06 ต.ค. 2563 | 14:04 น.
เมื่อคุณรู้ว่าเงินในกระเป๋าตังค์ของคุณมีจำกัด และคุณจำเป็นต้องจ่ายเงินซ่อมบ้านที่กำลังโดนพายุฝนโหมกระหน่ำ แน่นอนว่าคุณมีทางเลือกมากมายในการแก้ไขปัญหานี้ แต่สุดท้ายหากคุณมัวแต่ลังเลรอของดีราคาแพง แทนที่จะหาของดีในราคาใกล้เคียงกว่าเพื่อมาใช้งานก่อน สุดท้ายคุณอาจหาอะไรมาซ่อมบ้านไม่ได้เลย นี่คือตัวอย่างที่น่าจะตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ดีที่สุด
หลังจากที่ทีมปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โชว์ฟอร์มเทพเปิดบ้าน (โดน) ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ถล่มเละ 1-6 ชนิดที่เรียกว่า ‘เละไม่มีชิ้นดี’ ซึ่งนอกจากไฮไลต์ของเกมจะเป็นการประชาสัมพันธ์ความห่วยของแนวรับยูไนเต็ดแล้ว ตลอดการถ่ายทอดสด กล้องมักจะจับไปที่เอ็ด วู้ดเวิร์ด ซีอีโอของทีมปีศาจแดง ที่สีหน้าแสดงออกถึงความกังวลใจอย่างมาก โดยในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงหน้าร้อนนี้ วู้ดเวิร์ด และทีมงานซื้อขายของยูไนเต็ด โดนสาวกยูไนเต็ดถล่มเละ และถูกตั้งคำถามถึงความไม่เอาไหนของทีมเจรจาที่นำโดยชายที่ชื่อว่า แมตต์ จัดจ์ (Matt Judge)
นับตั้งแต่เอ็ดวู้ดเวิร์ดเข้ามาบริหารทีมแทนเดวิดกิลล์ที่อำลาตำแหน่งไปพร้อมเซอร์อเล็กซ์เฟอร์กูสันปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมดังแห่งเมืองแมนเชสเตอร์มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายนักเตะเป็นอย่างมากซึ่งเบื้องหลังการเจรจาซื้อนักเตะของยูไนเต็ดก็เต็มไปด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนจนน่าค้นหากระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นที่ทีมแมวมองส่องฟอร์มนักเตะประเมินศักยภาพรายงานผู้จัดการทีมผู้จัดการทีมเขียนรายชื่อส่งให้ซีอีโอซีอีโอส่งให้เจ้าของทีมไฟเขียวเจ้าของทีมโอเคส่งกลับมาที่ซีอีโอซีอีโอโอนงานไปให้ทีมเจรจาซึ่งมีหัวหน้าทีมเป็นมือขวาของวู้ดเวิร์ดอย่างจัดจ์นั่นเอง
หมายเหตุ: ยูไนเต็ดมีเครือข่ายแมวมองประจำอยู่ทั่วโลกประมาณ 52 คน นำทีมโดย มาร์เซล เบาท์ จิม ลอว์เลอร์ และมิก คอร์ท ที่ทำงานขึ้นตรงกับผู้จัดการทีม
จัดจ์เริ่มทำงานกับยูไนเต็ดตั้งแต่ปี 2013 ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเจรจาซื้อตัวเมื่อปี 2016 จัดจ์ก็เหมือนกับวู้ดเวิร์ด เขาไม่ใช่นักบริหารทีมฟุตบอลที่มีเส้นทางเติบโตมาจากสายฟุตบอลโดยตรง ก่อนหน้ารับงานที่ยูไนเต็ด จัดจ์เคยเป็นวาณิชธนกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการเงินมา 13 ปี นอกจากนี้เขายังเป็นอดีตศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบริสตอล ที่เดียวกับวู้ดเวิร์ด แถมยังเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันที่ เจ พี มอร์แกน อีกด้วย (คงไม่ต้องบอกว่าเขาเข้ามาอยู่กับยูไนเต็ดด้วยช่องทางไหน)
[caption id="attachment_27733" align="aligncenter" width="4908"] เอ็ด วู้ดเวิร์ด และแมตต์ จัดจ์[/caption]หน้าที่หลักของจัดจ์ คือการเข้าไปเจรจาซื้อตัวหรือต่อสัญญานักเตะจากทุกความเป็นไปได้ ซึ่งหลังจากได้รายชื่อจากผู้จัดการทีมและทีมงานแล้ว กระบวนการต่อมาของจัดจ์และทีมงานคือการเข้าไปสะกิดเอเย่นต์ของนักเตะ หรือเข้าไปคุยกับสโมสรต้นสังกัดของนักเตะเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา แน่นอนว่าจัดจ์และทีมงานของเขาได้รับอำนาจเต็มที่จากวู้ดเวิร์ดในการประเมินเรื่องค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักเตะก่อนที่จะยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการไปในแต่ละครั้ง เอาง่าย ๆ ว่า โจเอล เกลเซอร์ เจ้าของทีมมีหน้าที่แค่ให้ความเห็นว่า yes หรือ no เท่านั้น
ซึ่งนับตั้งแต่ที่จัดจ์เข้ามาบริหารทีมในส่วนนี้ ยูไนเต็ดก็กลายเป็นทีมที่ขึ้นชื่อว่ามักจะเสียค่าโง่หรือเสียเหลี่ยมสโมสรอื่นเสมอ จนปัจจุบันเวลาที่เราได้เห็นยูไนเต็ดลงสู่ตลาดเมื่อไร สุดท้ายพวกเขาก็มักจะโดน ‘โก่งค่าตัว’ เกินจริงทุกครั้งไป (592.4 ล้านปอนด์คือจำนวนเงินที่จัดจ์เดินเรื่องสำหรับนักเตะ 10 คน นับตั้งแต่ปี 2016) ยิ่งไปกว่านั้นในตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ฤดูกาล 2020-2021 จัดจ์และทีมงานของเขาก็แสดงให้เห็นว่าวิธีบริหารการจัดการของพวกเขาเข้าขั้นล้มเหลว
“ผมไม่ได้นักเตะที่ตัวเองต้องการตลอดเวลาหรอกนะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวู้ดเวิร์ดและจัดจ์” นี่คือสิ่งที่หลุยส์ ฟาน กัล อดีตผู้จัดการทีมเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเบื้องหลังการซื้อขายนักเตะของทีม ซึ่งถ้าพูดถึงหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงการเป็นนักเจรจาที่แสนแย่ของจัดจ์นั้นเกิดขึ้นในฤดูกาล 2019-2020 ย้อนกลับไปตอนนั้น โชเซ มูรินโญต้องการเสริมแนวรับด้วยการซื้อ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ หรือ โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ เข้ามาสู่ทีม แต่สุดท้าย วู้ดเวิร์ดและจัดจ์ก็ไม่ได้จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย ตอนนั้นพวกเขาให้ความเห็นกับกุนซือชาวโปรตุกีสว่า “คนแรกแพงเกิน ส่วนอีกคนก็แพงไปสำหรับคนที่ใกล้หมดสัญญา”
“ผมรู้ว่าคนของผมทำทุกอย่างที่ทำได้ เจ้าของทีมไฟเขียว วู้ดเวิร์ดก็ทำงานอย่างหนักร่วมกับแมตต์ จัดจ์ และคนอื่น ๆ พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้ว และผมคิดว่าพวกเขาจะทำสำเร็จ” โชเซ มูรินโญ เคยกล่าวไว้
สุดท้ายในปีต่อมา พวกเขาต้องจ่ายค่าตัว แฮร์รี่ แม็คไกวร์ สูงถึง 80 ล้านปอนด์ ทั้ง ๆ ที่เลสเตอร์ได้มาแค่ 17 ล้านปอนด์ อีกทั้งการให้ค่าเหนื่อย อเล็กซิส ซานเชซ เกินเบอร์ระดับสัปดาห์ละ 560,000 ปอนด์ เมื่อเทียบกับฟอร์มการเล่น ก็เป็นสิ่งที่แฟนบอลต่างรับไม่ได้ หรืออย่างกรณีการหยุดเจรจาซื้อตัว ทาคุมิ มินามิโนะ แนวรุกเลือดซามูไร คือตัวอย่างความไม่ทันเกมทีมอื่นของวู้ดเวิร์ดและจัดจ์ ซึ่งกรณีนี้เขาและทีมงานมารู้ทีหลังว่านักเตะมีค่าฉีกสัญญาแค่ 7.25 ล้านปอนด์หลังจากที่ลิเวอร์พูลปิดดีลเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
นี่ยังไม่รวมกรณีที่วู้ดเวิร์ดกับจัดจ์ ขี้เหนียวผิดเวลา ไม่ยอมเสียค่ากินเปล่าให้นายหน้าของ เออร์ลิง ฮาแลนด์ และ จูล เบลลิงแฮม จนสุดท้ายสองนักเตะที่โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ อยากได้สุด ๆ ย้ายไปอยู่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตามระเบียบ อย่างไรก็ตาม อภิมหาดีลที่จัดจ์ดึงเกมยืดเยื้อจนแฟนบอลส่ายหน้าแทบทุกคนเกิดขึ้นในตลาดซื้อขายล่าสุด เป็นที่รู้กันดีว่า เจดอน ซานโช่ คือนักเตะที่โซลชาร์ต้องการที่สุดในซัมเมอร์นี้ ดีลนี้ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะทางโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ออกมายืนกรานตั้งแต่วันแรกที่ตลาดเปิดว่า พวกเขาพร้อมขายซานโช่หากได้ตัวเลขที่ 108 ล้านปอนด์
[caption id="attachment_27734" align="aligncenter" width="3000"] บอร์ดบริหารของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด[/caption]แน่นอนว่าท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยูไนเต็ดดูจะระวังเรื่องการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก หลายคนมักจะพูดว่าหากเป็นสถานการณ์ปกติ ซานโช่อาจได้ย้ายมาถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ดก่อนดอนนี ฟาน เดอ เบ็ค ด้วยซ้ำ ถึงกระนั้นเชื่อว่าแฟนบอลยูไนเต็ดส่วนใหญ่ต่างเข้าใจเหตุผลที่ทีมไม่ยอมทุ่มครั้งนี้ดี แม้ยูไนเต็ดจะได้เอดิสัน คาวานี และอเล็กซ์ เตลเลส แบ็กซ้ายปอร์โต้ มาเสริมทีมแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่จัดจ์ทำให้แฟน ๆ ยูไนเต็ดเคืองเป็นอย่างมาก คือการบริหารจัดการที่เข้าขั้นแย่และไร้ความเด็ดขาดของเขา หลายคนมองว่าจัดจ์น่าจะทำได้ดีกว่าการซื้อตัวเพราะกลัวโดนแฟนบอลด่า หรือที่เรียกกันว่า ‘panic buy’
ทั้งหมดเหมือนเป็นตัวอย่างความไม่เข้าท่าของทีมปีศาจแดงที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังสะสมมานานภายใต้ยุคสมัยของวู้ดเวิร์ด ก่อนหน้านี้มูรินโญเคยออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งว่า “ปัญหาที่แท้จริงของสโมสรยังคงอยู่” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการโจมตีวู้ดเวิร์ดกับการบริหารงานของเขาทางอ้อม แต่สำหรับกรณี ฟาน กัล เขาเลือกที่จะยุติความกำกวมในบทสัมภาษณ์ของมูรินโญ ด้วยการออกมาโจมตีวู้ดเวิร์ดว่าเป็นพวกไม่รู้เรื่องฟุตบอลเลยสักนิด และเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความตกต่ำของทีม
“สมัยที่ผมคุมบาเยิร์น มิวนิค ที่นั่นจะมีคนที่ดูแลด้านกีฬาที่เขาโตมาพร้อมกับฟุตบอล แต่ที่ยูไนเต็ด เอ็ด วู้ดเวิร์ด ในฐานะซีอีโอ เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเป็นศูนย์ นั่นเพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะเขาเคยเป็นนายธนาคารกับนักลงทุนมาก่อนไง นั่นทำให้ทีมถูกขับเคลื่อนด้วยด้านธุรกิจอย่างเดียว”
กลับกันด้าน ปาทริซ เอฟร่า อดีตแบ็กซ้ายตำนานของทีมเคยออกมาให้สัมภาษณ์สวนกระแสทำนองว่า ปัญหาหลัก ๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัววู้ดเวิร์ด แต่เป็นความเชื่อใจผิด ๆ ที่วู้ดเวิร์ดมอบให้คนคนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าเอฟร่าพยายามจะบอกใบ้ว่าเป็นจัดจ์
"ปัญหาเดียวที่ผมสามารถพูดได้ก็คือ เอ็ด (วู้ดเวิร์ด) เชื่อใจคนที่ไม่สมควรเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้น คนคนนั้นยังเป็นคนนอกที่ไม่ควรจะเชื่อใจอย่างยิ่ง”
แม้ตระกูลเกลเซอร์จะถูกขนานนามว่าเป็น ‘ปลิงมะกัน’ ที่เอาแต่คอยสูบเงินของทีม หรือ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ที่มักจะถูกตั้งคำถามถึงการตัดสินใจหลาย ๆ อย่าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จัดจ์คือคนที่ทำให้แฟนบอลยูไนเต็ดกระวนกระวายใจที่สุดในซัมเมอร์นี้ ลองคิดดูว่าหากคุณมีโต้โผทีมเจรจาที่มักจะมองเรื่องของฟุตบอลเป็นตัวเลขหรือธุรกิจ สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นดังที่เห็นในปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘ผลประกอบการดี ตัวเลขสวย แต่ฟอร์มทีมห่วยแตก’
อย่างไรก็ตามตระกูลเกลเซอร์ ดูจะแฮปปี้กับผลงานของจัดจ์ เป็นอย่างมาก แม้จัดจ์จะไม่สามารถหานักเตะมาช่วยยกระดับทีมได้ แต่เขาก็ทำงานหนักจนวันสุดท้ายของตลาดและช่วยรักษาเงินในกระเป๋าตังค์ของเกลเซอร์ได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เราเห็นว่ายูไนเต็ดเน้นการบริหารทีมฟุตบอลโดยใช้ทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุน มากกว่าจะเป็นคนที่มีประสบกาณ์ด้านฟุตบอลมากกว่าอยู่แล้ว