อิสมาอิล แอนแวร์ ปาชา: นายพลผู้อยู่หัวขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในตุรกี
อิสมาอิล แอนแวร์ ปาชา หรือ เอนเวอร์ พาชา (Ismail Enver Pasha) เป็นชายจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือที่ปัจจุบันรู้จักในชื่ออิสตันบูล ประเทศตุรกี จบการศึกษาจากโรงเรียนการทหาร จากนั้นทำงานในกองทัพและเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจนได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นวีรบุรุษของกลุ่มยังเติร์ก (Young Turk) ซึ่งบทบาททางการเมืองที่สำคัญของเขาคือการพาอาณาจักรออตโตมันเข้าสู่สงครามบอลข่าน สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเข้ากับฝั่งเยอรมนี เพราะคิดว่าสงครามนี้จะต้องให้ผลประโยชน์แก่จักรวรรดิออตโตมันอย่างแน่นอน
ก่อนจะกลายเป็นทหารยศนายพล แอนแวร์คือหนึ่งในคณะปฏิวัติที่มุ่งสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อขับไล่สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ 2 แห่งออตโตมัน ลงจากบัลลังก์ ต่อมาในปี 1911 ออตโตมันทำสงครามกับอิตาลี โดยเขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานอันขันแข็งแม้จะต้องเสียลิเบียให้อิตาลีก็ตาม นายทหารท่านนี้จึงได้รับการเลื่อนยศเป็นผู้พัน ผลงานหลายอย่างที่ทำมาทำให้ในปี 1912 แอนแวร์ ปาชา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งบังฮาซี (ปัจจุบันคือเมืองเบงกาซีในประเทศลิเบีย)
อาชีพและหน้าที่การงานของเขาก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ในปี 1914 แอนแวร์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาถูกยกย่องว่าเป็น ‘วีรบุรุษแห่งการปฏิวัติ’ และแต่งงานกับเจ้าหญิงชนชั้นสูง (Princess Emine Naciye Sultan) และเข้าสู่การเป็นชนชั้นปกครองขึ้นอีกขั้น
งานแรก ๆ ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคือจัดระเบียบกองกำลังใหม่ ปลดนายทหารออกจำนวนมาก และเก็บไว้แต่คนที่คิดว่าไว้ใจได้ รวมถึงนำทหารเยอรมันเข้ามาทำงานแทนคนชาติเดียวกันที่เขาไล่ออกไป พร้อมกับพาดินแดนของตัวเองเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยไม่แจ้งให้สมาชิกคนอื่นของคณะรัฐมนตรีทราบล่วงหน้า และอนุญาตให้เรือรบ 2 ลำของเยอรมันที่กำลังหนีการติดตามของอังกฤษเข้าสู่เขตแดน
ในช่วงวัยหนุ่มเขาได้ไปฝึกฝนการรบอยู่กับกองทัพเยอรมันเป็นเวลานาน ทำให้เขานิยมชมชอบเยอรมันยิ่งกว่าใคร จึงไม่มีใครแปลกใจนักที่แอนแวร์จะไม่วางตัวเป็นกลาง และพร้อมยืนหยัดอยู่ข้างเยอรมัน อย่างไรก็ตาม แม้แอนแวร์จะเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ มียศตำแหน่งหลากหลาย ทว่าการวางแผนการรบของเขามักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก การพยายามรวมชนชาติเติร์กของเขาถือว่าพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
นอกจากนี้การพาประเทศเข้าสู่สงครามโดยมิได้ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ซ้ำยังส่งกองกำลังบุกไปยังรัสเซียจนทำให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ (เอากองกำลัง 25,000 คน ของตัวเองไปสู้กับกองกำลังรัสเซีย 100,000 คน) หลายสิ่งหลายอย่างเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าแอนแวร์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีสงคราม แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ลาออก
