จุ้ยไซ แซ่ซิ้ม สูตรลับ “ตะขาบ 5 ตัว” ยาอมที่ยืนยงมาเกือบร้อยปี
ไอค่อกแค่ก เจ็บคอ หลายคนอาจนึกถึง “ยาอมแก้ไอ ตราตะขาบ 5 ตัว” ที่แม้จะยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วกว่า 80 ปี แต่ยาสมุนไพรที่เกิดจากฝีมือการปรุงของ จุ้ยไซ แซ่ซิ้ม ก็ยังครองใจตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ย้อนไปเมื่อราว 90 ปีก่อน ในยุคที่ชาวจีนอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาตั้งรกรากที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก จุ้ยไซก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเลือกลงหลักปักฐานที่บางคล้า ฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และใช้ความรู้เรื่องสมุนไพรจากการเป็นผู้ช่วยหมอปรุงยาที่เมืองจีนมาทำยาอมแก้ไอ ยาขม ยาหอม ยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวเอง รวมทั้งแจกจ่ายญาติ ๆ และคนในหมู่บ้าน
เมื่อย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ทำงานรับจ้างแบกหาม จุ้ยไซก็ไม่ทิ้งความรู้เรื่องยาที่มี หลังจากกลับบ้านพักผ่อนเอาแรง จุ้ยไซก็จะปรุงยาต่าง ๆ แล้วนำไปฝากขายตามร้านขายยา เป็นการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวอีกทางหนึ่ง แม้ยาของจุ้ยไซจะใช้รักษาอาการป่วยได้ผลชะงัด แต่ก็มีร้านขายยาหลายร้านที่ไม่ยอมรับฝากขายยาของเขา จุ้ยไซจึงจ้างคนไปโฆษณาขายยาตามหนังกลางแปลง คนจึงรู้จักยาของเขามากขึ้น ส่งผลให้ร้านขายยาร้านอื่น ๆ เริ่มนำยาของจุ้ยไซไปวางขาย
ทุกอย่างเหมือนจะเริ่มไปได้สวย แต่แล้วก็ต้องสะดุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จุ้ยไซและภรรยาจึงย้ายไปอยู่พระประแดง จนปี 2485 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ จุ้ยไซเห็นตะขาบหนีน้ำขึ้นมาเกาะฝาบ้าน จึงเกิดความคิดเอาตะขาบมาเป็นเครื่องหมายการค้า “คุณพ่อเห็นว่ามีตะขาบมาก และสังเกตว่าตะขาบนั้นมีลักษณะใหญ่ น่าเกรงขาม และมันก็มีความหมายดี เพราะคนจีนจะมีความคิดว่าเมื่อคนป่วยก็ย่อมจะมีพิษอยู่ในร่างกาย โดยมีหลักการว่าการรักษาจะเป็นการนำพิษไปล้างพิษ ซึ่งก็คือระบบเซรุ่มของยาแผนปัจจุบัน” สุเทพ สิมะวรา ประธานกรรมการ บริษัท ห้าตะขาบ (ซิมเทียนฮ้อ) จำกัด ลูกชายของจุ้ยไซ เคยให้สัมภาษณ์ไว้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ จุ้ยไซและครอบครัวกลับมาอาศัยที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เขาเปิดร้านขายยา และนำตะขาบมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าที่มีภาพของเขาอยู่ตรงกลาง ขนาบซ้ายขวาด้วยตะขาบข้างละตัว ก่อนที่ต่อมาจะปรับเครื่องหมายการค้าให้เป็นตะขาบ 5 ตัว อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับสมาชิก “สิมะวรา” แล้ว เลข 5 เกี่ยวพันกับครอบครัวอย่างใกล้ชิด ทั้งการเป็นเลขมงคลของชาวจีน รวมทั้งการที่จุ้ยไซมีภรรยา 5 คน มีลูกรวมกันทั้งหมด 10 คน แบ่งเป็นชาย 5 คน และหญิง 5 คน เป็นต้น
เมื่อจุ้ยไซเสียชีวิต ลูก ๆ ของเขาอย่างสุเทพและสุนทร ได้เข้ามารับช่วงต่อกิจการอย่างเต็มตัว ทั้งคู่เปลี่ยนจากการเป็นร้านขายยามาเป็นบริษัทผลิตยา ลงทุนกับการสร้างโรงงานที่นำเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ ลดการผลิตยาจาก 10 กว่ารายการ ให้เหลือเพียงยาขายดี 4 ตัว คือ ยาอมแก้ไอ ยากวาดมหาจักร์ ยาขมเม็ด และยาเม็ดเบอร์เจ็ด ซึ่งเป็นยาชูโรงของตราตะขาบ 5 ตัว เป็นยาที่สามารถใช้ได้ทุกวัย หาซื้อได้ง่าย และที่สำคัญคือราคาถูก ขณะเดียวกันก็ทำการตลาดเพื่อตอกย้ำความรับรู้ พร้อม ๆ กับการขยายฐานผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น
หลังรุ่น 2 ลงหลักปักฐานให้ตราตะขาบ 5 ตัวได้แล้ว ก็ถึงเวลาของ เมธา สิมะวรา ผู้เป็นรุ่น 3 ที่ต้องคิดหากลยุทธ์ให้สินค้าสามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในยุคที่ทุกธุรกิจต่างพากันหาจุดเด่นหรือจุดต่างเพื่อสร้างจุดขาย
เขาเริ่มจาก “ในบ้าน” ด้วยการเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพทุกส่วน ไล่ตั้งแต่ระบบจัดซื้อ การผลิต สต็อกสินค้า ฯลฯ จากนั้นก็ “รีแบรนดิ้ง” สลัดภาพจำแบบเดิม ๆ ที่คนส่วนใหญ่มีต่อตราตะขาบ 5 ตัวว่าเป็นสินค้าสำหรับคนแก่ทิ้งไป พร้อมสร้างความรับรู้ใหม่ว่าเป็นสินค้าที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ จากเดิมที่ยาอมสมุนไพรมีแค่รูปแบบซอง ฉีกออกมากินแล้วก็อาจเผลอทำหกได้ง่าย ก็เพิ่มทางเลือกด้วยการทำเป็นตลับรูปทรงเพรียวบางเพื่อให้พกพาสะดวก และออกรสชาติใหม่อย่างรสบ๊วย รสตะไคร้ และรสมินท์ เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า ทั้งยังร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนายาแก้ไอแบบสเปรย์พ่น เพื่อขยายฐานคนรุ่นใหม่และเตรียมบุกตลาดต่างประเทศ และจับมือกับแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่าง Greyhound นำโลโก้ตราตะขาบ 5 ตัวมาอยู่บนเสื้อ กระเป๋าผ้า หมวก ฯลฯ เป็นการพลิกความเก๋าให้เข้าถึงแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบกลิ่นอายอดีต
เมื่อไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะชาวจีน (ในบริบทก่อนเกิดโควิด-19) เมธาจึงปรับกลยุทธ์การตลาดเสียใหม่ จากเดิมที่มีวางขายในร้านขายยาและโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศอยู่แล้ว เขาก็เน้นการนำสินค้าเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และเสนอสินค้าเข้าไปขายในคิง เพาเวอร์ ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินคาด เขายังส่งสินค้าตราตะขาบ 5 ตัวไปขายในตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการจดเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนยาในต่างประเทศ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและความเชื่อมั่นของลูกค้า
“สูตรลับ” ของยาสมุนไพรตราตะขาบ 5 ตัว จึงไม่ได้อยู่ที่การปรุงยาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การปรับตัว การมีวิสัยทัศน์ และการพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สินค้าที่อายุเกือบ 100 ปี ยังคงเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง
ที่มา
https://www.thonburi-home.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538848108&Ntype=5
https://www.brandbuffet.in.th/2020/02/takabb-brand-strategy-for-sustainable/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862375