14 ต.ค. 2563 | 13:21 น.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงปี 1960s ถือเป็นยุคทองของ ‘บริทิช อินเวชัน’ (British Invasion-อิทธิพลของดนตรีอังกฤษ) ที่เข้ามายึดครองความนิยมจากคนอเมริกันทุกหมู่เหล่า และแน่นอนว่าหัวขบวนของปรากฏการณ์นี้ก็หนีไม่พ้นสี่หนุ่ม จอร์จ แฮร์ริสัน, จอห์น เลนนอน, ริงโก สตาร์ และ พอล แม็คคาร์ตนีย์ แห่งวง The Beatles (เดอะ บีเทิลส์)
ความสำเร็จของ The Beatles กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีโลก และเป็นเหมือนหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีดนตรีอะไรที่มากกว่าแค่ ร็อกแอนด์โรลล์ แจ๊ส หรือคลาสสิก ย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้นคงไม่มีใครเชื่อแน่ ๆ หากจะบอกว่าวงมหาชนที่ทุกคนรักวงนี้ วันหนึ่งจะตกเป็นจำเลยของสังคม และเต็มไปด้วยคนเกลียดชัง
ย้อนกลับไปในช่วงปลายฤดูร้อนปี 1966 ความนิยมของ The Beatles ในสหรัฐอเมริกาที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน จู่ ๆ ก็มีวันที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจอห์น เลนนอน สมาชิกคนสำคัญของ The Beatles ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยเผลอไปพูดประโยคที่เปรียบเทียบความสำเร็จของพวกเขากับศาสดาของศาสนาคริสต์อย่างพระเยซู ในทำนองที่ว่า “The Beatles นั้นเป็นที่นิยมมากกว่าพระเยซูแล้ว”
เดือนกุมภาพันธ์ปี 1966 มอรีน คลีฟ นักข่าวที่มีความสนิทสนมกับ The Beatles ได้นัดสมาชิกทั้งสี่สัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนบทความชื่อ “How Does a Beatle Live?” ที่จะลงในหนังสือพิมพ์ London Evening Standard ในเดือนมีนาคมโดยเนื้อหาของบทความจะเป็นการสัมภาษณ์สมาชิกในวงเป็นรายบุคคลถึงเรื่องไลฟ์สไตล์และปรัชญาการใช้ชีวิตของพวกเขา
[caption id="attachment_27946" align="aligncenter" width="611"] จอห์น เลนนอน[/caption]วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 1966 คลีฟได้เดินทางไปที่บ้านของเลนนอนในเคนวูด ก่อนที่ทั้งคู่จะนั่งพูดคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง เลนนอนเริ่มเล่าให้คลีฟฟังถึงวิถีการค้นหาความหมายของชีวิต ดนตรีอินเดียที่เขากำลังหลงใหล และยังเผยอีกว่าเขาได้ความรู้ส่วนใหญ่มาจากการอ่านหนังสือ จากบรรดาทรัพย์สินมากมายของเลนนอนในคฤหาสน์หลังโต คลีฟได้พบกับไม้กางเขนที่แสดงถึงพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า รวมไปถึงชุดกอริลลา ชุดเกราะยุคกลาง และห้องสมุดที่มีการจัดระเบียบอย่างดี และเต็มไปด้วยหนังสือของ โจนาธาน สวิฟต์, จอร์จออร์เวลล์หรืออัลดัสฮักซลีย์
หลังเดินเล่นอยู่ที่นั่นไม่นาน คลีฟก็ไปสะดุดตากับหนังสือที่ชื่อว่า The Passover Plot ของ ฮิวจ์ เจ. สโคนฟิลด์ หนึ่งในหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเลนนอนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ย้อนกลับไปในยุค 60s ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงที่เลนนอนกำลังเริ่มสนใจในเรื่องของศาสนา เขาให้ความสนใจและอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาหลาย ๆ เล่ม คลีฟรู้ดีว่าเลนนอนกำลังอินกับเรื่องราวแบบนี้ เธอจึงไม่รอช้าที่จะถามความเห็นของเลนนอนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ที่เปลี่ยนแปลงไป
“ศาสนาคริสต์จะหายไป มันจะจางลงและหดตัว ผมไม่จำเป็นต้องเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมรู้ตัวว่าตัวเองถูก และผมจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผมพูดมันถูก ตอนนี้เรา (The Beatles) ได้รับความนิยมมากกว่าพระเยซูแล้ว ผมไม่รู้ว่าอะไรจะไปก่อนกันระหว่างร็อกแอนด์โรลล์ กับศาสนาคริสต์ พระเยซูเจ้าถูกเสมอ แต่เหล่าสาวกของพระองค์นั่นแหละที่โง่เขลาและธรรมดาเกินไป พวกเขาบิดเบือนทุกอย่างและทำลายความเชื่อของผมไปหมดสิ้น” เลนนอนเล่า
[caption id="attachment_27945" align="aligncenter" width="1534"] The Beatles ระหว่างออกทัวร์ที่สหรัฐฯ[/caption]เดือนมีนาคม ปี 1966 หลังจากที่หนังสือพิมพ์ London Evening Standard ได้เผยแพร่บทความของคลีฟไปทั่วประเทศ แม้หลายคนจะแอบตั้งคำถามเกี่ยวกับความเห็นของเลนนอนในครั้งนี้ แต่สุดท้ายเลนนอนก็ไม่ได้ถูกทัวร์ลงแต่อย่างใด เลนนอนและ The Beatles มางานเข้าของจริงก็ตอนที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำเพื่อลงนิตยสาร Datebook ของอเมริกา และเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม ปี 1966
คราวนี้บทความดังกล่าวถูกกระจายออกไปเป็นวงกว้าง และสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชาวคริสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ถูกพาดพิงโดยตรงอย่างวาติกัน เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นกระแสสังคมอย่างหนัก จนหลายสถานีวิทยุในสหรัฐฯ ออกมาแบนผลงานเพลงของ The Beatles นอกจากนี้แฟนเพลงที่ไม่เห็นด้วยหลายคนถึงขั้นเผาผลงานของ The Beatles เพื่อเป็นการประท้วงต่อสิ่งที่เลนนอนพูดอีกด้วย
แม้สุดท้าย เลนนอนจะออกมาขอโทษและแก้ตัวว่านี่เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดความโกรธแค้นของเหล่าผู้เคร่งศาสนาได้
[caption id="attachment_27944" align="aligncenter" width="968"] แฟน ๆ ออกมาระบายอารมณ์ด้วยการทำลายแผ่นเสียงของวง[/caption]11 สิงหาคม 1966 หนึ่งเดือนให้หลัง The Beatles มีคิวเดินทางมาชิคาโกเพื่อทัวร์คอนเสิร์ตและพบกับสื่อมวลชนอเมริกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเรื่อง แน่นอนว่าในวันนั้นทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่เลนนอน และสิ่งที่กำลังจะออกจากปากของเขา เลนนอนให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้ต่อต้านพระเจ้า ต่อต้านพระเยซู หรือเป็นคนที่ต่อต้านศาสนา เขาเพียงต้องการจะสะท้อนให้เห็นว่าคริสต์ศาสนากำลังเสื่อมสลายลงทุกวัน
“ถ้าผมพูดไปว่าโทรทัศน์ได้รับความนิยมมากกว่าพระเจ้า ผมอาจจะต้องหนีไปเลย ผมแค่พูดว่ามันมีอิทธิพลต่อเด็ก ๆ และสิ่งอื่น ๆ มากกว่าอะไรทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงพระเจ้าด้วย ผมแค่ชี้ให้เห็นว่า ในตอนนั้นเรามีความหมายกับเด็ก ๆ มากกว่าพระเจ้าหรือศาสนา ผมไม่ได้จงใจทำลายหรืออะไรเลย ผมแค่พูดถึงข้อเท็จจริง มันจริงนี่ ยิ่งที่อังกฤษแล้วมันมากกว่าที่นี่อีก ผมไม่ได้พูดว่าเราดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า หรือแม้กระทั่งเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับพระเจ้า”
ความเห็นทางด้านศาสนาถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับสังคมมนุษย์ การดูถูกหรือแสดงความคิดเห็นในเชิงโจมตีความเชื่อของคน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปมักจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง เลนนอนเองก็คงไม่คิดว่าความเห็นของเขาในวันนั้นจะสร้างความเกลียดชังได้มากเท่านี้ และเช่นเดียวกัน เขาก็คงไม่คิดว่าความเห็นนั้นจะสร้างความไม่พอใจให้แฟนคลับของเขาอย่าง เดวิด มาร์ก แชปแมน ที่สุดท้ายตัดสินใจหันปากกระบอกปืนยิงมาที่เขา จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา
[caption id="attachment_27943" align="aligncenter" width="276"] หนังสือที่พา The Beatles ทัวร์ลง[/caption]ป.ล. กว่าจะยกโทษให้ก็เกือบ 50 ปี! ในปี 2010 หนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการของวาติกันอย่าง L’Osservatore Romano ได้ตีพิมพ์เรื่องราวที่ยกย่องวง The Beatles และให้อภัยกับความคิดเห็นที่เลนนอนเคยพูดไว้เมื่อปี 1966