คามาลา แฮร์ริส ลูกผู้อพยพชาวทมิฬ สู่รองผู้นำหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่สู้เพื่อความจริง

คามาลา แฮร์ริส ลูกผู้อพยพชาวทมิฬ สู่รองผู้นำหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่สู้เพื่อความจริง

คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ มีพื้นเพมาจากลูกผู้อพยพชาวทมิฬ เธอเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อความจริงและความเป็นธรรม และเคยโจมตีจุดยืนในอดีตของ โจ ไบเดน ด้วย

อเมริกายังคงเป็น “โลกใหม่และดินแดนแห่งเสรีภาพ” หรือไม่ คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีเท่า คามาลา แฮร์ริส (Kamala Devi Harris) ผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการไต่เต้าจากลูกผู้อพยพชาวอินเดีย กลายเป็นลูกครึ่งเอเชียคนแรก, ชาวอเมริกันผิวดำคนแรก และสตรีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คามาลา แฮร์ริส หรือชื่อเต็ม คามาลา เทวี แฮร์ริส เกิดวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1964 ที่เมืองโอ๊คแลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นตัวแทนแห่งความหลากหลายที่ดี เพราะมาจากครอบครัวผู้อพยพที่มีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และจัดอยู่ในชนชั้นที่มีประวัติถูกกดขี่สิทธิเสรีภาพมายาวนาน

พ่อของคามาลาเป็นคนผิวดำชาวจาเมกา ส่วนแม่ของเธอเป็นชาวอินเดียวรรณะพราหมณ์จากรัฐทมิฬนาฑู ทั้งคู่พบรักกันระหว่างเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และให้กำเนิดลูกสาว 2 คน คือ คามาลา และมายา

เรียนรู้สู้ชีวิตจากแม่ชาวอินเดีย

แม้บิดาของคามาลา จะเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมารดาเป็นนักวิจัยโรคมะเร็งจากวรรณะสูงในอินเดีย แต่ชีวิตของคามาลา ก็ต้องพบชะตากรรมพลิกผันตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ เมื่อพ่อแม่หย่าร้างแยกทางกัน ทำให้ภาระการเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสองตกเป็นของ ชยามาลา โกปาลัน ผู้เป็นมารดาแต่เพียงผู้เดียว

“แม่ของฉันเข้าใจดีว่า เธอกำลังเลี้ยงดูลูกสาวผิวดำทั้งสองคน เธอรู้ว่า มาตุภูมิใหม่แห่งนี้ของเธอจะมองมายา และตัวฉันเป็นเด็กผิวดำ และเธอก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้พวกเราโตขึ้นมาเป็นสาวผิวดำที่มีความมั่นใจ และภาคภูมิใจ” คามาลา เขียนเล่าไว้ใน The Truths We Told หนังสือประวัติชีวิตของเธอ

ด้วยความเติบโตมาใกล้ชิดกับมารดา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชยามาลา คือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดและอุดมการณ์ของคามาลา โดยนอกเหนือจากการสู้ชีวิตในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว คามาลายังได้รับประสบการณ์แปลกใหม่อย่างการย้ายภูมิลำเนาตามหน้าที่การงานของมารดาไปเข้าเรียนประถม - มัธยมศึกษาที่เมืองมอนทรีออล ดินแดนพูดภาษาฝรั่งเศสในประเทศแคนาดา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ

อุดมการณ์เสรีนิยมก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าจะได้จากแม่ สะท้อนผ่านความกล้าหาญของมารดาในการแหวกขนบธรรมเนียมประเพณีอันเคร่งครัดของครอบครัวชาวฮินดู ไปแต่งงานกับคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวรรณะ ก่อนจะหย่าร้างกัน

คามาลาในวัยเด็กได้เข้าทั้งวัดฮินดู และโบสถ์คริสต์ในชุมชนคนผิวดำ แต่ที่เธอจำขึ้นใจ คือ การถูกส่งไปโรงเรียนของคนผิวขาวตั้งแต่ชั้นอนุบาล

เด็กน้อยผิวดำในโรงเรียนคนขาว

“มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งในแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นชนชั้นสอง เธอต้องคอยทำหน้าที่ช่วยสลายการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวภายในโรงเรียนรัฐบาล เธอถูกส่งขึ้นรถบัสพร้อมเด็กชนชั้นสองคนอื่นๆ ไปโรงเรียนของเด็กผิวขาวทุกวัน และเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนั้นก็คือฉันนี่เอง”

คามาลาเล่าย้อนความหลังเพื่อโจมตีจุดยืนในอดีตของ โจ ไบเดน ที่เคยคัดค้านนโยบาย Busing (ส่งเด็กผิวสีขึ้นรถบัสไปเรียนร่วมกับเด็กผิวขาวในชุมชนอื่นเพื่อความเท่าเทียม) ระหว่างศึกดีเบตชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020

ประโยคนี้โดนใจใครหลายคน และถูกสื่อหยิบยกไปนำเสนอต่อกันครึกโครม ถึงขั้นที่ จิล ไบเดน ออกมายอมรับว่า คำพูดนี้เปรียบเหมือนหมัดที่ “ชกเข้าท้อง” โจ ไบเดน สามีของเธออย่างจัง

แม้ต่อมา คามาลาตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน เนื่องจากหมดเงินทุนสำหรับใช้หาเสียง แต่ประวัติและความสามารถของเธอก็เข้าตาคู่แข่งและผู้ชนะอย่างโจ ไบเดน จนต้องทาบทามมาเป็นคู่หู ลงเลือกตั้งคู่กันในฐานะแคนดิเดตตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ก่อนมารับงานรองประธานาธิบดีพร้อมดีกรีมากมาย คามาลาเคยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แบบนี้มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนะเลือกตั้งท้องถิ่นได้เป็นชาวผิวสีคนแรกที่คว้าตำแหน่งอัยการเขตนครซานฟรานซิสโก (2004 - 2011) เป็นสตรีคนแรก, ชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ครองตำแหน่งอัยการใหญ่รัฐแคลิฟอร์เนีย (2011 - 2017) และเป็นสตรีผิวดำคนแรกในรอบกว่าทศวรรษที่ชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ (2017 - 2020)

เพื่อความจริงและรับใช้สังคม

นักวิจารณ์บางคนยกให้คามาลาเป็นนักการเมืองสายกลางที่มีจุดยืนไม่ชัดเจนนัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมเอเชียที่ไม่นิยมความสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม เธอบรรยายถึงตัวเองว่าเป็น “อัยการหัวก้าวหน้า” และยอมรับว่า นอกจากมารดาแล้ว การได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่ของชนผิวดำอย่างมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ก็มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดของเธอ

มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด (คนละที่กับ ม.ฮาร์วาร์ด ในบอสตัน) จัดเป็นสถานศึกษาชั้นนำของคนผิวดำในกรุงวอชิงตันดีซี การได้เรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่นี่ในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้คามาลาได้สัมผัสโดยตรงถึงความไม่เป็นธรรมมากมายที่คนผิวดำเผชิญ ได้เรียนรู้ทั้งการเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักโต้วาที ได้ร่วมเป็นสมาชิกอัลฟ่า แคปป้า อัลฟ่า ชมรมลับอันเก่าแก่ของปัญญาชนผิวดำ นอกจากนี้ยังได้ทำงานใกล้ชิดคนวงในของรัฐบาล และศูนย์กลางอำนาจระดับประเทศในเวลาต่อมา

ปัจจุบันคามาลา ในวัย 56 ปี สมรสกับดัก เอ็มฮอฟฟ์ ทนายแห่งวงการบันเทิงในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีลูกติดมาจากภรรยาเก่า 2 คน

คามาลาบอกว่า การมาทำงานด้านกฎหมายและการเมืองเต็มตัวหลังจบปริญญาโทนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย มาจากการเดินตามคำขวัญของ ม.ฮาเวิร์ด ที่เชิดชู “ความจริงและการรับใช้สังคม” โดยเธอเชื่อว่า การจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความยุติธรรมได้นั้น เธอต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางอำนาจ

ต้องมีอำนาจถ้าอยากเปลี่ยนแปลง

“สิ่งที่พวกท่านสามารถทำได้มันไม่มีข้อจำกัด เมื่อพวกท่านได้ค้นพบและตัดตัวเลือกผิด ๆ ทิ้งไป” คามาลากล่าวในสุนทรพจน์ต่อหน้านักศึกษารุ่นน้องในงานรับปริญญาของ ม.ฮาเวิร์ด เมื่อปี 2017

“พวกท่านสามารถเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ และยังสามารถทำให้เกิดการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังด้วยการเข้าไปเป็นอัยการ หรือเข้าร่วมในคณะกรรมการตำรวจ” เธอพยายามชี้ให้เห็นทางเลือกในการเรียกร้องความเป็นธรรม ว่านอกเหนือจากการลงถนนประท้วง ยังมีวิธีอื่นด้วย

“ความเป็นจริงก็คือ จะมีคนบางคนคอยตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ เกือบทุกเรื่อง ดังนั้น ทำไมไม่ทำให้คนผู้นั้นเป็นตัวท่านเอง” เธอพยายามกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้เข้าไปมีอำนาจ “เพราะหากพวกเราต้องการให้เกิดความก้าวหน้าในทุกที่ เราจำเป็นต้องมีพวกท่านเข้าไปอยู่ในทุกหนทุกแห่ง”

คำพูดนี้ชี้ให้เห็นทัศนะและการเลือกเส้นทางชีวิตของคามาลาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันเปิดกว้างบนดินแดนแห่งเสรีภาพและโลกใบใหม่ของใครหลายคน และที่สำคัญ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า การต่อสู้เพื่อความจริงและความเป็นธรรมในสังคมอเมริกันของเธอ จะไม่หยุดอยู่แค่ตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 49 เท่านั้น
 


อ้างอิง:

New York Times

New York Times (2)

CNBC

BBC

The Wire

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล