ปวริส มินา : เรียนรู้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เพราะชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว

ปวริส มินา : เรียนรู้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เพราะชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว
"Ars longa, Vita brevis ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เป็นอมตะวาจาของ อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้มีคุณูปการในการสร้างสรรค์วงการศิลปะไทย และมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร สถานที่ที่ผลิตศิลปินประดับวงการศิลปะไทยมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรจะไม่ได้มีเพียงคณะด้านศิลปะ แต่มีทั้งคณะด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เป็นเบ้าหลอมสำคัญก็คือ 'ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต' (Art of Living) "คำว่าศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น ผมเห็นด้วย เรากำลังพูดถึงสุนทรียศาสตร์ในการใช้ชีวิต ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตคือการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่แค่ภาพวาด ภาพปั้น หรือสถาปัตยกรรม การตื่นมาเพื่อเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตแต่ละวันก็เป็นศิลปะแบบหนึ่ง ศิลปะมันคือความงามที่ยืนยาว ถึงแม้วันหนึ่งชีวิตของเราจะสิ้นสุด แต่มรดกทางความคิดและสิ่งที่เราสร้างสรรค์ไว้ยังคงอยู่" ดร.ปวริส มินา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ ที่ผ่านเบ้าหลอมจากที่นี่ โดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แบ่งปันความเห็นอย่างน่าสนใจ เด็กหนุ่มจากขอนแก่นตัดสินใจเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะมันอยู่ในดีเอ็นเอของเขา เพราะคุณพ่อเองก็เป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ และคุณแม่ก็จบจากคณะศึกษาศาสตร์ โดยได้พบรักกันระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว ปวริส เลือกศึกษาด้านภาษาไทยในคณะอักษรศาสตร์ โดยมองว่างานอักษรศาสตร์และวรรณกรรมก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และต่อยอดในการเลือกวิชาโทด้านการละครเพราะเชื่อว่าการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านวรรณกรรมไทยนั้นเป็นการส่งต่อความรู้จากตัวหนังสือสู่การแสดงออกด้านศิลปะ ปวริส มินา : เรียนรู้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เพราะชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว คำถามหนึ่งที่มักจะเจอก็คือเมื่อเราเป็นคนไทย เราพูดภาษาไทยได้ แล้วทำไมเราถึงจำเป็นต้องเรียนเอกภาษาไทยในระดับอุดมศึกษา ปวริสมองว่า "ตอนเด็กผมมีความฝันอย่างหนึ่ง คือการเป็นผู้ประกาศข่าว ซึ่งจะต้องใช้ภาษาที่ถูกต้อง ระดับของภาษาไทยมันมีความลึกซึ้งของมัน เราเรียนทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ให้รู้จักรูปแบบของคำ การออกเสียง ที่มาของคำ และอีกด้านก็คือด้านวรรณกรรม เป็นศิลปะในการเอารูปแบบของคำไปร้อยเรียงเป็นภาษาและเรื่องราวที่งดงามประทับใจ" เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนาฏศิลป์ไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความผูกพันกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้กลับมาสมัครเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ ปวริสมองว่านักศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงแค่นักศึกษา แต่ยังเป็น 'รุ่นน้อง' ที่เขารักอีกด้วย ดังนั้นเขาจึงอยากที่จะมีส่วนสร้างมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปข้างหน้า จึงเป็นที่มาของการก่อกำเนิดวิชา 'ศิลปากรสร้างสรรค์' ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์ของศิลปากร คำว่า 'สร้างสรรค์' ในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ ปวริสมองว่า "การสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เท่านั้น แต่รวมถึงการนำสิ่งเก่าที่มีมาประยุกต์ มาตีความใหม่ ไปทดลองว่าสิ่งที่เราเชื่อเราคิดนั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเราตอบตัวเองได้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร" ความสร้างสรรค์ในแบบดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อสร้าง DNA ให้คนศิลปากร "ในต่างประเทศเราจะเห็นนักศึกษาหลาย ๆ คณะมาเรียนรวมกันในปีหนึ่งเพื่อที่จะทำความรู้จัก ละลายพฤติกรรม และทำให้มีมุมมองความคิดแบบบูรณาการ เราจึงคิดว่าถ้าหากนักศึกษาต่างคณะมาเรียนร่วมกันเพื่อที่จะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่มาจากมุมมองที่แตกต่างน่าจะเป็นเรื่องที่ดี" ปวริสกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการพยายามสร้างวิชาศิลปากรสร้างสรรค์ ที่นักศึกษาปี 1 เทอม 2 จะได้จัดกลุ่มคละกับเพื่อนต่างคณะ รายวิชาดังกล่าวเป็นไปตามหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้น Soft Skills เช่น การทำงานเป็นทีม การคิดเชิงวิเคราะห์ บูรณาการความรู้ โดยนอกจากนักศึกษาจะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว ทางคณาจารย์เองก็ต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อปรับตัวให้พร้อมกับการเรียนการสอนแบบใหม่ที่อาจารย์จะเป็นเหมือน 'โค้ช' ในการประคับประคอง และเปิดพื้นที่รับฟังนักศึกษาไม่ใช่แค่การเล็กเชอร์เท่านั้น ปวริส มินา : เรียนรู้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เพราะชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว จากการที่ผ่านงานกิจกรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ย่อมทำให้เข้าใจว่านักศึกษาต้องการเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างไรกับมหาวิทยาลัย วิชาศิลปากรสร้างสรรค์ที่เริ่มในปี พ.ศ.2559 จึงมีแนวการศึกษาให้จัดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 50 คน นำนักศึกษามาใช้ชีวิตร่วมกันแล้วมาทำโปรเจกต์ร่วมกัน ซึ่งหลาย ๆ โครงการถูกนำมาใช้ประยุกต์ในการเปิดให้นักศึกษามาร่วมพัฒนามหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่นนวัตกรรม 'จรวดน้ำเพื่อเก็บขยะในลำคลอง' ที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาพบกับงานออกแบบเชิงศิลปะ หรือ การติด QR Code ให้กับต้นไม้ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้เป็นการร่วมมือกันแบบบูรณาการของนักศึกษารายวิชาศิลปากรสร้างสรรค์ รวมไปถึงการที่นักศึกษาจะมี 'ความเป็นเจ้าของร่วม' (Sense of Ownership) ที่อยากจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้น่าอยู่ เช่น การฟีดแบ็กปัญหาต่าง ๆ ให้กับอาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มกับนักศึกษาให้ทราบโดยตรง เช่น การสร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะโดยการออกแบบถังขยะให้เหมาะสมกับพฤติกรรมนักศึกษา การกำหนดจุดห้ามจอดรถในมหาวิทยาลัยโดยนักศึกษาที่ใช้งานจริง เป็นต้น เมื่อถามว่าตอนเป็นนักศึกษากับผู้บริหารแตกต่างกันอย่างไร? ปวริสมองว่า "สิ่งสำคัญก็คือต้องไม่ปิดกั้น ต้องมีการลองผิดลองถูก และให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็มีกฎระเบียบทางสังคมหรือกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วย ผมรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่นักศึกษาของเราได้ไปทำงานข้างนอก ได้ไปทำงานกับสังคม มันจะทำให้เขาเติบโตยิ่งขึ้น" ท้ายที่สุดปวริสมองว่า DNA ของคนศิลปากรคือมีอิสระทางความคิด และเคารพทางความคิดกันและกัน ไม่มีกรอบมากำหนด ศิลปะการใช้ชีวิตคือการทดลองค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอไปสู่บุคคลภายนอก นี่คือสิ่งที่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหลังจากมีวิชาศิลปากรสร้างสรรค์แล้ว อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า หากพูดถึงคำว่า "คนแบบศิลปากร" ภาพจำของบุคคลภายนอกจะนึกถึงในแบบที่ปวริสอยากสื่อสารหรือไม่? เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