เชื่อว่าใครที่เคยมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Hotel Rwanda’ (2004) คงจะคุ้นเคยกับชื่อ พอล รูเซซาบากินา (Paul Rusesabagina) กันเป็นอย่างดี (ในภาพยนตร์รับบทโดย ดอน ชีเดิล) เพราะเป็นเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านชีวิตของชายหนุ่มชนชั้นกลางชาวฮูตู ผู้จัดการโรงแรมมิลล์ คอลลินส์ ที่ภายหลังสถานที่นี้กลายเป็นที่หลบภัยของผู้คนกว่า 1,200 ชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (Rwandan Genocide) ในช่วงปี ค.ศ. 1994
“มันเป็นวันที่แย่มาก ผมเห็นเพื่อนที่รู้จักกันมาหลายปีกำลังขนมีดพร้าขนาดใหญ่ ระเบิด ปืน หรืออะไรก็ได้ที่สามารถใช้เป็นอาวุธ ได้เพื่อนำไปทำร้ายชาวทุตซี ผมเห็นเพื่อนบ้านที่เคยมองว่าเขาเป็นสุภาพบุรุษมาก มาวันนี้เขากลายเป็นนักฆ่าในคราบชุดทหาร” พอลเล่าถึงเหตุการณ์เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเกิดการลอบสังหารประธานาธิบดีรวันดา ‘จูเวนัล ฮับยาริมานา’และ ‘ซิเปรียน เอนตายามิรา’ ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศบุรุนดี บนเครื่องบินจนเสียชีวิตทั้งลำ ในวันที่ 6 เมษายน 1994 ซึ่งทั้งสองคนล้วนเป็นชาวฮูตู ชาติพันธุ์ที่มีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 85 ในประเทศรวันดา ทำให้เกิดความไม่พอใจและเกิดข้อครหาว่ากลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา (RPF) ที่เป็นคนกลุ่มน้อยชาวทุตซี เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนี้
นี่อาจเป็นน้ำมันที่ถูกเติมเชื้อเพลิงขึ้นหลังจากเปลวไฟแห่งความไม่พึงพอใจถูกสั่งสมมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 ระหว่างชาวฮูตูและ ทุตซี เนื่องจากก่อนหน้านั้น ประเทศเบลเยียมเจ้าอาณานิคมได้ให้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนกับชาวทุตซีมากกว่า ทั้งการศึกษา รวมถึงการได้ทำงานที่ดีกว่า ทำให้ชาวทุตซีแม้จะเป็นคนส่วนน้อยเพียงร้อยละ 14 ของประเทศ แต่ก็มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า ในขณะที่ชาวฮูตูกลับเป็นแรงงานที่ต้องทำงานหนักมาโดยตลอด อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการปะทะทางชนชั้นเสียมากกว่าการปะทะทางวัฒนธรรมก็ว่าได้
ความพยาบาทเริ่มก่อตัว ความเป็นมนุษย์เริ่มจางหาย
กระบวนการสร้างความเกลียดชังค่อย ๆ ประกาศผ่านวิทยุหลังผู้นำเสียชีวิต วิทยุเป็นสื่อหลักที่ชาวรวันดาใช้ในการเสพข่าวมากที่สุด ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ คำด่าทอ และคำเชิญชวนให้ผู้คนกล้าออกไป “ถอนรากถอนโคนพวกแมลงสาบ (หมายถึงชาวทุตซี)” ให้สิ้นซาก เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับประธานาธิบดีชาวฮูตู แม้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครคือคนร้าย แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะออกไปปลิดชีพชาวทุตซีอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร หรือเพศอะไรก็ตาม
“ตอนนั้นมีคน 26 คนมาหลบอยู่ในบ้านของผม ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน เขาอาจจะไว้ใจผม เมื่อผมเห็นโอกาสในการหลบหนี ผมพาทุกคนหนีไปโรงแรมที่ผมทำงานอยู่ เพราะตอนนั้นทุกคนเหมือนครอบครัวผมไปแล้ว”
[caption id="attachment_28793" align="aligncenter" width="627"]
EDINBURGH, SCOTLAND - AUGUST 24: Paul Rusesabagina poses during a portrait session held at Edinburgh Book Festival on August 24, 2006 in Edinburgh, Scotland. (Photo by Marco Secchi/Getty Images)[/caption]
ความหวาดกลัวเข้าครอบงำผู้คนให้หาที่หลบซ่อนที่ปลอดภัยที่สุด ชาวทุตซีถูกเปลี่ยนบทบาทเป็นแม่มดและผู้ถูกล่าในทันใด ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้หญิง เด็ก หรือแม้แต่นักบวชหรือแม่ชีที่อยู่ในสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่เปิดให้ผู้คนหนีมาหลบภัย รวันดากลายเป็นพื้นที่ไล่จับของคนที่ต่างกันเพียงชาติพันธุ์ แต่ถูกเดิมพันด้วยชีวิต ความแตกต่างทั้งสองถูกระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อยู่ในบัตรประชาชน กลุ่มคนวัยหนุ่ม Interahamwe ของพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND) ของรัฐบาลได้กลายเป็นกลุ่มติดอาวุธและกลายเป็น ‘ผู้สังหาร’ โดยกระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ตั้งด่านตรวจบัตรประชาชน แน่นอนว่าไม่ว่าคุณจะเป็นชาวทุตซีที่หลบอยู่แห่งไหนในประเทศ คุณจะถูกค้นหาให้เจอและทำลายอย่างทารุณ และแล้วถนนหนทางทุกแห่งในประเทศก็ถูกประดับประดาด้วยความน่าสลดอย่างไร้ความปรานี ของร่างผู้เสียชีวิตทั้งชาวทุตซีและชาวฮูตูที่ไม่ฝักใฝ่ในความรุนแรงกว่า 800,000 คนภายในเวลาเพียง 3 เดือนเศษ
บ้าน (เฉพาะกิจ)
โรงแรมมิลล์ คอลลินส์ โรงแรมสุดหรูใจกลางกรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา ถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้มาใช้บริการเพียง 200 คน แต่ตอนนั้นถูกแปลงสภาพเป็นที่หลบภัยให้กับพอล ภรรยา ลูก ๆ ที่เป็นชาวทุตซี รวมถึงคนอื่น ๆ ทั้งหมด 1,268 ชีวิต แต่ใช่ว่าเส้นทางการเอาตัวรอดนี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ครั้งหนึ่งเขาเคยโดนนายทหารเอาปืนจ่อที่หัว รวมถึงถูกสั่งให้ยิงครอบครัวตัวเองอีกด้วย เพราะความที่ตนเป็นผู้จัดการโรงแรมและมีภาวะผู้นำที่สุดในขณะนั้น ยิ่งไปกว่านั้นที่หลบภัยแห่งนี้ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า ทำได้เพียงแบ่งกันกินข้าวโพดและถั่วแห้งด้วยการก่อกองไฟ ในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ย่อมทำให้การปรับตัวจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ความงดงามเกิดขึ้นได้เสมอแม้ในช่วงชีวิตที่ต้องพบเจออุปสรรค ผู้หญิงที่พักในโรงแรมให้กำเนิดเด็กทารก คู่รักวัยหนุ่มสาวได้เข้าพิธีสมรสโดยบาทหลวงที่มาจากโบสถ์ข้าง ๆ บรรยากาศจากโรงแรมเปลี่ยนแปลงเป็นบ้านที่มีการใช้ชีวิตภายใต้ความเคารพซึ่งกันและกัน แต่ขณะเดียวกันความกลัวก็ไม่เคยจางหายไปจากใจผู้คนเหล่านี้เลย
พอลเคยกล่าวว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ช่วยให้เขาและทุกคนรอดมาถึงทุกวันนี้ได้คือ ‘คำพูด’ คำพูดให้กำลังใจเพียงเท่านั้นที่ใช้ในการต่อสู้กับพลังมืด แต่ก็ต้องมีส่วนเสริมเติมแต่งพลังใจบางอย่างเช่นกัน ทั้งเครื่องดื่มคุณภาพเยี่ยม ซิการ์อย่างดีที่หลงเหลือในโรงแรม รวมถึงการติดสินบนเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตของผู้บริสุทธิ์อีกหลายชีวิต
จากฮีโรกลับกลายเป็นตัวร้าย
ภายหลังเหตุการณ์สงบลง พอลต้องลี้ภัยทางการเมืองออกไปอยู่ที่ประเทศเบลเยียมและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากถูกคุกคามและเกือบเสียชีวิตจากการลอบสังหาร เขาได้ตั้งมูลนิธิเพื่อการดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสตัน พอลเล่าว่าหลังจากสถานการณ์ครั้งนั้นคลี่คลาย มีเด็กอีกนับล้านคนที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ทั้งการเข้าถึงด้านการรักษา, การเยียวยาด้านจิตใจ รวมถึงค่าเล่าเรียนสำหรับเด็ก ๆ งานเหล่านี้ทำให้เขาได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย รวมถึงรางวัล Presidential Medal of Freedom ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในปี 2005
แต่ล่าสุดในช่วงกลางปี 2020 พอล รูเซซาบากินา ในวัย 66 ปี ถูกตำรวจพากลับมาที่รวันดาอีกครั้งในรอบหลายสิบปี เขาถูกจับกุมที่ดูไบตามหมายจับระหว่างประเทศโดยสำนักข่าวสอบสวนกลางรวันดา (RIB) ได้ระบุข้อหาต่อพอลมากมายทั้งก่อการร้าย วางเพลิง ลักพาตัว ฆาตกรรม รวมถึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้นำในการสนับสนุนการก่อการร้ายหลายกลุ่ม ที่โดดเด่นคือกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย (MRCD) ที่มีการเคลื่อนไหวทั้งในภูมิภาคแอฟริกาและต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าคิดต่อสาเหตุการถูกจับกุม เนื่องจากตัวเขาเองเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวันดาที่นำโดยประธานาธิบดีพอล คากาเม ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 20 ปี ในปี 2010 พอลเคยออกมาต่อต้านถึงกรณีที่มีการตัดสินจำโทษผู้นำที่มีความเห็นต่างเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งเขาเรียกว่านี่คือ ‘อำนาจเผด็จการ’ อย่างแท้จริง
และหนึ่งในคดีที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในรวันดาในยุคดังกล่าว คือคดีฆาตกรรมปริศนาของ แพทริค คารีเกยา นักวิจารณ์ปากกล้าและอดีตหัวหน้าสายลับซึ่งถูกล่อลวงไปที่ห้องพักในโรงแรมหรูในโจฮันเนสเบิร์ก และถูกรัดคอจนเสียชีวิตแบบไร้หลักฐานใด ๆ เมื่อเดือนมกราคม 2014 หลังจากเหตุการณ์นั้น ประธานาธิบดีพอล คากาเม ได้ออกมาพูดว่า “ใครก็ตามที่คิดวางแผนจะต่อต้านรวันดา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องยอมรับในผลที่ตามมา”
ในชั้นศาลกรุงคิกาลีได้แจ้งข้อหาต่อพอลทั้งหมด 13 ข้อหา และปฏิเสธการประกันตัว พอลยังคงยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่ได้รับ ทุกวันนี้เขายังคงใช้ชีวิตอยู่ในห้องคุมขังที่รวันดาที่มีเพียงเตียงนอนและมุ้งกันยุง เขามีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศว่า “ผมแค่พยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวรวันดานับล้านคน ที่คนเหล่านั้นไม่มีใครสามารถออกมาพูดได้”
แม้ว่ารวันดาในปัจจุบันภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีคากาเมจะได้รับการชื่นชมว่าสามารถเปลี่ยนให้ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งถูกทำลายล้างในอดีตกลับมามีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ด้วยการใช้นโยบายต่าง ๆ รวมถึงความสามารถในการเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกระแสวิจารณ์ว่าเขาไม่มีความอดกลั้นต่อผู้เห็นต่าง ประกอบกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างทางการเมืองในรวันดาอาจดูเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและชวนคิดอยู่ไม่น้อย แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมต่อคดีของพอลยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจุดจบละครชีวิตจริงของเขาจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-africa-54147759
https://www.theguardian.com/world/2020/sep/10/rwanda-dissident-mystery-kigali-court-paul rusesabagina
https://www.oprah.com/omagazine/oprah-talks-to-paul-rusesabagina/all
https://www.bbc.com/thai/international-47855860
.
เรื่อง: พีรภัค จรเสมอ