read
politics
29 ต.ค. 2563 | 11:53 น.
บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ
Play
Loading...
“บรรยากาศการทำข่าวเหตุการณ์ที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ทำให้ผมมีมุมมองต่อสังคม การเมืองที่เปลี่ยนไป”
ขาประจำม็อบ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี กับชายหนุ่มใบหน้าเปื้อนยิ้ม ถือประคองกระด้งที่เต็มไปด้วยขนมปังกล้วยหอมเกาลัดหลายกิโลกรัม เดินแจกผู้คนในม็อบด้วยไมตรี
#ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คือแฮชแท็กแคมเปญส่วนตัวเล็ก ๆ ของเขาที่วางคู่กับขนมปังในกระด้ง ก่อนที่จะมีแรงขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า หากท้องหิวจะคิดอะไรไม่ออก มาทานขนมปังให้อิ่มท้องก่อน ค่อยเดินกันต่อไป
เจอเขาที่ม็อบ อย่าลืมทักทาย นอกจากได้สนทนากัน อาจจะได้ขนมปังคลายหิว(หากไม่แจกหมดเสียก่อน)
เกรท บัณฑิต เทียนรัตน์ คือ ชายต้นเรื่องนี้
เมื่อ The People เริ่มต้นคำถามด้วยการพูดคุยถึงประวัติชีวิตของเขา ผ่านอะไรมาเยอะมาก ในอดีตเคยเป็นบรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิงที่ทีวีสาธารณะช่องหนึ่ง, แชมป์ร้องเพลงเวทีศาลาเฉลิมกรุง, นักเขียนสารคดีเจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊ค “เนิร์ดชิ่งโฮม เรื่องเล่าไกลบ้านกับชานชรา” ที่เคยไปตามฝันที่ออสเตรเลียแล้วมีโอกาสทำงานที่บ้านพักคนชราจนออกมาเป็นเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้
เคยเป็นอะไรอีก...เชฟร้านอาหาร, ผู้กำกับหนังสั้น, นักแสดงหนังโฆษณา, อาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์, ผู้ดำเนินรายการภาพยนตร์, พิธีกรงานอีเวนต์ต่าง ๆ จนล่าสุดเป็นคนอบขนมปัง ทำขนมปังขายออนไลน์
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาสนใจการเมือง คือช่วงที่เขาทำงานสื่อ ในช่วงที่ปรอทอุณหภูมิการเมืองไทยสูงขึ้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เมื่อปี 2553...
“สนใจการเมืองสมัยยังทำข่าว แม้โต๊ะข่าวที่ผมสังกัดอยู่จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่การอยู่ในบรรยากาศการทำข่าวเหตุการณ์ล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 ก็ทำให้ตาสว่างชนิดที่ไม่สามารถอดทนต่อลัทธิมาเฟียได้อีกต่อไป ผมเลยประกาศจุดยืนของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้สูญเสียมิตรสหายไปอย่างมากมาย แต่ก็ได้มิตรสหายใจตรงกันมาอีกมหาศาล แต่นึกย้อนไปไม่เคยเสียใจเลยที่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง แม้ต้องอาศัยเวลาถึงสิบปีกว่าสังคมส่วนใหญ่จะหันมาปฏิเสธเผด็จการอย่างเสียงดังฟังชัด”
ความสนใจในเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น ทำให้เกรทกลายเป็นขาประจำผู้เข้าไปสังเกตการณ์ม็อบต่าง ๆ ใน 10 ปีที่ผ่านมา
“ผมไปสังเกตการณ์ม็อบมาตั้งแต่สมัยเสื้อแดงปี 2553 ร่วมเดินประท้วงสมัยรัฐประหารปี 2557 แม้แต่ช่วงม็อบกปปส. ก็ไปสังเกตการณ์ตามที่ต่าง ๆ เป็นคนชอบไปม็อบ(หัวเราะ) มีส่วนร่วมอยู่เนือง ๆ ในกิจกรรมต้านรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาตามแต่ที่มิตรสหายฝั่งประชาธิปไตยจะขอแรง”
ส่วนจุดเริ่มต้นของการเป็นคนอบขนมปัง คงคล้ายกับหลายคนที่ชีวิตผันตัวมาเป็นเชฟ ทำอาหาร ทำขนมในช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ช่วงโควิด-19 ได้หันมาลองทำขนมปัง เพราะส่วนตัวชอบทำอาหาร แต่ไม่เคยทำขนมมาก่อน อยากลองเล่นกับยีสต์ดูก็เลยเลือกทำขนมปัง ทดลองไปเรื่อย ๆ หาสูตรจากอาจารย์กูเกิลและยูทูบ ได้บ้างเสียบ้าง จนในที่สุดก็สำเร็จจนพอกินได้ ประกอบกับโควิด-19 ทำให้เกิดการขายออนไลน์ในรูปของมาร์เก็ตเพลส จึงลองเริ่มขายขนมปังดูในกรุ๊ปหมู่บ้านมาร์เก็ตเพลส ก็พอมีคนชมว่าอร่อย ได้ใจจึงลองขายให้มิตรสหายในเฟซบุ๊ก ก็พบว่ามีคนชอบกินขนมปังฝีมือเราอยู่มากพอสมควร อาจเป็นเพราะใช้วัตถุดีทุกอย่าง โดยเฉพาะการเลือกใช้เกาลัดมาผสมกับกล้วยหอม ลูกเกดและแครนเบอร์รี ใช้นมและเนยแท้ และนวดเป็นก้อนใหญ่หนักราวหนึ่งกิโล จนหลายคนถ่ายรูปเทียบขนาดกับศีรษะมาอวดกัน ก็สนุกสนานกันดีทั้งคนทำและคนกิน”
ฝึกอบขนมปังอยู่หลายเดือน จนสูตรขนมปังกล้วยหอมเกาลัดเริ่มนิ่ง เป็นช่วงจังหวะที่ม็อบฝั่ง “ประชาธิปไตย” เริ่มก่อตัวขึ้นมา
ณ เวลานั้น ขนมปังจึงมาบรรจบกับการเมือง ก่อนเริ่มม็อบทุกครั้ง เขาจะใช้เวลาอยู่หลายวันในการเตรียมการอบขนมปังจำนวนหลายกิโลกรัม(เคยทำสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม!) เป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับคนอบขนมปังตัวเล็ก ๆ ที่บางครั้งก็ทำงานคนเดียว แต่ถ้างานใหญ่ก็มีครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ
“ขนมปังมาบรรจบกับการเมืองได้ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากทราย เจริญปุระ ทรายประกาศตนเป็นสายซัพฯ(ซัพพอร์ต)ของม็อบ ก่อนจะได้รับฉายาเป็นแม่ยกแห่งชาติในภายหลัง เริ่มจากตอนที่ทรายได้ให้ ตูน ธเนตร อนันตวงศ์ (อดีตนักโทษการเมืองที่ภายหลังโดนยกฟ้อง) ทำไอติมมาแจกผู้ชุมนุมทางการเมือง ผมอยากกินบ้าง จึงถามทรายไปว่าอยากเอาขนมปังไปแจกคู่กับไอติมได้มั้ย ทรายตอบว่าได้(หัวเราะ) จึงเริ่มทำ #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง นำเอาขนมปังไปแจกคู่กับตูนครั้งแรกที่ม็อบสกายวอล์ค(สะพานข้ามแยกปทุมวัน 8 สิงหาคม 2563) ที่มีมาสคอตกระทิงแดง
“จากนั้นก็ไปแจกที่ธรรมศาสตร์ที่มีการเสนอการปฏิรูปสิบข้ออันลือลั่น แรก ๆ นำไปแค่ก้อนสองก้อน ก็พอมีคนชมว่าอร่อย พอผมนำรูปกิจกรรมมาลงในเฟซบุ๊ก ก็เริ่มมีมิตรสหายอยากสมทบในแคมเปญด้วยล้นหลาม จนต้องเพิ่มเจ้าภาพร่วมขึ้นมา จากนั้นจึงสามารถทำขนมปังได้มากขึ้น จนล่าสุดม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล(14 ตุลาคม 2563) สามารถทำไปแจกได้มากถึง 100 ก้อน 100 กิโล แจกจนหมดเกลี้ยงภายในไม่ถึง 2 ชั่วโมง
"ม็อบปทุมวัน(ม็อบไม่มีแกนนำ 16 ตุลาคม 2563) คือแบก 9 กิโลฯ ขึ้นไหล่ แล้วไปโดนฉีดน้ำปราบการชุมนุมกับเขาด้วย จนเนื้อตัวและหน้าตาแสบไปหมดจากสารเคมี กลับถึงบ้านก็ยังแสบ แต่ขนมปังแม้จะเปียกฉ่ำแต่ปลอดภัยเพราะ wrap(ห่อ)ไว้อย่างดี(หัวเราะ)"
นี่คือน้ำใจในม็อบที่เกรทเล่าให้ฟัง
"จะพยายามแจกให้คนที่คิดว่าหิวแน่ ๆ อย่างบรรดาน้องนักข่าวภาคสนามและทีมงาน ที่กรำงานจนดึกดื่น ด้วยความที่เราเป็นคนข่าวมาก่อนด้วย หลายคนที่รับขนมปังคือมารยาทดีมาก หยิบแค่คนละชิ้น หรืออย่างมากสองชิ้น แล้วให้เหตุผลประกอบว่าขอเอาให้เพื่อนด้วย หรือบางคนไม่รับก็บอกว่าให้คนที่หิวแล้วกัน หลายคนมาช่วยถือกระด้งเอาไปแจกก็มี เพราะเห็นว่าเรานำขนมปังมาเยอะ"
การแจกขนมปัง ทำให้เกรทได้รับรู้เรื่องราวของผู้คนในม็อบ ที่ต่างคนมาจากต่างสถานที่ต่างวัย ที่มาลงพื้นที่ร่วมกัน...
