25 ก.ย. 2563 | 15:31 น.
“ชีวิตฉันเป็นของฉัน และอนาคตขึ้นอยู่กับการเลือกของเราเอง”
หลายครั้งหลายคราที่นักอ่านและนักดูหนังเห็นชื่อของ ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ ผ่านตาอยู่บ่อย ๆ เห็นหนังสือนวนิยายถูกพิมพ์ซ้ำ ๆ เห็นหนังกับซีรีส์หลายเวอร์ชัน เล่าเรื่องหลายแง่มุม แต่แทบจะไม่เคยรู้จักชื่อพี่ชายคนโตของบ้าน ‘ไมครอฟต์ โฮล์มส์’ หรือน้องสาวคนเล็ก ‘เอโนลา โฮล์มส์’ เท่าไรนัก
และตอนนี้โลกก็ได้รู้จักเรื่องราวของครอบครัวยอดนักสืบชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษมากขึ้นผ่านภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อตามน้องสาวคนสุดท้องของบ้าน
เอโนลา โฮล์มส์ (Enola Holmes) หญิงสาวชื่อแปลกเกิดปี 1884 เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่ เธอแทบจดจำพ่อผู้จากไปก่อนวัยอันควรของตัวเองไม่ได้ ความทรงจำเกี่ยวกับพี่ชายทั้งสองคนก็เลือนรางแต่รับรู้ว่าพี่ชายคนกลางกลายเป็นนักสืบชื่อดังที่เธอมองว่าเขาโคตรจะเจ๋ง ส่วนพี่ชายคนโตคอยส่งเงินมาให้แม่กับเธออยู่เสมอ ชีวิตของเธอผิดแผกแตกต่างจากสตรีอังกฤษยุควิกตอเรียน (ค.ศ.1837-1901) แม่อบรมเลี้ยงดูให้ลูกสาวเป็นตัวของตัวเอง ให้เธออ่านหนังสือจนหมดห้อง หากิจกรรมแปลกใหม่มาให้ทำแทบทุกวัน คุณนายโฮล์มส์ไม่เคยชี้นิ้วบอกทางว่าเอโนลาต้องเติบโตมาแบบไหน
เธอให้ลูกสาวเป็นคนตัดสินใจเองว่าอยากมีชีวิตเหมือนกับสุภาพสตรีคนอื่น ๆ หรือจะเลือกเส้นทางที่แตกต่างก็แล้วแต่เธอ ทว่าชีวิตแสนสุขกลับไม่เป็นดั่งเก่าเมื่อสาวน้อยวัย 16 ปี ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าแม่ที่อยู่กับเธอมาตลอดชีวิตหายตัวไปเสียแล้ว
เด็กสาวผู้หลงทางไม่เข้าใจว่าแม่หายไปไหน คิดทำอะไร หรืออยู่ส่วนไหนของโลกใบนี้ เธออับจนหนทางและเขียนจดหมายหาพวกพี่ ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ การหายตัวไปของมารดาทำให้เหล่าพี่น้องกลับมาเจอกันอีกครั้ง
ปัญหาที่ตามมาคือความขัดแย้ง ไมครอฟต์ไม่อยากให้น้องสาวเป็นผู้หญิงก๋ากั่น ไร้ระเบียบ หลุดนอกกรอบสตรีที่สังคมกำหนด
ส่วนโฮล์มส์ ผู้ไม่หือไม่อือพยายามแกะรอยเบาะแสของแม่พลางมองดูพี่ชายกับน้องสาวมีปัญหากัน และเอโนลา ที่ต่อต้านพี่ชายคนโตก็พยายามออกตามหาแม่เพียงลำพังโดยไม่ยอมพึ่งฝีมือการสืบสวนสอบสวนของเชอร์ล็อกหรือเงินเลี้ยงดูของไมครอฟต์
ทั้งหมดคือเรื่องราวฉบับย่อที่ตัวอย่างหนังเผยให้ผู้ชมได้รับรู้ เราจะไม่เล่าอะไรมากไปกว่านี้ว่าทั้งสามคนทำอย่างไรต่อ
แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง Enola Holmes คือ ประเด็นการเมืองในศตวรรษที่ 19 สิทธิ ความเท่าเทียม การเลือกตั้ง และการปฏิรูปกฎหมายของประเทศอังกฤษ
แม้เรื่องราวของเชอร์ล็อกกับเอโนลา จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ฉากหลังของเรื่องราวก็อิงมาจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงบนโลก
ชาร์ลอต บรองเต้ (Charlotte Bronte) นักเขียนผู้มีผลงานหลากหลายยังเคยกล่าวว่า “เพศหญิงในสมัยวิกตอเรียนมีหน้าที่เพียงบริการสมาชิกครอบครัว” เป็นช่วงเวลาที่สตรีไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม ศาสนา หรือการเมือง
Enola Holmes ก็หยิบประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศและชนชั้นมาไว้ในภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน ระหว่างการผจญภัยของตัวละครหลัก เราจะได้เห็นการประท้วงของประชาชนชาวลอนดอนตามถนนหนทาง พวกเขาต้องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปที่จะทำให้สังคมเป็นเสรีนิยมมากขึ้น
ทว่าชนชั้นสูงส่วนใหญ่ทั้งชายหญิงกลับรู้สึกไม่เห็นด้วย มองว่าคนพวกนี้บ่อนทำลายชาติ การให้คนชนชั้นล่างที่มีการศึกษาน้อยหรือไร้การศึกษาลงคะแนนเสียงไม่ต่างอะไรกับการพาอังกฤษลงเหว
“หากไร้การปฏิรูป ประเทศนี้ก็ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพวกเขา เราต้องยื่นอุทธรณ์ต่อสภาสูง เรียกร้องพวกขุนนาง เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ทำเพื่อลูกหลานของเราด้วย”
