read
business
02 ต.ค. 2563 | 18:41 น.
เศรษฐา ทวีสิน กับแนวคิด "ประชากรโลก" ที่ทำให้แสนสิริทุ่มงบกว่า 320 ล้านบาท ช่วยเหลือเด็กทั่วโลกผ่านยูนิเซฟ
Play
Loading...
ถ้าใครติดตามโลกออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ระยะหลังมานี้ก็มักจะได้เห็นมุมมองและความเห็นด้านต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม จากประสบการณ์หลายสิบปีในแวดวงธุรกิจของ
เศรษฐา ทวีสิน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นของไทยอยู่เป็นระยะ
แต่นอกจากเรื่องธุรกิจที่เศรษฐาคลุกวงในมานานแล้ว ชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งของเขาก็คือการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาสในสังคมมาอย่างต่อเนื่องทั้งในนามส่วนตัว และจัดสรรงบประมาณด้านกิจการเพื่อสังคมของแสนสิริให้ยูนิเซฟ (UNICEF) ที่ถ้านับถึงปีนี้ก็คิดเป็นเงินกว่า 320 ล้านบาท
“จริง ๆ ผมว่าทุกภาคส่วนต้องการความช่วยเหลือเยอะ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนพิการ หรือว่าเด็ก เราเป็นบริษัทขนาดกลาง เราเองก็อยากช่วยทุกคนที่เดือดร้อน แต่จำนวนเงินเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น ผมไม่สามารถเอาเงินมาแล้วกระจายไปทั่วทุกภาคส่วน แล้วอนาคตของชาติคือเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กก็จะมาช่วยเหลือคนแก่ ซึ่งเด็กที่จะมาช่วยเหลือคนแก่ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือเสียก่อน ต้องได้รับการปูพื้นฐานที่ดี ทั้งเรื่องการศึกษา สุขภาพ นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้น และถ้าถามว่ามีเรื่องไหนสำคัญสำหรับเด็ก หนึ่งก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษา สองคือเรื่องสุขภาพ และสามเป็นเรื่องที่ผมสนใจคือเรื่องกีฬา”
เศรษฐาเล่าให้ The People ฟังถึงที่มาของการช่วยเหลือเด็ก
กูรูอสังหาฯ คนนี้ ไม่ได้ไปพบเจอเหตุการณ์ดราม่าอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เขาหันมาสนใจช่วยเหลือเด็ก แต่เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึก อย่างที่เขาบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาตามสไตล์ที่หลายคนคุ้นชินว่า
“เราต้องเตรียมอนาคตให้เขา นี่เป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่ไปเจอใครที่ด้อยโอกาสแล้วจุดประกายให้เราต้องช่วย...ไม่ใช่ ง่าย ๆ เลย มันคือเรื่องจิตสำนึก”
และเมื่อยูนิเซฟเป็นองค์กรของสหประชาชาติที่มีบทบาทหน้าที่ช่วยเหลือเด็กโดยตรง แสนสิริจึงสนับสนุนด้วยการบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 32 ล้านบาท) เข้ากองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินของยูนิเซฟทุกปีติดต่อกันจนปีนี้เป็นปีที่สิบ ซึ่งด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ทำให้แสนสิริเป็นองค์กรพันธมิตรของยูนิเซฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
กองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินของยูนิเซฟที่ว่า เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กและครอบครัวหลายสิบล้านคนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งเหตุน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภาวะขาดอาหาร หรือแม้แต่จากภัยการสู้รบที่ทำให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งยูนิเซฟจะจัดส่งสิ่งของจำเป็นในการอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัคซีนป้องกันโรค น้ำสะอาด ฯลฯ เข้าไปในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วผู้บริจาคมักระบุความต้องการว่าให้นำไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ไหน หรือให้ช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุอะไร แต่แสนสิริบริจาคเข้ากองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินของยูนิเซฟแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะมั่นใจว่าเงินที่บริจาคไป ยูนิเซฟจะเอาไปทำประโยชน์ได้จริง
“ถ้าจะให้ทั้งทีอย่าไปเจาะจงเลย เขารู้ดีว่าเงินควรไปที่ไหน”
เศรษฐาบอก
เขาเล่าว่าสิ่งที่ทำให้เชื่อมั่นแบบนี้เพราะเคยไปค่ายผู้ลี้ภัยที่เลบานอน ที่นั่นมีเด็ก ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายจำนวนมาก เกิดปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างโปลิโอ ซึ่งยูนิเซฟต้องเอาวัคซีนเข้าไปสนับสนุน หรืออย่างการไปเยี่ยมชมคลังเก็บของของยูนิเซฟที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่สามารถจัดส่งยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ภายใน 24 ชั่วโมง ก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นว่ายูนิเซฟจะจัดการเงินของผู้บริจาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปีนี้ที่ทั้งโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่แสนสิริ แต่บริษัทก็ยังบริจาคเงินเพิ่มให้ยูนิเซฟอีก 2 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐาเองก็นำรายได้จากการขายหนังสือ “เศรษฐากับกีฬา” ที่เขาเขียนได้เงินมา 500,000 บาท บริจาคเสริมเข้าไปด้วย เพราะเขามองว่าโควิด-19 กระทบธุรกิจหลายอย่างก็จริง แต่เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสอยู่แล้ว พอเจอผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก ทางแก้ที่พอจะช่วยได้คือการประคองกันไปให้ได้มากที่สุด
ถึงจะช่วยเหลือเด็กที่เป็นอนาคตของสังคม แต่ก็มีคำถามดังเข้าหูเศรษฐาตลอดว่าทำไมถึงไม่บริจาคให้องค์กรในเมืองไทย ซึ่งเขาบอกว่าที่ผ่านมาก็ทำอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการบริจาคอาหารกลางวันให้เด็ก การสนับสนุนเด็กกับฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่เป็นความชอบส่วนตัวของเศรษฐา ส่วนการบริจาคให้องค์กรระดับโลกอย่างยูนิเซฟ เขาให้คำตอบว่า
“สำหรับผม โลกมันไร้พรมแดน เราเป็น
global citizen…เราเป็นประชากรโลก ถ้าเด็ก ๆ ต้องการความช่วยเหลือ ทำไมต้องจำกัดแค่เมืองไทย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น บางทีอาจลามถึงนี่ก็ได้ เรื่องจะเอาสีผิวหรือเอาภูมิศาสตร์มาเป็นขีดจำกัด ผมว่ามันไม่ถูกต้อง คนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือมีทั่วโลก อย่างประเทศไทยถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เงินจากกองทุนฉุกเฉินดังกล่าวก็มีมาช่วยเมืองไทยได้ด้วยเช่นกัน”
นอกจากจะสนับสนุนยูนิเซฟในรูปของการบริจาคเข้ากองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน แสนสิริยังร่วมกับยูนิเซฟผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ ในเมืองไทยอีก 17 โครงการ อย่างโครงการ Iodine Please ที่กระตุ้นให้คนในสังคมรับรู้ถึงความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีนในเด็ก ที่ส่งผลให้สมองของเด็กมีพัฒนาการไม่เต็มที่และมีไอคิวต่ำลง จนมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำหนดให้มีการเติมสารไอโอดีนในเกลือบริโภค และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2554 โครงการ Zero Child Labour ที่กำหนดให้คู่ค้าทางธุรกิจให้ความร่วมมือในการทำสัญญาข้อตกลงเรื่อง “ข้อสัญญาคุ้มครองแรงงานเด็ก” เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้องในกระบวนการธุรกิจ รวมทั้งโครงการ The Good Space ที่สร้างพื้นที่เรียนรู้ 57 แห่ง ใน 13 จังหวัด เพื่อให้เด็ก ๆ กว่า 6,000 คน ที่อาศัยอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างได้มีพื้นที่เรียนรู้ เป็นต้น
เศรษฐาตั้งใจว่าเขาและแสนสิริจะเดินหน้าโครงการเพื่อเด็กอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ทำมาก็ค่อย ๆ ออกดอกออกผลขึ้นเรื่อย ๆ
“แรงบันดาลใจต้องมาจากภายในของเราเอง การที่คุณอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต้องมาจากข้างในก่อน”
เขาย้ำ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
แสนสิริ
The People Biz
CSR
องค์การยูนิเซฟ
เศรษฐา ทวีสิน