“ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนสีเสื้อ คุณจะไปเขียนแบบนั้นไม่ได้ แต่เป็นการไปช่วยให้การทำหน้าที่สื่อของเนชั่นทีวีเข้ารูปเข้ารอย เข้าที่เข้าทางมากกว่า เพราะที่ผ่านมา เนชั่นเสียสมดุลในการทำหน้าที่สื่อ และเต็มไปด้วย hate speech...”
นั่นคือประโยคสั้นๆ ที่ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กล่าวกับ The People เพื่อยืนยันการกลับมาคุมหางเสือเนชั่นทีวี หลังจากที่ ฉาย บุนนาค ประธานเนชั่นกรุ๊ป ออกมาแถลงถึงสถานการณ์ของเนชั่น เมื่อเวลา 12.30 น. ของวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งไม่เพียงยอมรับการลาออกของพิธีกรข่าวระดับซุปตาร์หลายคน แต่หนึ่งในสาระสำคัญของวันนั้น คือการประกาศถึงการกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งของ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ในตำแหน่งซีอีโอ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีสื่อหลัก คือ ช่องดิจิทัลทีวี “เนชั่นทีวี” นั่นเอง
เป็นที่ทราบกันดีว่า อดิศักดิ์ เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของ เนชั่น กรุ๊ป เขาทุ่มเทพลังให้แก่การทำงานที่องค์กรแห่งนี้มานานถึง 3 ทศวรรษ จัดเป็นคนทำสื่อมืออาชีพที่ก้าวมามีบทบาทด้านการบริหาร โดยได้รับความไว้วางใจจาก สุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารในขณะนั้น ให้บุกเบิกโปรเจ็กท์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทว่า ด้วยผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น พร้อมกับการเข้ามาของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ ที่นำโดย ฉาย บุนนาค ทำให้ อดิศักดิ์ ตัดสินใจลาออกจากอาณาจักรสื่อแห่งนี้เมื่อราว 3 ปีก่อน โดยปฏิเสธไม่รับหรือเรียกร้องเงินก้อนโตเหมือนผู้บริหารบางคน
แต่แล้ว ในวันนี้ เขายินดีตกปากรับคำ ฉาย บุนนาค กลับมาทำงานที่เนชั่นอีกครั้ง ด้วยภารกิจท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งไม่เพียงการเข้ามาจัดทัพใหม่ของพิธีกรข่าวให้ทันเวลาเท่านั้น แต่ยังต้องปรับภาพลักษณ์ให้เนชั่นทีวี เป็นสื่อที่มีความเป็นมืออาชีพและมีความน่าเชื่อถืออีกครั้ง
เพราะช่วงที่ผ่านมา องค์กรสื่อแห่งนี้แสดงจุดยืนที่ “ล้ำเส้น” ความเป็นสื่อบ่อยครั้ง จนถูกจับตามองจากสังคมวงกว้างว่าได้ทำหน้าที่สื่ออย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะการเลือกข้างอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว หรือการพิพากษาตัดสินผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง จนกลายมาเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง
นั่นเป็นที่มาของแคมเปญโดยกลุ่มพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม เรียกร้องให้บอยคอตสื่อเนชั่น ตลอดไปจนถึงการบอยคอตสินค้าทั้งหลายที่ให้งบโฆษณาหรือสนับสนุนสื่อเนชั่น ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่า ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเนชั่นกรุ๊ปอย่างมีนัยสำคัญ และด้วยแรงกดดันจากมหาชน รวมทั้งเหล่าสปอนเซอร์ ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบของเนชั่นทีวีในวันนี้ จนกระทั่งพิธีกรข่าวคู่กรณีชื่อดังเหล่านั้น ต้องโบกมือลาอำลาช่องเนชั่นทีวีไปในที่สุด
โดยสภาพทางนิติบุคคล เนชั่นทีวีเป็นองค์กรธุรกิจ แต่ด้วยความเป็นสื่อ องค์กรสื่อที่ดำรงอยู่ได้ ต้องได้รับการยอมรับจากมหาชน ผู้บริหารองค์กรสื่อจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความน่าไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ดังนั้น สื่อที่เลือกข้างอย่างสุดโต่ง หรือเป็นเครื่องมือรับใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมไม่อาจยืนหยัดได้ในระยะยาว
“ในระดับบุคคล คุณจะเป็นเสื้อสีอะไร ไม่มีปัญหา แต่บนหน้าจอ คุณต้องมีความแฟร์กับทุกๆ ฝ่าย...” อดิศักดิ์ สะท้อนจุดยืนของคนทำสื่อให้ฟัง พร้อมมองไปเบื้องหน้าว่า “งานหนักอยู่ แต่เมื่อเขา(ฉาย บุนนาค)กล้าชวน แล้วยืนยันการกลับมาสู่สื่อมืออาชีพ ก็ยินดีรับคำท้า”
นี่คือวิสัยทัศน์ ที่ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ นำเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับภาพลักษณ์เนชั่นทีวี
“เป้าหมายจะทำให้ช่องเนชั่นทีวีเป็นสถานีข่าวโทรทัศน์ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจได้ในทุกข่าวสารและการวิเคราะห์ที่นำเสนอ ยึดมั่นหลักจรรยาบรรณทางวิชาชีพ โดยตระหนักว่าความน่าเชื่อถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของช่องเนชั่นทีวี”
“ทำหน้าที่ Gatekeeper ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร เน้นการนำเสนอความจริง ความถูกต้องที่ผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองอย่างปราศจากอคติ ไม่เน้นความเร็ว เพราะปัจจุบัน ข่าวสารบน Social Media จากทุกๆ คน มีความเร็วและปริมาณมาก สื่อหลักจำเป็นจะต้องเน้นทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบความจริงและความถูกต้อง ก่อนนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้แบรนด์เนชั่นทีวี”
“ทำหน้าที่เป็น 'กระจก' ที่ไม่บิดเบี้ยว สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างรอบด้านมากที่สุด เพื่อให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสิน”
“ทำหน้าที่ 'ตะเกียง' ส่องสังคม กำหนดวาระทางสังคม Setting Agenda เป็นตะเกียงส่องแสงสว่างแก่สังคม ให้มองเห็นวาระทางสังคมที่พึงมี ทำให้สังคมได้ตื่นรู้ มองเห็นอย่างกระจ่างแจ้งถึงประเด็นปัญหาสำคัญๆของสังคม เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”
“ทำหน้าที่ Watchdog หมาเฝ้าบ้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน เฝ้ามอง ติดตามและตรวจสอบ 'กลิ่น' ที่มีความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของภาครัฐเพื่อย้ำเตือนให้ทำงาน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ”
“ทำหน้าที่ 'โรงเรียนของสังคม' องค์กรเนชั่นต้องการทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงเรียนของสังคม เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง ในการสร้างเสริมองค์ความรู้ใหม่ๆที่มาจากทุกภาคส่วนของสังคม นำเสนอออกไปสู่สังคม ให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันเสมือนเป็นโรงเรียนของสังคม เพื่อให้สังคมไทยก้าวทันโลกยุคดิจิทัล”
พื้นเพของ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เป็นชาวอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา อยู่ในยุค “วรรณกรรมบาดแผล” (สืบเนื่องจากนโยบาย 66/23 คนหนุ่มสาวออกจากป่าเข้าสู่เมือง) เขาจึงมีความสนใจในงานด้านหนังสือและวรรณกรรมเป็นพิเศษ เคยทำงานอยู่ที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยมีผลงานเรื่องสั้นในนามปากกาว่า “ศรีกบินทรา” (สะท้อนถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ศรีนาคร อันเป็นนามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์) ตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของชมรมนักศึกษาเจ็ดสถาบัน
ในแง่ประสบการณ์การทำงานสื่อ อดิศักดิ์ เริ่มต้นงานนักข่าวที่หนังสือพิมพ์มาตุภูมิรายวัน เมื่อปี 2525 ก่อนจะย้ายมาอยู่ค่ายหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ในปี 2528 โดยเป็นนักข่าวสายอุตสาหกรรม จัดเป็นคนสื่อไม่กี่คนในเวลานั้น ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านธุรกิจ/เศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง จนในเวลาต่อมาได้รับมอบหมายให้เข้ามาปรับปรุงและยกระดับคุณภาพของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับหนังสือพิมพ์คู่แข่งในขณะนั้น คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับพื้นที่เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ธุรกิจให้มีความหลากหลาย โดยเพิ่มเซ็คชั่น “จุดประกาย” เข้ามาเป็น “จุดแข็ง” เพิ่มเติม
อดิศักดิ์ ยังมีบทบาทในการบุกเบิกโครงการใหม่ๆ ให้แก่เครือเนชั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์คมชัดลึก , วิทยุเนชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนชั่นทีวี ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 20 ปีก่อน (ออกอากาศครั้งแรก 1 มิถุนายน 2543) โดยผ่านการต่อสู้ในการขยับไปสู่แพลทฟอร์มรูปแบบต่างๆ ในสมัยที่เทคโนโลยียังมีข้อจำกัดอย่างมาก ตั้งแต่เคเบิลทีวี (ยูบีซี ช่อง 8), ทีวีดาวเทียม จนกระทั่ง ต่อสู้และชนะการประมูล ได้รับใบอนุญาตประกอบการดิจิทัลทีวีช่องข่าว จาก กสทช. เป็นผลสำเร็จในปี 2556 ในยุคสมัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่พอดี
ทั้งหมดนี้ บ่งชี้ว่า อดิศักดิ์ คือ “คนสร้าง” เนชั่นทีวีมากับมือ จนกระทั่งมาเป็น “คนเปลี่ยนเกมส์” เนชั่นทีวี ในวันนี้ วันที่สังคมไทยกำลังรอการพิสูจน์ฝีมือจากคนสื่อตัวจริงคนนี้ว่า เขาจะทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจหรือไม่