาสังเกตว่าทำไมร้านซาเล้งถึงสามารถให้ทอง 5 บาทเป็นของขวัญปีใหม่พนักงานได้ จักรเข้าไปคุยกับร้านซาเล้งและจดรายการสินค้าที่ร้านรับซื้อ จากนั้นไปขอยืมรถเพื่อนเพื่อตระเวนขับรับซื้อของเก่าที่ขายชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัม ทั้งหนังสือ เก้าอี้เหล็ก ฯลฯ เพื่อเอาไปขายต่อให้ร้านซาเล้ง ทำได้พักหนึ่งก็เริ่มมีฐานะ จึงเซ้งห้องล็อกหนึ่งหลังตลาดนัดจตุจักรไว้ค้าขายของเก่า “ซาเล้งกับขายของเก่าต่างกัน ซาเล้งรับซื้อเป็นกิโลฯ แต่พอขายเป็นของเก่าจะขายแยก เช่น ขายหนังสือเป็นชุด ขายเก้าอี้เป็นตัว” จักรอธิบายถึงธุรกิจที่ทำทั้งสองอย่าง ใช้เวลาอยู่ราว 7 ปี เขาก็สามารถปลดหนี้ 10 กว่าล้านบาทได้สำเร็จ
[caption id="attachment_27139" align="aligncenter" width="1200"]
มุมหนึ่งของร้านค้าในจตุจักรเพลย์กราวด์ ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือตลาดนัดจตุจักร[/caption]
“ทุกคนบอกผมบ้า เป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน แล้วมาทำซาเล้ง บางวันผมเข็นรถหาของเก่ามีคนเปิดประตูบ้านมาด่าก็มี แต่ผมเฉย ๆ เพราะซาเล้งคืองานที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะหาเงินใช้หนี้ได้ยังไง ช่วงที่ลำบาก ผมให้คุณแม่กินข้าวกับน้ำพริกอยู่เป็นปี คุณพ่อผมหายสาบสูญ พี่ชายประสบอุบัติเหตุขาขาด ตอนนั้นผมอายุ 28 ต้องดูแลทุกอย่างคนเดียว แต่ผมไม่เคยท้อเลย
“สมัยเป็นเจ้าของบริษัท ตกกลางคืนก็คิดว่าพรุ่งนี้เช้าปูนจะเข้ามั้ย ทรายจะเข้ามั้ย จะส่งงวดทันมั้ย คนงานเป็นยังไง แต่พอเป็นซาเล้ง หัวถึงหมอนตอนทุ่มหนึ่งก็หลับแล้ว คิดแค่ว่าทำงานหาเงินใช้หนี้ไปวันต่อวัน กลายเป็นว่าเครียดน้อยกว่าเป็นสถาปนิก และทำให้ผมเห็นว่าธุรกิจของเก่าเป็นโอกาสที่คนคาดไม่ถึง”
เมื่อสร้างฐานะได้มั่นคงระดับหนึ่ง ในราวปี 2555 จักรก็จับมือกับ “จ่าเสก ซากรถ” ผู้ทำตลาดรัชดาไนท์ และเป็นรายแรก ๆ ในไทยที่ทำตลาดกลางคืน เปิดตลาดนัดในชื่อ “สยามยิปซี” ย่านศรีวรา แต่ทำได้สัก 2-3 เดือน ตลาดรัชดาไนท์ก็ต้องปิดตัวลง พอดีจักรมาเห็นพื้นที่โครงการเจเจกรีนยังร้างอยู่ จึงเข้าไปติดต่อขอทำตลาดนัด โดยรวมสองตลาดนัดเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ “สยามยิปซี” ทั้งที่ขณะนั้นมีตลาดนัดใหม่เพิ่งเปิดได้ราวครึ่งปีตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก
“ผมเป็นคนทำอะไรแล้วทำสุด การทำงานถ้าทำไม่สุดอย่าบอกว่าทำไม่ได้ เหมือนตอนที่ผมไปทำโรงแรม ผมทำที่เจ๊งแล้วให้รอดได้เสมอ ตลาดนัดก็เหมือนกัน” จักรเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น แม้ตอนนั้นจะหมดบ้านไปหนึ่งหลังและหมดรถไปหนึ่งคัน แต่เขาก็ยังเดินหน้า ผ่านไปปีครึ่ง หลังจากหุ้นส่วนขอไปเปิดชุมทางสยามยิปซีที่ย่านบางซ่อน จักรก็เปลี่ยนชื่อตลาดนัดเป็น “กรีนวินเทจ” และทำต่อเนื่องจากนั้นอีกราว 6 ปี
[caption id="attachment_27141" align="aligncenter" width="1200"]
จตุจักรเพลย์กราวด์ที่จักรปลุกปั้นขึ้นด้วยความรัก[/caption]
“จตุจักรเพลย์กราวด์” และ “กรีนวินเทจ” แหล่งรวมความสุขของผู้หลงใหลของเก่าและโลกแห่งของวินเทจ
จังหวะที่กรีนวินเทจกำลังจะหมดสัญญาเช่ากับเจเจกรีนในอีก 8 เดือน จักรซึ่งมีสายตาเฉียบคมและพกประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจของเก่ามานานนับสิบปี ก็เริ่มต้นความท้าทายครั้งใหม่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี 2560 ด้วยการปลุกปั้น “จตุจักรเพลย์กราวด์” ให้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของคนที่รักและเล่นของเก่าขึ้นที่อาคารดีดีมอลล์ หรือที่หลายคนคุ้นหูในชื่อ “ตึกแดง” ริมถนนกำแพงเพชร 2 หลังตลาดนัดจตุจักร
“ผมเข้ามาที่นี่ด้วยแนวคิดเดิมคือพลิกให้มีชีวิตชีวาให้ได้ ผมคิดเป็นอย่างเดียว” จักรเล่า สาเหตุที่ทำให้เขาย้ายมาปักหลักที่นี่ เพราะย่านนี้คือ “จตุจักร” ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของคนไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ประกอบกับภาพเดิมของตลาดนัดจตุจักรคือค้าขายของเก่า ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงสามารถใช้เวลาจับจ่ายสินค้าหลากหลายประเภทรวมทั้งของเก่าและของวินเทจกันได้อย่างจุใจ
จักรเริ่มทำการตลาดครั้งแรกช่วงกลางเดือนตุลาคม เขาใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวก็สามารถสร้างให้จตุจักรเพลย์กราวด์ติดตลาดได้อย่างรวดเร็ว พื้นที่ภายในอาคารซึ่งช่วงแรกเขาดูแลอยู่ 250 ล็อก ก็มีผู้ค้าขายของเก่าและของวินเทจที่เชื่อมั่นในการบริหารของจักรตามมาจับจองพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเต็มภายใน 6 เดือน จากนั้นวันที่ 13 กันยายน ปี 2561 จักรก็ย้ายกรีนวินเทจตามเข้ามา และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ปัจจุบัน จตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจ มีจำนวนล็อกรวมกันมากถึง 1,200 ล็อก รอต้อนรับผู้หลงใหลของเก่า ทั้งภาพถ่าย เหรียญ เฟอร์นิเจอร์จากทั่วโลก ฯลฯ และของวินเทจล้ำค่าหายาก อาทิ ปากกา นาฬิกา เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ให้ได้เพลิดเพลินเสมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งกันอย่างเต็มอิ่ม
[caption id="attachment_27143" align="aligncenter" width="1200"]
ส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งบ้านหายากภายในจตุจักรเพลย์กราวด์ ที่ผู้ค้าคัดสรรมาอย่างดีที่สุด[/caption]
จุดเด่นของจตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจ ผู้ปลุกปั้นอย่างจักรขยายความว่า อยู่ที่การเป็นศูนย์รวมของเก่าที่ใหญ่สุดในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจตุจักรเพลย์กราวด์มีพื้นที่ครอบคลุมด้านนอกของอาคาร รวมทั้งด้านในอาคารชั้น 1-2 และชั้น 5 เปิดให้บริการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ส่วนกรีนวินเทจตั้งอยู่ชั้น 3-4 เน้นร้านค้าแฟชั่นวินเทจ เปิดให้บริการวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ และไม่เพียงเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ให้คนที่รักในสิ่งเดียวกันได้มาพบปะพูดคุยกัน เกิดเป็นชุมชนอันอบอุ่นแบบที่เรียกได้ว่าถ้าไม่เจอก็คิดถึง
ปีนี้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่จักรบอกว่า จตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่มั่นคงอยู่แล้ว อีกอย่างคนที่สะสมของเก่าจะทราบกันดีว่า ถ้าเจอของที่ถูกใจเมื่อไหร่ต้องซื้อทันที ไม่อย่างนั้นหากปล่อยไปอาจไม่เจออีกเลยก็ได้ นอกจากนี้ ความต้องการพื้นที่ขายสินค้าในกรีนวินเทจยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดนัดจตุจักรปิดทำการเร็ว อีกส่วนคือหลายคนมองหาอาชีพสำรอง เพราะการทำงานประจำอาจไม่มั่นคงอีกต่อไป ทำให้กรีนวินเทจมีล็อกไม่พอความต้องการของผู้ค้า จนต้องเปิดให้ลงชื่อจองล็อก
[caption id="attachment_27148" align="aligncenter" width="1200"]
มิตรภาพและความผูกพันระหว่างจักรกับผู้ค้าในจตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจ[/caption]
จักรไม่ได้วางผลกำไรเป็นตัวตั้ง ทว่าเขากลับเอาความสุขของทุกคนเป็นตัวยืน และยึดคติ “ให้มากกว่ารับ” ตั้งแต่ย้ายตลาดเข้าเจเจกรีน หรือเมื่อย้ายตลาดมายังที่ตั้งปัจจุบัน จักรมักจะลงทุนให้ก่อนจนผู้ค้าอยู่ได้ แล้วค่อยเริ่มเก็บค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย เวลาผู้ค้าสูญเสียคนในครอบครัว จักรและผู้ค้าคนอื่น ๆ ก็จะรวบรวมทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งปลูกป่า เก็บขยะ เพื่อสร้างสร้างความผูกพันในกลุ่มผู้ค้า และช่วยเหลือสังคมไปด้วยในคราวเดียวกัน
“ผมไม่เคยไขว้เขวไปกับคำพูดของคนอื่นที่บอกว่าผมจะทำที่นี่สำเร็จมั้ย ถือว่าเข้าหูมาแล้วก็ผ่านหูไป เพราะทุกคนที่พูดเขาไม่ใช่เรา เขาไม่รู้เป้าหมายของเรา เขาพูดจากมุมมองของตัวเอง ผมคิดว่าสุดท้ายเราก็เป็นความทรงจำหนึ่งของคน เพราะฉะนั้นเราสร้างความทรงจำให้คนอื่นดีกว่า เวลาผมเห็นผู้ค้ามีความสุข ผมก็มีความสุขไปด้วย นี่คือสิ่งที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขหรือกำไร ทุกวันนี้ผมโชคดีที่ได้ทำงานที่รักและมีความสุข เวลาผมมาที่นี่ ผมไม่ได้มาทำงาน เหมือนผมมาหาเพื่อนมากกว่า
“ผมคิดว่าที่มาถึงวันนี้ได้เพราะผมเคยล้ม ผมบอกหลาย ๆ คนว่าวันที่ผมจน ผมจนกว่าคุณอีก ตอนที่ผมเป็นซาเล้ง เพื่อนผม 90 เปอร์เซ็นต์บอกว่าผมไม่รอดแล้ว ไม่มีทางกลับมาแล้ว แต่วันนี้ผมมาไกลเกินฝันแล้ว”
[caption id="attachment_27146" align="aligncenter" width="1200"]
ส่วนหนึ่งของพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์ต่างประเทศอันประเมินค่ามิได้ ที่จักรเก็บสะสมด้วยความรักมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี[/caption]
นักสะสมความสุข
จักรเป็นหนึ่งในนักสะสมที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์ต่างประเทศอยู่มากมาย รวมทั้งสะสมภาพถ่าย ภาพวาด และผลงานประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติหลายคน เช่น ถวัลย์ ดัชนี เฉลิม นาคีรักษ์ สวัสดิ์ ตันติสุข ประหยัด พงษ์ดำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางใจสูงยิ่ง ขณะเดียวกันเมื่อมีหน่วยงานติดต่อขอนำผลงานต่าง ๆ ในความดูแลของเขาไปจัดแสดงต่อสาธารณชน จักรก็เต็มใจ เพราะถือเป็นการแบ่งปันความสุขให้ทุกคนที่ได้ชม จักรยังจัดสร้างผลงานชุด “พระบุญญาธิการ” เป็นประติมากรรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 สัมผัสพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ซึ่งเป็นช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 เพื่อมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปจัดแสดง หรือนำไปประมูลเพื่อหารายได้เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย
นอกจากผลงานล้ำค่าของศิลปินชั้นยอดของไทย จักรยังเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งเพื่อเสาะหาของเก่าหายากมาไว้ในครอบครอง รวมทั้งคัดสรรเพื่อนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในหมู่คนรักของเก่า ซึ่งประเทศที่เขาไปบ่อย ๆ คือ อินเดีย ที่มีวังโบราณสวย ๆ มากมาย ที่เมื่อรื้อแล้วจักรก็จะซื้อชิ้นส่วน เช่น ประตู หน้าต่าง บันได โคมไฟ ฯลฯ มาไว้ประดับตกแต่งบ้านให้ลูกค้า เพราะทุกวันนี้ อีกส่วนในชีวิตของจักรคือการเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน ซึ่งจักรจะไปหาซื้อเรือนโบราณที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ นำมาปรุงให้เรือนโบราณนั้นฟื้นคืนลมหายใจกลับมาสวยสง่าดังเดิมอีกครั้ง ซึ่งผลงานการออกแบบตกแต่งของจักรที่เปี่ยมด้วยรสนิยม ก็ส่งให้เรือนโบราณหลายหลังคว้ารางวัลระดับประเทศมาแล้ว
หลังจากโหมงานหนักมาตลอดระยะเวลาหลายปี จักรและครอบครัวก็ตัดสินใจผ่อนจังหวะชีวิตให้ช้าลง และกุมมือกันสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวให้แน่นขึ้น หันไปใช้เวลาในบ้านสวนเกษตรที่แวดล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจีอันร่มรื่นมากขึ้น ถึงอย่างนั้น เขาก็อดเริ่มโครงการใหม่ ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขารักไม่ได้
[caption id="attachment_27147" align="aligncenter" width="1200"]
ของประดับตกแต่งบ้านที่หลายคนชื่นชอบในจตุจักรเพลย์กราวด์[/caption]
ความที่จตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจคือแหล่งรวมของเก่าและของวินเทจที่ใหญ่สุดในไทยและอาเซียน จักรและและผู้บริหารอาคารดีดีมอลล์ จึงสร้างเว็บไซต์ wintage.com ไว้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขายของเก่าและแฟชั่นวินเทจโดยเฉพาะ “บางคนมองว่าเราเข้ามาในธุรกิจออนไลน์ช้าไป แต่ผมมองว่าผู้ค้าของเราค้าขายออนไลน์อยู่แล้วทั้งในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม แต่เป็นการขายในประเทศและมีมูลค่าไม่สูงมาก ลูกค้าในต่างประเทศหรือแม้แต่ลูกค้าในไทยเองก็ตาม หากจะซื้อสินค้าในราคาสูงก็ยังต้องการความเชื่อมั่น เราจึงเสนอตัวเป็นตัวกลางให้” เขาเล่า
จักรวางว่าจะใช้พื้นที่ชั้น 7 ของอาคารที่มีราว 4,200 ตารางเมตร เป็นโชว์รูมของเก่าและของวินเทจ แล้วอัพโหลดภาพต่าง ๆ ไว้ในเว็บไซต์ wintage.com ที่จะมีบริการถ่ายภาพ 360 องศา แล้วทำคิวอาร์ โค้ด ให้ลูกค้าสแกนว่าควรจะนำไปตั้งประดับตกแต่งไว้มุมไหนของบ้าน พร้อมกับเป็นตัวกลางในการจัดการโอนเงินและคำนวณค่าจัดส่งให้ทั้งในไทยและทั่วโลก ให้ผู้ค้าและผู้ซื้อที่รักในของเก่าและของวินเทจได้พบกันในโลกออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง วางแผนว่าจะเปิดเว็บไซต์ wintage.com ในเดือนมกราคมปีหน้านี้
“สำหรับผมหลังจากที่ผ่านอะไรมามากมาย ทำให้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขอยู่ใกล้ตัวมาก ได้ทำงานที่เรารัก ได้อยู่ในที่ที่เรารัก และได้อยู่กับคนที่เรารัก ซึ่งปัจจุบันผมใช้เวลาในชีวิตไปกับสามสิ่งนี้ทุกวันครับ” จักร กาญจนากาศ ผู้ปลุกปั้นจตุจักรเพลย์กราวด์และกรีนวินเทจ ทิ้งท้ายด้วยแววตาเปี่ยมความสุข