ซาราห์ แมคไบร์ด ส.ว. สตรีข้ามเพศคนแรกของสหรัฐอเมริกา
“เราทำได้แล้ว เราชนะการเลือกตั้ง ขอบคุณมาก ขอบคุณมาก ๆ ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ ดิฉันหวังว่าในค่ำคืนนี้จะแสดงให้กลุ่มเด็ก LGBTQ เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยของเรามีพื้นที่ใหญ่พอสำหรับพวกเขาด้วยเช่นกัน”
นี่คือทวีตแรกของ ซาราห์ แมคไบร์ด (Sarah McBride) สตรีข้ามเพศวัย 30 ปี ที่เธอทวีตหลังจากรู้ว่าเธอชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (State Senate) ประจำรัฐเดลาแวร์ เขต 1 ได้สำเร็จ ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาข้ามเพศคนแรกของสหรัฐอเมริกา
ซาราห์ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในสังกัดพรรคเดโมแครต และได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไปอย่างล้นหลามถึง 73% เอาชนะ สตีฟ วอชิงตัน ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันไปอย่างขาดลอย ซึ่งกว่าที่ซาราห์ แมคไบร์ด จะมายืนได้ถึงจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และนี่คือเรื่องราวของสมาชิกวุฒิสภาข้ามเพศคนแรกของสหรัฐอเมริกา
ซาราห์ แมคไบร์ด เกิดที่รัฐเดลาแวร์ ในปี 1990 เธอรู้มาตลอดว่าตัวเธอนั้นเป็นผู้หญิง แต่พยายามเก็บซ่อนตัวตนที่แท้จริงของเธอเอาไว้ เพราะไม่ตรงกับเพศกำเนิด เธอรู้สึกเหมือนกับ LGBTQ คนอื่น ๆ ที่รู้สึกอยากกลับบ้านตลอดเวลา แต่บ้านในที่นี้ ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นการได้กลับไปเป็นตัวของตัวเองตามที่เธอต้องการ มีบ่อยครั้งที่ซาราห์ส่องกระจกแล้วพูดออกมาว่า “ฉันคนข้ามเพศ” แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความรู้สึกละอายได้ถาโถมเข้าหาเธอ และต้องพูดกับตัวเองใหม่ว่า “ไม่ ฉันไม่ใช่” เพราะในตอนนั้นภาพลักษณ์ที่เธอได้รับรู้เกี่ยวกับคนข้ามเพศคือเป็นเพียงตัวตลกในซิตคอม และเธอไม่อยากเป็นตัวตลกในสายตาใคร
“ฉันจำได้ว่าตอนเด็ก ฉันภาวนาก่อนนอนทุกคืน รวมถึงทุกครั้งที่โยนเหรียญขอพร หรือทุกครั้งที่อธิษฐานเป่าเค้กวันเกิด พรที่ฉันขอมีเพียงข้อเดียว คือ ขอให้ตื่นขึ้นมาแล้วกลายเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของฉัน และทำให้ครอบครัวภูมิใจในตัวฉัน”
ซาราห์ยังคงเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง แต่เธอก็พยายามหาทางได้แสดงตัวตนของเธอออกมาบ้าง อย่างเช่นในการแต่งชุดผู้หญิงในวันฮาโลวีน
ซาราห์เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอเมริกัน เธอได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษา โดยเธอได้ทำบ้านพักสำหรับกลุ่มคนไม่ระบุเพศ (Gender-Neutral) และเสนอให้มีวิชาโทเพศวิถีและเควียร์ขึ้น (Sexuality and Queer) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข เพราะยังคงไม่สามารถเป็นตัวเองได้ จนกระทั่งวันฮาโลวีน เธอยังคงแต่งตัวด้วยชุดผู้หญิงเหมือนทุกปี รูปภาพของเธอได้ถูกอัปโหลดขึ้นบนเฟซบุ๊ก มีคนมาคอมเมนต์ว่า “เฮ้ย! เจ๋งว่ะ” มันทำให้เธอคิดได้ว่า เธอน่าจะแต่งตัวแบบนี้ในทุก ๆ วัน ไม่ใช่แค่วันฮาโลวีน และช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่เธอเริ่มรู้สึกทนไม่ไหวกับการที่ต้องอยู่ในสภาพนี้ต่อไป
“ความเจ็บปวดมันแย่ลงเรื่อย ๆ มันไปถึงจุดที่ยากลำบากมากในการจะผ่านไปได้ในแต่ละวัน ฉันหมดแรงเลย ฉันไม่มีสมาธิกับสิ่งใดเลย ฉันไม่มีความสุข”
จนที่สุดเธอได้เปิดตัวกับเพื่อนที่เรียนอยู่ที่แอฟริกา การที่เลือกเปิดตัวกับเพื่อนที่อยู่ห่างไกลกว่า 8,000 ไมล์ มันทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและไม่มีความเสี่ยง อย่างน้อยถ้าเพื่อนเธอรับไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องเจอหน้ากัน แต่โชคดีที่เพื่อนเธอสนับสนุนและยอมรับในตัวเธอ และในวันคริสต์มาส ปี 2011 เธอได้เลือกเปิดตัวกับครอบครัว ซึ่งเธอมั่นใจว่าทุกคนสามารถยอมรับได้ เนื่องจากพี่ชายของเธอก็เพิ่งเปิดตัวว่าเป็นเกย์ไปก่อนหน้านี้ไม่นาน
“ฉันบอกแม่ว่า หนูคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศของฉันมาโดยตลอด และหนูก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า หนูคือคนข้ามเพศ”
จากนั้นเธอเปิดตัวกับเพื่อน ๆ ในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งคือวันที่เธอดำรงตำแหน่งประธานนักศึกษาวันสุดท้าย และเธอได้บอกให้โลกได้รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของ ซาราห์ แม็คไบร์ดคือใคร ผ่านหน้าบทความคิดเห็นพิเศษในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกคนเข้าใจและยอมรับในตัวตนของเธอ
“ตอนแรกฉันกลัวกับการตอบรับของคนในมหาวิทยาลัยมีให้ฉันหลังจากที่เปิดตัว แต่ทุกคนสนับสนุนฉันอย่างเต็มที่ หลายคนเดินเข้ามาพูดกับฉันว่า ‘ฉันหวังว่าในตอนนี้คุณคงมีความสุขนะ’” ซึ่งประโยคเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนเล็ก ๆ ให้เธอก้าวไปสู่กระบวนการการแปลงเพศ
“ฉันไม่ได้แปลงเพศเพื่อให้มีความสุข แต่ฉันแปลงเพศเพื่อที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง”
แต่เมื่อแปลงเพศแล้ว เธอกลับต้องเผชิญกับอุปสรรคใหม่ นั่นก็คือการเลือกปฏิบัติ การดูถูกเหยียดหยาม ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ในรูปร่างของเธอ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำให้หลายครั้ง เธอถูกมองข้าม ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็น และทำให้ความมั่นใจของเธอลดลง
“เคยมีคนบอกฉันว่า ฉันมีความเป็นหญิง (feminine) มากเกินไป มันทำให้ฉันดูไม่น่าเชื่อถือและถูกนำไปล้อเลียน กลายเป็นว่าสังคมให้การยอมรับ พึงพอใจในความเป็นชาย (masculinity) มากกว่า ขณะเดียวกันถ้าฉันมีความเป็นหญิงไม่พอ ฉันก็ไม่ใช่ ‘หญิงแท้’ (real woman) ในแบบที่สังคมต้องการ”
แต่สุดท้ายแล้วซาราห์นำคำดูถูกเหยียดหยามที่บอกว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงมาเป็นแรงผลักดันก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านั้น และทำให้เธอมีความสนใจในงานด้านการเมือง กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในทุกเพศ และส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ
“โฮโมโฟเบีย, ทรานส์โฟเบีย และการกีดกันทางเพศล้วนมีรากฐานมาจากความอคติทั้งสิ้น ความเชื่อที่ว่าเพศกำเนิดจะเป็นตัวกำหนดว่าเราเป็นใคร เราจะรักใคร เราควรทำตัวอย่างไร และเราต้องทำอะไร นั่นทำให้เห็นว่าสิทธิของ LGBTQ ก็คือเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ”
ซาราห์เคยฝึกงานในทำเนียบขาว ในงานด้านเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ ในสมัยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา รวมถึงเคยทำงานกับ แจ็ค มาร์แคล อดีตผู้ว่าการรัฐเดลาแวร์, และ โบ ไบเดน อดีตอัยการสูงสุดแห่งรัฐเดลาแวร์
ในปี 2013 เธอเข้าร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQ ประจำรัฐเดลาแวร์ และเป็นผู้สนับสนุนการออกกฎหมายป้องกันการก่ออาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง (hate crime) ที่มีต่อคนข้ามเพศในรัฐเดลาแวร์ โดยแจ็ค มาร์แคล อดีตผู้ว่าการรัฐเดลาแวร์ ได้กล่าวชื่นชมซาราห์ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายนี้
