05 ต.ค. 2563 | 19:30 น.
ภาพจาก หยุด แสงอุทัย. คำบรรยายประมวลกฎหมายอาญา. พระนคร: ดวงดาว, 2500.
หยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย (8 เมษายน 2451 – 30 ธันวาคม 2522) เป็นนักกฎหมายชื่อดังที่ฝากผลงานไว้ในบรรณพิภพเป็นจำนวนมาก อย่างยากที่จะหานักกฎหมายผู้ใดจะเขียนตำราได้กว้างขวางและหลากหลายถึงเพียงนี้ได้ อาจารย์หยุดจบจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ใน พ.ศ. 2468 จากนั้นใช้ทุนส่วนตัวไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี จนสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ใน พ.ศ. 2479 โดยได้รับความชมเชยอย่างมาก (MAGNA CUM LAUDE) เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา อาจารย์หยุดเริ่มทำงานที่กรมร่างกฎหมายใน พ.ศ. 2480 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ตามลำดับ จนที่สุดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2496 นอกจากนี้ อาจารย์หยุดยังเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จนถึงช่วงท้ายของชีวิตอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เขายังแต่งตำราทางกฎหมายไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ ตำราของอาจารย์หยุดนับเป็นยุคบุกเบิกของการเขียนคำอธิบายกฎหมายจากฐานทางทฤษฎี ไม่ใช่การอธิบายจากคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้ อาจารย์หยุดยังซื้อหนังสือและตำราต่างๆ ด้วยเงินส่วนตัวเข้าห้องสมุดเป็นจำนวนมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า ชีวิตของอาจารย์หยุดวนเวียนอยู่กับการซื้อหนังสือ อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ น่าเสียดายที่ต่อมาหนังสือเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หายไป โดยที่หนังสือของอาจารย์หยุดหายไป ‘ล็อตใหญ่’ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะห้องทำงานของท่านถูกรื้อกระจุยเลยทีเดียว“สะสมอาวธปืนไว้มาก ... เพราะชอบเล่นปืนและสะสมมานานแล้ว”
6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการเข่นฆ่าผู้คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพื้นที่โดยรอบแล้ว ห้องหับต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยยังถูกรื้อค้นเพื่อหาหลักฐานเอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกด้วย และหนึ่งในสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพบในห้องทำงานของอาจารย์หยุด นอกจากมวลมหาหนังสือแล้ว นั่นคือ อาวุธปืน อาจารย์หยุดมีงานอดิเรกเป็นการสะสมปืน “ชอบเล่นปืนและสะสมมานานแล้ว” จึงมีอาวุธปืนเก็บไว้ในห้องทำงานที่ชั้น 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นห้องพักรวมของอาจารย์หลายคน อาจารย์หยุดเคยเล่าไว้ว่า ในห้องดังกล่าวได้นำตำรากฎหมายและทรัพย์สินส่วนตัวเก็บไว้หลายอย่าง “โดยหนังสือได้เก็บไว้บนชั้น ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่นได้นำเก็บไว้ที่ลิ้นชักโต๊ะทำงานของข้าฯ ซึ่งแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้เรียบร้อย” ทั้งนี้มาจากเหตุผลที่ว่า “เนื่องจากข้าฯ เกรงว่าจะเกิดเพลิงไหม้ที่บ้าน เพราะเพลิงเคยไหม้ใกล้บ้านพักมาสองสามครั้งแล้ว กลัวว่าจะหนีไม่ทัน” โดยอาวุธปืน 15 กระบอก ที่พบในห้องทำงานของอาจารย์หยุด ได้แก่ 1. ปืนลูกกรดยี่ห้อเบรานิงขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก 2. ปืนลูกกรดยี่ห้อไฮสแตนดาร์ทมีด้ามท่อขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก 3. ปืนลูกกรดใช้แกสขนาด .177 หรือ .22 จำนวน 1 กระบอก 4. ปืนรีวอลเวอร์คอล์ไดมอนแบลคขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก 5. ปืนรีวอลเวอร์คอลไดมอนแบล็คขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก 6. ปืนโอโตเมติควอลเธอร์ขนาด 9 มม. จำนวน 2 กระบอก 7. ปืนรีวอลเวอร์ยี่ห้อจำไม่ได้ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก นอกจากนี้ยังมีปืนรีวอลเวอร์และปืนโอโตเมติคจำยี่ห้อไม่ได้อีกประมาณ 7 กระบอกห้องทำงานของอาจารย์หยุด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519
เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สงบลงแล้ว อาจารย์หยุดพบว่า “ลิ้นชักโต๊ะทำงานดังกล่าวแล้วมีรอยงัดด้วยชะแลงเปิดออกได้โดยไม่ต้องไขกุญแจ และทรัพย์สินต่างๆ ที่เก็บไว้ได้หายไปหมด" อาจารย์สมยศ เชื้อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับอาวุธปืนของอาจารย์หยุดไว้ว่า “นี่เป็นการเมือง สิ่งที่เป็นความชอบของท่าน ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นหลักฐาน เพื่อมาโจมตีนักศึกษา ที่ผมบอกว่า ร้องไห้ไม่ได้ หัวเราะไม่ออก คือ เอาสิ่งที่ท่านมีความชอบเป็นงานอดิเรก มาทำลาย...” ข้อมูลอ้างอิง •ภาพอาจารย์หยุด [https://www.facebook.com/criminallawandjurisprudence/photos/a.851033228326464/2152876724808768/] •วิดีทัศน์ประวัติอาจารย์หยุด [https://www.facebook.com/Thammasatlaw/videos/608485772895910] •คำให้การของนายหยุด แสงอุทัย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2519 [https://doct6.com/archives/1892?fbclid=IwAR1m4z7WQ37C8YZJy_1CFWxoeBo3IIC5hQlhxaRHZIfTvkxtonM7P2BaJYU] •สภาพธรรมศาสตร์หลัง 6 ตุลา [https://doct6.com/archives/2015] เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร