read
interview
14 ต.ค. 2563 | 17:20 น.
'จิระนันท์' ย้อนหน้าว่างในประวัติศาสตร์ '14 ตุลาฯ' และ คำสั่ง66/23 ยุคพล.อ.เปรม
Play
Loading...
The People สนทนากับ ‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ หรือ ‘สหายใบไม้’ หนึ่งในแกนนํานิสิตนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 หลังผ่านวันเวลามา 47 ปี ถึงยุคสมัยของการเคลื่อนไหวโดยคนรุ่นลูก ซึ่งบุตรชายคนเล็กของ ‘สหายใบไม้’ กับ ‘สหายไท’ หรืออาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ ก็ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองยุคนี้ด้วย
.
เสรีภาพในครอบครัว ทั้งเรื่องการเมืองและความรัก
ก่อนย้อนเวลากลับไปยุคที่คนรุ่นพ่อแม่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ‘วรรณสิงห์’ เล่าว่า
“บ้านนี้เป็นบ้านแห่งเสรีภาพมาตั้งแต่ผมเป็นเด็ก เรื่องการเมืองเราแทบจะถกกันในพื้นที่ที่เท่าเทียมกัน ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกัน ส่วนที่ไม่ตรงกันก็เถียงกันได้บนโต๊ะอาหาร ไม่เคยเห็นความพยายามจะมาครอบงําทางความคิดใด ๆ ของพ่อและแม่”
ส่วนเรื่องความรักและคู่ครองของลูก ‘คุณแม่จี๊ด’ บอกว่า
“แม่ให้เสรีภาพ เลือกเองรับเองนะ… เรื่องความรักเราเห็นหลายคู่เหมือนถูกกําหนดไว้แล้วโดยสถานะครอบครัว หรือสายอาชีพการงาน ซึ่งท้ายที่สุด คนสองคนอยู่ด้วยกันมันไม่ใช่เรื่องงานหรือเงินอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการแชร์พื้นที่ชีวิตและความคิดความรู้สึกร่วมกัน”
‘คุณแม่จี๊ด’ ย้อนเล่าถึงความรักของหนุ่มสาวที่ ‘เข้าป่า’ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่า
“มีการจัดระเบียบเพราะต้องใช้ชีวิตรวมหมู่ ภารกิจหลักคือการต่อสู้ ไม่ใช่เข้าไปหาคู่ ใครปิ๊งใครในป่าแล้วตกลงจะรักกัน ก็ต้องไปรายงานหัวหน้าหน่วยที่เราเรียกว่า ‘จัดตั้ง’ เป็นเชิงขออนุญาต เขาก็จะพิจารณาอันดับแรกว่าพื้นฐานทางชนชั้นเหมาะสมกันหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็ผ่านแหละ เพราะถือว่าเป็นนักปฏิวัติด้วยกัน แต่บางกรณีเป็นสหายนักศึกษากับสหายชาวนาชาวดอย มีช่องว่างเยอะที่เจ้าตัวยังไม่รู้สึก
“จัดตั้งก็จะคอยดูแลแก้ปัญหาเหมือนเป็นครูใหญ่ คือชีวิตนักปฏิวัติต้องการระเบียบวินัยสูง ต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน คิดอะไรก็ต้องทิศทางเดียวกัน ถ้ามีเรื่องจุกจิกกวนใจในหน่วยงานแล้วเมื่อไหร่มันจะชนะ...สมัยนั้นมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า คอมมิวนิสต์จับคนแก่ไปทําปุ๋ย นอนสามัคคี หรือบังคับจับคู่ให้ ซึ่งมันไม่ได้มีอะไรอย่างนั้นเลย เป็นความสมัครใจที่ผ่านการอนุมัติรับรองมากกว่า”
ถึงตอนนี้ ‘วรรณสิงห์’ แทรกมุกติดตลกว่า “ส่วนยุคนี้แค่โพสต์ IG ก็จบข่าว… จริง ๆ เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าเกิดดรามาหรือทะเลาะกัน ก็จะเสียกําลังแบบนี้หรือเปล่า” คุณแม่จี๊ดพยักหน้าแล้วบรรยายต่อ “มีอยู่เรื่องหนึ่ง ฟังแล้วจะรู้สึกแปลก ๆ คือ แนวทาง ‘3 ช้า’ ซึ่งเราใช้กันในป่า เหมือนเป็นการปรับทัศนคติ ถ้ายังไม่มีคู่รักก็อย่ารีบร้อน - ถ้ายังไม่แต่งงานก็แต่งช้าหน่อย - แต่งแล้วยังไม่มีลูกก็ชะลอไว้ก่อน
“เนื่องจากว่าทรัพยากรมีจํากัด ถ้าคิดแต่เรื่องส่วนตัวจะเลี้ยงดูกันไม่ไหว เช่น ใครจะแต่งงาน สหายคนอื่น ๆ ก็ต้องไปตัดไม้ไผ่แบกมาช่วยสร้างบ้านให้เขา แทนโรงนอนที่อยู่กันหลายคน ใครมีลูกเล็ก ๆ ก็ต้องจัดหาอาหารพิเศษจัดระบบงานให้ใหม่ ดังนั้น จึงต้องยึดหลักว่า ‘ส่วนรวม’ ต้องมาก่อน ‘ส่วนตัว’...”
‘วรรณสิงห์’ ฟังแล้วยิ้ม ปล่อยมุกปิดท้ายด้วยเรื่องความรักของตัวเองในช่วงนี้ว่า “งั้นถ้า…ราษฎรทวงคืนมารีญา ผมก็ต้องปล่อยคืนให้ราษฎร ใช่ไหมแม่”
ย้อนบรรยากาศการเมืองก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
จิระนันท์’ เล่าว่า “เราเข้าเป็นน้องใหม่จุฬาฯ ปี 2515 คณะวิทยาศาสตร์ คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันมักจะคิดว่า ยุคนั้นนักศึกษาเป็นกําลังหลักของคนเรือนแสนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็จริงในแง่ของกลุ่มแกนนำ แต่ถ้าพูดถึงสัดส่วนจำนวนคน นักศึกษาหัวก้าวหน้าคือคนส่วนน้อยในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ยังเป็นชนชั้นที่ลอยตัวอยู่เหนือสังคม ยึดติดค่านิยมเก่า ๆ เรียนจบไปเพื่อประกอบอาชีพ มีหน้ามีตาในวงราชการ มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไป
“มันถึงได้มีบทกวีประเภททักท้วงทวงถามถึงคุณค่าของการศึกษาและปริญญาบัตร กลุ่มที่สนใจปัญหาสังคมจะรวมตัวกันทํากิจกรรม ทั้งอนุรักษ์ธรรมชาติ ค่ายอาสาพัฒนาชนบท กลุ่มผู้หญิง กลุ่มวรรณศิลป์ทําหนังสือชื่อต่าง ๆ ขายกันหน้ามหาวิทยาลัยเล่มละ 5-10 บาท เป็นสื่อแสดงทัศนะเผยแพร่ความคิด เทียบราคาสมัยนั้น หนังสือพิมพ์รายวันฉบับละ 3 บาท
“ตอนปีหนึ่งเราถูกเลือกไปเป็นดาวจุฬาฯ คงเป็นเพราะทํากิจกรรมเยอะมากกว่าสวยนะ แต่ความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาจากตรัง ก็เกิดความรู้สึกว่า มหาวิทยาลัยในความคิดฝันเป็นคนละเรื่องกับความจริงที่ได้เจอ จึงออกอาการขบถหน่อย ๆ ไม่อยากยอมรับไปเสียทุกอย่าง นักศึกษาที่สนใจปัญหาบ้านเมืองแม้เป็นคนส่วนน้อยแต่ก็ไม่ได้แปลกแยกอะไรมากนัก ยังคุยสนุกกับเพื่อน ๆ ที่ไม่เหมือนเราได้ ไม่มีการแบ่งแยกตั้งป้อมเป็นศัตรูกัน ไม่ได้มองอีกฝ่ายหนึ่งว่ารุนแรงหรือล้าหลังอะไรแบบนั้น
“เราจับกลุ่มชวนกันอ่านหนังสือตั้งวงเสวนา นอกจากสังคมการเมือง ก็อ่านวรรณกรรม งานแปลแนวเพื่อชีวิต เป็นการเสริมสร้างโลกทัศน์และจิตสํานึก เมื่อมีแนวคิดใหม่ ๆ ก็เริ่มออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคปฏิบัติ เริ่มจากปลุกกระแสชาตินิยม เดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นปลายปี 2515 เพราะตอนนั้นไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นมหาศาล
“ต่อมา ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติประท้วงกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ฯ ทําให้โป๊ะแตกว่ามีข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่พาดาราสาวไปล่าสัตว์ป่า นักศึกษาก็ต่อต้านประท้วง จนเขยิบขึ้นเป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ คือเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการทหาร
“คนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นจนกลายเป็นเหตุการณ์
14 - 15 ตุลาคม 2516
… จริง ๆ ตัวเองก็ไม่ได้เป็นแกนนํา แต่ไปร่วมทุกครั้งและทําหน้าที่เป็นเลขานุการให้พี่ ๆ กรรมการศูนย์นิสิตฯ แล้วสื่อมวลชนสนใจเพราะเป็น ‘ดาวจุฬาฯ แนวใหม่’ ก็คงเหมือนนางงามพูดแหละ คนอื่นพูดประโยคเดียวกันแต่ไม่เป็นข่าว..”
คืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 : ในความมืดก่อนฟ้าสาง
“แต่มีหน้าว่างในประวัติศาสตร์ที่เราเข้าไปมีบทบาทเป็นแกนนํา คือคืนวันที่
14 ตุลาฯ
หลังจากกลางวันมีการยิงใส่ผู้คนบนถนนราชดําเนิน เกิดจลาจล เผากองสลาก เผาสถานีตํารวจ ข่าววิทยุของทางการเรียกพวกเราว่า ผู้ก่อการจลาจล ผู้ก่อการร้าย...
“ตอนเย็นเรากลับไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งใจจะสู้ไม่ถอยเหมือนคนอื่น ๆ ที่ยังอยู่กันตรงนั้น ปรากฏว่าแกนนํานักศึกษาหายไปหมด อาจารย์เสกสรรค์ที่ตอนนั้นเป็นแฟนกัน ก็นอนสลบหมดแรงอยู่บ้านเพื่อนหลังคุมขบวนมา 6 วันเต็ม
“ภาพที่เห็นคือคนวิ่งพล่านกระจัดกระจายเต็มถนน ทั้งคนที่ฟังข่าวแล้วโกรธต้องออกมาร่วมสู้ต่อ ทั้งสายลุยที่ยึดรถเมล์ไปขับวนโบกธงท้ารบ รื้อป้อมไฟจราจร มีคนพยายามจะเอาศพที่โดนยิงห่อผ้าขาวขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญด้วย นาทีนั้นความคิดของคนวัย 21-22 อย่างเราก็คือต้องทําให้ฝูงชนมารวมกันอย่างสงบก่อน เพราะค่ำมืดอาจจะโดนล้อมปราบหรือเกิดอะไรที่ช่วยกันไม่ได้
“ตกค่ำคนน้อยลงแต่หนาแน่นรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีใครมาตั้งโต๊ะต่อไฟเครื่องขยายเสียงอยู่ หันมาเรียกเรา แถมเอาสร้อยพระมาสวมคอให้ด้วย ก็เลยขึ้นไปยืนบนโต๊ะพูดกรอกไมค์ไปเรื่อย ๆ เรียกให้คนมารวมกันนิ่ง ๆ จะเคลื่อนไหวต่อยังไงก็ต้องไปด้วยกัน แล้วมีเพื่อน ๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อนเข้ามาช่วยกันประกาศตั้ง ‘ศูนย์ปวงชนชาวไทย’ เดี๋ยวนั้นเลย เพราะศูนย์นิสิตฯ ไม่รู้หายไปไหนแล้ว เราตั้งกลุ่มยื่นข้อเรียกร้องต่ออธิบดีกรมตํารวจ 4-5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ยุติการยิงและปิดล้อม เปิดทางให้คนกลับบ้านก่อนเช้า คือจริง ๆ ถ้าเปิดทาง คงจะมีคนเข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น แต่บอกเขาตรง ๆ ไม่ได้ ก็ต้องเล่นเกมนี้ไปก่อน
“เราไม่รู้หรอกว่าหน่วยไหนใครยิงลงมาจากยอดตึกรอบอนุสาวรีย์เสียงดังแป้ก ๆ เป็นระยะ แต่รู้ว่าช่วงนั้นตํารวจใหญ่มาก จึงต้องขอเจรจาผ่านช่องทางนั้น เรื่องรัฐธรรมนูญก็ขอเป็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ปีหน้าอย่างที่รัฐบาลแถลงแล้วเกิดจลาจลไม่ยอมรับ ตอนนั้นไม่รู้ว่านายกฯ และรองนายกฯ ซึ่งเป็นเป้าการโจมตีอยู่ที่ไหน เราจึงใส่ข้อเรียกร้องให้ลาออกและมีการเลือกตั้งทันที
“รายละเอียดของคืนวันที่
14 ตุลาฯ
แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เคยเขียนลงไทยรัฐร่วมกับคุณมณฑล เมธีวงศ์ เป็นสกู๊ปหลายตอนชื่อ ‘หยุดเข็มนาฬิกา’ สรุปความสั้น ๆ ตรงนี้ว่า
“ในความมืดที่มีเพียงไมโครโฟนอยู่ในมือ เราคิดเพียงว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์คับขันไปได้อย่างไร โดยไม่สูญเสียหรือแตกหนีแบบตัวใครตัวมัน เป็นเรื่องของยุทธวิธีที่จะต้องได้ผลภายในสามสี่ชั่วโมงก่อนฟ้าสว่าง ก็ช่วยกันคิดหลายวิธี
“วิธีหนึ่งที่ได้ผลอย่างน่าประหลาดใจ คือบอกให้ทุกคนลุกขึ้นยืนนิ่งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ปรากฏว่าได้ผล เสียงปืนก็ขาดหายไป อันนี้เป็นบทเรียนเล็ก ๆ ของคนที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ตรงนั้นแล้วทุกฝ่ายก็ร่วมมือด้วยดี ส่วนการเจรจากับตํารวจชั้นผู้ใหญ่ กว่าจะมีคนช่วยติดต่อให้ก็หลายชั่วโมง เรานั่งรถไปกับเพื่อนที่ก่อตั้งศูนย์ปวงชนฯ สองสามคน จะเจรจาได้เรื่องหรือไปติดกับโดนรวบก็ไม่รู้แล้ว จุดนัดพบคือโรงแรมย่านวรจักร-วังบูรพา ไปรอจนได้เจรจายื่นข้อเสนอ กว่าจะกลับมาที่อนุสาวรีย์ฯ ก็สายแดดจ้า มีข่าวออกมาว่าจอมพลถนอม จอมพลประภาส บินออกนอกประเทศไปแล้ว ก็ถือเป็นชัยชนะ
“ผู้คนมาชุมนุมโบกธงโห่ร้อง แต่เรากลับมา
(15 ตุลาคม 2516)
เห็นพวกผู้นําทั้งหลายที่หายหน้าทิ้งให้เราสู้ตายอยู่ทั้งคืน มายืนประกาศชัยชนะชูกําปั้นกันใหญ่ ไม่รู้เป็นเพราะเหนื่อยหรือโมโหจัด เราเป็นลมล้มตึงไปเลย ความทรงจำวันที่
14 - 15 ตุลาฯ
เลยจบเพียงแค่นั้น (หัวเราะ) ถูกอุ้มไปส่งโรงพยาบาลรามาฯ ตื่นขึ้นมา ทําแหวนที่แม่ให้ใส่ไว้ตลอดเวลาหายไปอีกต่างหาก ไม่มีใครขโมยหรอก ถอดลืมไว้ในห้องน้ำน่ะ
“นี่เล่าประสบการณ์จริงที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีสื่อใด ๆ เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายรูปทําข่าวในค่ําคืนนั้น จะเห็นว่าประวัติศาสตร์อาจมีหลายด้าน ด้านประสบการณ์ส่วนตัว ด้านฝักฝ่ายอุดมการณ์ ด้านสังคมวงกว้างทั่วไป และด้านที่มโนนึกกันขึ้นมาภายหลัง บางทีเรื่องเดียวก็มีความย้อนแย้งกันเอง จะเลือกหยิบจุดไหนมาใช้อย่างไร เราก็ต้องคํานึงว่ามีอีกหลายมิติ ต้องเปิดพื้นที่ให้เล่าและรับฟังกันก่อนสรุปว่า ภาพรวมและแก่นแท้คืออะไร
“สําหรับเราบอกได้อย่างมั่นใจเต็มที่ว่า พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาประชาชน ไม่มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังอย่างที่โดนสงสัยและกล่าวหา ยุคต่อ ๆ มาก็เชื่อมั่นว่าเป็นเช่นเดียวกัน”
4 ทศวรรษ สังคมเปลี่ยนไป ช่วงวัยเปลี่ยนตาม
‘จิระนันท์’ ออกตัวว่า “ถ้าพูดถึงยุคของเรามาถึงวันนี้ปี 2563 มันเท่ากับช่วงอายุของคนวัยกลางคนคนหนึ่ง ดูอย่าง ‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ ก็เกิดวันที่ 6 ตุลา 2519… นานจนทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เราตกรุ่นไปแล้ว ไม่กล้าวิเคราะห์อะไรมาก หากจะสรุปง่าย ๆ ว่า ประเทศไทยยังอยู่ในวังวนเดิม ‘นักการเมือง ทหาร รัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย’ ก็ถูกอยู่
“แต่รายละเอียดต่างกันเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านยุคโลกาภิวัตน์มาแล้ว และเทคโนโลยีที่มาถึงยุคสื่อดิจิทัลเรียลไทม์ ในขบวนต่อสู้ก็มีข้อแตกต่างทั้งประเด็นหลักประเด็นรองและวิธีการ
“นักศึกษารุ่นลูกหลานคงนึกไม่ออกว่า รุ่นป้าถ้าจะนัดชุมนุมในอีก 3 วัน เราต้องแถลงข่าวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ต้องเอาไปทําข่าวอีกวัน คนที่อยู่ต่างจังหวัดต้องรออีกวันกว่าจะได้อ่าน สปีดมันต่างกันมาก ทีวีวิทยุช่องหลัก ๆ เป็นของรัฐ หรือไม่ก็กลัวถูกสั่งปิด เลยต้องพึ่งสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ความที่ช่องทางสื่อสารมันจํากัด ก็จะถูกสกัดเหลือแต่เนื้อข่าว แม้จะขับเคลื่อนได้ช้า แต่ไม่มีเรื่องจุกจิกให้ไขว้เขวเหมือนยุคนี้ซึ่งใครจะสร้างข่าวปลอมหรือด่าแม่ใคร โพสต์ทีเดียวก็เห็นหมดทั้งประเทศ คือรุ่นเราต้องวางแผนเป็นขั้นตอน และอดทนใจเย็นกว่ายุคนี้ อยู่ดี ๆ จะนัด ‘แฟลชม็อบ’ พร้อมกันทั่วประเทศนี่เป็นไปไม่ได้เลย
“มีรุ่นน้องรุ่นลูกมาเรียกให้ไปร่วมชุมนุมการเมือง พอเราปฏิเสธก็หาว่าย้ายข้างสยบยอม เราบอกว่า ถ้ามีแต่คนรุ่นเก่าอย่างป้าออกมาจะได้พลังอะไร มันแสดงว่าคนรุ่นคุณไร้น้ำยาหรือไงถึงต้องมาคาดหวังเอากับคนแก่ เราอยากเห็นคุณนั่นแหละเป็นผู้นําเอง เพราะสังคมเปลี่ยนรุ่นผลัดยุคสมัย ความคิดก็เปลี่ยนไปตามเวลา นี่รอดูมาตั้งหลายปี...ตอนนี้เริ่มมีกระแสพลังคนรุ่นใหม่แล้ว
“คําว่า ‘จุดยืน’ ที่ใช้วัดว่าใครอยู่ฝั่งไหนในทางการเมืองก็มีปัญหาในตัวของมันเอง เพราะมัววัดกันที่สีเสื้อและการแสดงออกทางสื่อโซเชียลฯ ซึ่งไม่ใช่แนวถนัดของผู้คนอีกจํานวนมากที่มองเห็นปัญหา แต่ไม่อยากยุ่งกับฝ่ายไหนทั้งนั้น เราเองไม่เคยคิดจะพิสูจน์ตัวเองในกระแสแบบนี้ ขออยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่ทะเลาะด้วย ทําอะไรได้ก็ทําไป… 40 กว่าปี ชีวิต การงาน และผลงานมันเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่การย้ายจุดยืนไปอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะสองฟากฝั่งที่มีคนชอบสั่งให้เลือก เพิ่งเกิดมีเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง...
“หลายปีก่อนเคยไปเที่ยวเชียงใหม่ เจอครอบครัว 3 เจเนอเรชันเข้ามาทักทายแบบแฟนคลับทั้งบ้าน คุณยายรู้จักเราจาก 14 ตุลา 16 เล่าว่าเคยส่งเงินไปช่วยศูนย์นิสิตฯ คุณแม่ชอบอ่าน ‘ใบไม้ที่หายไป’ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกปี 2531 ส่วนคุณลูกเป็นเด็กมัธยมฯ เห็นชื่อจิระนันท์ขึ้นเครดิตท้ายในโรงหนัง ช่วงปี 2535-2545 นี่เขียนหนังสือเยอะ แปลหนังฮอลลีวูดเป็นร้อย ๆ เรื่อง ประกอบอาชีพเลี้ยงลูกตามความถนัด
“ระยะหลัง 10 ปีมานี้ สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากยุคบริโภคนิยมสุดขั้ว สู่ยุคที่เราขอเรียกว่า ‘บริภาษนิยม’ ในวงการที่เราอยู่ก็เกิดกระแสแบ่งแยกแตกขั้วการเมือง ประดิษฐ์ถ้อยคําด่ากันได้ทุกวัน เราไม่ชอบใจก็ถอยมาซุ่มอยู่อีกวงการ คือสายทัศนศิลป์ ซึ่งใช้ดวงตาแทนวาจา ก่อตั้งชมรมภาพถ่ายเพื่อสังคมและชุมชน ชื่อกลุ่มสหภาพ (Fotounited) พยายามดึงศิลปะภาพถ่ายออกจากวงการประกวดหรือแกลเลอรี มารับใช้การท่องเที่ยวชุมชน การอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือระดมทุนช่วยน้ำท่วม แผ่นดินไหว (เนปาล)
“สนับสนุนการประท้วงของชาวบ้าน ตั้งแต่ต่อต้านการตัดต้นไม้ใหญ่ริมทางหลวงสายน่าน-ท่าวังผา จนถึงคัดค้านเขื่อนแม่วงก์โครงการท่าเรือน้ำลึก-นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้... กระทั่งสายธรรมะกลุ่มสห+ภาพ ก็จัดทําหนังสือภาพปรัชญาสวย ๆ ให้สวนโมกข์กรุงเทพฯ และวัดชลประทานฯ ได้ใช้เผยแพร่ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้ใช้ภาพถ่ายทําประโยชน์ให้สังคมมากมาย ถือเป็นการพลิกวงการช่างภาพไทยก็ว่าได้
“อีกด้านที่ทุ่มเทคือเรื่องการศึกษาสาธารณะ เราทำงานให้ ‘มิวเซียมสยาม’ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นองค์การมหาชนของรัฐ โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลพรรคไหนใครจะมา เพราะต้องการใช้วิชาร่วมบุกเบิกแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคม ทําพิพิธภัณฑ์ใหม่ให้เป็นทางเลือกนอกตำราเรียน ซึ่งมีเนื้อหาแค่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์
"คือใคร ๆ ก็บ่นมานานเรื่องหลักสูตรการศึกษาไทยตกยุค เมื่อเห็นอย่างนี้เราก็ต้องลงมือทําในเรื่องที่สามารถทําได้
“เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมือง แต่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2 วาระ ตอนนี้ตําแหน่งที่ปรึกษา ได้ใช้ความถนัดช่วยจัดนิทรรศการต่าง ๆ แต่งเพลงหาศิลปินมาช่วยขับร้อง เช่น เพลง ‘กอดแม่วงก์’ (มาลีฮวนน่า) ล่าสุด เพิ่งแต่งเพลง ‘คนเฝ้าป่า’ ร่วมกับ ‘วงนั่งเล่น’ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าภารกิจสําคัญด้านการพิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มีคนจํานวนหนึ่งทําหน้าที่แทนเราอย่างเงียบ ๆ และพวกเขาต้องการกําลังใจหรือการสนับสนุน
“บางทีก็ขัดใจที่ตัวเองโดนจับภาพเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’ แช่แข็งไว้แบบนั้น ทั้งที่ได้ทําอะไรรับใช้สังคมอีกมากมายหลายรูปแบบ น้อยครั้งมากที่เรายอมคุยกับใครเรื่องจุดยืน เพราะรู้ว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหน ทำอะไร ไม่ได้ย้ายข้างไปสยบใคร และไม่จําเป็นต้องแก้ตัวกับใคร คือถ้าวนอยู่แค่อุดมการณ์ทางการเมือง ข้อกล่าวหามันจะแบบนั้นแหละ แต่พอหลุดออกมา หรือบางเรื่องขอเป็นแค่กองเชียร์แถวหลังที่ไม่ออกตัวแรง ชีวิตก็มีเวลาไปทําประโยชน์ได้มากกว่านั่งหน้าจอรอเสพสื่อหรือจับจ้องคนอื่น เคยดูหนังเรื่อง ‘เดอะ เรด ไวโอลิน’ มั้ย? ในจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แค่มีไวโอลินตัวเดียวก็โดนข้อหาชนชั้นนายทุนกระฎุมพีนิยมตะวันตก โดนรุมทึ้งถึงตายได้ ฉะนั้น ถ้าเรามาถามถึงจุดยืน ไม่ใช่เพื่อการสําแดงตัวตน แบ่งแยกหรือเข่นฆ่ากัน แต่เพื่อดูว่าจะรวมพลังสามัคคีกันได้หรือไม่ คําว่า ‘จุดยืน’จะขยายวงกว้างขึ้นอีกเยอะ”
คำสั่งที่ 66/23 ยุค พล.อ.เปรม จุดเปลี่ยนที่ได้จังหวะ
วิกฤตการเมืองหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่นับพันต้องย้ายเวทีการต่อสู้ไป ‘เข้าป่าจับอาวุธ’ ร่วมกับกองกําลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการรุกรบปะทะกันในหลายพื้นที่ โดยไร้วี่แววว่าจะยุติลงอย่างไร จนมีทางออกใหม่ในเวลาต่อมา สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือ ‘คําสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์’ โดยใช้การเมืองนําการทหาร เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าป่ากลับสู่เมือง (หลังจากนั้น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532)
‘จิระนันท์’ เล่าประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองพอรุนแรงจนถึงจุดวิกฤต เราก็มักมองไม่เห็นทางออก ยืนยันได้ว่า 99% ของนักศึกษาที่เข้าป่าจํานวน 2-3 พันคนทั่วประเทศ ไม่มีใครรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่าเป็นยังไง แต่เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พาไป บางคนถูกจับ พ่อแม่ประกันตัวออกมาก็หนีไปเข้าป่า ด้วยความคับแค้นที่เห็นเพื่อนกลายเป็นศพต่อหน้าต่อตา รวมทั้งมีอุดมการณ์จะยืนหยัดสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่อยู่แล้ว ตอนนั้นไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าไม่ใช่คนที่คอตกกลับเข้าห้องเรียนเลิกยุ่งการเมือง หรือคนที่ถูกทางบ้านส่งไปเรียนเมืองนอกให้พ้นไปจากบรรยากาศแบบนี้
“ตัวเราเข้าไปอยู่ในป่า 5-6 ปี ผ่านหลายเขตงานอย่างที่เล่าไว้ในหนังสือ ‘อีกหนึ่งฟางฝัน’ แล้วเกิดวิกฤตอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ‘วิกฤตศรัทธา’ กับแนวทางการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วจะไปทําอะไรอยู่ที่ไหนก็คิดไม่ออก กําลังจิตตก
“ทางออกก็โผล่มาต้องคว้าไว้ นั่นคือคำสั่งที่ 66/23 ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ชอบบอกว่า นักศึกษาทนความยากลําบากในป่าไม่ไหวต้องออกมามอบตัว พวกเรายังหัวเราะกันเลย เพราะอยู่ในป่าแม้ลำบาก แต่ก็สนุกดีชีวิตมีรสชาติ ได้เรียนรู้วิธีหุงข้าวด้วยกระทะใบบัว มี ‘ซึ้ง’ นึ่งแบบชาวม้ง ได้ทําไร่ข้าวไร่ข้าวโพดบนดอย ต่อรางน้ำประปาภูเขาด้วยลําไม้ไผ่มาใช้ในสํานัก หรือตอนคลอดลูกหน้าถ้ำผาจิ พะเยา ก็ได้ประสบการณ์ความเป็นแม่ที่ลืมไม่ลง คือทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ใหม่หมด
“ถ้าจะเล่าอย่างเป็นลําดับขั้นตอน ก็คือ เราไม่รู้จักพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน เพราะไม่ใช่สายจัดตั้งในเมืองโดยตรง ก็ค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องงานมวลชนหรือทฤษฎีปฏิวัติ ตอนแรก ๆ มันน่าทึ่งมาก เพราะ 3 ประเทศอินโดจีนเพิ่งรบชนะยักษ์ใหญ่อเมริกาได้ 3-4 ปี แล้วสถาปนารัฐสังคมนิยมขึ้นมา โลกยังไม่ล่วงรู้เรื่องความโหดเหี้ยมของเขมรแดงในกัมพูชา
“เราเองก็ไม่รู้ เข้าไปปีแรก ๆ เป็นนักรบฮึกเหิม มีสหายร่วมศึกมากมาย ทั้งคนเมืองคนม้ง ชาวไร่ชาวนา แต่แล้วก็ค่อย ๆ เจอกับปัญหาที่นักปฏิวัติรุ่นใหม่ทําใจไม่ได้ คือ ระบบพรรคไม่เอื้ออํานวยให้ปัญญาชนหรือคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคมีบทบาทแสดงความคิดเห็น ทุกอย่างอ้างระเบียบวินัยให้เชื่อพรรคเชื่อจัดตั้ง แล้วเราก็เห็นกับตาว่า ฝ่ายนําในป่าแต่ละเขตงานไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ทันโลกสักเท่าไร แถมไม่รับฟัง สั่งการแบบจากบนลงล่างลูกเดียว โดยเฉพาะการเดินตามแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นพรรคแม่ สถานการณ์ตอนนั้นมีความขัดแย้งในค่ายสังคมนิยม พรรคเล็กพรรคน้อยอย่างเรากลายเป็นเบี้ยรองบ่อน จีนเริ่มทะเลาะกับเวียดนามซึ่งถือเป็น ‘สายโซเวียต’ พรรคเราอยู่ตรงกลาง ต้องอาศัยประเทศเหล่านี้เป็นพื้นที่แนวหลัง แต่ก็ยังเข้าข้างจีนอย่างไม่สมเหตุสมผล สำนักหน่วยงานต่าง ๆ ของเราในลาวและเวียดนามโดนเขาไล่ออกมาหมดก็เพราะอย่างนี้
“ปีสุดท้ายในป่า พ.ศ. 2523 เราอยู่ในป่าอุ้มผางชายแดนพม่า ห่างไกลความขัดแย้งพวกนั้น แต่ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม เพราะเป็นระบบ top down จากศูนย์กลางพรรค ก็เกือบจะเกิดกบฏในสํานักแล้วแหละ เพราะต่างฝ่ายต่างมีปืน แต่คำสั่งที่ 66/23 มาได้พอดีจังหวะ นักศึกษาก็ทยอยออกจากป่าไปรายงานตัว ได้ป้ายชื่อใหม่ว่า ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ ก่อนแยกย้ายไปเรียนให้จบ หรือประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้อง โดยไม่ต้องเข้าคุกเข้าค่ายใด ๆ อันนี้ต้องให้เครดิตรัฐบาล พล.อ.เปรมที่สามารถใช้การเมืองเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แทนการใช้กําลังการทหารได้อย่างเหมาะเจาะ
“พรรคคอมมิวนิสต์เป็นทางออกของพลังนักศึกษาที่ถูกปราบในปี 2519 ส่วนคำสั่งที่ 66/23 เป็นทางออกของวิกฤตความขัดแย้งที่สูญเสียหนักทั้งสองฝ่ายในปี 2523 ทั้งสองกรณีคือจุดเปลี่ยนที่ได้จังหวะ แต่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เป็นบทเรียนสําหรับคนที่ชอบยืนกระต่ายขาเดียว สู้ไม่ได้ก็ไม่ยอมถอย ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนในยุคนี้ โดยเฉพาะฝ่ายที่มีอํานาจปราบปราม น่าจะคิดดี ๆ ก่อนจะทําอะไรให้ไม่เหลือทางออกในสังคม..”
แนวร่วมของการต่อสู้สามัคคีมีพลัง
“มีหลายบทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองที่ถูกมองข้าม พวกเราออกจากป่ามา ก็แยกย้ายกันไปตั้งหลักชีวิตใหม่ มีช่วงวรรณกรรมบาดแผล คือใครจะเขียนอะไรเล่าอะไรก็มีแต่ขมขื่นคับแค้นที่ไม่ได้เปลี่ยนสังคมแล้วซมซานกลับมา แต่ไม่มีการสรุปบทเรียนอย่างจริงจัง”
ขออนุญาตถามตรงนี้เลยนะ… 6 ตุลา 19 ขบวนนักศึกษาถูกปราบอย่างนองเลือด เกิดบาดแผลเหวอะหวะในสังคม ในความทรงจําของผู้คน ณ จุดนั้น คนก็รับรู้กันทั้งประเทศ แต่ทำไมสิ่งที่ตามติดมาคือความเงียบงันอีกหลายปี ไม่มีการลุกขึ้นสู้แบบอาหรับสปริงหรืออะไรที่ต่อให้ไร้แกนนําก็ยังสู้ต่อ
“โดยส่วนตัวคิดว่า ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางต่างตื่นกลัวว่านักศึกษาจะเป็นคอมมิวนิสต์นิยมความรุนแรงอย่างที่เขากล่าวหา เพราะพวกเรามีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ซ้ายจัดก็ได้พูดเขียนไว้เป็นหลักฐานว่า จะพลิกฟ้าคว่ําแผ่นดิน วิพากษ์สังคมเก่า ปฏิวัติวัฒนธรรม กําจัดศัตรูทางชนชั้น ฯลฯ มันก็ไปกระทบกลุ่มคนชั้นกลาง ชาวบ้านชาวเมืองที่ต้องการแค่ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานกับการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมีกฎกติกาและเป็นธรรม
“ในช่วงแรก ๆ ที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลาฯ แนวร่วมของพวกเราคือพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ส่งเสบียง ส่งจดหมาย กับชาวบ้านรอบเขตฐานที่มั่นที่เราไปทํางานมวลชนผูกมิตรด้วย คนทั่วไปในเมืองที่ไม่ใช่ระดับปัญญาชนนักคิดนักเขียน มีน้อยมาก...
“ขนาดปี 2532 เราออกจากป่ามาได้หลายปีไปเรียนต่อที่อเมริกา กลับมาได้รางวัลซีไรต์จากหนังสือ ‘ใบไม้ที่หายไป’ ก็ยังต้องถือโอกาสที่สังคมให้ความสนใจ เดินสายสัมภาษณ์ออกสื่อมากมาย ทุกครั้งต้องขอเล่าเรื่องตอนอยู่ป่า เพื่อเป็นยกแรกของการเปิดตัว ‘อดีต ผกค.’ (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ให้สังคมวงกว้างเห็นว่า ไม่มีอะไรต้องปิดบังหรือน่ากลัวอย่างที่เคยคิดกัน แถมรายนี้ยังมีดีกรีนักเรียนนอก มีลูกเล็ก ๆ น่ารักด้วยนะ (หัวเราะ) แล้วหลังจากนั้น บรรดาสหายที่ออกจากป่ามาต้องเปลี่ยนชื่อ ปิดบังประวัติ เวลาสมัครงานก็สามารถแสดงตัวตนได้ตามอัธยาศัย ไม่มีความแปลกแยกหวาดระแวงอีกต่อไป
“ก็เหมือนในช่วงเดือนนี้ปี 2563 มีข้อเรียกร้องใหญ่เป็นแกน แต่การแสดงออกมีหลายรูปแบบหลากสีสัน เมื่อมีการแสดงออกที่รุนแรงล้ำเส้นหรือใช้วาจาหยาบคายมากไป ก็อาจทําให้การต่อสู้โดดเดี่ยวขาดแนวร่วม พลังสนับสนุนลดถอยลง แล้วสื่อหรือคนนอกก็จะเลือกหยิบยกจดจำเฉพาะส่วนที่มันแรง ๆ มากกว่าการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง อย่างข้อหาล้มเจ้า ล้มสถาบัน รุ่นเราก็โดนทั้งที่ออกมาร้องหาประชาธิปไตย
“กรณี 6 ตุลา 19 หรือพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ก็เริ่มต้นด้วยการชุมนุมขับไล่ท่านผู้นําคนนั้นคนนี้ แต่คนจํานวนมากจะจดจําเฉพาะเรื่องความรุนแรง หลงลืมรายละเอียดอื่น ๆ ไปหมด
“ช่วงโดดเดี่ยวของขบวนการนักศึกษาประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แล้วบทเรียนนี้ก็อยากจะฝากถึงรุ่นปัจจุบันว่า ถ้าเราจะทะเลาะจิกตีคนนั้นคนนี้เพื่อเอามันนี่เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพูดเรื่องใหญ่ คิดการใหญ่ ไม่อยากแพ้ สรรพกําลังต้องพร้อมเพรียง และแนวร่วมมีความสําคัญมาก ยิ่งยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่างคนต่างแสดงออกจนเกิดความสับสน ซ้ำยังโดนข่าวลือข่าวลวงให้ร้ายป้ายสี ก็ยิ่งยากที่จะสร้างแนวร่วมรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว”
สัมภาษณ์โดย: ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3491
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
819
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Politics
The People
เหตุการณ์ 14 ตุลา