ปรากฏการณ์ 'เฌอเอม' กับเรื่องราวที่ดีที่ไม่อาจเกิดขึ้นจากความจริงประโยคเดียว
'คุณจะเขียนเรื่องราวที่ดีได้ ด้วยการเขียนความจริงแค่ประโยคเดียว'
ประโยคข้างต้นเป็นประโยคของ 'เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์' (Ernest Hemingway) นักเขียนชาวอเมริกันที่ 'เฌอเอม ชญาธนุส สรทัตต์' อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ใช้อธิบายจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเข้าประกวดครั้งนี้ของเธอได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเกิดขึ้นของ 'ปรากฏการณ์เฌอเอม' ที่โด่งดังเป็นพลุแตกจากทักษะการตอบคำถามที่สัมผัสจิตใจผู้ฟัง ตรงไปตรงมา และมีทัศนคติที่เป็นสากล จนทำให้หลายคนหลงรักเธอ
จาก 'เฌอเอม' สู่ 'ปรากฏการณ์เฌอเอม'
"เอมเป็นคนเดียวที่พูดไม่ชัด เพราะเอมมีรูปปากที่ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด(…) แต่เอมเชื่อว่าแม้เราจะเกิดมาด้วยข้อจำกัด แต่มันไม่ใช่ข้อจำกัดในความสามารถของเราค่ะ"
ประโยคแนะนำตัวในรอบออดิชั่นนี้ได้เปิดทางให้เฌอเอมเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ พร้อมกับไขข้อสงสัยถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาการพูดไม่ชัดของเธอ ซึ่งนักวิจารณ์นางงามหรือแฟนนางงามหลาย ๆ คนเคยปรามาสไว้ว่าเฌอเอมไม่มีทาง ‘ถึงมง’ เพราะเธอพูดไม่ชัด
ในวันเดียวกันนั้น เฌอเอมยังแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เด็ดเดี่ยวและชัดเจนจนสร้างเสียงฮือฮาให้แก่ผู้ชมไม่น้อย เมื่อเธอถูกถามว่าจะลงคะแนนเสียงให้แก่นักการเมืองผู้ชายที่นอกใจภรรยาตัวเองหรือไม่
"ความซื่อสัตย์ในพื้นฐานชีวิตคู่มันคือพื้นที่ของทุกอย่าง ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะกับคนที่สำคัญกับเรามากที่สุดในชีวิต มันยากที่เราจะซื่อสัตย์กับคนที่เราจำเป็นต้องรับใช้ และหัวใจของนักการเมืองคือการรับใช้ประชาชน นั่นคือเกียรติภูมิของความเป็นนักการเมือง"
นี่น่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่การประกวดนางงามในประเทศไทยถามคำถามเรื่องการเมืองหลังจากพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด ซึ่งน่าแปลกเพราะอันที่จริงแล้วการเมืองและการประกวดนางงามเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ยาก เพราะแม้แต่การจัดการประกวดนางสาวสยามครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ก็ได้เกิดขึ้นในวาระการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น สื่อหลายสำนักได้นำเสนอเรื่องราวของเฌอเอมทั้งชีวิตส่วนตัวที่เต็มไปด้วยปมเรื่องการพูดไม่ชัด หน้าที่การงานในฐานะนางแบบอาชีพ รวมถึงมุมมองและทัศนคติของเธอต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การค้าประเวณี ความรุนแรงของการเหยียดในเชิงคำพูด นิยามของความงามที่แตกต่างหลากหลาย เสรีภาพทางการแสดงออกผ่านเสื้อผ้า การเคารพต่อนิยามความรักบนพื้นฐานความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม ฯลฯ จนกระทั่งเฌอเอมได้กลายเป็นผู้เข้าประกวดที่น่าจับตามองและเป็นตัวเต็งของการประกวดอย่างไม่อาจละสายตาได้ รวมถึงเธอได้เปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อการประกวดนางงามจนทำให้มีหลายคนออกมายอมรับว่าเริ่มดูการประกวดนางงามเพราะเฌอเอม
ความก้าวหน้าทางความคิดไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผู้คนให้ความสนใจในตัวเธอ แต่ยังมีเรื่องการแสดงออกทางกายภาพที่ดูผิดแผกแตกต่างจากความเป็นนางงามตามขนบ เฌอเอมไม่ได้ดูเรียบร้อยอ่อนหวาน เสื้อผ้าหน้าผมไม่ได้เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว การจัดระเบียบร่างกายที่ดูไม่ใช่นางงามมืออาชีพ และทักษะการเดินหรือการหมุนตัวไม่ได้คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง (แม้จะมีอาชีพเป็นนางแบบ)
การแสดงออกของเฌอเอมเป็นไปอย่างขาด ๆ เกิน ๆ แต่นั่นคือความตั้งใจของเธอที่ต้องการจะสื่อสารออกไป ซึ่งสอดคล้องกับนิยามความสวยแบบใหม่ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบแบบที่เวที Miss Universe นำเสนอในช่วงหลังมานี้
"นางงามไม่ควรจะเหมือนกันหมด ผู้หญิงทุกคนไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเรามีตัวตนที่แตกต่าง ความสามารถที่แตกต่าง เราควรจะโชว์สิ่งนั้น แต่ทำให้คนดูสบายตาค่ะ"
ภาพของความพยายามปฏิวัติหรือนำเสนอนิยามความงามแบบใหม่ที่สอดคล้องกับค่านิยมสากลไม่เคยชัดเจนขนาดนี้มาก่อนในบ้านเรา เฌอเอมจึงไม่ใช่แค่เพียงผู้เข้าประกวด แต่ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ ที่มากกว่าบนเวทีนางงาม
ปรากฏการณ์ในแง่มุมของบริบท
อันที่จริงจะพูดว่าปรากฎการณ์เฌอเอมเกิดขึ้นจากตัวเธอเองแต่เพียงเท่านั้นก็คงไม่ถูกสักทีเดียว เพราะปัจจัยด้านบริบททางสังคมมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ช่วยให้ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นกระแสที่หลายคนให้ความสนใจ เช่น กระแสความนิยมของการประกวดมิสยูนิเวิร์สในบ้านเรา
ต้องยอมรับว่าหลังจากที่บริษัท WME-IMG เข้ามาถือครองลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สในปี 2015 รูปแบบการประกวดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่น้อย สัดส่วนของการเดินแบบทั้งในรอบชุดว่ายน้ำและชุดราตรีถูกลดน้อยลงเพื่อลดภาพลักษณ์ความสวยงามในอุดมคติที่สื่อผ่านเรือนร่าง มีการเพิ่มรอบการพูดแนะนำตัวเองของผู้เข้ารอบ 20 คนเพื่อแสดงพลังของผู้หญิงเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ และเพิ่มระดับความเข้มข้นของคำถามในรอบตอบคำถามโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเมืองทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของผู้หญิงทันสมัยที่ใส่ใจสิ่งรอบตัว
ถือเป็นยุคที่สาวงามจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบลึก ๆ ทุกปี จากท็อป 10 สู่ ท็อป 6 และ ท็อป 5 ทำให้กระแสนางงามในบ้านเราคึกคักมากขึ้น ฐานผู้ชมและแฟนคลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับผู้คนเริ่มเข้าใจแกรมมาร์ของมิสยูนิเวิร์สในยุคสมัยของ MME-IMG มากขึ้น
ปัจจัยหนึ่งที่แฟน ๆ นางงามรู้ดีถึงเหตุผลที่นางงามไทยไม่สามารถคว้ามงกุฎได้คือรอบตอบคำถาม คำตอบของนางงามไทยมักจะกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมว่าถูกต้องหรือไม่ หรือสอดคล้องกับหลักการสากลหรือไม่ หรือลึกไปกว่านั้น เหตุที่นางงามไทยไม่อาจตอบให้เป็นไปตามหลักการสากลได้เพราะมันย้อนแย้งกับหลักการความเป็นไทยหรือไม่
การประกวดมิสยูนิเวิร์สสะท้อนความจริงเรื่องหนึ่งที่ว่าสิ่งที่ชาวโลกอยากเห็นบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สไม่ใช่ชุดไทย การไหว้แบบไทย หรือรอยยิ้มสยามอย่างที่ใครหลาย ๆ คนเคยเข้าใจอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นความมั่นใจที่ดูเป็นธรรมชาติ ทัศนคติที่เปิดกว้าง และการสร้างแรงบันดาลใจบนฐานความเสมอภาคและเคารพความแตกต่างหลากหลาย
ความเป็นเฌอเอมทำให้ใครหลายคนเชื่อมั่นว่าเฌอเอมอาจจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่มงกุฎที่ 3 บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
