รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม

รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม

‘หญิงไทยเป็นผู้ไร้อิสระที่จะปกครองตนเอง เมื่ออยู่ในฐานะลูกสาว ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพ่อแม่เรื่อยมาจนมีครอบครัว พออยู่ในฐานะเมียและแม่ ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของสามี’

กุลสตรีในความหมายที่คนในสังคมไทยมองเห็นตรงกันต้องเป็นผู้หญิงแบบไหน ? อ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย เย็บปักถักร้อยได้ ทำกับข้าวเป็น แต่ถ้าเป็นผู้หญิงทโมน ผู้หญิงทำงานเก่งที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ผู้หญิงพูดจาตรงไปตรงมา หรือแต่งตัวอวดเนื้อหนังชวนให้คิ้วกระตุกจะเรียกว่าเป็นผู้หญิงแบบไหน ? ผู้หญิงหยำฉ่า หญิงที่ไม่เป็นกุลสตรี หรือผู้หญิงที่ไม่มีผู้ชายคนไหนอยากครอบครอง ชวนให้รู้สึกสงสัยว่า แล้วทำไมการเป็นตัวเองของสตรีบางคนที่ไม่ถูกใจใครหลายคนจึงต้องถูกสังคมตัดหางปล่อยวัด” ไม่นานมานี้เราได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของหญิงไทยสมัยก่อนในกระบวนการยุติธรรม หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ จากวิทยานิพนธ์ของ ภาวิณี บุนนาค เรื่อง ‘ผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ : ศึกษาจากคดีความและฎีกา’ ที่ทำให้เห็นภาพชีวิตของหญิงไทยในสมัยก่อนได้มากขึ้น โดยมองจากคดีความ การฟ้องร้องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นข้อพิพาทเรื่องการข่มขืน ข้าราชการผู้เป็นตัวแทนกษัตริย์แต่กลับกดขี่ทางเพศชาวบ้าน การร้องทุกข์ของลูกจ้างหญิงที่ต้องสู้กับนายจ้างเพราะถูกทำร้ายร่างกาย การล่อลวงหญิงไปเป็นโสเภณี ความต่างของหญิงชนชั้นสูงกับหญิงชาวบ้านเมื่อเกิดการฟ้องร้อง ไปจนถึงเรื่องทรัพย์สินระหว่างชายหญิงทั้งพี่น้องและคู่สมรส ที่ไม่ว่ากรณีไหนผู้หญิงก็มักต้องเหนื่อยอยู่ร่ำไป รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม ย้อนกลับไปยังสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4-6 สังคมไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการทำประเทศให้ทันสมัย เกิดการเลิกทาส เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมหลายอย่าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่าทำให้สตรีในแต่ละชนชั้นได้มีโอกาสหันกลับมามองตัวเอง ลงมือทำบางสิ่งตามความต้องการของตัวเองมากขึ้น ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ ได้หยิบยกคดีความน่าสนใจไว้มากมายที่ทำให้เห็นการต่อสู้ของสตรีไทย เมื่อ ‘อำแดงเหมือน’ เรียกร้องสิทธิในการเลือกคู่ครองเอง ‘อำแดงจั่น’ เรียกร้องสิทธิการเป็นเจ้าของร่างกายของตนเองเพื่อไม่ให้ถูกขายเป็นทาส ท่ามกลางค่านิยมชายเป็นใหญ่เข้มข้นที่ยอมรับการแต่งงานแบบ ผัวเดียวหลายเมีย (Polygamy) ซ้ำชายที่มีหลายเมียยังถูกเชิดชูและเพิ่มอำนาจทางสังคมการเมือง แต่หญิงหลายผัวกลับโดนตราหน้าด่าทอนินทา และยังคงกล่าวโทษว่าเพราะเป็นผู้หญิงไม่ดีอยู่ถึงได้โดนล่อลวงหรือล่วงละเมิด สวนทางกับการทำประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตกอยู่มาก

‘การมีภรรยาหลายคนเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับฉันเองนั้นจะทำใจยอมรับประเพณีนี้ไม่ได้

หากเรารักผู้ชายคนหนึ่ง แล้วจะแบ่งปันให้ใครอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว

- บันทึกของหม่อมเจ้าหญิงฤดีวรรณ สตรีผู้ปฏิเสธชายที่ญาติผู้ใหญ่อยากให้หมั้นหมาย

และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระชายาหลายพระองค์

เมื่อเกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศ คนสมัยก่อนจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย หรือเป็นการใช้กำลังข่มเหงกันจริง ๆ ? มีกรณีน่าสนใจหนึ่งที่ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ ได้หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้พินิจพิเคราะห์อย่างกรณีของ ‘อำแดงเลียบ’ กับ ‘พระยามนตรีสุริยวงศ์’ ในปี 2441 หลังการอ้างว่าอำแดงเลียบถูกล่วงละเมิดแต่เธอไม่ยอมบอกใครนานกว่า 3 วัน เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงปล่อยให้เวลาผ่านไปนานขนาดนี้กว่าจะมาแจ้งความ เพียงเพราะเหยื่อไม่ได้แสดงอาการเสียใจด้วยการร้องไห้ คร่ำครวญ หรือรีบบอกใครทันที ส่วนทางฝั่งจำเลยหยิบยกประเด็นความไม่น่าเชื่อถือของหญิงสาวมากล่าวในชั้นศาลว่า อำแดงเลียบเป็นผู้หญิงที่เคยหนีตามผู้ชาย มิได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของโจทก์ หากมองในมุมมองปัจจุบัน การมีชื่อเสียหรือคบชายใดแล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทารุณที่กำลังพิจารณาคดีกันอยู่เลยแม้แต่น้อย รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม ประเด็นการล่อลวงผู้หญิงให้เป็นโสเภณีก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อถูกหลอกหรือบังคับข่มขู่ให้ขายบริการทางเพศ ด้วยกฎหมายบ้านเมืองที่ทันสมัยขึ้นทำให้หญิงสาวที่ถูกหลอกจำนวนไม่น้อยตัดสินใจฟ้องนายจ้างตัวเอง จากเดิมที่หญิงไร้อำนาจถูกกดขี่แต่เดิมพวกเธอทำได้เพียงแค่หลบหนีอย่างเดียว ทว่าเกือบแทบทุกคดีของการล่อให้ผู้หญิงเป็นโสเภณีมักจบลงด้วยการยอมความ เหตุผลของการยอมความมีหลายอย่างทั้งเรื่องการเสียเวลาเสียเงินมาขึ้นศาล มุมมองของคนในสังคมที่ไม่ได้มองว่าอาชีพนี้ดีอยู่แล้ว รวมถึงการสันนิษฐานของรัชกาลที่ 5 ที่สอดคล้องกับรายงานการสอบสวนส่วนใหญ่ที่ลงความเห็นว่าหญิงสาวพวกนี้มักมีนิสัยชอบเที่ยวกลางคืน คบผู้ชายหลายคน ไม่ได้เป็นกุลสตรีตามกรอบจารีตเท่าไรนัก จึงไม่แปลกที่จะโดนล่อลวงมาทำงานค้าบริการทางเพศเพราะผู้ถูกล่อลวงมาทำสัญญามักไม่ใช่ผู้หญิงที่ดี

“เมื่อว่าตามความจริง คนซึ่งไม่ได้ซุกซนอยู่ก่อน

จะถูกหลอกลวงได้ก็จะเป็นรายน้อย ผู้ซึ่งถูกหลอกลวงก็มักจะเป็นคนที่ไม่ดีมาแล้ว”

- พระราชกระแสของรัชกาลที่ 5

ในหน้าประวัติศาสตร์มีคดีข้าราชการกดขี่ทางเพศชาวบ้านหลายคดีด้วยกัน ข้าราชการเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของกษัตริย์ พวกเขาจึงใช้อำนาจที่ตัวเองมีเวลาเดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ข่มขืน กระทำชำเราผู้อื่น เพราะโครงสร้างการจัดระเบียบสังคมและค่านิยมของสังคมไทยที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกันมา ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ชนชั้นสูงกว่าใช้อำนาจกดขี่ชนชั้นผู้น้อยได้ตามความต้องการของตัวเอง เมื่อข้าราชการทำความผิดจนเรื่องแดงไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน ในหลายกรณีกษัตริย์รับสั่งให้สอบสวนอย่างจริงจังเร่งด่วน ทว่าบางกรณีจำเลยที่เป็นข้าราชการมักได้ลดโทษเพราะมีความดีความชอบ แม้ว่ามีการบังคับใช้กฎหมายสมัยใหม่ที่ให้สิทธิแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกันแล้วก็ตาม รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม นอกจากข้าราชการที่สามารถเปลี่ยนผิดเป็นไม่ผิด เหล่าชนชั้นสูงและสมาชิกราชวงศ์ที่ทำความผิดหลายคนได้รับการปล่อยผ่านเช่นกัน ดังกรณีของ ‘อำแดงเนย’ ลูกจ้างรับใช้ของ ‘ท้าววรจันทร์’ (เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ 4) สั่งให้บ่าวเฆี่ยนตีอำแดงเนยที่กำลังตั้งท้องจนเนื้อตัวมีแต่บาดแผลอาการสาหัส สุดท้ายอำแดงเนยตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว การพิจารณาคดีครั้งนี้ เสนาบดีกระทรวงวังให้ความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีความแก่ท้าววรจันทร์แม้มีความผิดตามคำพิพากษาด้วยเหตุผล ‘ท้าววรจันทร์คงเสียเปรียบแลจะเป็นที่อัปยศอดอายแลเสื่อมเสียเกียรติ’ ที่อาจนำไปสู่การเสื่อมเสียพระบรมราชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ซ้ำรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชกระแสว่า “ท้าววรจันทร์รับราชการมานาน เป็นผู้มีบำเหน็จบำนาญ ให้ยกโทษจำเสีย นอกนั้นให้ทำตามพิพากษา” คดีความนี้จึงจบลงด้วยการให้บ่าวที่เฆี่ยนอำแดงเนยจนตายรับโทษจำคุก 2 ปี ส่วนท้าววรจันทร์ถูกปรับ 425 บาท บางทีเกียรติยศก็ควรค่าแก่การรักษาไว้มากกว่าชีวิตของมนุษย์ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ ได้ยกคดีความน้อยใหญ่อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของหญิงสาวที่แปรเปลี่ยน ตั้งแต่หญิงสูงศักดิ์ไปจนถึงผู้หญิงที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่า หญิงชาววังหลายคนลอบออกจากวังเพราะอยากใช้ชีวิตภายนอก แต่งงานกับผู้ชายที่ตัวเองเลือก ชนชั้นสูงบางคนเลือกเรียนกฎหมายแทนการเรียนคหกรรมเพื่อเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทย หรือเวิร์คกิงวูแมนทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและฟ้องร้องสามีที่เกาะเธอกิน รักนวลสงวนสิทธิ์: สตรีไทยกับการอยู่ใต้เงาปิตาธิปไตยในสังคมสยาม

‘ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายชนชั้นสูงกับผู้หญิงชนชั้นต่ำไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชนชั้นสูงกับชายชนชั้นต่ำ ความสัมพันธ์นี้สามารถเป็นผลให้ทั้งสองถูกเฆี่ยนตีและจำคุกได้’

ส่วนทางฝั่งหญิงชนชั้นต่ำกว่าจำนวนมากเริ่มมองว่าตัวเองเป็น ‘ลูกจ้าง’ ไม่ใช่ ‘ทาส’ อีกต่อไป พวกเธอมีสิทธิเท่าเทียม เป็นมนุษย์ไม่ต่างกันเพียงแค่อยู่คนละสถานะเท่านั้น เพราะลูกจ้างทำงานด้วยการใช้ ‘แรงงาน’ แลกกับค่าตอบแทนเป็น ‘เงิน’ ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบศักดินาและคนในปกครองดั่งเก่า จึงทำให้เริ่มเกิดการฟ้องร้องอย่างที่เห็นบ่อยครั้งบนหน้าประวัติศาสตร์ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ ไม่ได้เล่าเรื่องของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมไทยบางอย่างที่หยั่งรากฝังลึกจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นระบบอุปถัมภ์ที่ยังคงอยู่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย เห็นการใช้อำนาจของกลุ่มเจ้านายในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เห็นค่านิยมแบบปิตาธิปไตยที่ในวันนี้ไม่ได้ไปไกลจากวันก่อนเท่าไรนัก เห็นการมองสังคมส่วนใหญ่ว่าโสเภณีเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยไร้เกียรติเหมือนเดิม เห็นการตีกรอบค่านิยมว่าสตรีที่ดีควรเป็นแบบไหน เราสามารถมองเห็นเรื่องราวทั้งหมดผ่านคดีความของเหล่าหญิงไทยที่เคารพสิทธิพึงมีของตัวเองในอดีต และทิ้งเรื่องราวเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ‘ไม่ว่าผู้หญิงจะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ดี ไพร่ หรือทาส ไม่ว่าจะอายุมากน้อยเท่าใด กฎหมายเก่าล้วนกำหนดให้สตรีต้องอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่นเสมอ’   ที่มา ภาวิณี บุนนาค. 2563. รักนวลสงวนสิทธิ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: มติชน   เรื่อง : ตรีนุช อิงคุทานนท์   #ThePeople #History #Matichonbook #ประวัติศาสตร์ #สิทธิสตรี #ความเท่าเทียม #รักนวลสงวนสิทธิ์ #ศิลปวัฒนธรรม