นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้

นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้

“เสียงของเยาวชนไทยคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันประเทศ

ผมไม่รู้ว่าประเทศจะพัฒนาได้มากแค่ไหน

แต่ผมก็ยังเชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนประเทศของเราให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”

หากคนรุ่นใหม่คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม พัฒนาประเทศ และส่งต่อพลังให้กับคนรุ่นหลังจริง ๆ ดั่งที่ เฟิร์ส-นราธิป ฮวบคล้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวไว้ สิ่งที่เฟิร์สร่ำเรียนมาหลายปีเพื่อออกไปเป็นครูบ่มเพาะเด็ก ๆ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเสียงของคนรุ่นใหม่ เพราะศิลปากรจะฝึกสอน ขัดเกลา ผลิตครูออกสู่สังคมเพื่อช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศก้าวไปข้างหน้า นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียนเพื่อเตรียมตัวออกสู่สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย เฟิร์สยังดำรงตำแหน่งนายกสโมสรคณะศึกษาศาสตร์ คอยดูแลโครงการของคณะ ดูกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งยังทำงานร่วมกับสโมสรของคณะอื่น ๆ จนทำให้เกิดความสงสัยว่าแบ่งเวลาอย่างไรทั้งการเรียนและการทำกิจกรรมให้ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล ซึ่งเฟิร์สได้ตอบกลับมาว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลา ดูตารางชีวิตของตัวเองไว้ให้ดี นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้ เมื่อได้ต่อบทสนทนากันไปเรื่อย ๆ ก็เผยมุมมองของเฟิร์สที่มีต่อคณะศึกษาศาสตร์และมหาวิทยาลัยที่ตัวเองศึกษาอยู่ได้เด่นชัดมากขึ้น ตามความเข้าใจเดิมของคนบางกลุ่มมักมองว่าการเรียนครูคือการอ่านหนังสือหนัก ท่องจำ เรียนรู้เทคนิคการสอนและออกมาสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ทว่าภายใต้การเรียนการสอนเพื่อให้คนคนหนึ่งจบออกไปเป็นครูมีอะไรมากกว่านั้น สาขาเทคโนโลยีการศึกษาที่เฟิร์สเรียนจะเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น เน้นการทำโปรเจกต์ หัดผลิตสื่อการสอนดิจิทัล ทำหนังสือ E-Book วิดีโอ เว็บไซต์ โมชันกราฟิก คล้ายกับการเรียนของคณะนิเทศศาสตร์ แต่เน้นไปทางด้านสื่อการสอนมากกว่าเท่านั้นเอง เพราะคณะศึกษาศาสตร์จะผลิตบุคลากรทางการศึกษาที่เท่าทันยุคสมัยออกสู่สังคม พอถามเฟิร์สว่าบทบาทของครูมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนกับสังคมไทย คำตอบที่ได้คือการกล่าวอย่างหนักแน่นว่าบทบาทของครูสำคัญมากในความรู้สึกของเขา ซ้ำยังกล่าวถึงพระราโชวาทของสมเด็จพระกนิษญาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “ครูคือมนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียน เป็นแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาคุณลักษณะของตนเองและสร้างค่านิยม ไม่มีเทคโนโลยีใดแทนที่ครูได้”  ถ้าเกิดเด็ก ๆ มีครูคอยบ่มเพาะขัดเกลาให้มีทั้งความรู้ควบคู่กับคุณธรรม จริยธรรม ที่ติดตัวมาเมื่อครั้งเรียนศึกษาศาสตร์ ทั้งหมดย่อมส่งผลดีต่อสังคมไทย ศิลปากรผลิตครูที่เป็นเอกลักษณ์ออกสู่โรงเรียนทั่วประเทศ เพราะศิลปากรคู่กับศิลปะ ครูในที่นี้ก็จะเป็นครูที่สอนเด็กให้เข้าใจธรรมชาติการใช้ชีวิตของมนุษย์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ‘การศึกษา’ นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้ การศึกษาคือเรื่องพื้นฐานของชีวิต ไม่ว่าเราจะทำอะไร มองดูอะไร หยิบจับสิ่งไหนล้วนเกี่ยวกับการศึกษาและเรียนรู้ แม้เด็ก ๆ หลายคนจะไม่ได้มาเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ประสบการณ์ที่พบเจอมาของแต่ละคนก็คือบทเรียน เราสามารถหาความรู้จากสิ่งรอบตัวได้ตลอดเวลา คล้ายกับว่าการศึกษาติดตัวอยู่กับทุกคนไปตลอดชีวิต เรียนรู้ได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ภายใต้คณะศึกษาศาสตร์ก็จะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและการศึกษาไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงของศตวรรษที่ 21 โลกเข้าถึงสื่อโซเชียลฯ มากขึ้น ทุกคนก้าวไปข้างหน้า ทิ้งค่านิยมเก่าล้าสมัยไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปไว้ข้างหลัง ค่านิยมเก่าที่ว่าก่อให้เกิดกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ครูตีนักเรียน ครูใช้ความรุนแรง หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดกับเด็ก ๆ ตามหน้าข่าวหรือโซเชียลมีเดีย ที่เด็กแอบถ่ายมาลงออนไลน์ก็มี หรือเป็นตัวของครูที่ลงเองก็มี ในเมื่อกระแสแง่ลบของครูออกสู่โลกมากขึ้น ผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลมาถึงนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรหรือไม่ “ผมว่าไม่น่าจะส่งผลต่อบัณฑิตคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ เพราะเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังเรื่องการเคารพนับถือกันระหว่างครูและนักเรียน เราอยู่บนบรรทัดฐานของสังคมไทย (ที่ดี) เมื่อเราเรียนจบออกไปสอนน้อง ๆ ที่เด็กกว่า ครูที่ถูกหล่อหลอมด้วยบรรยากาศผ่อนคลายของมหาวิทยาลัย รับความรู้จากอาจารย์ผู้มากทั้งประสบการณ์และคุณวุฒิทางด้านวิชาการ ความอบอุ่นกลมเกลียวของรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมถึงผมที่ได้เข้ามาทำสโมสรมหาวิทยาลัย เคยจัดตั้งพรรคในมหาวิทยาลัย ผ่านการเลือกตั้งลงคะแนนเสียง ทั้งหมดทำให้เราจะต้องยึดเสียงข้างมาก มีความเป็นประชาธิปไตยในสถานศึกษา จำลองโลกการเมืองมาไว้ เราเลือกตั้งกันจริง ๆ เข้าคูหา กาเลือกพรรคที่ชอบ หย่อนหีบ มีเวลาเปิด-ปิดหีบ ที่จะช่วยกล่อมเกลาประชาธิปไตยของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้ “ในอนาคตข้างหน้าเมื่อได้เป็นครู ผมก็จะสอนให้น้อง ๆ รู้จักประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม พวกเขาจะได้ลองเลือกเพื่อนเป็นหัวหน้าห้อง ได้เลือกตั้งประธานนักเรียนในโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ได้ซึมซับการเลือกตั้ง การเคารพเสียงของคนอื่น เราสามารถปลูกฝังประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ให้กับเยาวชนได้ตั้งแต่เด็ก” ก่อนจะออกไปเป็นครูสอนหนังสือคนที่เด็กกว่า ครูก็ต้องผ่านการเรียนรู้กล่อมเกลาเพื่อเตรียมออกไปพัฒนาสังคมผ่านการเรียนการสอน เมื่อถามเฟิร์สว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรให้อะไรกับเราบ้าง เขาตอบกลับมายาวเหยียดด้วยความรู้สึกอัดแน่นว่าเขาได้รับหลายอย่างในรั้วมหาวิทยาลัย “ศิลปากรให้ทั้งความรู้และความรัก ความรักที่ว่า คือ สถานที่ ผู้คน สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยก็จะสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ได้เลย มีหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมสนับสนุนนักศึกษา เราได้เจอกับความอบอุ่น ส่วนทางด้านการเรียนการสอนก็จะมีวิชาเปิดใหม่ให้เรียนทุกปี นอกเหนือจากวิชาหลักที่เรียน หน่วยกิตเหลือก็สามารถเลือกลงวิชาของคณะอื่นตามความสนใจของตัวเองได้ บางคนเรียนศึกษาศาสตร์แต่ลงเรียนบางวิชาของคณะอักษรศาสตร์ ไปเรียนวาดรูปที่คณะจิตรกรรม ลงเรียนดนตรีของคณะดุริยางคศาสตร์ และต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย นราธิป ฮวบคล้าย: นักศึกษาที่เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถผลักดันสังคมได้ “ตัวของผมเองได้เรียนวิชาศิลปากรสร้างสรรค์ที่จะรวมเพื่อน ๆ ทุกคณะมาจับกลุ่มทำงานตามสายวิชาหรือความถนัดของตัวเอง ตอนผมเรียนมีโปรเจกต์ให้ลงพื้นที่ไปหมู่บ้านลาวซ่งในจังหวัดนครปฐม ไปใช้ชีวิต ทำความรู้จักชาวบ้านหนึ่งวัน และให้ลองตั้งคำถามว่าเราจะทำให้คนรู้จักหมู่บ้านนี้ได้อย่างไร ผมจะเป็นคนตัดต่อวิดีโอโปรโมต เพื่อนคณะอักษรศาสตร์จะคอยดูเนื้อหา คณะจิตรกรรมจะทำโปสเตอร์สื่อประชาสัมพันธ์ ส่วนคณะเภสัชศาสตร์จะตีประเด็นเรื่องหมอยา ดูเนื้อหาเกี่ยวกับยาตำราโบราณของหมู่บ้าน ทุกคนจะมีส่วนช่วยกัน พอจบคลาสเราก็ยังเป็นเพื่อนกันต่อ และตอนนี้วิชาศิลปากรสร้างสรรค์จะให้น้อง ๆ ปีหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน “ศิลปากรจะเป็นสถานที่ที่มอบหลายอย่างให้เราได้เติบโต แต่ถึงอย่างนั้นทุกสิ่งก็ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อนักศึกษารู้สึกว่าตรงไหนควรปรับปรุงหรือเราคิดว่ามหาวิทยาลัยควรเสริมอะไร เราก็จะแจ้งให้อาจารย์ทราบในการประชุมของมหาวิทยาลัย ผมก็ได้เป็นตัวแทนของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ คล้ายกับกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่พูดแทนเพื่อนคนอื่น เป็นทางเชื่อมนำเรื่องราวที่เจอไปสู่อาจารย์ คณบดี หรืออธิการบดี เพราะศิลปากรสอนให้เรากล้าและฟังเสียงของคนอื่น”   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน มหาวิทยาลัยศิลปากร x The People