read
social
24 ก.ย. 2563 | 13:15 น.
มาร์กาเร็ต แซนเจอร์: นักเคลื่อนไหวที่ติดคุกเพราะอยากให้คนเริ่มคุมกำเนิด
Play
Loading...
การคุมกำเนิดถือเป็นเรื่องจำเป็นมากแค่ไหน?
บางคนอาจคิดว่าไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไร ถ้ามีลูกดกก็พยายามเลี้ยงดูกันไป เวลาเดียวกันบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก หากมีลูกตอนที่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม อาจจะสร้างความเครียดจนกดดันในภายหลัง แม้ในยุคปัจจุบันประเด็นเรื่องการคุมกำเนิดจะถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรถึงจำเป็นที่จะต้องใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ดี
ย้อนกลับไปยังสหรัฐอเมริกาช่วงร้อยกว่าปีที่แล้ว มีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนเรียกร้องให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการคุมกำเนิด เธอคนนั้นมีชื่อว่า
มาร์กาเร็ต แซนเจอร์
(Margaret Sanger) เกิดในปี 1879 ณ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เติบโตมาในช่วงที่การย้ายถิ่นฐานจากเกาะอังกฤษมายังโลกใหม่ได้รับความนิยมล้นหลาม ผลคือตอนใต้ของย่านแมนฮัตตันเริ่มกลายเป็นชุมชนแออัด หันไปทางไหนก็เจอแต่คน ตึกแถวพากันขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ความเจริญเริ่มมีมากขึ้นควบคู่กับโรคระบาดในหลายพื้นที่ของนิวยอร์ก
ท่ามกลางบรรยากาศของเมืองที่กำลังพัฒนา ประกอบกับบ้านที่เธอโตมาเป็นครอบครัวใหญ่ มาร์กาเร็ตเป็นลูกคนที่ 6 จากทั้งหมด 11 คน โดยที่ฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ดีเท่าไร พ่อกับแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้อยู่อย่างสบายได้ พอมาร์กาเร็ตเริ่มโตขึ้นจึงตัดสินใจเรียนพยาบาลและทำงานอยู่ในโรงพยาบาล White Plain พร้อมกับทำงานเสริมในคลินิกตา หู จมูก แห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน
เหตุผลที่ทำให้มาร์กาเร็ตตระหนักถึงความสำคัญของการคุมกำเนิด ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเธอมีพี่น้องเป็นสิบคนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเมื่อเธอมีโอกาสทำงานในแผนกสูติศาสตร์ของโรงพยาบาลทางตอนใต้ของมหานครนิวยอร์ก มาร์กาเร็ตพบว่าทุกวันมีผู้หญิงมาฝากครรภ์เป็นจำนวนมาก ยังไม่นับหญิงท้องแก่ที่มาโรงพยาบาลกันไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งที่ในละแวกใกล้โรงพยาบาลเป็นย่านเสื่อมโทรม หลายครอบครัวแออัดกันอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่สุขอนามัยไม่ได้มาตรฐาน หลายบ้านยากจนจนแทบไม่มีอะไรจะกิน แต่ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านส่วนใหญ่กลับพากันอุ้มท้องมีลูก ถึงพวกเขาจะท้องกันบ่อย แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้าใจพานให้หดหู่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเธอเห็นผู้หญิงท้องจากย่านสลัมมักแท้งลูกและเสียชีวิตพร้อมเด็ก เพราะร่างกายไม่สมบูรณ์พอที่จะดูแลอีกหนึ่งชีวิตในท้อง
เรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงแค่กรณีที่ครอบครัวอยากเก็บลูกเอาไว้ ยังมีอีกหลายบ้านที่มีเพศสัมพันธ์กันปล่อยให้ท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาไม่ได้อยากมีลูก ไม่อยากดูแลเด็ก หรือต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อใคร มักพากันมาทำแท้งผิดกฎหมาย เรื่องราวเหล่านี้พบเห็นผ่านตาบ่อยครั้งในวงการแพทย์ แรก ๆ หลายคนที่เห็นอาจรู้สึกรับไม่ได้ แต่พอวันเวลาผ่านไปก็กลายเป็นชินชา ปล่อยผ่านเพราะไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ทว่ามาร์กาเร็ตกลับรู้สึกว่าปัญหาคาราคาซังที่เกิดขึ้นในชุมชนแออัดของนิวยอร์กควรได้รับการแก้อย่างจริงจัง
มาร์กาเร็ตไม่ใช่นักการเมืองหรือนักวิชาการที่ตั้งใจมาแก้ปัญหาบ้านเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คน เธอเป็นเพียงพยาบาลและประชาชนคนหนึ่งที่รู้สึกอดรนทนไม่ไหวกับเรื่องราวที่เห็นตรงหน้า นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นพยาบาล เธอรู้ดีเกี่ยวกับการคุมกำเนิด มาร์กาเร็ตจึงตัดสินใจออกมาผลักดันประเด็นนี้ด้วยการเข้าห้องสมุดอ่านงานวิจัยเพิ่มเติม ลาออกจากการเป็นพยาบาลเพื่อลงมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการคุมกำเนิดแบบเต็มตัว
สิ่งที่มาร์กาเร็ตทำคือการเขียนบทความว่าด้วยความสำคัญของการคุมกำเนิดในช่วงปี 1911-1912 โดยใช้ชื่อว่า
‘สิ่งที่แม่ทุกคนควรรู้’
(What Every Mother Should Know) ในปีต่อมาเขียน ‘
การต่อสู้เพื่อการคุมกำเนิดของฉัน’
(My Fight for Birth Control) ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเธอเชื่อมั่นว่าหลายครอบครัวจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้าหากมีครอบครัวที่เล็กลง บอกเล่าถึงการมีเพศสัมพันธ์ อธิบายว่าผู้หญิงท้องได้อย่างไร ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ซึ่งการเขียนเรื่องราวใต้สะดือของเธอถือว่าผิดต่อ ‘พระราชบัญญัติปี 1873’ ว่าด้วยการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจาร บทความทางเพศผิดศีลธรรม และอุปกรณ์คุมกำเนิด
แม้งานเขียนของเธอจะผิดกฎหมาย แต่มาร์กาเร็ตก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ เธอออกมาเรียกร้องต่อเนื่องหลายปี ทำแผ่นพับใบปลิว เอาลังหรือเก้าอี้สูงพอประมาณตั้งกลางสวนสาธารณะแล้วกล่าวสุนทรพจน์ถึงปัญหาที่ครอบครัวชาวนิวยอร์กส่วนใหญ่ต้องพบเจอ หลายครั้งเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอพูดขู่ว่าจะจับเข้าคุก ไม่ก็ส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช แต่ถึงอย่างนั้นมาร์กาเร็ตก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนทุกคน
มาร์กาเร็ตถูกสื่อตีข่าวทั้งในด้านดีและไม่ดีจนได้ออกรายการโทรทัศน์ ในปี 1914 มีโอกาสเขียนบทความลงในนิตยสาร The Woman Rebel จากนั้นเขียนบทความเรื่อง
‘ข้อจำกัดของการสร้างครอบครัว’
(Family Limitation) ไม่มีอะไรหยุดยั้งงานเขียนเพื่อให้ทั้งชายและหญิงเข้าใจถึงการคุมกำเนิดได้ ผู้หญิงหลายคนที่เห็นหน้าค่าตาเธอบ่อย ๆ หรือได้อ่านบทความและพยายามทำความเข้าใจตามสิ่งที่มาร์กาเร็ตพยายามจะสื่อก็รู้สึกเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม คนหัวเก่ากับกลุ่มที่ไม่ยอมรับการคุมกำเนิดต่างมองว่าผู้หญิงคนนี้เป็นพวกเพี้ยน วิตถาร ซ้ำยังเอาบทความของเธอไปฟ้องศาลว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จพ่วงประเด็นขัดต่อหลักศีลธรรมศาสนา จนเธอต้องจ้างทนายที่พอมีฝีมือและงัดบทความวิชาการขึ้นมาสู้คดี
ในปี 1916 มาร์กาเร็ตตัดสินใจใช้เงินเก็บเปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา แต่ดูแลคลินิกได้ไม่นานก็ถูกแจ้งความในข้อหาก่อความรำคาญในที่สาธารณะ รวมถึงงานเขียนเรื่องเพศ (แม้จะให้ความรู้) กับการเปิดสถานพยาบาลที่ผิดต่อพระราชบัญญัติปี 1873 ว่าด้วยการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจารและอุปกรณ์คุมกำเนิด แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เธอถูกแจ้งจับเกิดขึ้นเพราะมาร์กาเร็ตกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนเขียนป้ายรณรงค์ให้คนคุมกำเนิดออกมาเดินสายทั่วนิวยอร์ก
ผลของการถูกจับทำให้มาร์กาเร็ตถูกตัดสินจำคุก 30 วัน ณ เรือนจำควีนส์ แต่ห้องขังก็ไม่สามารถขังอุดมการณ์อันมุ่งมั่นแน่วแน่ของเธอได้ มาร์กาเร็ตใช้เวลาในเรือนจำฝากเพื่อนข้างนอกให้ช่วงตีพิมพ์บทความ
‘จงทบทวนเรื่องการคุมกำเนิด’
(The Birth Control Review) และ
‘สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้’
(What Every Girl Should Know) ออกสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง
การติดคุกกับการแวะเวียนไปขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยครั้ง รวมถึงงานเขียนหลายชิ้นที่เธอเพียรทำเอาไว้ส่งให้มาร์กาเร็ต แซนเจอร์ กลายเป็นผู้หญิงที่ถูกพูดถึงไปทั่วเมือง หลายคนหยิบงานของเธอมาถกเถียงในวงสนทนา คนเห็นด้วยถามคนที่ไม่ยอมคุมกำเนิดว่าเพราะอะไรถึงมองว่าเรื่องนี้ไม่ดี เกิดการพูดคุย เกิดกระแสและการตั้งคำถาม คนจำนวนไม่น้อยต่างรอดูว่าคดีของมาร์กาเร็ตจะจบลงอย่างไร
มาร์กาเร็ตกล่าวต่อศาลว่า พระราชบัญญัติปี 1873 ยังคงล้าหลังเกินไป เป็นร่างที่ไม่สนใจชีวิตประชาชน ยังมีคนอีกมากที่ขาดความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ไม่เข้าใจถึงการคุมกำเนิดหรือวางแผนครอบครัว ซ้ำยังมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้พวกเขาได้ตระหนักถึงปัญหา ประกอบกับยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ร่างกายไม่พร้อมกับการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้คุมกำเนิดจนทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และเด็ก หากยังใช้พระราชบัญญัติแบบนี้ต่อไป นิวยอร์กคงไม่ต่างอะไรกับดินแดนห่างไกลที่อื่น
ประเด็นที่มาร์กาเร็ตกล่าวต่อศาลได้รับเสียงเห็นด้วยจากคนจำนวนมาก จนทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องยกเลิกการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจารและอุปกรณ์คุมกำเนิด อนุญาตให้โรงพยาบาลในนิวยอร์กนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เคยถูกห้ามและยาคุมกำเนิดได้
ในปี 1921 มาร์กาเร็ตก่อตั้งสมาคมคุมกำเนิดที่ทำงานภายใต้สมาพันธ์การคุมกำเนิดแห่งอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมกิตติมศักดิ์ถึงปี 1928 ระหว่างที่ทำงานเธอได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อศึกษาถึงปัญหาด้านการคุมกำเนิด ถูกเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมเรื่องประชากรโลกที่เจนีวาประจำปี 1927 ได้รับตำแหน่งประธานสหพันธ์การเลี้ยงดูบุตรระดับนานาชาติคนแรกของโลก ออกเดินสายรณรงค์ สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนทั่วโลกทั้งอเมริกา ยุโรป ไปจนถึงเอเชียโดยเฉพาะกับอินเดียและญี่ปุ่น ว่าการคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องร้ายแรง
มาร์กาเร็ต แซนเจอร์ ทำงานอย่างหนัก รณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัว การทำแท้ง และการคุมกำเนิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดเธอได้จากโลกใบนี้ไปในปี 1966 ด้วยวัย 87 ปี ทิ้งไว้แต่มรดกทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในภายหลัง
การทำงานหนักตลอดชีวิตเพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตและไม่ทำให้ผู้หญิงต้องทนเจ็บปวดของเธอถูกยกย่องในวงกว้าง แม้จะเริ่มด้วยการถูกเหยียดหยาม ด่าทอว่าเป็นพวกเพี้ยนนอกรีต แต่ในที่สุดเธอก็สามารถลบล้างค่านิยมเก่าออกไปได้ แถมยังมีหนังสืออัตชีวประวัติ Margaret Sanger: An Autobiography ในปี 1938 ที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเธอเป็นต้นแบบของกลุ่มสตรีนิยมทั่วโลก รัฐบาลมอบรางวัลเกียรติคุณมากมายให้กับเธอ ทุกผลงานจะถูกเล่าต่อ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับความพยายามหลายสิบปีของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากให้ทุกชีวิตไม่ต้องพบเจอกับความลำบากและความตาย
ที่มา
https://www.nytimes.com/2020/07/21/nyregion/planned-parenthood-margaret-sanger-eugenics.html
https://www.plannedparenthood.org/files/9214/7612/8734/Sanger_Fact_Sheet_Oct_2016.pdf
https://www.britannica.com/biography/Margaret-Sanger
เรื่อง : ตรีนุช อิงคุทานนท์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
1
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
กฎหมาย
History
The People
สิทธิมนุษยชน
นักเคลื่อนไหว
Margaret Sanger
มาร์กาเร็ต แซนเจอร์
วางแผนครอบครัว