ทุกคนคงจะนึกภาพชายหญิงใส่สูทถือแก้วกาแฟเดินด้วยท่าทีเร่งรีบ เงินดอลลาร์สีครีมเขียวเป็นฟ่อน ๆ ปลิวว่อนในวอลล์ สตรีท จากภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องและความรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจในอเมริกาได้อย่างดีเยี่ยม โต๊ะเรียงรายเป็นแถว มีเจ้าหน้าที่ซื้อขายตราสารนั่งทำงานกันวุ่นวาย เสียงดังโหวกเหวกโวยวายของผู้ซื้อและพนักงานยิ่งสร้างบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่คิดอะไรก็เป็นเงินเป็นทองอย่างธนาคารเพื่อการลงทุนต่าง ๆ
การลงทุนคือความเสี่ยง ทุกคนในองค์กรทราบดี แต่เหมือนไม่ได้จดจำมันไว้ขณะที่ “ซื้อ” หรือ “สร้าง” ผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมา ทุกคนมักจะเรียกนักลงทุนเก่ง ๆ ว่า “พ่อมดการเงิน” ดังนั้นการเงินจึงเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่จะเสกให้เกิดผลดีหรือร้ายก็ได้ พนักงานในสถาบันการเงินอาจดีใจที่ได้สร้างผลกำไร หรือในทางตรงข้าม โต๊ะรองรับนักลงทุนที่เคยเรียงรายเป็นแถวอาจจะหายไปในพริบตา
ผู้คนในวงการการเงิน นักลงทุน นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งนักศึกษาสายบัญชีการเงินและธนาคาร มักจะเคยได้ยินคำว่า “กรณีศึกษา” อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่พาดหัวข่าวด้วยคำว่า “ฉาว” หรือไม่ก็ “ฉ้อโกง” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงการฉ้อโกง ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเคสของบริษัท Enron และบริษัทตรวจสอบบัญชีอย่าง Arthur Andersen ซึ่ง Enron ไม่ได้ทำธุรกิจลงทุนหรือครอบครองสินทรัพย์ใดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่างที่ระบุไว้ เบื้องหลังราคาหุ้นที่สูงทะลุเพดานนั้น Enron ทำตัวเป็นแค่ตัวแทนจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขายพลังงานเท่านั้น Enron บันทึกรายได้จากการขายพลังงานเป็นรายได้ของตนเองทั้งหมด รวมถึงรับรู้รายได้ก่อนเวลาพึงควร ตามหลักการมาตรฐานบัญชีแล้ว การที่ธุรกิจทำตัวเป็นตัวแทนจะสามารถลงรายรับเป็นได้แค่เฉพาะค่าธรรมเนียมและลงรายรับได้ตรงตามหลักเกณฑ์การรับรู้ทางบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีอย่าง Arthur Andersen ก็ไม่รู้ไม่ชี้และกอดคอกันล้มละลาย และถูกเพิกถอนใบอนุญาตการตรวจสอบบัญชี
อย่างไรก็ตาม พาดหัวข่าวเกี่ยวกับ “ฉาว” ก็คงไม่น่าหวาดกลัวเท่าคำว่า “ฟองสบู่” เนื่องจากผลกระทบที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ทุกธนาคารเพื่อการลงทุนหรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาต่างต้องระวังการย้อนกลับมาของภาวะฟองสบู่และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะ Great Depression หลังสงคราม หรือจะเป็น Hamburger Crisis ที่หลายบริษัทต่างพากันล้มละลายและไปไม่รอด
แต่เชื่อสิว่า ไม่มีนักธุรกิจหรือซีอีโอคนไหนที่พาบริษัทล้มละลาย แล้วถูกประชาชนรวมทั้งสื่อต่าง ๆ เติมคำว่า “d*ck” นำหน้าชื่อได้อย่าง ริชาร์ด เอส. ฟุลด์ (Richard S. Fuld) แห่ง Lehman Brothers อีกแล้ว
ย่างก้าวธุรกิจของพี่น้องเลห์แมน
ตำนานวิกฤต Subprime สะเทือนโลก ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของตระกูลเลห์แมนคนไหนทั้งสิ้น เรื่องราวของธุรกิจในยุคครอบครัวเลห์แมนกับผู้บริหารในช่วงหลังต่างกันราวฟ้ากับเหว ชื่อบริษัท Lehman Brothers เป็นชื่อที่มาจากนามสกุลของครอบครัวเลห์แมน ซึ่งเป็นผู้อพยพชาวเยอรมันที่เข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา นำโดย เฮนรี เลห์แมน (Henry Lehman) และพ่อที่เข้าไปยังรัฐแอละแบมา พวกเขาเป็นพ่อค้าเร่ขายของใช้และผลิตภัณฑ์จากฟาร์มเท่านั้น
พวกเขาเลือกตั้งรกรากที่มอนต์กอเมอรี เมืองหลวงของรัฐแอละแบมา แล้วเปิดร้านขายของเล็ก ๆ เจาะจงไปที่ผลิตภัณฑ์จากฝ้าย แผ่นเสื่อ เสื้อ เชือก และผ้าฝ้ายทอหยาบ จนกระทั่งปี 1847 เอมานูเอล เลห์แมน (Emanuel Lehman) เข้าร่วมทำธุรกิจกับพี่ชาย และพากันตั้งชื่อบริษัทว่า H. Lehman & Bro จากนั้นไม่นาน น้องชายคนเล็กอย่าง เมเยอร์ เลห์แมน (Mayer Lehman) ก็เข้ามาร่วมแจม กลายเป็นที่มาของบริษัท Lehman Brothers
พี่น้องเลห์แมนค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองจากคนขายของเป็นเสมือนโบรกเกอร์ฝ้าย พวกเขามักจะได้ฝ้ายเป็นสิ่งตอบแทนในการแลกเปลี่ยนเป็นของใช้ รองเท้า และเสื้อผ้า ด้วยความเชี่ยวชาญและกิจการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามพี่น้องเลห์แมนได้เข้ามาตั้งบริษัทที่นิวยอร์กและทำตัวเป็นโปรกเกอร์ตัวจริง พวกเขาเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับผู้ส่งออกฝ้าย ในปี 1870 พวกเขาก่อตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนฝ้ายแห่งนิวยอร์ก ที่สามารถทำการซื้อขายกันล่วงหน้าได้ก่อนที่จะเก็บฝ้ายเสียอีก (สังเกตได้ว่าลักษณะการค้าขายเหมือนการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า) พวกเขากระจายไปทำธุรกิจกับสินค้าอื่น ๆ นอกจากฝ้าย เช่น กาแฟ น้ำตาล โกโก้ ตอนนี้ Lehman Brothers ยิ่งใหญ่ในด้านการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ไปแล้ว
ช่วงเวลาเดียวกัน เหล่าเลห์แมนได้เจอกับตัวแทนทางการเงินแห่งแอละแบมา และนั่นเป็นย่างก้าวแรกสู่โลกแห่งการเงิน โลกของหุ้นกู้และตราสาร และโลกของหนี้และดอกเบี้ย
[caption id="attachment_28136" align="aligncenter" width="1200"]
หลังล้มละลายก็มีการนำป้ายบริษัทออกประมูล[/caption]
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลก
จากการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ Lehman Brothers ได้เข้าสู่วงการการเงินเต็มตัว หลายปีผ่านไป ครอบครัวเลห์แมนล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ จนผู้ที่ขึ้นมาบริหารกลายเป็นครอบครัวอื่น หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นพนักงานที่ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นผู้บริหาร ความเข้มข้นและการแข่งขันที่สูงของวอลล์ สตรีท ทำให้ผู้บริหารของ Lehman Brothers อย่าง ปีเตอร์ จี. ปีเตอร์สัน (Peter G. Peterson) ตัดสินใจเทกโอเวอร์ Abraham & Co. และควบรวมกิจการกับ Kuhn, Loeb & Co. ทำให้ Lehman Brothers กลายเป็น 1 ใน 4 ของสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา (เหมือน “บิ๊ก 4” ของผู้ตรวจสอบบัญชี)
Lehman Brothers ผ่านอุปสรรคมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ตามมาด้วย Great Depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) หรือแม้กระทั่งขาดทุนอย่างหนัก จนต้องขายกิจการให้สถาบันการเงิน American Express ซึ่งถือว่าเป็นภาวะกระอักกระอ่วนของผู้บริหารที่เสียหน้าและขาดความเป็นอิสระไป Lehman Brothers ได้รับการอัดฉีดเงินทุนจาก American Express เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่มีเรตติงดีที่สุด โดย American Express จะได้ส่วนแบ่งกำไรจาก Lehman Brothers เหมือนกับที่ Lehman Brothers จะได้ส่วนแบ่งจากกำไรของธนาคารเพื่อการลงทุน Shearson ที่ถูกควบรวมกิจการกับ Lehman Brothers อีกที ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่มีคนจาก Lehman Brothers อยู่ในคณะกรรมการผู้ถือหุ้น
ความอึดอัดในสภาวะจำยอมอยู่ในสายตาของ ริชาร์ด เอส. ฟุลด์ ผู้ทำงานให้ Lehman Brothers มากว่า 40 ปี เขาทำหน้าที่ขายตราสารต่าง ๆ และช่ำชองในการปิดดีลการขายตราสารหนี้จนโด่งดัง และด้วยท่าทีที่ดูแข็งกร้าว ทำให้ฟุลด์ได้รับฉายาว่า “กอริลลาแห่งวอลล์ สตรีท”
ระหว่างที่ฟุลด์ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อย ๆ เขาพบว่าวัฒนธรรมองค์กรของ Lehman Brothers กับ American Express ไม่มีวันเข้ากันได้ ธุรกิจที่เกิดการควบรวมกันไปได้ไม่สวย American Express จึงตัดสินใจสะบัดก้นถอนหุ้นคืน ปล่อยให้ Lehman Brothers ได้เป็นอิสระตามใจหวัง ทั้ง ๆ ที่การถอนทุนคืนแบบนี้จะทำให้ Lehman Brothers ไม่เหลืออะไรเลยก็ตาม หลังถูกลอยแพ Lehman Brothers ขาดทุน 102 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อฟุลด์ขึ้นเป็นซีอีโอในปี 1994 เขาก็ค่อย ๆ พลิกฟื้นสถานการณ์กระทั่งบริษัทสามารถทำกำไรได้ 4 ปีซ้อน แม้ปีสุดท้ายจะเป็นหายนะอันน่าสะพรึงกลัวก็ตาม
วิกฤตการเงิน Subprime ได้จุดปะทุเมื่อฟุลด์เทกโอเวอร์และควบรวมบริษัทปล่อยสินเชื่อ 5 แห่ง ซึ่ง 2 แห่งในนั้นเลื่องชื่อเรื่องการปล่อยสินเชื่อบ้านและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ แบบไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ ฟุลด์ได้สร้างตราสารอันโด่งดังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ตราสารหนี้ที่มีหนี้เป็นหลักประกัน (Collateral Debt Obligation) หรือ CDO ขึ้นมา โดย Lehman Brothers จะทำการรวบรวมหนี้ทั้งหมดมามัดกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่อยู่อาศัย รถ หรือกู้ส่วนบุคคลเข้าด้วยกัน แล้วขาย “ก้อนหนี้” เหล่านั้นให้นักลงทุน ฟุลด์และทีมงานจะเน้นที่สินเชื่อจากอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจะเรียกตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันว่า Mortgage Backed Security หรือ MBS ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มัดรวมอยู่ในนั้นจะรวมทั้งผู้ที่มีเครดิตสูง (prime) และผู้ที่มีเครดิตต่ำ (subprime)
โดยรวมแล้ว ตราสารประเภทนี้จะให้กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอกับผู้ลงทุน ทั้งจากเงินต้นและจากดอกเบี้ยของผู้กู้บ้าน ส่วน Lehman Brothers จะได้เงินสดจากนักลงทุนและอัตราผลตอบแทนที่คิดเผื่อไว้ตั้งแต่ปล่อยกู้ เพราะฉะนั้น ผู้กู้ที่อยู่อาศัยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เนื่องจากต้องเจียดให้ทั้ง Lehman Brothers และนักลงทุน
ตราสาร CDO และ MBS เป็นที่โด่งดังและสร้างกำไรได้อย่างรวดเร็ว เพราะ Lehman Brothers นำเงินที่ได้จากนักลงทุนไปจ้างสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ประเมินว่าหลักทรัพย์ CDO ที่ปล่อยขายไปนั้นอยู่ในเกรด AAA และนั่นยิ่งทำให้นักลงทุนแห่กันเข้ามาซื้อตราสาร ยิ่งได้เงินสดจากนักลงทุนมาหมุนมากเท่าไหร่ ฟุลด์ก็ยิ่งเอาเงินนั้นไปปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยให้กับคนทั่วไปแบบง่ายขึ้น โดยไม่มีการคัดกรองตามมาตรฐานว่าบุคคลนั้นจะมีความสามารถในการจ่ายหนี้หรือไม่
เมื่อมีการปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งมีความต้องการบ้านมากขึ้นตามลำดับ เมื่อความต้องการมากขึ้น ราคาบ้านจะแพงขึ้นตามกลไกตลาด มูลค่าในตราสารที่ผูกอยู่กับราคาบ้านก็ยิ่งสูงยั่วยวนใจผู้ลงทุน แต่สิ่งที่ฟุลด์ไม่ทันระวังก็คือภาวะฟองสบู่อันเกิดจากการไม่ประเมินผู้กู้ให้ครบถ้วน
เมื่อผู้กู้ที่อยู่อาศัยไม่มีเงินจ่ายตรงตามเวลา ตราสาร CDO ก็หมดความน่าเชื่อถือ ภาวะที่บ้านราคาแพงเกินมูลค่าบ้านที่แท้จริง (price มากกว่า value) ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เมื่อมีการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็น้อยลงเพราะดอกเบี้ยสูง ราคาบ้านก็ลดฮวบฮาบกลับสู่มูลค่าที่แท้จริงในที่สุด ภาวะฟองสบู่แตกนี้ ทำให้ราคาหุ้นของ Lehman Brothers ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว
[caption id="attachment_28137" align="aligncenter" width="1200"]
ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหลัง Lehman Brothers ล้มละลาย[/caption]
ปิดฉากตำนาน 158 ปี
ปี 2007 ฟุลด์กับผู้บริหารคนอื่น ๆ ประชุมกัน คราวนั้น CFO ของบริษัทกล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบไม่ระมัดระวังอย่างที่ทำมานั้นทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นก็จริง แต่มันจะลดกลับสู่สภาวะเดิมตามมูลค่าที่แท้จริง และจะส่งผลกระทบกับผลกำไรของบริษัท
ดูเหมือนว่าฟุลด์ไม่ฟังสิ่งที่ทีมผู้บริหารพูด และทำในสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งขึ้นไปอีก โดยการปล่อย MBS มากขึ้น รวมมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นถึง 4 เท่า ภาวะมายาแห่งโลกการเงินสร้างผลกำไรกลับมาให้ Lehman Brothers อีกครั้งถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับภาวะเกือบตายตอนที่ American Express ถอนตัว ฟุลด์ได้รับรางวัลจากผลงานนี้ไปเป็นเงินเข้ากระเป๋า 40 ล้านดอลลาร์
ความหลงระเริงและนึกไม่ถึงว่าราคาบ้านจะลดลงจากกลไกหนี้เน่าและการสั่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้ฟุลด์ไม่รีบขายในสิ่งที่ตัวเองสร้างออกมามากเกิน การที่ MBS เหลืออยู่เยอะ แต่ไม่มีนักลงทุนซื้อ กลายเป็นบ่อเกิดแห่งการขาดทุนอันยิ่งใหญ่และเป็นบ่วงรัดคอในที่สุด เว็บไซต์เกี่ยวกับธุรกิจชื่อดังอย่าง Business Insider ได้ออกมาเปิดเผยข้อความที่ฟุลด์โต้ตอบกับผู้บริหารราวกับเป็นเด็กเพ้อฝันว่า “ผมรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือนิดหน่อย แต่พี่น้อง (Bros) ของเราชนะเสมอ!!” กลับกัน พนักงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังอย่าง Standard & Poors กลับอีเมล์คุยกันว่า “สถาบันจัดอันดับกำลังเลี้ยงปีศาจให้ตัวใหญ่และเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ปีศาจตัวนั้นก็คือ CDO”
ความหายนะรุกคืบมาถึง Lehman Brothers ในปี 2008 ราคาหุ้นร่วงลงถึง 77% ในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ผู้บริหารทุกคนเรียกร้องให้ฟุลด์ขายส่วนที่เป็นตราสารที่ผูกกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ออกให้หมด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็กล่าวอย่างเดียวกันว่า Lehman Brothers จะไม่ถูกลดอันดับหรือเกรดความน่าเชื่อถือลง หากบริษัทขายยูนิตที่บริหารสินทรัพย์ หรือไม่ก็ถอนทุนคืนจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงระบายตราสารแห่งความเสี่ยงนั้นออกไปก่อนที่ทั้งหมดจะแย่ไปกว่านี้ (แน่นอนว่าความเสี่ยงนั้นไม่ใช่เฉพาะกับบริษัทเอง แต่เป็นความเสี่ยงต่อระบบด้วย)
ช่วงนั้นฟุลด์พยายามเร่ขาย MBS และสินทรัพย์ทางการเงินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่ออกให้หมด แต่ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นใน CDO และ MBS เพราะพวกเขาไม่ได้รับเงินจากผู้กู้บ้านอย่างที่ควรจะได้รับ แน่นอนว่าสาเหตุมาจากการไม่คัดกรองคุณสมบัติผู้กู้บ้านและการปั่นการออกตราสาร ทำให้ราคาบ้านมีมูลค่าสูงเกินเอื้อมถึง บรรดานักลงทุนพากันทิ้ง Lehman Brothers ไปเรื่อย ๆ
ราคาหุ้นถลาลงถึง 93% ในวันที่ 12 กันยายน 2008 หมดเวลาแล้วสำหรับฟุลด์ ในที่สุด Lehman Brothers ก็ล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2008
[caption id="attachment_28138" align="aligncenter" width="1200"]
พนักงาน Lehman Brothers ที่ต้องทยอยเก็บของออกจากสำนักงาน[/caption]
เมื่อศูนย์กลางอย่าง Lehman Brothers ล้มละลาย กองทุนต่าง ๆ และธนาคารที่ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่างพากันล้มเป็นทอด ๆ เหมือนโดมิโน ขณะที่สถาบันการเงินทั้งประเทศลอยคอรอความช่วยเหลือ แต่สำหรับฟุลด์ไม่ใช่แบบนั้น เขาล้มบนฟูก ด้วยเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ที่เคยได้บวกรวมกับผลประโยชน์ทั้งหมด เช่น ค่าตอบแทนจากโบนัส เงินเดือน สิทธิความเป็นเจ้าของ รวมแล้วเขาได้เงินกลับบ้านจากการทำบริษัทล้มละลายไปประมาณ 350 ล้านดอลลาร์
ระหว่างการตรวจสอบโดยนักกฎหมาย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฟุลด์ได้รับคำถามจากนักกฎหมายว่า “คุณสงสัยบ้างมั้ยว่า ทำไม Lehman Brothers ถึงเป็นบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือและปล่อยให้ล้มละลาย” ฟุลด์ตอบกลับไปว่า “แม้กระทั่งวันที่ผมถูกฝัง ผมก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐถึงไม่ช่วยเรา”
แต่ดูเหมือนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลจะมีคำตอบให้กับฟุลด์ก่อนจะถึงวันที่เขาโดนฝัง จากการตรวจสอบของหน่วยสอบสวนอย่างเป็นทางการ แอนตัน อาร์. วาลูคัส (Anton R. Valukas) รายงานว่า ระหว่างบริษัทประสบปัญหา มักอยู่ในห้วงเวลาอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องใช้เหตุและผลในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา แต่บริษัทเลือกที่จะตกแต่งงบการเงินให้ดูดี ซึ่งดูจะหลอกลวงได้ทั้ง CFO และผู้ตรวจสอบบัญชี นอกจากนี้ ฟุลด์ได้หลอกลวงผู้ถือหุ้นโดยประกาศว่า เงินสดและสภาพคล่องของบริษัทมีเหลือเป็นพันล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายให้กับคู่สัญญา แต่แท้จริงแล้ว เงินนั้นไม่มีอยู่จริงหรือไม่ก็ไม่เพียงพอ ในปี 2008 เขาประกาศว่าสภาพคล่องของบริษัท หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าความสามารถที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์อื่นมาเป็นเงินสดนั้นมีมากถึง 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งที่จริงตัวเลขมีอยู่แค่ 2 พันล้านดอลลาร์
การล้มละลายและความเสียหายที่ล้มต่อ ๆ กันไปครั้งนั้น เป็นสิ่งที่เตือนความจำว่าทุกความเสี่ยงควรมี “การจัดการความเสี่ยง” ที่ดี และไม่มีอะไรที่อยู่ได้ยั่งยืน แม้กระทั่งความร่ำรวยในโลกมายาแห่งการเงิน
ย้อนไปสมัยเริ่มต้น เมื่อครั้ง เมเยอร์ เลห์แมน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเสียชีวิตในปี 1897 คำอนุสรณ์ของเขาได้รับการจารึกไว้ว่า “เขาไม่ได้สร้างความมั่งคั่งบนความเจ็บปวดของใคร” แต่ดูเหมือน ริชาร์ด เอส. ฟุลด์ จะไม่ได้บริหารงานตามสิ่งที่ผู้ก่อตั้งฝากฝังไว้เลย
ที่มา
https://www.reuters.com/article/us-financial-lehman-idUSTRE4954DL20081007
https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1994-01-25-fi-15121-story.html
https://www.investopedia.com/articles/economics/09/lehman-brothers-collapse.asp
https://www.investopedia.com/articles/07/cdo-mortgages.asp
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย