นิทรรศการสาส์นสมเด็จ รวมไฮไลต์ศิลปวิทยาการจากสองปราชญ์เมืองไทย
“ชื่อเมืองทวารวดีในเมืองเรานั้นดูชอบกล ตามเค้าเดิมในเรื่องพงศาวดารที่ไทยแต่ง ว่ากรุงเก่านั้นเป็นเมืองชื่อว่า ‘อโยธยา’ อยู่ก่อน ข้อนี้พิเคราะห์รายการก็สมจริง ด้วยมีวัดวาเช่นวัดพระเจ้าพนัญเชิงเป็นต้นอยู่ก่อนแล้ว แรกพระเจ้าอู่ทองหนีห่ามาตั้งอยู่ที่ ‘เวียงเล็ก’ หรือ ‘เวียงเหล็ก’ อันความหมายว่า ‘เมืองเดิม’ อยู่ถึง ๖ ปีแล้วจึงได้สร้างพระนครศรีอยุธยา ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าต่อเมื่อพระเจ้าอู่ทองสร้างเป็นราชธานี จึงเอาชื่อ ‘ทวารวดี’ เพิ่มเข้าข้างหน้า และเพิ่มคำว่า ‘ศรี’ เชื่อมกับชื่อเดิมเป็น กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ดังนี้
“ครั้นภายหลังมาเมื่อถึงสมัยค้นโบราณคดี พวกนักปราชญ์ฝรั่งเขาค้นพบในจดหมายเหตุของจีนแต่โบราณ ว่ามีมหาประเทศอันหนึ่งอยู่ตรงเมืองไทยบัดนี้ชื่อว่า ทวารวดี พวกนักปราชญ์เขาสันนิษฐานว่าจะเป็นชื่อเมือง หรือชื่อประเทศที่ตั้งเมืองนครปฐมบัดนี้นั่นเอง ดูก็เห็นสม เพราะไม่มีเมืองโบราณในแถบนี้แห่งอื่นจะใหญ่โตหรือก่อนเมืองนครปฐม
“ชั้นเดิมต้องเป็นราชธานีของประเทศสำคัญ ๑ แห่งเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย น่าสันนิษฐานว่าพวกชาวอินเดียจะเอานามเมืองทวารวดีในอินเดียมาขนานไว้เป็นนามประเทศ หรือเป็นนามเมือง ครั้นเสียเมืองแก่พระเจ้าอนิรุทธ เมืองพุกาม ถูกกวาดต้อนผู้คนและเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติไปหมด เมืองทวารวดีต้องตกเป็นเมืองร้าง
“พวกชาวเมืองที่ยังหนีรอดอยู่พากันไปรวบรวมตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ คือเมืองอู่ทอง ยังถือว่าเคยเป็นชาวประเทศทวารวดีรักษาชื่อนั้นไว้สืบกันมา เมื่อไทยลงมาได้ปกครองเมืองอู่ทอง ก็ถือคตินั้นสืบมา ครั้นพระเจ้าอู่ทองประกาศตั้งเป็นอิสระประเทศขึ้นที่เมืองอโยธยา จึงเอานามทวารวดีเดิมอันถือว่าเป็นสิริมงคลมาเพิ่มเข้าข้างหน้า หม่อมฉันคิดเห็นว่าน่าที่เรื่องจะมีดังทูลมานี้”
ความข้างต้นคัดมาจาก หนังสือ ‘สาส์นสมเด็จ’ อันเป็นหนังสือรวบรวมลายพระหัตถ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในส่วนที่คัดมานี้เป็นลายพระหัตถ์ของกรมพระยาดำรงฯ ที่มีไปถึงกรมพระยานริศฯ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 อธิบายถึงที่มาของชื่อ ‘ทวารวดี’ ที่ปรากฏอยู่ในชื่อของกรุงศรีอยุธยา และเมืองเก่าที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของจีน
สาส์นสมเด็จ นับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบของ ‘พี่-น้อง’ แต่โดยมากเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนความรู้ที่หลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ของผู้รู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ปราชญ์’ คนสำคัญของเมืองไทยทั้งสองพระองค์
นิทรรศการ ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจที่เราจะได้เห็นสิ่งที่อยู่ในสาส์นสมเด็จในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่ง The People ได้รับเกียรติให้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการคราวนี้พร้อมกับคณะ ‘Matichon Book Walk: Night at the Museum’ โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา
งานในวันดังกล่าวมีความพิเศษเนื่องจาก วันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อรำลึกถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2417 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วันนี้จึงมีกิจกรรมพิเศษเปิดพิพิธภัณฑ์ยามเย็นจนถึงสองทุ่ม ให้ประชาชนได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการในบรรยากาศย้อนยุค มีการจัดคอนเสิร์ตเล็ก ๆ และจัดการแสดงนาฏศิลป์ให้ชมประกอบด้วย
นิทรรศการ ‘ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ’ เป็นส่วนที่จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยในงานคราวนี้ ทางคณะของมติชนได้ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประวัติศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้นำชมและอธิบายถึงที่มาที่ไปของวัตถุที่นำมาจัดแสดง
ตั้งแต่เดินเข้านิทรรศการ เราได้เห็นรูปปั้นของกรมพระยาดำรงฯ ที่นำมาจากอิตาลี กับรูปปั้นของกรมพระยานริศฯ ฝีมือของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งอาจารย์รุ่งโรจน์กล่าวว่า สมัยนั้นฝีมือของอาจารย์ศิลป์ยังเป็นที่กังขา เนื่องจากตอนนั้นมีโครงการที่จะทำพระบรมรูปเหมือนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยมอบหมายให้อาจารย์ศิลป์ลองปั้นขึ้นจากภาพถ่ายซึ่งเป็นงานที่ยาก และถูกมองว่าปั้นไม่เหมือน กรมพระยานริศฯ จึงมอบหมายให้อาจารย์ศิลป์ปั้นพระรูปของพระองค์เพื่อนำถวายทอดพระเนตร ทำให้อาจารย์ศิลป์ได้รับงานใหญ่หลังจากนั้นเป็นต้นมา
ส่วนโบราณวัตถุที่เป็นไฮไลต์ของงานก็มีเช่น จารึกซึ่งเพิ่งพบเมื่อปีที่แล้ว (2562) ที่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม พื้นที่ที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของ ‘ทวารวดี’ เมืองโบราณที่มีการสันนิษฐานกันกว้าง ๆ ว่าน่าจะอยู่ในบริเวณภาคกลางของไทย โดยจารึกดังกล่าวมีคำว่า ‘ทวารวตีวิภูติ’ แปลความได้ว่า ‘ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวารวดี’ ซึ่งน่าจะทำให้ทฤษฎีที่ว่านครปฐมคือศูนย์กลางของทวารวดีมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพระพิมพ์ดินดิบ ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “คติมหายานทำพระพิมพ์เพื่อบำรุงพระโพธิสัตว์ว่ายังทำกันอยู่ในเมืองทิเบตจนทุกวันนี้ เมื่อพระมหาเถระที่ผู้คนนับถือมากถึงมรณภาพลง ทำฌาปนกิจแล้วเก็บอัฐิธาตุผสมดินทำเปนพระพิมพ์ไว้ตามถ้ำเพื่อให้อานิสงส์เปนปัจจัยให้พระมหาเถระองค์นั้นบรรลุภูมิโพธิสัตว์ในอนาคตกาล ที่ทำเปนดินดิบเห็นจะเปนเพราะถือว่าได้ทำฌาปนกิจครั้งหนึ่งแล้วจะเผาซ้ำอีกหาควรไม่”
ในนิทรรศการคราวนี้จึงได้มีการตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า พระพิมพ์ดินดิบในเมืองไทย ซึ่งพบในพื้นที่ที่นับถือมหายานนั้น จะถือคติเดียวกับมหายานทางทิเบตที่จะทำพระพิมพ์ดินดิบผสมอัฐิด้วยหรือไม่? จึงมีการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนประกอบกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งพบว่า ในพระพิมพ์ดินดิบที่พบในเมืองไทยนั้นมีเศษกระดูกปะปนอยู่ด้วยจริง แต่จะเป็นเศษกระดูกมนุษย์หรือไม่นั้นยังต้องรอการพิสูจน์ในขั้นต่อไป
โบราณวัตถุที่น่าสนใจยังมีอีกหลายชิ้น ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยจะมีจัดไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563