อีกหนึ่งปัจจัยในแง่ของบริบทที่ทำให้ปรากฏการณ์เฌอเอมบังเกิดขึ้นอย่างร้อนแรงคือสถานการณ์ทางการเมือง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังเข้มข้นและถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เช่น 'คนดี' จริงไหม 'จริยธรรม' ของใคร 'ความชอบธรรม' มาจากไหน 'กฎระเบียบ' เปลี่ยนแปลงได้ไหม และ 'เจ้าของประเทศ' คือใคร ซึ่งแน่นอนว่าคำให้สัมภาษณ์ของเฌอเอมตามสื่อต่าง ๆ สอดรับไปกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ขณะนี้
"ประชาธิปไตย(…) ทรงคุณค่าในสิ่งที่เรายึดถือและกล้าแสดงออก ถ้าเรายึดถือแต่เรานิ่งเงียบ นั่นหมายความว่าเรากลัว ในประชาธิปไตยต้องไม่มีคำว่ากลัว เพราะเมื่อไหร่ที่คุณกลัว แปลว่ามันมีอำนาจอยู่เหนือคุณ ถ้าทุกคนไม่เท่ากัน นั่นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"
เรียกได้ว่าถูกใจสาวกคนรักประชาธิปไตยกันถ้วนหน้าเลยทีเดียว และเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์เฌอเอมจะพุ่งทะยานและสร้างความหวังทั้งในการประกวดและความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคม
ฝนหลังฟ้าในปรากฏการณ์เฌอเอม
แต่แล้วปรากฏการณ์เฌอเอมก็เล่นแร่แปรธาตุ จากเสียงชื่นชมและแรงเชียร์แปรเปลี่ยนเป็นข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการเข้าร่วมประกวดของเธอ เมื่อกองประกวดประกาศขอให้เฌอเอมถอนตัวเนื่องจากพี่เลี้ยงของเธอคือคนที่ทำงานเป็น 'วงใน' ของกองประกวดซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎเกณฑ์
เป็นเหตุให้เฌอเอมถูกตั้งข้อครหามากมายถึงความเก่งกาจและสติปัญญาของเธอที่อาจเกิดจากความได้เปรียบเรื่องพี่เลี้ยง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอุปนิสัย ความจริงใจ และพื้นฐานความซื่อสัตย์ จนนำมาสู่การขุดเอาคำพูดต่าง ๆ ที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ตามสื่อต่าง ๆ มาล้อเลียนและเสียดสี
หลังจากนั้น เธอได้พยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามทัศนะของเธอและบ่ายเบี่ยงเรื่องการถอนตัวโดยยื่นสิทธิ์นั้นให้แก่กองประกวด ผิวเผินดูเหมือนว่าจะเรียกคะแนนความน่าเชื่อถือกลับมาได้ประมาณหนึ่ง แต่หลายคนคิดว่าเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อสร้างข้ออ้างให้แก่ที่มาอันไม่ชอบธรรมของเธอ
แต่หลังจากที่มีหลักฐานอื่น ๆ (ที่ยังไม่มีใครยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง) ได้รับการเผยแพร่ตามมา เฌอเอมก็ดูท่าว่าจะดิ้นไม่หลุดจากข้อครหาของเธอ และในที่สุดกองประกวดก็ตัดสินใจถอนสิทธิ์การเข้าประกวดของเฌอเอมไปเมื่อวานนี้ (30 กันยายน 2563)
ท่ามกลางจุดจบที่ไม่สวยเท่าไหร่นี้ เฌอเอมเป็นอย่างไรในสายตาของคุณ ยังคงเป็นนางงามหัวก้าวหน้าที่ฉลาดหลักแหลม เป็นนางงามงูพิษ หรือเป็นมิจฉาชีพ 2020 หรือเราจะทำใจยอมรับได้ไหมว่าข้อผิดพลาดของเธอเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกินที่อาจเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคนที่มีทั้งด้านดีและด้านลบ ซึ่งสุดท้ายเส้นของวิจารณญาณที่คุณเลือกจะวางเธอไว้ตรงไหนในพื้นที่แห่งความทรงจำ
แต่ที่แน่ ๆ สังคมจะเรียนรู้ว่าความจริงเพียงหนึ่งประโยคไม่อาจสร้างเรื่องราวที่ดีได้ เพราะยังมีความจริงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกเล่า แต่อาจเป็นจุดพลิกผันและดันทุรังให้เราไปสู่จุดจบของเรื่องได้
หากอดรนทนไม่ได้กับคำโกหกหลอกลวงหรือละครจัดฉากตบตาคนดู ก็ขอให้รู้ว่ายังมีการแสดงจัดฉากอีกมากมายหลายอย่าง ที่ไม่ได้อยู่แค่ในปริมณฑลแห่งเอนเตอร์เทนเมนต์ดังเช่นปรากฏการณ์เฌอเอม แต่เป็นยิ่งกว่าปรากฏการณ์ของปรากฏการณ์ที่กินเวลามาเนิ่นนานและไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย…
เรื่อง : ณัฐ วิไลลักษณ์
ที่มาภาพ MissUniverseThailand2020