ความอับอายจากการบริหารกองทัพยอดแย่ทำให้แอนแวร์พยายามกู้หน้าตาชื่อเสียงคืนมา หันเหความสนใจไปยังการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการจัดตั้งกองกำลังลับที่เรียกกันว่า ‘เอสโอ’ (Special Organization: SO) ส่งเข้าไปแทรกแซงตามเมืองต่าง ๆ เก็บข่าวข้อมูลของชาวกรีกออตโตมัน ชาวอาร์เมเนีย ชาวอัสซีเรีย แล้วจึงนำกำลังเข้าจับกุมเพื่อเนรเทศออกนอกแผ่นดิน ถึงขั้นหนักสุดคือการจับไปยังค่ายกักกันรอวันสังหารหมู่ เพราะนโยบายหลักของการตั้งกองกำลังนี้คือการข่มเหง ปล้นสะดม และสังหารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ชาวอาร์เมเนียและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์ และบางคนก็สนับสนุนรัสเซีย แอนแวร์ใช้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา การสนับสนุนรัสเซียเป็นข้ออ้างในการจับกุมผู้คนจำนวนมาก ไม่มียกเว้นแม้คนที่มีเชื้อชาติต่างจากแอนแวร์จะเป็นเด็ก คนท้อง คนชรา เกิดการต่อสู้หนักถึงขั้นที่นายทหารใต้บังคับบัญชาของแอนแวร์อ้างว่านายตัวเองเคยพูดไว้ว่า “ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะต้องถูกกำจัดออกไป” และพวกเขาก็จะทำตามคำสั่งนั้นอย่างเคร่งครัด
Henry Morgenthau เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำจักรวรรดิออตโตมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ระบุถึงการพบกันกับ แอนแวร์ ปาชา แบบสั้น ๆ ว่า “เป็นเติร์กที่ป่าเถื่อนและกระหายเลือด”
แม้จะมีอำนาจล้นมือ ในที่สุดก็มีคนไม่ยอมทนกับการกระทำผิดศีลธรรมอีกต่อไป ประกอบกับต่างประเทศก็จับตาดูนโยบายทางทหารและการเมืองอย่างใกล้ชิด แอนแวร์จึงตัดสินใจหนีไปยังเยอรมนีเมืองที่เขารักในปี 1918 และพยายามผูกมิตรกับรัสเซียที่เป็นศัตรูเก่า แต่ถึงจะพยายามมากแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้
ในเวลาเพียงไม่กี่ปี แอนแวร์ได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติโดยมีจำนวนคร่าว ๆ ราว 800,000-1,800,000 คน ที่ต้องสังเวยชีวิตไปเพราะอุดมการณ์ของเขา รวมถึงการพาประเทศเข้าสู่สงครามโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรม บังคับให้เนรเทศชาวอาร์เมเนียจำนวนมากออกจากประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต นายทหารยศใหญ่ต้องลี้ภัยทางการเมืองและไม่สามารถบัญชาการกองทัพได้อีกต่อไป
วันที่ 4 สิงหาคม 1922 ขณะที่แอนแวร์กับพรรคพวกกำลังรวมพลกัน พวกเขาถูกบุกโจมตีจนเกิดการปะทะครั้งใหญ่ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้แอนแวร์เสียชีวิตระหว่างต่อสู้ ปิดตำนานผู้นำทหารที่ไร้ประสิทธิภาพไปแบบงุนงงว่า ตกลงแล้วเขาเป็นวีรบุรุษหรือเป็นทรราชกันแน่
ที่มา
https://www.dailysabah.com/portrait/2016/08/20/enver-pasha-hero-or-villain
https://www.britannica.com/topic/army
https://www.greek-genocide.net/index.php/overview/perpetrators/120-ismail-enver-pasha-1881-1922
#ThePeople #History #Politics #การเมือง #ประวัติศาสตร์ #สงครามโลก #สงครามโลกครั้งที่1 #ทหาร #ปฏิวัติ #นายพล #สังหารหมู่ #ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์