เปิดใจพี่ผึ้ง ‘CIA’ ในนามคนขายลูกชิ้น: จะไป (ม็อบ) ในทันใด จะไปยืนเคียงข้างเธอ

เปิดใจพี่ผึ้ง ‘CIA’ ในนามคนขายลูกชิ้น: จะไป (ม็อบ) ในทันใด จะไปยืนเคียงข้างเธอ
“ถ้าไม่มาขายลูกชิ้น พี่ก็มาม็อบอยู่แล้ว” ‘รถลูกชิ้น’ กลายเป็นสัญลักษณ์และมีมที่ถูกน้อง ๆ นักศึกษาหยิบมาพูดถึงกันอย่างติดตลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะที่ไหนมีม็อบ ที่นั่นมีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงร้านลูกชิ้นหลังคาสีส้มแดงเคลื่อนขบวนไปจอดรอกันก่อนเวลานัดหมายทุกครั้ง กระทั่งเพจเฟซบุ๊กหลักอย่าง ‘เยาวชนปลดแอก’ และ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ยังหยิบรูปรถลูกชิ้นไปตัดต่อใส่เทมเพลต เพื่อบอกเวลานัดหมายในแต่ละวันกันอย่างสนุกสนาน เพราะเห็นรถลูกชิ้นต่อแถวเรียงรายกันหลายสิบคันมาหลายวัน The People เลยชวน ‘พี่ผึ้ง’ คนขายลูกชิ้นที่บอกว่า ไปมาทุกที่ที่น้อง ๆ นัดหมายชุมนุม ซึ่งเธอยังบอกอีกว่า ม็อบครั้งนี้ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับพี่ ๆ รถขายลูกชิ้นมากกว่าวันปกติกว่าเท่าตัวเลยด้วย พี่ผึ้ง เติบโตที่จังหวัดสุพรรณบุรี ยึดอาชีพขายลูกชิ้นตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอบอกว่า เคยคิดอยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนกัน แต่พอเห็นเพื่อน ๆ เรียนแล้วก็รู้สึกว่า ออกมาค้าขายเลยดีกว่าเพราะมองว่า ทำงานขายของแล้วได้เงินเลยทันที เมื่อเราถามว่า ถ้าเลือกได้ พี่ผึ้งอยากจะกลับไปเรียนจนจบปริญญาตรีไหม เธอยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่ค่ะ” พร้อมกับเล่าต่อว่า ถ้าการเมืองดีพี่ผึ้งอาจจะอยากกลับไปเรียนต่อ สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้ไม่ใช่แค่ระบบการศึกษา แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในทุกมิติเลย ก่อนเราจะถามพี่ผึ้งต่อว่า เธอรู้ข่าวเรื่องฉายานาตาชา โรมานอฟ หรือ ‘CIA’ ที่ม็อบนักเรียนนักศึกษามอบให้รถขายลูกชิ้นกันไหม พี่ผึ้งเล่าว่า ที่จริงแล้ว รถขายลูกชิ้นทุกคันไม่ได้มีกรุ๊ปไลน์หรือเทเลแกรมไว้ติดต่อส่งข่าวกันอย่างที่ลือออกไป เพียงแต่ธรรมชาติของรถขายลูกชิ้นจะประจำตามจุดต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ทำให้เมื่อมีประกาศจากทางเพจว่า วันนี้จะม็อบที่จุดไหน คนขายรถลูกชิ้นที่สแตนด์บายพร้อมสตาร์ตรถออกก็สามารถเคลื่อนตัวไปตามจุดนัดหมายได้อย่างรวดเร็ว "พอพวกเรารู้เรื่องน้อง ๆ แซวกันก็งง ๆ ปนตลกดี จริง ๆ ทุกคนตามจากเพจน้องกันหมดเลย พวกเพจเยาวชนปลดแอกอะไรแบบนี้ พอเพจลงปุ๊บ รถลูกชิ้นก็เตรียมตัวกันแล้ว อย่างพี่ขายอยู่ที่รามอินทรามาที่อนุสาวรีย์ชัยฯ วันนี้ถ้ารถไม่ติดก็ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วันนี้พอขับเข้ามาน้อง ๆ ปรบมือพูดกันว่า ‘ลูกชิ้นมาแล้ว ๆ’ เราก็งง ๆ กันว่า เอ๊ะ! เกิดอะไรขึ้น” พี่ผึ้งเล่าย้อนถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ผ่านมาให้ฟังว่า ในช่วงนั้น ทั้งเธอและสามีซึ่งประกอบอาชีพขายลูกชิ้นทอด ทั้งคู่ไม่ได้ทำงานเป็นเวลาถึง 3 เดือน เพราะโดยปกติแล้ว เวลาที่รถขายลูกชิ้นออกมาตั้งแผงจะอยู่ที่ราว ๆ บ่ายสามโมงไปจนถึงตีสอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการประกาศกฎอัยการศึกหรือ ‘เคอร์ฟิว’ และแน่นอนว่า ช่วงเวลาไพร์มไทม์ของรถขายลูกชิ้นก็พลันสลายหายไปด้วย พี่ผึ้งและสามีต้องควักเงินเก็บออกมาใช้ไปมากพอสมควร ภาระของเธอมีทั้งค่าบ้าน และค่ารถ ที่เมื่อทำเรื่องขอพักชำระหนี้ไปก็กลับได้รับการปฏิเสธจากธนาคาร เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่รออยู่ตรงหน้า เธอบอกว่า การกลับต่างจังหวัดที่จังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงเวลา 3 เดือนนั้น ไม่ได้ช่วยให้ภาระลดลงเท่าไร และหากใครที่บอกว่า ต่างจังหวัดรายจ่ายน้อยกว่ากรุงเทพฯ นั้น พี่ผึ้งยืนกรานว่า ไม่เป็นความจริง “เรายื่นขอพักหนี้ไปแต่แบงก์ตอบกลับมาว่า ไม่ผ่านการอนุมัติเพราะเป็นรถที่เพิ่งออกใหม่ ช่วงเวลา 3 เดือนที่กลับไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วเราหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายนั้นไม่เป็นความจริงเลย ใครบอกว่าต่างจังหวัดของราคาถูก ไม่จริง ยกตัวอย่างพวกของสดอย่างกุ้ง ปลา ปลาหมึก ราคาแพงมาก แพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ค่ากินค่าอยู่เทียบกันแล้วแพงกว่ากรุงเทพฯ อีก” พอโควิด-19 เริ่มซาลง พี่ผึ้งกลับมาขายลูกชิ้นที่ประจำหน้าร้านสะดวกซื้อแถวรามอินทราต่อ เธอบอกว่า ขายแถวนั้นตั้งแต่บ่ายสามถึงตีสองได้วันละ 2-3 พันบาท แต่มาขายที่ม็อบ มีรายได้อยู่ที่วันละ 4-5 พันบาท แถมยังใช้เวลาขายน้อยกว่ามาก เพียง 2-3 ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยงแล้ว ฉะนั้น ไม่ว่าม็อบจะไปตรงจุดไหนหรือเมื่อไรเธอบอกว่า พร้อมออกรถเสมอ และเห็นด้วยว่า ม็อบครั้งนี้ช่วยกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจระดับครัวเรือนได้จริง ๆ ในฐานะที่เข้ามาขายทุกวัน เห็นการเคลื่อนไหวของม็อบมาตลอดสัปดาห์ เราเลยถามพี่ผึ้งต่อว่า เธอมีมุมมองทางการเมืองอย่างไร เข้าใจข้อเรียกร้องของนักศึกษาอย่างไรบ้าง และเห็นด้วยกับม็อบหรือไม่ เธอบอกว่า ปกติร้านลูกชิ้นจะตั้งกันอยู่บริเวณรอบนอกเวที เลยอาจจะไม่ค่อยได้ยินประเด็นที่พวกเขาปราศรัยกัน แต่สำหรับตัวพี่ผึ้งเอง เธอทราบถึงข้อเรียกร้องในเรื่องการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปในส่วนอื่น ๆ เพื่อยกระดับการเมือง “ถ้าไม่ได้ขายลูกชิ้น พี่ก็มาม็อบอยู่แล้ว” คือ สิ่งที่พี่ผึ้งบอก วันไหนที่พักจากการขายลูกชิ้น พี่ผึ้งจะมาร่วมม็อบกับน้อง ๆ ด้วยเสมอ ซึ่งประเด็นที่พี่ผึ้งอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขก่อนคือ ประเด็นปัญหาปากท้องและราคาสินค้าที่แพงขึ้น ในฐานะคนค้าขาย พี่ผึ้งบอกว่า ราคาผักตอนนี้แพงมาก ราคาลูกชิ้น และราคาน้ำมันก็ขึ้นทุกวัน และอีกส่วนที่รัฐอาจจะมองไม่เห็นคือ ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนที่เธอมองว่า ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ต้องการขนส่งมวลชนที่ดี มีรถไฟฟ้าใช้ แต่คนต่างจังหวัดก็ควรได้รับสิ่งนี้เช่นกัน พี่ผึ้งยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ถ้าเลือกได้ พี่คงอยากกลับไปทำงานที่บ้านมากกว่า”  ประโยคนี้น่าจะสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ได้เป็นอย่างดี เพราะจนถึงปัจจุบัน ‘ความเจริญ’ ก็ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ มากกว่า กลายเป็นการผลักให้คนต่างจังหวัดต้องเข้ามาแสวงหารายได้ที่เมืองหลวงแห่งนี้แทน ถ้าการเมืองดี พี่ผึ้งก็คงได้เรียนหนังสือต่อ และทำงานด้วยรายได้อันมั่นคงที่บ้านเกิด ถ้าการเมืองดี เราอาจไม่ได้เจอพี่ผึ้งที่ม็อบนี้ก็ได้ . เรื่อง: พิราภรณ์ วิทูรัตน์ ภาพ: กิตติธัช ศรีพิชิต