"พระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือ Xiaomi สร้าง" เมื่อจีนสร้างโลกด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า
"พระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือ Xiaomi สร้าง"
"ถ้าจะผลิตกันขนาดนี้ ไม่รอซื้อของ Xiaomi รอซื้อบ้าน Xiaomi ทีเดียวเลยดีกว่า"
Xiaomi คือบริษัทคนรู้จักผ่านสมาร์ตโฟน และมาสร้างชื่อผ่านอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เรียกได้ว่าแทบจะมีทุกอย่างที่คุณสามารถจะจินตนาการถึงได้
คำกล่าวข้างต้นคงไม่เกินจริงเท่าใดนัก หากพิจารณาจากวันที่ Xiaomi Mi 1 ออกจำหน่ายสู่สายตาชาวโลก เมื่อปี 2011 แม้ลูกค้าจะให้การตอบรับสมาร์ตโฟนที่มี ‘ถูกและดี’ ของ Xiaomi ขนาดไหน แต่ต้องยอมรับว่าในตลาดสมาร์ตโฟนเขายังคงเป็นรองพี่ใหญ่ในวงการอย่าง Apple และ Samsung อยู่มาก
แต่แล้ววันของพวกเขาก็มาถึง ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา PM 2.5 อย่างไม่ทันตั้งตัว ในวันเดียวกัน Xiaomi เริ่มขยับตัวออกผลิตภัณฑ์อย่าง Mi Air Purifier เครื่องฟอกอากาศที่มีขายตามเว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ทั่วไปในราคาจับต้องได้ และด้วยคุณภาพในการกรองอากาศผลิตภัณฑ์จากจีนตัวนี้ จึงถือได้ว่า Xiaomi คือฮีโร่ผู้กอบกู้สถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น
ไม่ใช่แค่กอบกู้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แต่ยังกอบกู้สถานการณ์ของบริษัทด้วยเช่นกัน
เพราะความเก่งของ Xiaomi ที่สามารถลบภาพจำว่าผลิตภัณฑ์จากจีนที่ต้องไร้คุณภาพจากได้นั้น ก็ยังน่าทึ่งไม่เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา เมื่อฮีโร่จากจีนเริ่มสวมบทกลายเป็น "พระเจ้า" ออกสินค้ามาครองโลกซึ่งมีตั้งแต่ไม้แคะหูยันรถยนต์ (สิ่งที่กล่าวมาไม่ใช่คำพังเพยแต่อย่างใด เพราะ Xiaomi เขาสร้างขึ้นมาแล้วจริง ๆ) ช่วยสร้างชื่อให้ Xiaomi กลายเป็นบริษัทเบอร์ต้น ๆ ของโลกที่น่าจับตามองในเวลาต่อมาได้
จึงเป็นกรณีน่าศึกษาอย่างยิ่ง ว่าเหตุใดบริษัทจากแดนมังกร ถึงมีกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดขององค์กร ด้วยการตัดสินใจเปลี่ยนจากบริษัทขายสมาร์ตโฟนรายใหญ่ในประเทศ กลายเป็นบริษัท ‘ผู้นำ’ ที่ผลิตข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน จนทุกวันนี้ไม่ว่าจะซื้ออะไร ก็ต้องขอลองค้นหาดูก่อนว่า Xiaomi เขาสร้างเอาไว้แล้วหรือยัง
จุดอิ่มตัวของสมาร์ตโฟน จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี
ย้อนกลับไปในปี 2015 หลังจากที่ Xiaomi รู้จักกันในฐานะแบรนด์สมาร์ตโฟนจากประเทศจีน ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมา (ครั้งหนึ่งสมาร์ตโฟนของ Xiaomi อย่าง Mi 1 เคยมีการบันทึกไว้ว่าสามารถขายได้หมดเกลี้ยง 100,000 เครื่องภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง!)
แต่หลังจากตลาดสมาร์ตโฟนจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวทำให้ในปีต่อมา Xiaomi สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้เพียง 30 ล้านเครื่องเท่านั้น ซึ่งห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงถึง 100 ล้านเครื่องในปีนั้นอยู่มาก
รวมไปถึงในปี 2016 ก็ยังไม่ใช่ปีของ Xiaomi เพราะบริษัทยังไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นมาได้ เนื่องจากมีปัญหาด้านชิ้นส่วนที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ Xiaomi มีรายได้เติบโตขึ้นจากปี 2015 เพียง 2.4% เท่านั้น
จึงทำให้ เหลย จุน หัวเรือใหญ่ของ Xiaomi จึงเริ่มมาตราการเพื่อความอยู่รอดของบริษัทต่อไปที่มีนามว่า IoT(Internet of Things)
2016 ยุค Xiaomi ครองเมือง
“แม้แต่หมูก็สามารถบินได้ ถ้าหากมันอยู่จุดศูนย์กลางพายุหมุน”
วลีแฝงเคล็ดลับสำคัญสำคัญที่ครั้งหนึ่ง เหลย จุน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Xiaomi เคยสามารถพาหมูอย่าง Xiaomi ไปยืนอยู่ศูนย์กลางพายุหมุนทุกวันนี้อย่าง "เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต" ได้ เพราะหลังจากสภาวะซบเซาของตลาดสมาร์ตโฟน เขาก็เริ่มมองหาลู่ทางที่หวังจะเป็นเจ้าแรกที่ได้เป็น "ผู้นำ" ก่อนที่ได้ข้อสรุปว่า อุปกรณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันมนุษย์คือตลาดที่น่านำพาเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้าไปบุกเบิก ก่อนที่แนวคิดนี้จะพัฒนากลายมาเป็น IoT ในที่สุด
IoT ย่อมาจาก Internet of Things คือคำที่ใช้เรียกสำหรับอุปกรณ์หลากหลายประเภทที่สามารถทำงานเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ อุปกรณ์หลากหลายที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ตโฟน แต่ยังผ่าเหล่าเทคโนโลยีไปถึงการมีปรอทวัดไข้ หม้อชาบู สกูตเตอร์ไฟฟ้า
รวมไปถึงรถยนต์เลยทีเดียว!
ความบ้าพลังของชุดสินค้าประเภทนี้คือการรุกล้ำการใช้ชีวิตส่วนตัว ผ่านการเป็นผลิตภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากขึ้น ชนิดที่ว่าตั้งแต่ตื่นยันนอนคุณสามารถใช้สินค้าจาก Xiaomi ได้อย่างครบวงจร
พออ่านถึงตรงนี้คุณอาจจะไม่เห็นภาพ แต่ขอให้ลองนึกภาพตาม ว่าวันหนึ่งคุณอาจตื่นนอนด้วยนาฬิกาปลุก Xiaomi AI Smart Alarm และลุกไปอาบน้ำกับฝากบัว Xiaomi Mijia dabai Diiib 3 แล้วจึงออกไปทำงานด้วยรถ Xiaomi Redmi Car SUV พอถึงบริษัทคุณก็ใช้ Mi Notebook Air 2019 สำหรับการทำงาน และหลังเลิกงาน คุณก็กลับบ้านมาทำอาหารโดยใช้เครื่องครัว MIJIA Smoke Stove Set ก่อนที่จะจบวันด้วยการล้มตัวนอนบนเตียง Xiaomi 8H Milan และที่สำคัญอุปกรณ์ทั้งหมดนี้คุณควบคุมโดยใช้ Xiaomi Cube Smart Controller เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น
นี่แหละ... โลกใบที่สองของพระเจ้าที่ชื่อว่า Xiaomi
โดยปัจจุบัน IoT ถูกเปิดใช้งาน กลายเป็นผู้ช่วยให้กับมนุษย์ไปแล้วกว่า 100 ล้านอุปกรณ์ และมีผู้เรียกใช้งานกว่า 38 ล้านคนเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนั้นยังมีลูกค้าราว 2.3 ล้านคนมีอุปกรณ์ IoT ในครอบครองมากกว่า 5 ชิ้น (ไม่รวมสมาร์ตโฟนและแล็ปท็อป) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ Xiaomi เลยก็ว่าได้
แต่คำถามคือทำไม IoT ถึงต้องมีสินค้าหลากหลายขนาดนั้น
หากมองจากมุมมองในฝั่งธุรกิจและผลกำไร ในปี 2018 เพียงปีเดียว Xiaomi มียอดขายอุปกรณ์ IoT (ไม่รวมสมาร์ตโฟนและแล็ปท็อป) ถึง 150.9 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นการเติบโต 193.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นรายได้ทั้งสิ้น 306,245 ล้านหยวนตลอดทั้งปี เติบโตเพิ่มขึ้น 86.9%
ก่อนที่ในปีต่อมา Xiaomi รายงานผลประกอบการเฉพาะไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 รายได้รวม 53,661.0 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.5% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2,519.4 ล้านหยวน
แต่หากมองในมุมของอุดมการณ์ เหลย จุน เคยเขียนจดหมายขอบคุณพนักงานในทีมที่สามารถผลักดันจนบริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ที่ในตอนหนึ่งของจดหมายมีใจความหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวไว้ว่า
“Xiaomi ในเวลานี้เราเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกตัวจริง และธุรกิจ IoT ของเรายังคงครองความเป็น ‘ผู้นำระดับโลก’ ผ่านมีความหลากหลายมากขึ้นของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันบริษัทของเราเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมว่าเป็น ผู้นำ IoT หรืออุปกรณ์และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่แท้จริง”
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จที่เขาอยากขอบคุณต่อพนักงาน คือการที่พวกเขาสามารถพาบริษัทขึ้นไปสู่การเป็น "ผู้นำ" ได้ ดั่งใจเขา
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า Xiaomi กำลังกลายเป็นพระเจ้าองค์ที่ 2 ก็คงจะเกินจริงไปนัก เพราะในตลาดอื่น ๆ อย่างเช่นสมาร์ตโฟน แล็ปท็อป ก็ยังมีแบรนด์สินค้าชนิดอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าอยู่อีกมาก แต่สิ่งสำคัญที่ Xiaomi ได้รับการถูกพูดถึงมากขึ้น คือการเป็นผู้นำในการออกสำรวจพรหมแดนของเทคโนโลยีที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน (อย่างเช่นไม้แคะหูดิจิทัล ที่ติดกล้องส่องดูภาพภายในหู ที่คิดว่าคงไม่มีบริษัทไหนใจถึงกล้าทำอย่างเช่น Xiaomi เป็นแน่)
ผู้เขียนจึงขอสรุปว่าสิ่งที่ Xiaomi เป็นอยู่นั้นไม่ใช่พระเจ้า แต่กลับเป็นคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสทางเทคโนโลยีที่มาเยือนพรมแดนและประสบความสำเร็จกับตลาดแห่งใหม่ได้เป็นเจ้าแรกก่อนใครต่างหาก
“ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะลงทุน 10,000 ล้านหยวนในการพัฒนาโครงการ AIoT (AI+IoT) เพื่อคว้าโอกาสการพัฒนาในยุคปัญญาประดิษฐ์ และ IoT ให้รวมกันได้ก่อนเป็นเจ้าแรก ดังนั้นเราจึงต้องวางรากฐานที่มั่นคง เพื่อให้ความสำเร็จเฉกเช่นในปีที่ผ่านมา เกิดได้อีกครั้งในบริษัทของเรา”
ใจความสำคัญ เหลย จุน กล่าวเอาไว้ในจดหมายถึงทิศทางการสำรวจเขตแดนของ AI ใหม่ก่อนใคร ในอนาคตข้างหน้าที่กำลังมาถึง…ซึ่งอาจเป็นการสร้างบ้าน IOT ก็ได้ ใครจะไปรู้
ที่มา
Xiaomi: the future of China’s hottest hardware company & company overview
- https://walkthechat.com/xiaomi-the-future-of-chinas-hottest-hardware-company-company-overview/
Lei Jun says Xiaomi must become China’s first 5G mobile phone provider
- https://www.gizmochina.com/2019/03/28/lei-jun-says-xiaomi-must-become-chinas-first-5g-mobile-phone-provider/
Xiaomi has world’s largest IoT platform: Manu Jain
- https://www.livemint.com/industry/telecom/xiaomi-has-world-s-largest-iot-platform-manu-jain-1554305616765.html
The Rise And Global Expansion Of Xiaomi
- https://news.crunchbase.com/news/rise-global-expansion-xiaomi/
ANNUAL RESULTS ANNOUNCEMENT FOR THE YEAR ENDED DECEMBER 31, 2018
https://i01.appmifile.com/webfile/globalweb/company/ir/announcement_us/ANNUAL_RESULTS_2018.pdf
เรื่อง: กฤตนัย จงไกรจักร