"มีเพื่อนในโซเชียลมีหลายคนที่เป็นเจ้าภาพร่วมก็ได้เจอะเจอกันในม็อบ ยิ้มให้กัน และเจ้าภาพร่วมซึ่งมีจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เชียงราย ชัยนาท หนองคาย ไปจนถึงสงขลา เบตง แม้มาไม่ได้ ก็ส่งกำลังใจมาหลังไมค์เสมอ หลายคนบอกว่าออกหน้ามากไม่ได้ แต่ก็ยินดีช่วย แสดงให้เห็นว่ามีคนที่ต้องการเห็นประเทศก้าวหน้าแทรกตัวอยู่ในสังคมไทยอย่างมากมาย
"หลายครั้งได้แจกขนมปังให้คนสูงวัย ลุง ๆ ป้า ๆ ที่มานั่งแปะอยู่ สังขารไม่อำนวยแต่ใจสู้ ลุงเสื้อแดงบางคนบอกว่าสู้มาตั้งแต่ปี 2516 ตอนเป็นนักศึกษา ตอนนี้ดีใจที่นักศึกษากลับมาม็อบอีกครั้ง เพราะตอนปี 2553 คือนักศึกษาไม่ออกมาเลย เจอน้องผู้หญิงวัยมัธยมมาคนเดียวจากอยุธยา หอบไข่ต้มที่ต้มเองมาแจกลังใหญ่ เลยยืนช่วยๆ กันแจก คุยเรื่องการเมืองกันอย่างออกรสออกชาติ
"เจอคนในวงการหนังไทยด้วยกันมากมาย แสดงว่าหนังไทยไม่ทิ้งประชาชน(หัวเราะ) ประทับใจสุดคือเจอคนที่หาตัวยากอย่างพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่หน้าสถานทูตเยอรมัน
"...ยังไม่มีโอกาสแจกขนมปังให้แกนนำ เพราะเข้าไม่ถึงตัว และหลายคนตอนนี้ก็อยู่ในคุกไปแล้ว"
ทำไมต้องแจกขนมปังในม็อบ เกรทอธิบายว่า มาจากความเชื่อส่วนตัวของเขาที่ว่า ประชาธิปไตยที่ดี คือ ประชาธิปไตยที่กินได้
“คนเราเรื่องกินนั้นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมเป็นสายกินอยู่แล้วด้วย ในเมื่อกองทัพเดินได้ด้วยท้อง ประชาธิปไตยก็ต้องเดินด้วยท้องเช่นเดียวกัน และจุดเปลี่ยนที่ผมคิดว่าทำให้คนไทยหันมาตาสว่าง เกิดจากยุคทักษิณที่เขาทำให้ประชาธิปไตยมันกินได้
“คนเราพอรู้เสียแล้วว่า ประชาธิปไตยทำให้เขามีความหวัง เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ทำมาหากินได้อย่างเสรีภายใต้โครงสร้างความเจริญที่เข้าถึงได้ ในเมื่อมาเจอรัฐประหารตัดตอนเข้าหลายครั้งหลายหน คนจึงรู้สึกได้ว่ากำลังถูกทำให้กลับไปอดอยากปากแห้งอีก จึงไม่แปลกที่จะไม่มีใครยอมอีกต่อไปแล้ว เราจะเดินด้วยท้องของเราเอง นอกจากโครงสร้างของความเสมอภาคที่เราทุกคนมีโอกาสอิ่มท้องได้เท่า ๆ กัน นี่คือความหมายที่ผมแฝงไว้ในขนมปังทุกชิ้นในม็อบ”
เกรทดีใจที่ฟีดแบ็คขนมปังที่เขาทำออกมาดีมาก แต่เขาบอกว่า อันที่จริงอยากหยุดแจกขนมปังในม็อบแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าเหนื่อย หรือหมดน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางความคิด
แต่วันที่เขาหยุดแจก มันเป็นวันที่เขาบรรลุความฝันเรียบร้อยแล้ว
“อยากจะหยุดแจกมาก ๆ เพราะนั่นหมายถึงว่าวันนั้นเราจะไม่มีม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยอีกแล้ว พวกเราทุกคนเดินด้วยท้องเราเองได้แล้ว”
หิวเมื่อไหร่ อย่าลืมมองหากระด้งขนมปัง #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Politics
The People
แมวดิ้นเบเกอรี่
ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง