The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ

The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ

“กระดานหมากคือโลกทั้งใบที่ถูกย่อส่วนให้เหลือ 64 ช่อง โลกที่ฉันควบคุมมันได้ ปกครองมันได้ และเดาทางได้”

การเล่นหมากรุกไม่ใช่แค่จับหมากย้ายไปมาบนกระดาน แต่ยังต้องพึ่งพาการคิด วิเคราะห์ การจำ การประเมินเพื่อคาดเดาฝ่ายตรงคาด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว หลายคนหลงใหลการเล่นหมากรุก ดำดิ่งจนกลายเป็นเซียน ทว่าก็มีหลายคนที่มองว่าหมากรุกเป็นเรื่องน่าเบื่อที่เข้าถึงยากเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น ซีรีส์เรื่อง The Queen’s Gambit ก็สามารถพาคนที่หลงใหลการเล่นหมากรุกจนหมดใจกับคนที่ไม่สนหมากรุกมาก่อนได้มาพบกัน The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ The Queen’s Gambit หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘เกมกระดานแห่งชีวิต’ เล่าเรื่องราวของเด็กสาวกำพร้านามว่า ‘เบธ’ หรือ เอลิซาเบธ ฮาร์มอน (Elizabeth Harmon) ที่ถูกส่งตัวไปอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า เรื่องราวน่าสลดของเด็กสาวพูดน้อยผู้ไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต้องพลิกผันอีกครั้งเมื่อเบธมีโอกาสได้รู้จักกับหมากรุกเป็นครั้งแรกผ่าน ‘ไชเบล’ ภารโรงเฒ่าคนหนึ่งได้หัดให้เธอเล่นหมากรุก การได้สัมผัสหมาก พาเบี้ย ม้า เรือ คิง และควีนเดินบนกระดาน ทำให้ตัวเองกับไชเบลรู้ถึงพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิดที่กำลังรอวันจะได้เฉิดฉาย หากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจะเล่นหมากรุกในยุค 2000s ก็คงจะไม่มีอะไรแปลกประหลาดน่าสนใจนัก ทว่าเบธกลับกลายเป็นเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกายุค 60-70s ในช่วงเวลาที่เด็กสาวจะต้องร้องรำทำเพลง หัดทำงานบ้าน เย็บปักถักร้อย ถ้าเด็กผู้หญิงจะเล่นหมากรุก พวกเธอก็เป็นได้แค่นักเล่นปลายแถว ไม่มีวันกลายเป็นเซียนหมากระดับจังหวัดหรือระดับประเทศได้อย่างแน่นอน หรือถ้าเป็นแชมป์ ก็จะเป็นแชมป์ประเภทหญิงไม่มีวันเทียบเท่าแชมป์ผู้ชาย ทว่าพรสวรรค์ที่ติดตัวเธอมากลับทำให้ค่านิยมเก่าฝังหัวเหล่านี้ต้องสั่นคลอน เพราะด้วยวัยเพียงสิบกว่าขวบสามารถเล่นหมากรุกทีเดียว 11 กระดาน เอาชนะนักเล่นชายในชมรมหมากรุกมัธยมฯ ได้อย่างสบาย ๆ The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ เด็กผู้ชายบางคนหัดเล่นหมากรุกตั้งแต่อายุ 4 ขวบ มีพ่อแม่ซื้อกระดานให้ตั้งแต่แรก แต่เด็กกำพร้าอย่างเบธไม่สามารถซื้อได้แม้กระทั่งนิตยสารหมากรุกราคาไม่กี่เหรียญ เมื่อเธอบอกกับครอบครัวอุปการะว่าอยากจะทำงานพิเศษ เป็นเด็กล้างจานหรืออะไรก็ได้เพื่อเก็บเงินซื้อหมากรุกหรือเพื่อเป็นเงินค่าเดินทางไปแข่งขัน เบธกลับถูกห้ามเพราะเด็กสาวที่ทำงานก็มีแต่เด็กผู้หญิงผิวดำเท่านั้น รวมถึงอาการติดยาหลอนประสาทและการติดแอลกอฮอล์ก็อาจทำให้ความฝันของเธอห่างไกลขึ้นไปทุกที “เธออายุเท่าไหร่เนี่ย.. แต่อย่าบอกเลย รู้ไปก็เจ็บใจตัวเองเล่นเปล่า ๆ” ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่เบธได้ยินบ่อยในเรื่อง การเล่นหมากรุกที่ถือเป็นงานอดิเรกของผู้ชายแพ้เด็กสาวตัวเล็ก ๆ คือสิ่งที่ค่อนข้างสะเทือนใจต่อชายสมัยนั้น   เมื่อเบธเริ่มไต่ระดับในวงการเซียนหมาก สื่อก็ให้ความสนใจแค่เพราะว่าเป็นเด็กผู้หญิง ส่วนสมาคมหมากรุกแห่งสหรัฐก็ไม่ค่อยนิยมชมชอบเธอเท่าไหร่นัก ซึ่งตัวของเบธเองก็ไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมการที่ผู้หญิงเล่นหมากรุกเก่งถึงต้องเป็นเรื่องแปลกที่ทำให้สังคมตื่นเต้นได้ขนาดนี้ The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ นอกจากประเด็นสังคมที่ทำให้เรามองเห็นภาพชีวิตของผู้คนในยุค 60s ทั้งชายหญิง The Queen’s Gambit ยังเผยให้เห็นความตึงเครียดทางอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝั่งพยายามเอาชนะกันตลอดเวลา รวมถึงการเล่นหมากรุกที่โซเวียตมักได้ยิ้มเยาะฝั่งอเมริกาเสมอ เพราะเซียนหมากรุกที่เก่งที่สุดในโลกคือ วาซิลี บอร์กอฟ ที่เป็นชาวโซเวียต และเขาคือคนที่เบธพยายามจะก้าวข้ามไปให้ได้ เกมหมากรุกดุเดือดที่ถึงแม้จะไม่มีการต่อสู้กันแบบหนังแอกชัน มีเพียงการนั่งเฉย ๆ สบตา ตัดสลับไปกับการดูหมากบนกระดาน แต่ก็สร้างความรู้สึกลุ้นระทึกได้น่าประทับใจ คนที่รู้วิธีการเล่นหมากรุกอาจจะตื่นเต้นมาก แต่ถึงอย่างนั้นคนที่ไม่รู้วิธีเล่นหมากรุกหรือไม่เคยรู้จักคลุกคลีกับสิ่งนี้มาก่อนก็สามารถอินตามได้ง่าย ๆ เพราะแสง สี ดนตรี อารมณ์ของโทนหนัง และการแสดงของเหล่านักแสดงก็กล่อมเกลาให้เราตั้งใจดูแบบไม่รู้ตัว The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ นอกเหนือเราจะได้ติดตามเบธที่พยายามไต่เต้าไปถึงจุดสูงสุดของวงการหมากรุก ระหว่างทางที่เอลิซาเบธกำลังก้าวเดินก็สำคัญไม่แพ้กัน หากไม่มีคนรอบข้างคอยช่วยเหลือ เชื่อได้เลยว่าต่อให้เป็นสุดยอดอัจฉริยะหรือสมองใสแค่ไหนก็ต้องมีเป๋ไปไม่น้อย The Queen’s Gambit ทำให้เราเห็นว่าโลกแห่งความจริงมันไม่ง่าย การจะทำอะไรสักอย่างต้องมีทั้งเงิน ความสามารถ ความทะเยอทะยาน และมิตรภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องรู้จักผ่อนคลาย ให้เวลาตัวเองได้พักหายใจบ้าง ซึ่งการพักนั้นอาจเป็นการพักที่ดีหรือถลำลึกไปกับสิ่งมัวเมาจนตกหลุมลึกขึ้นไม่ได้ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์เพื่อนและครอบครัว และความมุ่งมั่นของตัวเองคือสิ่งที่จะกล่อมเกลาเพื่อพาเธอไปถึงเส้นชัย The Queen’s Gambit: การต่อสู้ของเซียนหมากรุกหญิงในโลกของบุรุษ The Queen’s Gambit ดัดแปลงจากนวนิยายของ วอลเธอร์ เทวิส โดยได้ สก็อต แฟรงค์ (Scott Frank) นั่งแท่นเป็นผู้กำกับ เขาทำให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศของอเมริกาและโซเวียตยุคเก่า ที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือคอสตูมสุดอลังกับแฟชั่นยุควินเทจของเอลิซาเบธ ฮาร์มอน ที่สวยงามจัดเต็มในทุกช่วงทุกตอน รวมถึงฝีมือการแสดงที่เรียกว่าเอาอยู่ของ อันยา เทเลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) นักแสดงสาวมาแรงมากความสามารถ ประกอบกับหน้าตาชวนค้นหาของเธอ ทั้งหมดตราตรึงเราให้ดูซีรีส์ 7 ตอน ให้จบบริบูรณ์ได้อย่างไม่ยากเย็น และเก็บไว้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะบอกต่อกับคนอื่นว่าลองเปิดใจดูสักครั้ง แม้ว่าคุณจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับหมากรุกเลยก็ตาม    ที่มา https://www.netflix.com/th-en/title/80234304 https://www.theguardian.com/tv-and-radio/2020/oct/23/the-queens-gambit-review-chess-anya-taylor-joy-walter-tevis-netflix https://www.forbes.com/sites/paultassi/2020/10/26/queens-gambit-is-better-than-most-other-netflix-series-for-one-simple-reason/#17cf42406fd1   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์