จากคนตุลาฯ สู่คนขับรถขยายเสียงให้ม็อบ ภารกิจส่งไม้ต่ออุดมการณ์ของ ‘ลุงสุธี’
“คนรุ่นเราเปลี่ยนแค่ประตูหน้าต่าง แต่เด็กรุ่นนี้เขาขอสร้างบ้านหลังใหม่”
ขบวนการของนักเรียน-นักศึกษา ในห้วงช่วงเวลานี้ไม่ได้มีการตั้งเวทีด้วยฐานที่มั่นเหมือนก่อน แต่พวกเขาเลือกที่จะพึ่งพิงรถขยายเสียง ที่มีความคล่องตัวและสามารถขยับขยายเคลื่อนที่ไปตามท้องถนนได้เรื่อย ๆ
ในช่วงเวลาที่รถกระบะปิ๊กอัปจอดเทียบฟุตบาต ปล่อยให้แกนนำได้สื่อสารกับผู้ชุมนุมบริเวณนั้น เรานึกสงสัยขึ้นมาว่า คนขับรถขยายเสียง ที่พาเอาอุดมการณ์การต่อสู้อันหนักแน่นที่ไปมาแล้วหลายต่อหลายแห่งนั้น มีมุมมองต่อการเมืองและสังคมปัจจุบันอย่างไร The People เลยถือโอกาสเข้าไปชวน ‘ลุงสุธี’ คนขับรถขยายเสียง ที่กำลังนั่งพักรับประทานอาหารพูดคุยระหว่างพักจากการขับรถพาน้อง ๆ ไปสื่อสารกับผู้คนที่กำลังรอพวกเขาอยู่
ลุงสุธี ปัจจุบันอายุ 54 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดตรัง หลังเรียนจบวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะ ก็ตัดสินใจสมัครเป็นทหารได้อยู่ 1 ปี และออกมาทำการค้าขายเหมือนกับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ไม่นาน เขาย้ายเข้ากรุงเทพฯ และเลือกที่จะลงหลักปักฐานที่จังหวัดนนทบุรีได้ 10 ปีแล้ว ในช่วงระหว่างที่ทำการค้าขาย ลุงสุธีก็สมัครเรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย สาขาพัฒนาชุมชน จนได้วุฒิการศึกษาปริญญาตรีในที่สุด
หลังจากย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ได้สักพัก ลุงสุธีเริ่มมองเห็นปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กรุงเทพฯ กลายเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี เพราะอำนาจส่วนกลางที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้พัฒนาทุกภาคส่วนอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้เขาตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ถนนสายการเมืองอย่างจริงจังก็คือ เหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ปี 2535 ที่ลุงสุธีได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
“ย้อนกลับไปตอนเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ ๆ เริ่มทำงานแบบคนหนุ่มสาว เหตุการณ์ที่เราเจอคือ พฤษภาฯ ทมิฬเป็นเหตุการณ์แรกที่เริ่มรู้สึกว่า อยากเรียนรู้เรื่องการเมือง เหมือนกับคนหนุ่มสาวสมัยนี้แหละ แต่ตอนนั้นมันเป็นเรา ตอนนี้เป็นเขา วันนี้ผมมาทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนเขา ให้เขาได้แสดงออก ตอนนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เราควรมีส่วนร่วมในทุกด้าน หลังจากนั้นก็พาตัวเองเข้าไปสู่ถนนการเมือง ลงเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น แล้วก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดตรังอีก แต่ยังไม่ได้รับโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ เพราะพรรคถูกยุบเสียก่อน”
เราถามย้อนกลับไปอีกว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ’35 ลุงสุธีผ่านเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ มาอีกไหม คุณลุงตอบกลับมาว่า “ลุงเคยเข้าป่าไปกับพี่ชายตอน 6 ตุลาฯ”
“ผมทัน 6 ตุลาฯ ในตอนที่อายุแค่ 10 ขวบ ตอนนั้นที่ภาคใต้เริ่มมีนักศึกษาเข้าป่ากันแล้ว ด้วยอาชีพของคนใต้คือ มีสวนยางต้องไปอยู่สวนยางกันเป็นแรมเดือน ผมไปกับพี่ชาย ตอนนั้นพี่ชายได้ชื่อว่า เป็นสหาย เป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เขาบอกว่า จะพาไปดูดนตรี ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องรู้ราวเท่าไร ปรากฏว่า ดนตรีที่พี่ชายบอกมารู้ทีหลังว่า นักศึกษาเขาเล่นดนตรีกันในป่า การหนีเข้าป่าเขาจะแบ่งเป็นเขตงานกัน เขตงานจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ภาคเหนือ ภาคใต้ ที่ผมเข้าไปก็ไปเป็นค่ายหนึ่ง ที่นักศึกษาจากสมัชชาหรือที่ไหนก็แล้วแต่ไปรวมตัวอยู่ ซี่งมาเข้าใจทีหลังตอนเราเริ่มนำจิ๊กซอว์มาต่อเรียงกันว่า การเรียนรู้การเมืองของเราเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว”
แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ความมากนัก รู้เพียงแค่ว่าพี่ชายจะพาเข้าไปฟังดนตรี แต่พอโตขึ้นมา คุณลุงเริ่มนำเรื่องราวมาร้อยเรียงจนเกิดเป็นจิ๊กซอว์ที่เห็นภาพใหญ่ เชื่อมโยงกันจนมองเห็นว่า ทั้งหมดนี้คือ ขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ทางชนชั้นและอุดมการณ์กันจากรุ่นสู่รุ่น ขบวนการนักศึกษาไม่เคยหายไปไหน แต่ยังคงส่งต่อลมหายใจกันมาจนถึงปัจจุบัน
“การเข้าไปอยู่ในป่า มาคุยตอนหลังดูเท่ ดูน่าภูมิใจ แต่สภาพความเป็นจริงมันไม่ได้สบาย คนหนุ่มสาวตอนนั้นก็เหมือนวัยรุ่นเดี๋ยวนี้นี่แหละ ถึงเวลาที่เขาปลดปล่อยด้วยนโยบาย 66/23 ของรัฐบาลสมัยนั้นที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าป่าออกมาร่วมพัฒนาชาติไทย มันเลยเกิดความรู้สึกสองด้าน ด้านหนึ่งรู้สึกดีใจที่ได้ออกจากป่าโดยไม่มีข้อหา หรือไม่มีอะไรคุกคาม การได้มาซึ่งอิสระทำให้เขาเหมือนปุถุชนทั่วไป ไปประกอบอาชีพ ได้เรียนหนังสือต่อ กับอีกฝ่ายคือ ออกมาแล้วยังยึดถืออุดมการณ์แนวเดิม พร้อมที่จะสู้ต่อในเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย ก็เลยกลายเป็นคนสองกลุ่มขึ้นมา พัฒนาเกิดมาเป็นคนเดือนตุลาฯ ที่มีสองฝ่าย และมีความขัดแย้งทางความคิดกันมาหลาย ๆ ด้าน สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นกระแสธารสองสายขึ้นมา”
จากมุมมองของอดีตนักเรียนอาชีวะ สู่การเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จนมาถึงหน้าที่คนขับรถขยายเสียงให้กับขบวนการนักศึกษาคนรุ่นใหม่ เราถามว่า ลุงสุธีมองเห็นอะไรจากบานหน้าต่างรถยนต์คันนี้ เขาบอกว่า เห็นถึงพลังการต่อสู้ และกงล้อทางประวัติศาสตร์เดียวกับตอนพฤษภาฯ ทมิฬ แต่ครั้งนี้เลวร้ายกว่ามาก ไม่ใช่แค่นักศึกษาที่ถอดบทเรียนการต่อสู้จากในอดีต แต่รัฐเอง ก็มีการสรุปบทเรียนจากขบวนการการต่อสู้ที่ผ่านมาเช่นกัน นี่จึงเป็นที่มาที่ว่า ทำไมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานกว่า 6-7 ปี
จนมาถึงวันนี้ ที่ขบวนการนักศึกษากลับสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง คุณลุงใช้คำว่า “นอนตายตาหลับแล้ว” และแม้ว่ารัฐจะถอดบทเรียนมาได้ครบเท่าไร เขายืนยันว่า ความผิดพลาดประการหนึ่งของรัฐในวันนี้คือ คุณสรุปบทเรียนไปไม่ถึง คุณไม่รู้ว่า จะมีนักเรียนมัธยมฯ ออกมาสู้ ตอนนี้รัฐบาลอาจจะอยู่ได้ แต่จะอยู่ได้สักกี่วัน
“ครั้งนี้ผมมองว่า เรารื้อมันทั้งหลัง สามารถขุดหลุมตอม่อสร้างเสาขึ้นมา สร้างโรงเรือนใหม่ มันต่างจากในอดีตที่ว่า เราเปลี่ยนประตู เปลี่ยนหน้าต่าง แต่โครงสร้างบ้านยังเหมือนเดิม ครั้งนี้เป็นการที่คนรุ่นใหม่เขาดีไซน์ออกแบบบ้านมาหนึ่งหลังแล้ว และเขาบอกว่า หนูจะเอาบ้านหลังนี้ หนูจะเอาแบบนี้ เราอาจจะบอกไม่ได้ว่า บ้านหลังนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่า เขาจะสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นที่อยู่ของเขา เพราะฉะนั้น คนอย่างพวกผมที่อยู่ได้อีกไม่นานจะต้องตามใจเขา ผมเชื่อว่า บ้านหลังนี้เสร็จ เสร็จทันเขาอยู่ คำว่า จบที่เรารุ่นเรามันใช้ได้ และจะเกิดขึ้นจริง”
.
เรื่อง: พิราภรณ์ วิทูรัตน์
ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน