[เกริ่นนำ]
“... ซุป’ตาร์ร็อคแอนด์โรลล์ของเมืองไทย ราชาร็อคแอนด์โรลล์ของประเทศไทย...”
นั่นคือคำประกาศผ่านเนื้อร้องของบทเพลง ‘โสดตอน 40’ ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบั้มเดี่ยวของเขาชุดที่ออกมาในปี 2558 ในนามค่าย เยส เรคคอร์ดส (Yess Records)
บทความนี้ ผู้เขียนได้กลับไปค้นงานของเขา-เสก โลโซ (เสกสรรค์ ศุขพิมาย) ในทุกอัลบั้มมาฟังกัน เพื่อประมวลผลถึงงานเพลงและดนตรีในแบบของเขาที่กลายเป็นวัฒนธรรมดนตรียอดนิยมของคนไทย
หลายสิบเพลงกลายเป็นบทเพลงในระดับเมกะฮิต โด่งดังแบบระเบิดระเบ้อ กลายเป็นบทเพลงที่อยู่เหนือกาลเวลาฮิตคลาสสิกอมตะนิรันดร์ เป็นหมุดหมายหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัยของไทย
24 ปีกับการทำงานอัลบั้มอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2539-2563 ในปีนี้
เมื่อกลับไปไล่เลียงฟังเพลงของ โลโซ และ เสก โลโซ จนครบทุกอัลบั้มอย่างบ้าคลั่ง
สิ่งที่พบคือความมันและความสนุกสนานในการฟังเพลงร็อคแอนด์โรลล์แบบไทย ๆ ที่มีส่วนผสมเริ่มแรกของดนตรีกรันจ์ร็อคแบบซีแอตเทิล ซาวนด์ และพังค์ร็อค ที่อยู่ในหมวดหมู่อัลเทอร์เนทีฟร็อค ซึ่งวงโลโซได้นำมาผสมผสานกับฮาร์ดร็อคยุคทศวรรษ 1970 ได้ลงตัว
การวิวัฒน์ทางดนตรีของ เสก โลโซ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจดนตรีในระดับฐานรากมีอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้
นั่นคือสร้างสกุลดนตรีร็อคแอนด์โรลล์เพื่อชีวิตขึ้นมา เป็นการสมาทานและหลอมรวมของกลุ่มคนฟังเพลงร็อคกับเพื่อชีวิต โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ตลาดต่างจังหวัดหรือภูธร รวมถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในเมืองหลวงได้อย่างกลืนกลายและทรงพลัง สามารถรับไม้และต่อยอดวงการเพลงร็อคและเพลงเพื่อชีวิตของไทยในยุคทศวรรษ 2520-2530 ให้ต่อยอดมุ่งไปข้างหน้าในยุคทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบันได้อย่างน่าดูชม
แม้ว่าในคราบไคลแรกของวงโลโซ จะมาในสกุลอัลเทอร์เนทีฟร็อค สายกรันจ์ ซีแอตเทิล ซึ่งแรกเริ่มเรียกกันว่ายุคโมเดิร์นร็อคก็ตาม เป็นตลาดเพลงของคนฟังเพลงร็อครุ่นใหม่ แต่เสกและวงโลโซ ซึ่งอยู่ภายใต้การหนุนของ อัสนี โชติกุล แห่งค่ายมอร์มิวสิค ในบรรษัทค่ายเพลงแกรมมี่ ซึ่งปัจจุบันคือ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ สามารถเข้าสู่ตลาดเพลงรุ่นใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม
การหลุดออกมาหากลุ่มคนฟังเพลงในตลาดยอดนิยมและสร้างปรากฏการณ์ในระดับสมัยนิยมได้ของวงโลโซ และคลี่คลายเป็น เสก โลโซ ในที่สุด
ในฐานะวงโลโซ มีสตูดิโออัลบั้มออกมา 5 อัลบั้ม โลโซไซตี้ (พ.ศ. 2539) / Entertainment (พ.ศ. 2541) / Rock & Roll (พ.ศ. 2542) / Losoland (พ.ศ. 2544) และ ปกแดง (พ.ศ. 2544) และเป็นศิลปินเดี่ยวมีโซโลอัลบั้มออกมาอีก 9 อัลบั้ม คือ 7 สิงหา (พ.ศ. 2546) / Sek Loso The Collection (พ.ศ. 2548) / Black & White (พ.ศ. 2549) / SEK LOSO (พ.ศ. 2552) / Plus (พ.ศ. 2553) / ใหม่ (พ.ศ. 2553) / Love Songs Acoustic Live (พ.ศ. 2554) / I’m Back (พ.ศ. 2556) / Part 2 (พ.ศ. 2558)
พูดได้ว่า เสกสรรค์ ศุขพิมาย คือนักร้อง/นักเขียนเพลงในสายร็อคที่ดีที่สุดคนหนึ่งในอุตสาหกรรมดนตรีร่วมสมัย เขาสามารถเขียนเพลงที่มีเนื้อร้องและเนื้อหาที่โดนใจผ่านอารมณ์ความรู้สึกของเขาถ่ายเทไปสู่คนฟังได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นความรู้สึกร่วมของเพลงร็อคเพลงรักในรอบ 20 ปีที่ผ่านเลย
เมื่อ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ถูกตีตราให้เป็นร็อคจิ๊กโก๋อกหัก-นักเลงนักรักโรแมนติกแสนอ่อนไหวในยุคที่มาก่อน ว่าไปแล้ว เสก โลโซ ก็น่าจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ต่างกัน และอาจจะดูเหนือกว่าด้วยซ้ำในฐานะคนเขียนเพลง นักร้องนักดนตรี มือกีตาร์ที่ฝีมือฉกาจคนหนึ่ง เรียกว่าครบเครื่องเท่าที่ร็อคสตาร์คนหนึ่งพึงมี และไปถึงในจุดสูงสุดของตลาดเพลง
ว่าไปแล้ว เนื้อร้องหรือตัวเนื้อหาในบทเพลงก็คือ จิตวิญญาณของคนเขียนเพลง เสก โลโซ ในฐานะนักร้อง/นักแต่งเพลง ได้บอกถึงชีวิตของเขาที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?
นึกสนุกหลังจากฟังบทเพลงของ เสก โลโซ ในฐานะวงและงานเดี่ยว กว่า 100 เพลงอย่างต่อเนื่อง (แต่ก็มีหยุดพักไม่ได้ฟังแบบรวดเดียวจบ) สามารถนำบทเพลงที่เล่าถึงความเป็นร็อคแอนด์โรลล์ สตาร์ ที่เขายืนยันและสถาปนาตัวเองขึ้นมาได้ดี
ธาตุของร็อคแอนด์โรลล์ที่รับอิทธิพลของไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตของร็อคเกอร์ในโลกดนตรีร่วมสมัยตะวันตกที่เป็นมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950 และพีคสุดในช่วง 60-90 และเป็นมาถึงปัจจุบันคือ Sex, Drugs, and Rock 'n' Roll
เซ็กซ์ หมายถึง ความสัมพันธ์นัยทางเพศกับผู้หญิงหรือผู้ชาย
ดรักส์ หมายรวมถึงยาเสพติดและแอลกอฮอล์
และดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ ที่เดินเคียงข้างไปด้วยกันบนเส้นทางของชื่อเสียง เกียรติยศ และเงินทอง
ในการแสดงออกของ เสก โลโซ ก็เดินตามรอยเงื่อนไขของร็อคสตาร์ตะวันตกเลียนอย่างมิผิดแผก
การสำรวจหาบทเพลงที่สะท้อนถึงมุมมองและความคิดในเรื่องเหล่านี้ของเขาออกมา สามารถหยิบมาร้อยชื่อเพลงเรียงต่อกันจากอดีตถึงปัจจุบันได้ดังนี้
ตามหา ‘อิสระเสรี’ เมื่อ ‘ทนไม่ไหว’ จน ‘ควบคุมหัวใจตัวเองไม่ได้’
ต้องเป็นคน ‘เจ้าชู้’ คิดว่า ‘เอาอยู่’ เข้าสู่การ ‘เกลียดตัวเอง’
โปรด ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ จึงเป็น ‘ผู้ชนะ’
ไม่มี ‘โลภะ โทสะ โมหะ’ หรือว่าเข้าโหมด ‘หลอน’
ไม่ใช่ ‘คนบ้า’ เข้าใจว่าถึงบรรลุ ‘นิพพาน’
[อัตตาร็อคแอนด์โรลล์จัดแจ้ง]
เนื้อร้องที่แสดงถึงอัตตาและความเป็นร็อคแอนด์โรลล์ที่ฉายชัดผ่านบทเพลงของเสก โลโซ
เริ่มจากอัลบั้ม โลโซไซตี้ ซึ่งเป็นชุดแรก สัญญะความเป็นอัตตาและร็อคแอนด์โรลล์ สตาร์ ยังไม่ฉายออกมาผ่านเนื้อหาของเพลงที่ เสก โลโซ เขียนออกมา ยังมีลักษณะกลาง ๆ ของบทเพลงที่มีมุมมองทั่วไป
อัลบั้มชุดที่ 2 Entertainment ก็ยังอยู่ในโหมดการเขียนเนื้อหาต่อเนื่องจากอัลบั้มชุดแรก พอมาถึงงานอัลบั้มชุดที่ 3 Rock & Roll เริ่มเด่นชัดในความเป็นตัวตนของ เสก โลโซ ซึ่งโลโซได้กลายเป็นวงร็อคเบอร์ของเมืองไทย ทั้งยอดขายและความโด่งดัง
บทเพลงนำอัลบั้มอย่าง ‘ร็อค แอนด์ โรลล์’ ได้ประกาศถึงจุดยืนและแสดงตัวตนอย่างไม่ปิดเม้มของชาวร็อค ผ่านในเนื้อร้อง
“... we are the rock and roll ( Loso Loso Loso )...”
ในอัลบั้มชุดนี้แสดงออกถึงอัตตาที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน อย่างในเพลง ‘ดีไหมเอ่ย’ เสมือนการแถลงอย่างไม่แคร์ หรือบทเพลงที่ชื่อ ‘ประเสริฐ’ ยิ่งตอกย้ำลงไปอย่างแน่นหนักด้วยเนื้อร้อง แล้วก็มาแบบจัดเต็มในอัลบั้มชุดที่ 4 ‘LosoLand’ ซึ่งมีบทเพลงที่แสดงความไม่สนใจว่าใครจะมองไลฟ์สไตล์ชาวร็อคแอนด์โรลล์อย่างไรอีกแล้ว
บทเพลง ‘คนบ้า’ สะท้อนตัวตนผ่านเนื้อร้องชัดเจน และยังมีเพลงที่แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองแบบเสรีชนอย่าง ‘อิสระเสรี’ ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิดแบบหมาป่าโดดเดี่ยวที่แยกแตกออกจากฝูง
‘… ฉันชอบแหกกฎ อย่ามากำหนด ให้ฉันเป็นอย่างใคร”
อีกเพลงในอัลบั้มชุดนี้ที่แสดงตัวตนออกมาอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋ ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ ซึ่งบทเพลงนี้ทำให้เห็นถึงมิติความย้อนแย้งและการต่อสู้ในตัวเองของ เสก โลโซ ในการต่อสู้ระหว่างแรงเร้าภายนอกของวิถีชีวิตร็อคแอนด์โรลล์ กับความรู้สึกถูกผิดดีชั่วตามหลักธรรมของพุทธศาสนา ในมุมมองของกรรมเวรและคนดีมีศีลธรรมจรรยา
‘… แสงธรรมนำทาง ส่องสว่างตา พาเราก้าวไป กฎแห่งกรรมมีจำไว้มั่น อยู่ไป วัน ๆ หรือ ดี เกิดมาเป็นคนรักษา ศักดิ์ศรี ความดีจงทำ…’
[เอาไม่อยู่... การเดินบนเส้นลวดของร็อคสตาร์]
‘Sex, drugs, rock ‘n’ roll’ ภาวะหลงโลกหลงตัวเองผ่านความเชื่อและยึดมั่นว่า วิถีของดนตรีร็อคก็คือ ‘เซ็กซ์ ยาเสพติด และร็อคแอนด์โรลล์’ อาจจะเหมาะสมกับสังคมในยุคสมัยหนึ่ง แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ผ่านความตาย และความล้มเหลวในชีวิตของบรรดาร็อคสตาร์ทั้งหลายว่า แม้จะมีชื่อเสียงและเงินทองมากมาย หากไม่ลดละเลิกพฤติกรรมยาเสพติดก็จะมาถึงจุดเสื่อมในไม่ช้า และที่สำคัญเงื้อมมือของกฎหมายจะเข้ามาจัดการเอง
เมื่อมาพิจารณาถึงบทเพลงในงานเดี่ยวที่ส่งสารถึงความบิดเบี้ยวและล่วงถลำสู่โลกของเซ็กซ์ ยา และร็อคแอนด์โรลล์ อย่างถลำลึก
อัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งปิดฉากวงโลโซในฐานะวงดนตรี อัลบั้ม ‘ปกแดง’ มีบทเพลง ‘อยากเปลี่ยนใจเธอ’ ซึ่งโดยผิวเผินแล้ว เนื้อหาในเพลงคล้ายเป็นเพลงรักอุปมาอุปไมยแซวจีบสาวแบบสนุกสนาน แต่แท้ที่จริงแล้วหากจับคำที่นำมาเขียนเนื้อร้อง มีการกล่าวถึงยาเสพติดในเนื้อเพลงเป็นครั้งแรก ดังเนื้อร้องที่ว่า
‘... อยากเปลี่ยน ยาบ้า เป็น ยาดี อยากเปลี่ยน ยาอี เป็น อีโน อยากเปลี่ยน โคเคน เป็น แตงโม…’
กล่าวโดยสรุป ในนามวงโลโซ ที่ออกมา 5 อัลบั้ม เสก โลโซ ในฐานะมันสมองของวง ซึ่งเป็นคนเขียนและแต่งเพลงทั้งหมด ได้ก้าวขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์วงการร็อคและดนตรีสมัยนิยมของไทย การเขียนเนื้อเพลงก็มีลักษณะที่แสดงถึงตัวตนและมุมมองที่ออกมาจากข้างในมากขึ้น โดยไม่ใส่ใจหรือแคร์ตลาดเพลงหรือคนฟังอย่างรอบคอบอีกต่อไป
ถ้าชอบเพลงของโลโซ ก็คือชอบคนแบบ เสก โลโซ ที่ประกาศตัวเป็นร็อคแอนด์โรลล์เต็มรูปแบบทั้งชีวิตจริงและบนเวที...
ความพยายามในการเปิดประตูบานใหม่ ยกระดับตัวเองเพื่อก้าวเป็นศิลปินระดับโลก เนื่องจากอิ่มตัวด้วยชื่อเสียงเงินทองในฐานะดาราร็อคเบอร์หนึ่ง
การออกเดินทางไปแสวงหาประสบการณ์ดนตรีที่ประเทศอังกฤษ การทำอัลบั้มดูโอคู่กับซูเปอร์สตาร์เพลงป็อปของไทย เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาคใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยวทำงานแบบโซโลอัลบั้มออกมา
ความคับพองด้วยอัตตาทางดนตรีอย่างสมบูรณ์แบบตามที่ใจตัวเองต้องการและอยากให้เป็น
อัลบั้ม ‘7 สิงหา’ มีบทเพลงที่แสดงความยอกย้อนในตัวตนที่ปะทะกันของ เสก โลโซ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ในเพลงชื่อ ‘เกลียดตัวเอง’ ชื่อเพลงและเนื้อเพลงได้สะท้อนด้านลึกภายในของตัวเองออกมาอย่างหมดจด ซึ่งจะหาถ้อยคำและความหมายอย่างนี้ในยุคแรกไม่เจอ
แน่นอนความยอกย้อนของบทเพลงในอัลบั้มที่แตกต่างกันมาก ปรากฏในเพลง ‘ผู้ชนะ’ ซึ่งนำไปใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘15 ค่ำ เดือน 11’ เปรียบเสมือนย้อนกลับไปสู่งานยุคแรกที่ยังดึงตัวเองไว้ได้ แต่ลึก ๆ แล้วยืนยันมุ่งมั่นในอัตตาของตัวเองตามชื่อเพลง
ในอัลบั้มต่อมาที่มีชื่อว่า ‘Black & White’ ถือว่ากำลังอยู่ตัว มีแค่บทเพลงชื่อ ‘ทนไม่ไหว (บ้า)’ เป็นสัญญะผ่านออกมา แต่ในเนื้อร้องไม่มีอะไรน่าสนใจมากกว่าการพ่นพล่ามอารมณ์อัดอั้นออกมา
การแสดงตัวตนที่แท้จริงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มาไต่เพดานในอัลบั้มที่ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่ออัลบั้ม นั่นคืออัลบั้ม ‘SEK LOSO’ ที่มีบทเพลง ‘เพื่อเธอคนเดียว’
ถือได้ว่าพีคมาก เพราะเขียนเนื้อร้องไปเทียบเคียงกับดาราร็อคระดับโลก
‘... ผมเผ้าก็รุงรัง เหมือน จิมี เฮนดริกซ์ นิดนึงก็โวยวาย เหมือนจอห์น เลนนอน ไม่เคยจะยอมใครนึกว่าแอ็กเซิล โรส ก็ไม่ปาน…’
ความเป็นโลกิยะแบบเต็มเปี่ยมตามวิถีชาวร็อค ประกาศปรากฏชัดในบทเพลง ‘เจ้าชู้’ ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้ม ‘PLUS’
‘... หรืออาจเป็นเพราะว่าคนอย่างฉัน มันเจ้าชู้…’
อีกบทเพลงคือ ‘ควบคุมหัวใจตัวเองไม่ได้’ และบทเพลง ‘ผ่านมาผ่านไป’ ซึ่งแสดงถึงตัวตนและเพศวิถีของชาวร็อคเจ้าชู้แสนเสน่ห์ฟุ้งพล่านออกมา
แล้วก็มาถึงอัลบั้มที่พูดถึงยาเสพติดอย่างไม่มิดเม้ม ‘I’m Back’ มีบทเพลง ‘เอาอยู่’ ที่ใช้คำว่า ‘เลิกยา’ อย่างตรงไปตรงมาในเพลง
‘… เพราะเลิกกับเธอ เลิกยา ยังง่ายกว่าเลิกกับเธอ…’
อีกเพลงในอัลบั้มชุดนี้คือ ‘หลอน’ ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปค้นหานัยหรือสัญญะอย่างอื่นในตัวเพลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะการเขียนถึงยาซาแน็กซ์
นั่นคือการส่งสารสู่คนฟังโดยตรงว่า เขารู้จักยานี้ ซึ่งคือยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือยาที่มักเรียกชื่อกันผิด ๆ ว่า ‘อัลฟาโซแลม’ เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ซาแน็กซ์ (XANAX), แอนเพรส (ANPRESS)
รูปแบบของยาที่มีใช้ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของยาเม็ด และการใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมในสารเสพติดอื่น ๆ หรือยาแก้ไอเพื่อให้เกิดความมึนเมา หรือนำไปใช้เป็นยานอนหลับอย่างแรงเพื่อหวังล่วงละเมิดทางเพศ
‘… ยาซาแน็กซ์’ ซัดมันไปสามเม็ด หากมันยังไม่เสร็จ มันคงได้สับ ได้สับ ได้สับ ได้สับ…’
ว่าไปแล้วอย่างพอสำเหนียกรู้ได้ บทเพลงทั้งหมดที่ยกมาในยุคหลังสุดของ เสก โลโซ ทำให้เค้าลางจากอดีตอันใกล้ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันในปี 2563 เมื่อมองความคิดและเนื้อสารของเขาเองที่สื่อออกมาจากจิตใต้สำนึกผ่านบทเพลงเหล่านี้
[นิพพาน]
นอกจากการเลียนอย่างหรือก๊อบปี้ลอกแบบวิถีของดนตรีร็อคก็คือ ‘เซ็กซ์ ยาเสพติด และร็อคแอนด์โรลล์’ แล้ว หากใครที่ติดตามและรับรู้เรื่องราวผ่านข้าวของ เสก โลโซ อย่างสม่ำเสมอ ในช่วงต้นปี 2561 บทสัมภาษณ์ของ เสก โลโซ เรื่องขายวิญญาณให้มาร ปีศาจ หรือซาตาน ถูกนำมาเผยแพร่ พร้อมกับข่าวฉาวหน้า 1
“ผมรู้เรื่องนี้ เพราะดูหนังแล้วก็ไปอ่านหนังสือศึกษาข้อมูลต่อ ตอนขายวิญญาณให้ซาตาน ผมอายุแค่ 10 กว่า ๆ ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เรื่องขายวิญญาณให้ซาตาน ผมทำจริง ๆ
“ผมก็บอกว่าขอให้ผมเล่นกีตาร์เก่ง ๆ และขอให้โด่งดังมีชื่อเสียง แล้วก็เอาวิญญาณแลกกับผม ผมก็เล่นกีตาร์เก่งและก็ดังจริงๆ
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเชื่ออย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องจริง แต่อย่างแรกต้องมีความศรัทธาก่อน ทำอะไรต้องมีศรัทธาก่อน ศาสตร์ของคนมันต่างกัน ศาสตร์ของเณรคำก็ศาสตร์หนึ่ง ศาสตร์ของคนทรงเจ้าก็อีกศาสตร์หนึ่ง ศาสตร์ของดนตรีก็อีกศาสตร์หนึ่ง แต่ทุกวันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับซาตานแล้ว”
แน่นอน ก่อนหน้านั้น ในปี 2559 มีบทเพลงของเขาที่ชื่อ ‘ซาตาน’ โดย เสก โลโซ Feat. กรีน อัษฎาพร เป็นแนวดนตรีร็อค-แดนซ์ บรรจุอยู่ในอัลบั้ม ‘20 ปี โลโซ เราและนาย’ แต่เนื้อหากับชื่อเพลงไม่เกี่ยวกันแต่อย่างใด เป็นการเขียนเนื้อร้องมีความหมายในเชิงเพลงรักฟูมฟาย
ว่าไปแล้ว ในสังคมตะวันตก การทำสัญญาบุคคลระหว่างคนธรรมดากับซาตานหรือมาร ปีศาจตัวอื่น ๆ โดยแลกเปลี่ยนจิตวิญญาณของตน เพื่อแลกเปลี่ยนให้ได้มาถึงความรู้, ทรัพย์สินหรืออำนาจ ทำให้บุคคลธรรมดาเหล่านั้นมีมันสมองและพละกำลังเก่งกาจเกินมนุษย์ทั่วไป
แนวความคิดที่ว่า ‘ขายวิญญาณของเจ้า เพื่อความรุ่งโรจน์หรือความเป็นเลิศทางดนตรีของเจ้า’ บังเกิดขึ้นหลายครั้งในวงการเพลงของโลก โดยเฉพาะในวงการแนวดนตรีร็อค
เสก โลโซ ก็เติบโตและได้รับการครอบงำจากสัญญะและวาทกรรมนี้จากเรื่องราวผ่านทางสื่อต่าง ๆ ของตะวันตก โดยเฉพาะดนตรีร็อคของอเมริกัน ทั้งสายบลูส์ ร็อคแอนด์โรลล์ บลูส์ร็อค ระดับตำนานมาอย่างเต็มที่
เมื่อกรรมเป็นผลของการกระทำ จากการที่ เสก โลโซ มีชีวิตในสายตาของผู้คน ดูย้อนแย้งในตัวเอง คือประกาศตัวเองเป็นร็อคแอนด์โรลล์เต็มรูปแบบ มีครรลองชีวิตจมอยู่กับโลกิยะ เซ็กซ์ ยา ที่เดินเคียงคู่กันไปกับความเชื่อเรื่องซาตาน และสลัดทิ้งไป หลังจากประสบความสำเร็จโด่งดังแล้ว แต่ในอีกทางก็ดูเหมือนสวิงไปสุดโต่งอีกด้าน ในสายธรรมะที่เน้นหนักไปในการสร้างวัตถุบูชาและพยายามเข้าถึงธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา
ทั้งสองฝักฝ่ายนี้ได้แสดงออกและสะท้อนออกมาอย่างโจ่งแจ้งในบทเพลงต่าง ๆ ที่ยกมาให้เห็นภาพของจิตใต้สำนึกกัน แต่บทเพลงเหล่านี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของบทเพลงทั้งหมดเพียงเท่านั้น
ว่าไปแล้ว เสก โลโซ ในยุคหลังก็ค่อนข้างตันในการเขียนเพลงอยู่ใช่น้อย ส่วนใหญ่เป็นการย้ำรอยความคิดตามทักษะที่มีอยู่อย่างเชี่ยวชำนาญ
ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มภาษาอังกฤษที่หวังโกอินเตอร์อย่าง ‘For God’s Sake’ / Sek Loso ซึ่งได้ โอเว่น มอร์ริส โปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งวงการบริตป็อปชาวอังกฤษมาอำนวยการผลิตให้ก็ตาม
บทเพลงของตัวตนที่คับพอง ถ้ามองเรื่องดนตรีก็จะพบว่า ซาวนด์และการเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสานนั้น คมกล้าจัดจ้านในแบบเดิม ๆ เพราะทิศทางของดนตรีพยายามที่จะพุ่งเป้าไปที่ตลาดเพลงร็อคเพื่อชีวิตเป็นโสตใหญ่ วิธีการเขียนเนื้อเพลงที่เป็นจุดเด่นแบบซื่อตรง กล้า เชย แต่เท่แบบลูกผู้ชายก็ยังมีอยู่ครบ มีความคมคายและแทงตรงเข้ากลางใจด้วยภาษาที่ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ไม่ประดิษฐ์มากนัก
จะเห็นได้ว่างานในยุคหลังจะมีรอยทางเดิมและจมอยู่กับกับดักความสำเร็จติดหล่มอยู่มากทีเดียว ซาวนด์และการเขียนเนื้อร้องทั้งหมดเคยผ่านหูคุ้นเคยและถูกสร้างอีกครั้งในอีกแบบหนึ่งของบทเพลงใหม่ล่าสุดเท่านั้นเอง
ท่าที ท่วงทำนอง และจังหวะจะโคนของเนื้อร้องและดนตรี รวมถึงความหมายในตัวเพลง สารที่สื่ออกมาถึงคนฟัง กลายเป็นสกุลช่างเพลงร็อคแอนด์โรลล์เพื่อชีวิต เสก โลโซ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าเป็น การผลิตซ้ำ (Cliché) แสดงให้กำซาบได้ถึงอัตตาที่คับพองกับความผยองที่พุ่งทะลุขีด ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่กันกับนักร้องหรือวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายทั้งชื่อเสียงและเงินทอง
รวมถึงกับการถูกสถาปนาให้เป็นไอคอนของยุคสมัยในวงการดนตรีร่วมสมัย และเป็นไอดอลของคนรุ่นถัดมาหรือรุ่นหลังในฐานะร็อคสตาร์ ก็ยิ่งทำให้ความแรงที่แรงอยู่แล้วยิ่งแรงเกินขีดจำกัด
คนที่เคยขึ้นไปยืนสูดอากาศบนแท่นสูงสุดในฐานะซูเปอร์สตาร์สายดนตรีร็อค ซึ่งนับเป็นเบอร์หนึ่งของวงการและตัวแทนของยุคสมัย ก็ย่อมมีความอหังการเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนอยู่แล้ว
รัก โลภ โกรธ หลง ก็ยังประเดประดังพรั่งพรูเข้ามาอย่างเป็นปกติวิสัย รวมถึงจุดเปลี่ยนที่ค่อนข้างสำคัญก็คือการนำหลักธรรมในพุทธศาสนากลับมาเขียนเป็นเนื้อร้องอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำในบทเพลง ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ ในอัลบั้ม ‘LosoLand’ ซึ่งทิ้งห่างไปหลายปี
บทเพลง ‘โลภะ โทสะ โมหะ’ สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะกลับมาสู่ความดีงาม ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความคิดใช้ชีวิตอย่างร็อคแอนด์โรลล์ และวิถีที่เคยบูชาซาตาน
ที่สำคัญอย่างมาก มีบทเพลงบรรเลงหรืออินสทรูเมนต์ (Instrument) ผ่านชิ้นดนตรี เสก โลโซ เลือกใช้เสียงจากกีตาร์เพื่อแสดงออกถึงความคิดอันเป็นนามธรรมไร้ถ้อยคำและความหมาย แต่สื่อสารออกมาตามความคิดของเขาว่านี่คือ ‘ความหลุดพ้น’ แบบร็อคแอนด์โรลล์ อยู่ในอัลบั้ม ‘ใหม่’ ที่ออกมาในปี 2553 ที่มีบทเพลง ‘นิพพาน’ เป็นอินสทรูเมนต์หรือเพลงบรรเลงที่เป็นกุญแจสำคัญ วางไว้ในแทร็คที่ 7 ของอัลบั้ม
‘นิพพาน’ เป็นการแสดงถึงการกรีดสายสู่เสียงเพื่อความหลุดพ้น!!!???
เมื่อมาฟังบทเพลงนี้อย่างพิเคราะห์ ก็พบประเด็นทางความคิดที่น่าสนใจและอาจจะน่าตกใจไปด้วยเช่นกัน กับการกล้าตั้งชื่อบทเพลงว่า ‘นิพพาน’ นับเป็นความหาญกล้าอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธ เพราะโดยทางศาสนาแล้ว นิพพานคือ ความหลุดพ้น เป้าหมายสูงสุดของชีวิตให้หลุดพ้นจากอัตตา
แต่เสกกลับเปี่ยมล้นไปด้วยอัตตาของวิถีชีวิตและการสร้างสรรค์เพลงร็อคแอนด์โรลล์จนเป็นหนึ่งเดียวกลืนกลายกับชีวิตจริงไปแล้ว
เพียง 29 วินาทีกับการตีความคำว่า ‘นิพพาน’ ผ่านการกรีดสายกีตาร์ผ่านเสียงสะท้อนกลับไปมาของฟีดแบ็ค รีเวิร์บ และเสียงกีตาร์แตกพร่าของดิสทรอชัน ที่สะท้อนหลอนออกมาทางแอมป์ในแบบนอยส์ ซาวนด์ กลิ่นอายในแบบซีแอตเทิล ของ เสก โลโซ
ย่อมหมายถึงการประกาศผ่านเสียงกีตาร์ของตัวเองว่า นี่คือ นิพพาน ผ่านความหมายในการตีความของตัวเขาเอง สื่อจากเส้นเสียงของกีตาร์ออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่บังเกิดขึ้นอย่างทบทวี
เพราะฉะนั้นบทเพลงซึ่งคล้ายกับดนตรีอินเทอร์ลูด (Interlude) สลับฉากเข้าสู่บทเพลงที่ 8 ออกสู่ผู้ฟังในฐานะสินค้าทางดนตรี จึงน่าสนใจที่ผู้คนหรือสาธารณชนจะได้ตีความคำว่า นิพพาน ร่วมกับเสียงกีตาร์ของเขา
อรรถาธิบายถึงความหมายของ นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด
คำอรรถาธิบาย ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า นิพพาน นั้นเป็นเรื่องที่เลยพ้นจุดของโลกิยะมุ่งสู่โลกุตระ หรือภาวะเหนือโลก พ้นวิสัยของโลก การที่นักร้อง-นักดนตรี-นักแต่งเพลง นำคำนี้มาใช้ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจอย่างสุดกู่ในการตีความหลักธรรมสูงสุดในพุทธศาสนาผ่านเสียงกีตาร์ของเขาเอง และ เสก โลโซ ก็ได้ทำออกมาแล้ว
แม้แต่โลกดนตรีตะวันตก คำว่า นิพพาน หรือ ‘Nirvana’ จะมีวงดนตรีในหลายแนวทางตีความออกมาในชื่อเพลงนี้มากมาย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องในลักษณะของศิลปะทางดนตรีที่เปิดกว้างและไม่มีขอบเขตจำกัดตายตัว
แต่สำหรับชาวพุทธเอง คำว่านิพพานในความหมายของผู้ที่นับถือศาสนานี้ ย่อมแตกต่างจากชาวตะวันตกหรือคนในศาสนาอื่น ๆ ที่มอง นิพพาน อยู่ในลักษณะวาทกรรมในเชิงแปลกใหม่
หรือในยุคไซเคเดลิคร็อคเองก็ตีความหมายคำว่า นิพพาน ไปผูกโยงกับการหลุดพ้นในเชิงเรียนลัดด้วยความโหมเร่งฉับไวแห่งฤทธิ์ยาเสพติดที่หลอกหลอน
เพราะฉะนั้น นิพพาน ในความหมายของ เสก โลโซ ที่รับอิทธิพลดนตรีร็อคแอนด์โรลล์จากโลกตะวันตกมาตีความในแบบของเขาเอง สะท้อนถึงจิตที่อยู่ในสภาวะที่ตื้นเขินและใจเร็วด่วนกล้าที่ใช้คำนี้มาเป็นชื่อเพลง โดยไม่มีการศึกษาหลักธรรมและทำความเข้าใจในสัจธรรมตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้
แต่ก็ได้มุมที่ดี เพราะคนฟังเพลงร็อคที่เป็นแฟนเพลงของ เสก โลโซ จะได้สดับรับฟังไว้สำหรับสาธุชนชาวร็อคแอนด์โรลล์ กับนิพพานในวิถีแบบร็อคไทย และแน่นอนบทเพลง ‘นิพพาน’ ของ เสก โลโซ ยิ่งทำให้เห็นอัตตาในตัวตนที่คับพองเก่งกล้าผ่านดนตรีและความเชื่อของเขาเองอย่างเป็นล้นพ้น ยิ่งกล้าประกาศกับคนฟังวงกว้างก็ยิ่งเห็นภาพนั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เรื่อง : พอล เฮง