15 ต.ค. 2563 | 09:47 น.
‘ในปี 1967 กรุงเอเธนส์เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ เแม่ชีชราท่าทางซอมซ่อนำไพลินศรีลังกาเม็ดใหญ่ราคามหาศาลไปขายในร้านจำนำเพราะต้องการเงินมาซื้อยารักษาโรค เตียงนอน วัตถุดิบทำอาหารจำนวนมากให้เพียงพอต่อผู้คนที่ทุกข์ระทมจากสงคราม ทว่าไพลินที่แม่ชีชราคนนี้เอามาขายในร้านกลับไม่ใช่ของที่จะหาได้ง่าย ๆ ตามท้องตลาด เจ้าของร้านคิดว่าเธอขโมยมันมาจากชนชั้นสูงสักตระกูล จึงเรียกตำรวจให้ไปจับกุมเธอที่โบสถ์ ส่วนตัวเขายืนรอให้ตำรวจเข้าไปรวบตัวแม่ชีขี้ขโมย ทว่าเจ้าหน้าที่กลับออกมามือเปล่า แถมด่าเขาว่าไอโง่ แม่ชีเฒ่าคนนี้ไม่ใช่แม่ชีปลอม แต่เป็นเจ้าฟ้าหญิงอลิซแห่งกรีซและเดนมาร์ก ปู่ทวดของท่านเป็นพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่วนยายทวดคือสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย และลูกชายของท่านก็สมรสกับพระราชินีแห่งอังกฤษองค์ปัจจุบัน’
เหตุการณ์ข้างต้นถูกเล่าในซีรีส์ The Crown ซีซัน 3 ตอนที่มีชื่อว่า ‘Bubbikins’ ที่สลับไปมาระหว่างกรุงเอเธนส์ในกรีซกับพระราชวังบักกิงแฮมในอังกฤษ เมื่อกรีซเกิดสงครามกลางเมือง กลุ่มทหารได้ล้มรัฐบาลเก่าและเข้ามายึดอำนาจ พร้อมประกาศให้ชาวต่างชาติทุกคนต้องออกจากประเทศ กระทรวงต่างประเทศอังกฤษทราบข่าวว่าเจ้าหญิงอลิซผู้พลัดถิ่นยังคงอยู่ในโบสถ์ซอมซ่อ นายกรัฐมนตรีจึงแนะนำให้ทางวังรีบนำเครื่องบินไปรับเจ้าหญิงมายังเกาะอังกฤษโดยเร็วที่สุด นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์คมากขึ้นกว่าที่เคยรู้จัก และพานให้อยากรู้จักเธอมากกว่านี้ [caption id="attachment_27993" align="aligncenter" width="1200"] The Crown[/caption] เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค (Princess Alice of Battenberg) ประสูติเมื่อปี 1885 ในพระราชวังวินด์เซอร์ พร้อมกับความผิดปกติทางร่างกาย เจ้าหญิงมีอาการหูหนวก และต้องเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ด้วยการอ่านปากคู่สนทนา ตามคำบอกเล่าจากหลายฝ่ายเอ่ยตรงกันว่าครอบครัวของเจ้าหญิงอลิซค่อนข้างเข้มงวดกับอาการหูหนวก ทุกคนที่สนทนากับเจ้าหญิงอลิซจะต้องไม่พูดประโยคเดิมซ้ำเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้เจ้าหญิงฝึกอ่านปากภาษาต่าง ๆ ให้ได้ ต้องยอมรับว่าการเข้มงวดนี้ทำให้เจ้าหญิงรู้หลายภาษาทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ได้ในเวลารวดเร็ว เมื่อเจ้าหญิงอลิซมีพระชนมายุได้ 18 ชันษา พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ (Prince Andrew of Greece) เมื่อปี 1903 และย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศกรีซ พระองค์เป็นเจ้าหญิงที่ขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนหวาน อ่อนน้อม แต่บางคนก็มองว่าพระองค์หัวช้า สบประมาทความผิดปกติทางร่างกายของพระองค์อยู่บ่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นเจ้าหญิงก็ใช้ชีวิตคู่กับพระสวามีอย่างมีความสุข ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสและพระธิดา 5 พระองค์ คือ มาการิตา ธีโอดอร่า เซซิเลีย โซเฟีย และพระโอรสคนสุดท้องชื่อว่า ‘ฟิลิป บัทเทินแบร์ค’ [caption id="attachment_27989" align="aligncenter" width="1200"] เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค[/caption] ในปี 1919-1922 กรีซทำสงครามกับตุรกี เจ้าชายแอนดรูว์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการกองทัพกรีซถูกตำหนิอย่างรุนแรง ประกอบกับราชวงศ์ในกรีซถูกล้ม เหตุการณ์รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นที่สมาชิกราชวงศ์หลายคนเกือบถูกประหารชีวิต ครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูว์ต้องทำเรื่องลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศส เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ทำให้เจ้าหญิงอลิซตกอยู่ในความเครียดควบคู่กับอาการแพนิคจากความวิตกกังวล ตามรายงานของ The British Psychological Society (BPS) องค์กรจิตวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร และหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุตรงกันว่า ในปี 1928 เจ้าหญิงอลิซต้องการเปลี่ยนนิกายที่นับถือไปเป็นนิกายกรีกออร์โธดอกซ์ จนภายหลังถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท มีอาการหลงผิดทางศาสนา ทำให้ในปี 1930 พระองค์ถูกส่งตัวไปยังสถานบำบัดจิต ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนายแพทย์นามว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ส่วนเจ้าชายแอนดรูว์ก็หนีไปใช้ชีวิตกับชู้รักทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ลูกสาวทั้งหมดแต่งงานกับเจ้าชายฝั่งเยอรมัน ส่วนเจ้าชายฟิลิปถูกส่งไปยังโรงเรียนประจำในอังกฤษ [caption id="attachment_27990" align="aligncenter" width="1200"] เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ และ เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค[/caption] ฟรอยด์เชื่อว่าความผิดปกติทางร่างกายของเจ้าหญิงอลิซเกิดจากความไม่พึงพอใจทางเพศ ต้องรักษาดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หากมองกระบวนการรักษาที่เจ้าหญิงอลิซต้องเจอในมุมมองคนปัจจุบันที่มองย้อนกลับไปยังอดีต วิธีการรักษาของเขาเข้าขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ฟรอยด์สั่งให้นำตัวเจ้าหญิงไปขูดมดลูกให้ประจำเดือนหมดเพื่อลดความต้องการทางเพศ ควบคู่กับการช็อตไฟฟ้า โดยสื่ออังกฤษหลายสำนักระบุตรงกันว่าเจ้าหญิงอลิซยืนยันอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้มีความผิดปกติอะไรอื่นนอกจากอาการหูหนวก แต่ไม่มีใครรับฟังพระองค์ เจ้าหญิงผู้มีชะตากรรมอันน่าเศร้าต้องทนกับการรักษาของฟรอยด์นานกว่า 2 ปี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเรืองอำนาจจนสามารถขยายการปกครองของตัวเองไปทั่วยุโรป ในขณะที่ลูกสาวของพระองค์แต่งงานกับชายเยอรมันที่ทำงานให้กับนาซี ส่วนลูกชายที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกันก็เป็นราชนาวีอังกฤษ เจ้าหญิงอลิซตัดสินใจยื่นมือช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวจำนวนมากในกรีซ ควบคู่กับการทำงานในสภากาชาด และนำทรัพย์สินที่พอมีติดตัวขายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเจ้าหญิงอลิซรอดพ้นจากสายตาเกสตาโปไปได้ทุกครั้ง ด้วยการใช้อาการหูหนวกเป็นข้ออ้าง เมื่อเกสตาโปมาเคาะประตู เธอก็ยินดีเปิดประตูต้อนรับ แต่ทำเป็นไม่เข้าใจสิ่งที่ตำรวจลับพูด ไม่ยอมให้พวกเขาเข้ามาในวัง ทั้งที่ในความเป็นจริงเจ้าหญิงอลิซเชี่ยวชาญภาษาเยอรมันพอ ๆ กับภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ ในปี 1947 เจ้าชายฟิลิปอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ว่าที่ราชินีแห่งอังกฤษ ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงญาติฝ่ายเจ้าบ่าวที่มีเพียงน้อยนิด มารดาถูกหาว่าเป็นบ้า พี่สาวทุกคนก็แต่งงานกับพวกนาซี ซึ่งเจ้าหญิงอลิซก็ไม่ได้สนใจคำครหาเหล่านี้มากนัก และเดินทางมาร่วมงานแต่งของลูกชายคนเล็ก พร้อมกับปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังวินเซอร์ หลังงานแต่งจบลง เจ้าหญิงอลิซกลับไปยังกรีซ หันหน้าเข้าหาศาสนาด้วยการบวชชี ในปี 1949 เจ้าหญิงอลิซตัดสินใจก่อตั้ง คณะภคินีแห่งมาร์ธาและมารีย์ (Christian Sisterhood of Martha and Mary) ณ โบสถ์บ้านเลขที่สิบ ถนนเพฟคอน กรุงเอเธนส์ อุทิศตนเป็นแม่ชีช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสและเด็กในครอบครัวยากจน โดยพระองค์ทำหน้าที่เป็นอธิการระดมทุนจัดหาที่พักให้ผู้ป่วย สลับกับฝึกฝนแม่ชีรุ่นเยาว์ อย่างไรก็ตาม คณะภคินีของพระองค์ก็ต้องจบลงเมื่อทหารกรีซตัดสินใจทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาลเก่า ออกคำสั่งให้ชาวต่างชาติทุกคนต้องออกนอกประเทศอย่างไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหญิงจึงต้องย้ายกลับอังกฤษในปี 1967 เรื่องราวของเจ้าหญิงอลิซในซีรีส์ The Crown มีจุดแตกต่างกับชีวิตจริงอยู่พอสมควร ในซีรีส์ไม่ได้เล่าถึงการช่วยเหลือชาวยิว แต่เล่าเรื่องราวของเจ้าหญิงผ่านมุมมองของนักข่าวหนุ่มที่ไม่มีตัวตนจริงอย่าง จอห์น อาร์มสตรอง (John Armstrong) ที่เขียนบทความวิจารณ์เจ้าชายฟิลิปให้กับสำนักข่าว The Guardian ซ้ำยังบังเอิญได้พบกับเจ้าหญิงอลิซ สัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของพระองค์จนได้เรื่องราวมากมายไปเขียนขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ คนอังกฤษส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารราชวงศ์อย่างใกล้ชิด มักไม่ได้รู้ว่าเจ้าหญิงอลิซถูกพาตัวกลับมาอยู่ที่พระราชวังบักกิงแฮมจนกระทั่งเห็นข่าวการสวรรคตของพระองค์ ซึ่งหากมองถึงวีรกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้ ถือว่าน่าเสียดายไม่น้อยที่เรื่องราวการต่อสู้ของเจ้าหญิงอลิซไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก จนกระทั่งซีรีส์ The Crown ตัดสินใจหยิบชีวิตของเจ้าหญิงที่ผ่านความทุกข์เข็ญไม่น้อยกว่าใครมาเล่าใหม่อีกครั้ง [caption id="attachment_27994" align="aligncenter" width="1200"] The Crown[/caption] หลังมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่พระราชวังบักกิงแฮมได้ราว 2 ปี เจ้าหญิงอลิซก็จากไปด้วยโรคชรา พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1969 ในช่วงแรกร่างของเจ้าหญิงถูกฝังอยู่ในเขตพระราชวังวินเซอร์ แต่สุดท้ายถูกย้ายไปยังโบสถ์ออร์โธดอกซ์ เซนต์แมรีแมกดาลีนในประเทศเยรูซาเล็ม เมื่อปี 1988 ตามความปรารถนาของเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค ที่ได้เลือกสถานที่พำนักสุดท้ายของตัวเองไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อเรื่องราวของเจ้าหญิงพลัดถิ่นผู้อุทิศชีวิตเพื่อผู้คนถูกเล่าขานมากขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2018 เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์คได้รับเกียรติยศสูงสุดจากอิสราเอล การยกย่องนับถือที่มอบให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่ชาวยิวแต่ช่วยเหลือชาวยิวในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ถึงพระองค์จะจากไป แต่ความเมตตาและความรักของพระองค์ที่มีให้กับผู้คนก็ยังคงอยู่เสมอที่มา https://edition.cnn.com/2019/11/18/entertainment/prince-philips-mother-princess-alice-interesting-facts-intl-scli/index.html https://www.harpersbazaar.com/celebrity/latest/a29796667/who-is-prince-philip-mother-alice-battenberg/ https://www.theguardian.com/uk-news/2019/dec/01/princess-alice--saved--my-famils-from-nazis-in-wartime-greece https://www.townandcountrymag.com/leisure/arts-and-culture/a29860476/princess-alice-john-armstrong-the-crown-journalist-article-true-story/ https://www.express.co.uk/showbiz/tv-radio/1215681/the-crown-season-3-when-did-princess-Alice-die-how-did-she-die-Netflix เรื่อง : ตรีนุช อิงคุทานนท์ #ThePeople #History #Culture #TheCrown #ราชวงศ์อังกฤษ #เจ้าหญิงอลิซ #เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค #เจ้าชายฟิลิป #ดยุกแห่งเอดินบระ #อังกฤษ #นาซี‘ฟิลิปที่รัก ขอให้ลูกจงกล้าหาญและจดจำว่าแม่จะไม่มีวันทิ้งลูก
หากเมื่อใดที่ลูกต้องการพบแม่ ลูกจะหาแม่เจอเสมอ ด้วยรัก จากแม่ผู้แก่ชราของเธอ’
- จดหมายฉบับสุดท้ายของเจ้าหญิงอลิซที่เขียนถึงเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