“ผมต้องขอบคุณซาราห์เพื่อนของผม เธออธิบายถึงความยากลำบาก การฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ ต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาด้วยความกล้าหาญ การสนับสนุนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเธอเป็นแรงผลักดันให้สามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้อย่างงดงาม ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงให้แก่คนข้ามเพศทุกคนในเดลาแวร์”
ซาราห์ แต่งงานกับ แอนดรูว์ เครย์ (Andrew Cray) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน LGBTQ ในเดือนสิงหาคม 2014 แต่หลังจากนั้นเพียง 4 วัน แอนดรูว์ก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่องปาก ซาราห์ได้เผยว่าแอนดรูว์เป็นผู้ที่สอนให้เธอมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น “แอนดรูว์บอกฉันว่า เราไม่สามารถชนะใจคนด้วยการไปบังคับให้คนอื่นเปิดตัว (outing) หรอกนะ แต่เราจะชนะใจเขาได้ด้วยการเปลี่ยนใจและทัศนคติของเขา ด้วยการออกกฎหมายที่เหมาะสมกับพวกเขา ด้วยการปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ให้ทันสมัย ด้วยการสร้างพื้นที่ที่เขารู้สึกสบายใจที่จะเปิดตัว”
นอกจากนี้ซาราห์ยังเป็นโฆษกของ Human Rights Campaign องค์กรสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เธอได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งในปี 2016 ด้วยการเป็นคนข้ามเพศคนแรกที่ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Convention) และในปี 2018 เธอได้ออกหนังสือ ‘Tomorrow Will Be Different’ เล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของเธอและสามีในรัฐเดลาแวร์และในระดับชาติ
ซาราห์จะเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในเดือนมกราคม 2021 หลังจากที่ตำแหน่งของ ส.ว. คนเก่าหมดวาระลง ซึ่งเธอได้เตรียมตัวที่จะเข้ารับตำแหน่ง และพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศนี้แล้ว
“ฉันไม่ได้ลงสมัครเพื่อสร้างประวัติศาสตร์หรือเพื่อเป็นข่าวหน้าหนึ่ง แต่ฉันลงสมัครเพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ชุมชนนี้ และฉันจะทำหน้าที่ตัวแทนรัฐและ LGBTQ ให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้”
เรื่อง: กฤตพล สุธีภัทรกุล
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2020/11/04/politics/sarah-mcbride-delaware-state-senate/index.html
https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/sarah-mcbride-become-first-transgender-state-senator-u-s-history-n1246211
https://news.delaware.gov/2013/06/19/governor-signs-gender-identity-nondiscrimination-act/
https://people.com/politics/election-2020-sarah-mcbride-first-openly-transgender-state-senator-in-delaware/
https://philadelphia.cbslocal.com/2020/11/04/delaware-sarah-mcbride-elected-first-transgender-state-senator-in-united-states/
https://twitter.com/SarahEMcBride/status/1323805254081761282
https://sarahmcbride.com/about-sarah/
https://www.thelily.com/from-unwavering-ache-to-advocacy-sarah-mcbrides-journey-breaking-barriers-as-a-transgender-woman/
https://unothegateway.com/sarah-mcbride-set-to-become-first-transgender-state-senator-in-u-s-history/
https://victoryfund.org/candidate/sarah-mcbride/
https://www.washingtonblade.com/2020/11/11/sarah-mcbride-prepares-for-new-role/
https://youtu.be/7AF2mr4d_Qg
https://youtu.be/Kw5vyJ30djM