เซจิ ซึซูมิ ผู้ใส่จิตวิญญาณของบทกวีลงในผลิตภัณฑ์ “มูจิ”
เราอาจรู้จัก “มูจิ” (Muji) จากผลิตภัณฑ์คุณภาพดีนานาชนิดที่ออกแบบให้ดูเรียบง่ายสบายตา แต่ผ่านการคิดถึงประโยชน์ใช้สอยมาแล้วอย่างถี่ถ้วน และจากความตั้งใจแรกที่จะสร้างมูจิให้เป็นสิ่งที่ไร้แบรนด์ นานวันเข้า มูจิกลับกลายเป็น “แบรนด์” อันแข็งแกร่ง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในราคาเข้าถึงได้ ทั้งยังครอบคลุมการใช้ชีวิตแทบทุกด้าน จนหลายคนเรียกว่านี่คือวัฒนธรรมมูจิ ที่แปรเป็นรายได้รวมราว 4.39 แสนล้านเยน หรือกว่า 1.31 แสนล้านบาท ให้ เรียวฮิน เคอิคะคุ (Ryohin Keikaku) บริษัทแม่ของมูจิในปี 2019
เบื้องหลังแนวคิดเรียบง่ายแต่โดดเด่นที่ครองใจคนทั่วโลกมานานก็คือ เซจิ ซึซูมิ (Seiji Tsutsumi) ประธานห้างสรรพสินค้าเซบู (Seibu) ผู้ก่อตั้งมูจิในปี 1980 ที่อีกแง่มุมชีวิตเขาคือ ทาคาชิ ซึจิอิ (Takashi Tsujii) นักประพันธ์ที่มุ่งมั่นแต่งบทกลอนอย่างเอาจริงเอาจังไม่แพ้การทำธุรกิจ
เซจิเกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 1927 ในครอบครัวมหาเศรษฐี พ่อของเขาคือ ยาสุจิโร ซึซูมิ (Yasujiro Tsutsumi) ผู้ก่อตั้งกิจการรถไฟเซบู เรลเวย์ (Seibu Railway) และเจ้าของกิจการต่าง ๆ อีกหลายอย่าง ทั้งยังเป็น ส.ส. ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหลายสมัย เมื่อเข้าสู่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เซจิศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และต่อต้านพ่อที่เป็น ส.ส. ฝ่ายอนุรักษนิยม ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น
เซจิเริ่มทำงานในห้างสรรพสินค้าเซบูในปี 1954 เขาสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจดังกล่าวอยู่สิบปี ชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนในปี 1964 เมื่อยาสุจิโรเสียชีวิต เซจิได้รับสืบทอดกิจการของพ่อเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือห้างเซบู ส่วน โยชิอากิ ซึซูมิ (Yoshiaki Tsutsumi) น้องชายต่างมารดาที่เกิดในปี 1934 ได้สืบทอดอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของยาสุจิโร ทั้งการเป็นประธานเซบู เรลเวย์ และผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทใหญ่ ๆ จากนั้นโยชิอากิก็ต่อยอดความมั่งคั่งด้วยการสร้างโรงแรม สวนสนุก รีสอร์ท สนามกอล์ฟ และศูนย์กีฬาอีกหลายแห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางเดินรถไฟของเซบู เรลเวย์ จากกรุงโตเกียว
ถึงจะไม่ได้มรดกมากมี แต่เซจิก็ไม่สนใจ เขาแยกธุรกิจโลจิสติกส์ที่อยู่ในความดูแลออกมาเป็น เซซัน กรุ๊ป (Saison Group) ที่ภายหลังมีธุรกิจและบริษัทแยกย่อยกว่าร้อยบริษัทอยู่ใต้ร่มเซซัน กรุ๊ป อย่าง ห้างเซบู, ห้างพาร์โก (Parco), มูจิ, ลอฟต์ (Loft) ฯลฯ เขาพลิกห้างเซบูจากห้างที่คนแทบไม่สนใจให้กลายเป็นหนึ่งในห้างหรูชั้นนำของญี่ปุ่น ทั้งยังนำความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบการตลาดและทำโฆษณาแปลก ๆ ใหม่ ๆ
ครั้งหนึ่งเขาออกความคิดให้ทำโฆษณาของห้างพาร์โกที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ที่ตลอดความยาว 1 นาทีครึ่ง คนดูจะได้เห็น เฟย์ ดันนาเวย์ (Faye Dunaway) นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังมาปอกเปลือกและกินไข่ต้ม ถึงคนดูอาจจะงง ๆ อยู่บ้าง แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นโฆษณาที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วเกาะญี่ปุ่น และสร้างชื่อ “พาร์โก” ให้ติดอยู่ในความรับรู้ของคนดูไปแล้ว
เซจิขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ทำงานหนักมาก แถมยังชอบใช้คำพูดแรง ๆ ใส่คนอื่น จนหลายครั้งก็ทำเอาลูกน้องขยาดได้ง่าย ๆ ผู้บริหารคนหนึ่งที่ร่วมงานกับเซจิมาอย่างยาวนาน ให้สัมภาษณ์ The New York Times ว่า หลายครั้งที่เซจิใช้เวลาอยู่ในโลกส่วนตัวจนทำให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก และภาพลักษณ์ที่ดูดีมีเมตตาของเซจิที่ปรากฏสู่สาธารณชนนั้นก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง “เขาเป็นคนที่ชอบดูถูกคนอื่นอย่างมาก และสามารถใช้คำพูดวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้อย่างโหดร้าย” และบอกด้วยว่า “ภาพลักษณ์ที่เขานำเสนอต่อภายนอกและภายในมันช่างต่างกันอย่างชัดเจนเสียจริง”
ความทุ่มเทในการทำธุรกิจของเซจิเป็นอย่างไร ชีวิตอีกด้านของเขาที่เป็นกวีก็เป็นอย่างนั้น
ในโลกวรรณศิลป์ เซจิคือ ทาคาชิ ซึจิอิ (เซจิยังมีนามปากกาว่า อิคุโอะ โยโกเสะ (Ikuo Yokose) อีกชื่อด้วย) ผู้เอาจริงเอาจังกับการถ่ายทอดความคิดและแง่มุมชีวิตผ่านบทกวีภาษาญี่ปุ่น เช่น “In the Season of Wandering”, “The Circumference of Unrest”, “Poetry, Poison, Roaming” รวมทั้ง “Letter From America” ที่ออกเผยแพร่ในปี 1964 ไม่นานหลังกลับจากลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา สถานที่ที่เขาล้มเหลวในการพยายามก่อตั้งห้างเซบู บทกวีดังกล่าวมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยท่วงทำนองเรียบง่าย ธรรมดา ทว่าสะกิดใจเพราะอวลไปด้วยความโดดเดี่ยวของมนุษย์ เซจิใช้เวลากับโลกแห่งบทกวีมากเสียจน The New York Times บอกว่า เขาอาจเป็นคนเดียวในญี่ปุ่น หรือแม้แต่เป็นคนเดียวในหลาย ๆ ประเทศ ที่หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับการเป็นกวีมากพอ ๆ กับการเป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ
เป็นที่รู้กันในหมู่คนที่ทำงานกับเซจิว่า เขาคือคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีในการทำงาน ยกตัวอย่างที่พอจะเห็นภาพชัดก็คือ “มูจิ” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่มีรากฐานอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจที่มีรากฐานการบริการ รัฐบาลลดวันทำงานเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เกิดสินค้าที่ผลิตขึ้นมาแข่งขันตัดราคากันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพสินค้าที่ลดลง ผู้คนซื้อของถูกไปใช้ก็จริง แต่ใช้ได้เพียงไม่นานก็ต้องเสียเงินซื้อใหม่ไปเรื่อย ๆ
จุดด้อยของตลาด กลายเป็นกลยุทธ์สุดแกร่งของมูจิ เซจิวางคอนเซปต์ของมูจิให้ผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี เน้นความเรียบง่าย ไม่อิงกระแสแฟชั่น ใช้งานได้จริง และจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ ทำให้มูจิกลายเป็น “แบรนด์” ขวัญใจผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว มูจิแทรกซึมเข้าไปในกิจกรรมของผู้คน จนท้ายสุดมูจิก็กลายเป็นวิถีชีวิตไปเสียแล้ว
"มูจิ" จึงไม่ต่างจากบทกวีของเซจิในนามปากกา “ทาคาชิ ซึจิอิ” ที่เปี่ยมด้วยความเรียบง่าย งดงาม สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความเป็นไป และประสบการณ์ของชีวิต
ที่มา
https://www.nytimes.com/1990/12/23/business/drinking-salt-in-the-dawn.html
https://www.britannica.com/topic/Tsutsumi-family#ref74417