อุดมการณ์ของฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษนิยมเกิดการปะทะกันไปทั่วอังกฤษ ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกต้อง ทุกคนต่างบอกว่าตัวเองทำเพื่อชาติ ทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพื่ออนาคตของประเทศ โดยไม่คิดทำความเข้าใจกับอุดมการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งการไม่ยอมหันหน้ามาคุยหรือยอมปรับตัวก็เป็นชนวนสำคัญทำให้เนื้อเรื่องของ Enola Holmes เข้มข้นขึ้น
ไม่ใช่แค่กับโลกการเมืองเท่านั้น แต่การชนกันของพวกคนหัวใหม่กับคนหัวเก่ายังเกิดขึ้นในครอบครัวตัวเอง เด็กผู้หญิงต้องเรียนในโรงเรียนการเรือนเพื่อหญิงสาว ถูกสอนให้ต้องทำทุกอย่างตามคำสั่งและกรอบสังคม 'หัวเราะอย่างที่เราบอก เดินอย่างที่เราบอก ทำอย่างที่เราบอก แล้วเธอจะเป็นภรรยาที่ได้รับการยอมรับและเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ'
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความลำบากของลูกชายครอบครัวชนชั้นสูงที่มีอุดมการณ์ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ในบ้าน รวมถึงกลุ่มคนผู้เมินเฉยต่อการเมือง เพราะเขารู้สึกว่าการเมืองน่าเบื่อ สิ่งที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้แย่อะไร ทั้งที่จริงปัญหามีอยู่ทุกหนแห่งแต่อาจยังมองไม่เห็น หรือปัญหาเหล่านั้นยังมาไม่ถึงตัวเราเท่านั้นเอง ขณะบางคนในสังคมเมินเฉย ก็ยังมีสตรีและบุรุษอีกมากยอมทุ่มทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงให้อนาคตดีขึ้นกว่าเดิม
“ถ้าอยากให้คนได้ยิน ก็ต้องส่งเสียง”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเล็ก ๆ ทำให้ฉุกคิดอีกมากมายอย่างเรื่อง ‘แฟชั่นชุดคอร์เซ็ต’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่สตรีด้วยการใช้คำว่า ‘ความงามตามสมัยนิยม’ และความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทที่อาจทำลายจินตนาการจนย่อยยับ
ลองคิดว่าเด็กบ้านนอกในอังกฤษที่ได้ยินเรื่องราวของลอนดอนมาเป็นร้อย ๆ ครั้ง มองว่าเมืองต้องสวยงาม เจริญ เต็มไปด้วยสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีเดินสวนกันไปมาเต็มถนน แต่พอมาเห็นด้วยตาสัมผัสด้วยตัวเอง คนในเมืองก็ดูจะไม่เป็นมิตรกับผู้มาเยือนหน้าใหม่เอาเสียเลย
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่า Enola Holmes เป็นหนังที่มีเนื้อหาหนักเกินไป เราก็อยากบอกว่าให้ลองเปิดใจดูก่อน ปล่อยตัวปล่อยใจให้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของครอบครัวเพี้ยน ๆ ฉากหลังสวยงามของสังคมชนบทในอังกฤษ แฟชั่นยุคเก่าสุดอลังการ การสนทนาโดยตรงระหว่างเอโนลากับผู้ชมที่มักมาได้ถูกจังหวะจะโคน และคดีชวนหัวที่เอโนลาจับพลัดจับผลูเข้าไปพัวพันโดยไม่ได้ตั้งใจ จะดูเพลิน ๆ เบาสมองพอให้กระตุกยิ้มก็ได้ หรือจะมองถึงประเด็นสังคมหนัก ๆ ที่แอบสอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่องก็ดี Enola Holmes (2020) เวอร์ชันภาพยนตร์ที่ฉายบน Netflix ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมชุดสำหรับเยาวชนเรื่อง The Enola Holmes Mysteries อิงจากนวนิยายเรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์ อีกที และเล่าออกมาผ่านการกำกับของ แฮร์รี แบรดเบียร์ (Harry Bradbeer) ในรูปแบบที่ผ่อนคลายกว่าคดีฆาตกรรมอันซับซ้อนที่พี่ชายของเอโนลาต้องคลายปม แต่หนังเรื่องนี้ผลักเชอร์ล็อกผู้โด่งดังออกไปยืนข้าง ๆ เพราะคนที่จะยืนโดดเด่นอยู่กึ่งกลางเรื่องคือเอโนลาต่างหาก
“ฉันชื่อเอโนลา สะกดกลับหลังได้เป็นคำว่า ‘อะโลน’ (Alone)
ฉันเป็นนักสืบ นักถอดรหัส นักตามหาจิตวิญญาณที่หลงทาง
ชีวิตฉันเป็นของฉัน และอนาคตขึ้นอยู่กับเรา”
อ้างอิง:
https://ew.com/movies/movie-reviews/enola-holmes-review-netflix/
https://www.imdb.com/title/tt7846844/
ภาพสะท้อนสังคมยุควิกตอเรียน, วารสารปาริชาต ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 เมษายน - กันยายน 2547
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์