เจได-ภัสพันธ์ ใช้สมวิทย์ : พื้นที่ เรื่องราว เรื่องเล่าของเกาะรัตนโกสินทร์-วังท่าพระ

เจได-ภัสพันธ์ ใช้สมวิทย์ : พื้นที่ เรื่องราว เรื่องเล่าของเกาะรัตนโกสินทร์-วังท่าพระ
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ทางกายภาพที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่า ‘การพัฒนา’ หรือ ‘การทำลาย’ ก็ล้วนจะหลีกเลี่ยงกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่พื้นที่ในเชิงความทรงจำนั้นเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในประสบการณ์ร่วมของแต่ละคน บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่เป็นย่านเมืองเก่าก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปหลายแห่ง ทั้งสนามหลวงที่มีการล้อมรั้ว การรื้อสร้างอาคารศาลฎีกาอันเป็นมรดกคณะราษฎร รวมไปถึงการบูรณะถนนหน้าพระลาน และมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ “เหมือนเวลาเราเจอเพื่อนบ่อย ๆ เวลาภาพเหล่านั้นมันค่อย ๆ หายไป มันก็คงรู้สึกได้ถึงความเงียบเหงา” เจได-ภัสพันธ์ ใช้สมวิทย์ อุปนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กล่าวถึงพื้นที่รอบ ๆ ตัวที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เขาเล่าว่าปกตินักศึกษาศิลปากรจะมีความผูกพันกับพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ ข้าง แต่เมื่อมีการจัดระเบียบเมือง บางสิ่งบางอย่างที่เคยคุ้นจริงกลับหายไป วิถีชีวิตแบบพ่อค้าแม่ขายตลาดชุมชนถูกลดความสำคัญลงไป เจไดเล่าว่า เขาพยายามจะไปเยี่ยมเยียนชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพยายามผลักดันให้นักศึกษาในวิทยาเขตวังท่าพระได้ลงไปพูดคุยกับชุมชน ไปสอนหนังสือเด็ก ไปบำเพ็ญประโยชน์ เพราะเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ที่มีความทรงจำร่วมกัน เจได-ภัสพันธ์ ใช้สมวิทย์ : พื้นที่ เรื่องราว เรื่องเล่าของเกาะรัตนโกสินทร์-วังท่าพระ ด้วยความที่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี เจไดมองว่าสิ่งสำคัญก็คือ ‘การบันทึกความทรงจำร่วม’ เขายกตัวอย่างว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากตั้งแต่ที่เขาเข้ามาเรียนตอนปี 1 ที่ทำงานไปก็ได้ยินเสียงการก่อสร้างไปด้วย ต้องย้ายบางวิชาไปเรียนในพื้นที่วัดมหาธาตุฯ ตอนนี้วังท่าพระโฉมใหม่ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ความทรงจำตลอดเวลา ไม่เฉพาะเพียงในรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น เมื่อครั้งเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เป็นผู้ร่วมจัดงานวัน อ.ศิลป์ พีระศรี ประจำปี 2563 เขาได้พบกับรุ่นพี่ที่เคยเรียนที่วังท่าพระ ต่างคนก็ต่างแชร์ประสบการณ์ในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาที่แตกต่างกันไปในพื้นที่ที่เดียวกัน เจไดยกตัวอย่างว่า “เหมือนเราเคยนั่งพูดคุยกับเพื่อนตรงเก้าอี้ที่มันตั้งอยู่ในจุดนี้ แม้ในวันนี้เก้าอี้ตัวนั้นไม่อยู่แล้ว แต่สำหรับเราและเพื่อนร่วมรุ่นของเรา เก้าอี้มันก็ยังอยู่ตรงนี้เสมอ” จากเด็กสายวิทย์ที่เบนเข็มมาเรียนสายสังคมศาสตร์ อย่างคณะโบราณคดี เอกภาษาอังกฤษ เจไดพูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยได้น่าสนใจ “เหมือนค่านิยมสังคมไทยจะผลักดันให้ไปเรียนสายวิทย์ แต่พอไปเรียนจริง ๆ เรากลับไม่มีความสุขเลย แต่เรามารู้ตัวว่าเราชอบภาษาอังกฤษและวิชาสังคมจึงมุ่งมาทางนี้ แล้วพบว่าเราโชคดีมากที่รู้ตัวว่าตัวเองชอบอะไร แต่ยังมีอีกหลาย ๆ คนไม่ได้โชคดีแบบนี้ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้เปิดทางเลือกมากนัก” หลายคนอาจไม่คุ้นเคยว่าคณะโบราณคดีต้องเรียนอะไร เรียนแล้วจะเป็นนักโบราณคดีแบบแม่การะเกด ออเจ้าในละครสุดฮิต ‘บุพเพสันนิวาส’ หรือไม่ แล้วยิ่งเป็นเอกภาษาอังกฤษ จะแตกต่างจากคณะอักษรศาสตร์อย่างไร เจไดตอบคำถามว่า “ความแตกต่างกับคณะอักษรศาสตร์ก็คือ เราจะต้องเรียนพวกศิลปวัฒนธรรมด้วย เรียนพวกประวัติศาสตร์ศิลปะ การลงพื้นที่สำรวจชุมชน สิ่งเหล่านี้คือทักษะในการที่เราจะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคต เช่น ถ้าเราจะเรียนภาษาอังกฤษในเชิงการนำเที่ยว เราก็อาจจะได้มีโอกาสใช้จริง เพราะบริเวณท่าช้างมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก” เจได-ภัสพันธ์ ใช้สมวิทย์ : พื้นที่ เรื่องราว เรื่องเล่าของเกาะรัตนโกสินทร์-วังท่าพระ เจไดมองว่าการเรียนสาขาสังคมศาสตร์เป็นการเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง “ผมว่าโลกทัศน์ของผมหลังจากเข้ามาเรียนที่นี่เปลี่ยนไปมากทั้งด้านการมองตัวเอง มองสังคม และมองคนรอบข้าง ก่อนหน้านี้เราอาจจะมองโลกในแบบขาวและดำ แต่พอมาเรียนด้านสังคมศาสตร์ เราจะเปลี่ยนมุมมอง ไม่ด่วนตัดสินสรุปอะไร ตั้งคำถามวิเคราะห์ในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ว่าเพราะเหตุใดทำไมคนคนหนึ่งถึงตัดสินแบบนี้ สิ่งแวดล้อมแบบไหนทำให้เขาเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้” แต่เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยลดจำนวนลงมาก ความทรงจำในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน? เจไดกล่าวว่า “เหมือนสมัยก่อนเราจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว เราเดินไปไหนบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ วัดพระแก้ว วังหลัง ท่าช้าง ก็จะเจอพวกเขาเสมอ แต่พอไม่มีก็เกิดความเงียบเหงา เราเห็นร้านค้าที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต้องปิดตัวลงไป บางคนต้องผันตัวไปทำอาชีพอื่น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 ปีที่ผมมาอยู่ที่นี่ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” อีกเรื่องหนึ่งก็คือพื้นที่ทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ทางการเมืองในปัจจุบันเกิดกระแสการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาและนักเรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งบริเวณสนามหลวงข้าง ๆ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญ “เวลาที่คนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุม เราต้องดูด้วยว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวกัน อาจจะเพราะว่าเขาต้องการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขาที่ควรได้รับ และการออกมาเรียกร้องในกรอบประชาธิปไตยโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้” เจไดให้ความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อย้อนมาพูดถึง ‘บ้าน’ อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เจไดมองว่าเสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้คือ ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ เขานิยามความสร้างสรรค์คือพื้นฐานของการแสดงออกทางความคิด ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมของมนุษย์ และความสร้างสรรค์ที่ดีจะต้องมีการเปิดพื้นที่ทั้งกายภาพและความคิดให้ได้ปลดปล่อยออกมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมคณะที่ก่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่ทำคุณูปการให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นคณะมัณฑนศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี และคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งเขากล่าวปิดท้ายว่า “ถ้าหากวังท่าพระคือบ้าน คนในบ้านก็จะมีความหลากหลาย (diversity) ค่อนข้างมาก ทุกคนมีความสุขในการแสดงอัตลักษณ์ในความเป็นตัวของตัวเอง และยังเคารพความแตกต่างของคนอื่น ๆ นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี”   เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