สัมภาษณ์อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ: ภารกิจนำพา “เนชั่น” กลับสู่ความเป็นสื่อมืออาชีพ
"ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน มันไม่ควรที่จะให้ทุกคนมีความเชื่อทางการเมืองไปในทางเดียว ความเชื่อทางการเมืองของผมกับการทำงาน แยกกันโดยเด็ดขาด ผมมีจุดยืนสนับสนุนเรื่องการพูดคุยกันอย่างเปิดใจระหว่างคนต่างวัย อย่างน้อง ๆ ที่เคลื่อนไหว เราต้องมองเขาว่า ไม่ใช่มีเจตนาไม่ดี แต่เขาต้องการอนาคตของเขา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ ก็คือ เปิดกว้าง พูดคุย อันนี้เป็นจุดยืน"
หลังจากที่ออกจากชายคา "เนชั่น" อันเป็นบ้านที่เขาร่วมปั้นขึ้นมาร่วมสามสิบปี ผ่านไปสามปีครึ่ง อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กลับคืนบ้านอีกครั้งในฐานะซีอีโอของ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับภารกิจนำพา “เนชั่น” กลับมาสู่ภาพลักษณ์ความเป็นสื่อมืออาชีพ หลังจากที่ผ่านมา เนชั่นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการทำงานสื่อ จนเกิดกระแส #แบนเนชั่น ขึ้นมา
การกลับมาบริหาร “เนชั่น” อีกครั้งของอดิศักดิ์ จะช่วย “รีแบรนด์” และ “เปลี่ยนเกม” ให้กับเนชั่น ในฐานะสถาบันสื่อที่อยู่คู่กับวงการข่าวมาร่วม 49 ปีได้อย่างไร อ่านได้ที่บทสัมภาษณ์นี้
The People: ทาง “เนชั่น” ติดต่อมาอย่างไร
อดิศักดิ์: ตั้งแต่ผมออกจากเนชั่นไป เดือนมิถุนายน 2560 ก็ประมาณ 3 ปีครึ่ง จริง ๆ ติดตามห่าง ๆ และมีหลายครั้งที่เราก็พูดถึงเนชั่นในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ยังถืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง ซึ่งเดิมผมเคยเป็น CEO อยู่ ถือหุ้นอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีหุ้นนะครับ
ก็ได้รับการติดต่อจากคนเก่าของเนชั่นเดิม อยากให้กลับมาช่วยปรับปรุงตัวช่องของเนชั่นทีวี เพราะว่ามีผู้ประกาศระดับแม่เหล็ก 5 - 6 คนได้ลาออกไป ผมก็ทราบจากคนที่ทำงานอยู่ในเนชั่นทีวีว่า ขวัญกำลังใจของคนทำงานเสีย ต้องการอยากจะชวนผมกลับมา ก็ได้เรียนทางคุณฉาย บุนนาค ซึ่งเป็นประธานของเนชั่นกรุ๊ป ให้ชวนผมกลับมา
ก็มีระดับซีเนียร์ของเครือเนชั่น บก.นะครับ ได้ติดต่อคุยกับผม แล้วก็มีจดหมายน้อยเป็นลายมือของคุณฉาย บุนนาค เขียนถึงผมว่า อยากให้กลับมาช่วยกันพัฒนาช่องเนชั่นทีวี ซึ่งผมเคยทำมาและผมเป็นคนริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 ทำอยู่ 17 ปี ออกไป 3 ปี ปีนี้เนชั่นทีวีครบรอบ 20 ปี
ผมก็มีเงื่อนไขไม่มาก ผมบอกว่า จริง ๆ ผมไม่ได้เป็นคนมีเงื่อนไขอะไร เพียงแต่ผมก็เห็นว่า เมื่อคุณฉายได้ชวนผม แต่ผมขอย้อนกลับไปเรื่องของปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นในเนชั่นกรุ๊ปที่มี 2 ฝ่าย แล้วก็ผู้บริหารชุดเก่า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งได้ออกไป คือ คุณสุทธิชัย หยุ่น ณ ปัจจุบัน ผมก็ไปตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นแล้ว ก็เกือบทั้งหมด ยังถือหุ้นอยู่เดิม เพราะฉะนั้น ผมก็คิดว่า ถ้าเจตนาของคุณฉาย ต้องการทำให้เนชั่นทีวี กลับมาเป็นช่องข่าวที่มีคุณภาพ เป็นมืออาชีพ ก็อยากให้คุณฉาย เรียนกับผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ด้วยนะครับ เพื่อให้เหมือนเป็นความเห็นร่วมกัน ถ้าอย่างนั้นผมยินดีพร้อมที่จะกลับมาช่วยพัฒนา เพราะว่า ก็เห็นคนทำงานมีความตั้งใจ และได้ติดต่อผมมาด้วยว่าอยากให้ผมช่วย
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นเหตุผลหลักซึ่งก็ทราบว่าคุณฉายก็ได้ติดต่อผู้ถือหุ้นหลายราย แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นประชุมผู้ถือหุ้นอะไร ก็มีการติดต่อ ผมก็เลยตอบตกลง และมันก็เป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย เพราะผู้ประกาศที่เป็นแม่เหล็กหลายคนได้ตัดสินใจลาออกทันที อันนี้มีผลต่อขวัญกำลังใจของคนดูและคนที่ทำงานอยู่ในช่องเนชั่นทีวี นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่มา คิอใช้เวลาตัดสินใจเร็วมาก ไม่กี่วัน 2 - 3 วันเอง
The People: คิดว่า “เนชั่น” ในยุคที่คุณบริหารก่อนหน้านี้ กับก่อนที่คุณจะกลับมาแตกต่างกันอย่างไร
อดิศักดิ์: คือ ผมเรียนว่า โดยองค์ประกอบไม่เหมือนกัน ตัวผู้ถือหุ้นเหมือนกัน แต่ว่า คนที่อยู่ข้างหลังที่ทำงานกับคุณฉาย บุนนาค ณ ปัจจุบันได้ออกไปด้วย ผมขอไม่เอ่ยชื่อแล้วกันนะครับ จากเดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาอยู่ด้วย ขณะเดียวกันของคุณสุทธิชัยก็เช่นเดียวกัน มีผู้ถือหุ้นบางรายที่อยู่ด้วยแต่ปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมก็ถือว่า ผมไม่อยากให้มีปัญหาขัดแย้งกัน
แล้วผมก็คิดว่า บริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุยกัน ร่วมมือกันทำงาน อาจจะแบ่งหน้าที่กันอะไรกัน มันจะเป็นผลดีกับองค์กรรวม แต่ถ้าองค์กรไหนก็ตาม หรือบริษัทไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นใกล้เคียงกัน อันนี้จะเป็นอุปสรรคในการทำงาน
อันนี้ก็คือว่า ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงครั้งที่ออกไป (คราวก่อน) เราก็คิดว่านั่นก็เป็นวิถีทางที่ในเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น มี process ในเรื่องกฎหมายต่าง ๆ แล้ว ทางผู้ก่อตั้งเดิมเสียงน้อยกว่าก็ออกไป แต่ปัจจุบันนี้ หุ้นก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่คนที่ร่วมที่อยู่ในองค์กรเนชั่น ไม่เหมือนเดิม เราก็มีภารกิจไม่เหมือนกัน
ตอนนี้ภารกิจของผมชัดเจนว่า ถูกชวนมาให้นำเนชั่นทีวี กลับสู่สถาบันสื่อมืออาชีพแล้วผมก็ให้ประเด็นไปว่า จะต้องทำอะไรบ้าง จริง ๆ ก็กลับไปทำหน้าที่ปกติ ของสื่อสารมวลชนที่ดี ที่มีจรรยาบรรณ
หลักใหญ่เลยคือ เรื่อง gatekeeper ก็คือการเป็นผู้เฝ้าประตูข่าวสาร อย่างน้อยต้องกลั่นกรองสิ่งที่จะออกอยู่บนช่องเนชั่นทีวี หรือบนออนไลน์ ภายใต้ชื่อของเนชั่นทีวีให้มันเป็นความจริง ไม่มีอคติ ไม่เจือปนความเกลียดชังหรือการสร้างความรุนแรง อันนี้เป้นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยตรงนี้ทำให้ได้ นอกนั้น ผมว่าก็เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน เป็นกระจก ก็คือ สะท้อนความจริงที่ไม่บิดเบือน ไม่บิดเบี้ยว หรือจะเป็นตะเกียงส่องทางแสงสว่างให้กับสังคม เพื่อให้เขาเห็นความผิดปกติ หรือความเป็นไปของสังคมโดยที่ไม่มีการบิดเบือน
รวมทั้งเรื่องของการ setting agenda คือการกำหนดวาระทางสังคม ก็คือ มันมีเรื่องใหญ่ ๆ ประเด็นใหญ่ ๆ ในสังคมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งผมคิดว่าในความเป็นสถาบันสื่อต้องรู้จักหรือเลือกในการทำประเด็นสำคัญ ๆ ที่จะให้สังคมได้มองเห็นหรือขึ้นมาถกเถียงกัน ไม่ใช่เลือกประเด็นโดยจุดมุ่งหมายทางการเมือง อันนั้นผิด
เราทำเพื่อให้สังคมตระหนัก เพื่อให้เป็นวาระถกเถียงทางสังคม เพื่อให้เนชั่นทีวี เสมือนเป็นแฟลตฟอร์มสำหรับทุกคนที่เข้ามาถกเถียงได้ หรือเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น หรือเรานำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านแพลตฟอร์มนี้ ให้ผู้บริโภคเข้ามาได้ทุกช่องทาง ไม่ใช่เฉพาะใน first screen ที่เป็นทีวี บนออนไลน์ด้วย บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อันนี้ต้องทำหน้าที่
จริง ๆ ก็กลับไปสู่ความเป็นเนชั่น คือ เป็นโรงเรียนคนข่าว สร้างคน เป็นโรงเรียนของสังคม คือให้ความรู้ ตัวคนทำงานอาจจะไม่ได้มีความรู้มากมาย แต่ต้องเป็นแพลตฟอร์มเปิดกว้างสำหรับทุกคน ความคิดเห็นแตกต่างกันสามารถมาร่วมสื่อสารผ่านช่องทางของเนชั่นทีวีได้ คือทั้ง first screen ทั้งโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ต่าง ๆ
The People: ก่อนมาได้คุยกับสุทธิชัย หยุ่น (อดีตผู้ก่อตั้ง “เนชั่น”) บ้างไหม
อดิศักดิ์: คือผมได้เรียนคุณสุทธิชัย ว่า ผมขอตัดสินใจมาร่วมครั้งนี้ ด้วยเหตุผลอย่างที่บอก คนทำงานที่อยู่ในเนชั่นทีวี ได้ร้องขอผมด้วย ขณะเดียวกันทางประธานของเนชั่น คุณฉาย บุนนาค ได้ให้คำมั่นผมว่า มีเจตนาต้องการให้ผมเข้ามาช่วยที่จะทำให้เนชั่นทีวีกลับมาสู่สถาบันสื่อมืออาชีพ เพราะว่าหลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากมาย อันนี้ก็เสมือนเป็นการยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทางผู้บริหารชุดปัจจุบันที่อยู่ในเนชั่นกรุ๊ป
ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้ และผมก็ได้เรียนกับคุณสุทธิชัยว่า อันนี้เป็นเหตุผลที่ผมได้ตอบรับเข้ามา ซึ่งคุณสุทธิชัยก็ไม่ได้มีความเห็นอะไรมาก เพียงแต่ว่าคุณสุทธิชัยขอยังไม่ยุ่งเกี่ยวอะไร ก็แล้วแต่ผม แต่คุณสุทธิชัยยังถือหุ้นอยู่ปกติ ถ้าดูจากในตลาดหลักทรัพย์
The People: รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านไหม
อดิศักดิ์: คือ มันเหมือนบ้านใหม่นะ เพราะว่าออกไป 3 ปี ก็รู้สึกว่า คือวันแรกที่มา ทางทีมงานที่นี่ก็พาผมเดินทุกชั้น เดินแนะนำตัวทุกชั้น ก็ได้เจอพนักงานเก่า ๆ ที่รู้จักผมอยู่แล้วทุกแผนก ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายโฆษณา ฝ่ายธุรการ ฝ่ายกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ เดอะเนชั่น คมชัดลึก ทุกคนก็ต้อนรับนะ เห็นสีหน้าแววตาก็ต้อนรับ อันนี้ผมอาจจะสรุปด้วยตัวผมเองว่า ต้อนรับ
ผมก็มองเห็นว่า ได้มีการลงทุนพัฒนาเรื่องช่อง สตูดิโอต่าง ๆ ดีกว่าสมัยที่ผมเคยทำงานอยู่เมื่อ 3 - 4 ปีที่แล้ว เพราะช่วงนั้น เราอาจจะมีปัญหาเรื่องทีวีดิจิทัลที่มีการขาดทุนจากภาระแรก ๆ แต่ตอนนี้ถ้าโดยฮาร์ดแวร์ ถือว่าดีกว่าเดิม สภาพเป็นสัดส่วน ห้องทำงาน สตูดิโอ อุปกรณ์ virtual อะไรต่าง ๆ มีค่อนข้างพร้อม ฮาร์ดแวร์ดีมาก เพียงแต่ว่าซอฟต์แวร์ คือ คน อาจจะต้องปรับระบบการทำงานบ้าง ปรับทัศนคติ จูน mindset บางอย่าง เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกันว่า เราจะกลับไปสู่สถาบันสื่อมืออาชีพได้อย่างไร
และสถานะปัจจุบันของปีที่ 49 เข้าปีที่ 50 ของเนชั่นกรุ๊ป ส่วนของที่เป็นธุรกิจบรอดแคสติ้งมีสัดส่วนมากกว่า อาจจะใกล้เคียงกับฟากของบริษัทแม่ อันนี้พอจะพูดได้ว่า ในอนาคต บริษัทลูกอาจจะใหญ่กว่าบริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่ก็จะเป็นกรุงเทพธุรกิจ เป็นอะไรที่เป็นสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อแบบเก่าหน่อย แต่ทางฝั่งบรอดแคสติ้ง ก็มาทางทีวี ออนไลน์ มาทางดิจิทัล มาทางเป็นพวกวิดีโออะไรเยอะกว่า
The People: การกลับมาครั้งนี้ ถือเป็นการ “รีแบรนด์” เนชั่นไหม
อดิศักดิ์: คือแผนของเรา ที่ผมเข้ามาแล้วผมได้คุยกับคุณฉายที่เป็นประธานของเนชั่นกรุ๊ป ตอนที่ชวน เขาถามความเห็นผม ผมก็คิดว่า ต้องรีแบรนด์ เพราะว่าผู้ประกาศชุดเก่าได้ออกไป แล้วในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ในช่วงที่ผ่านมา สังคมก็มีคำถามตัวใหญ่ ๆ เยอะนะ เพราะฉะนั้น ต้องรีแบรนด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เพราะผมฟังดูเหมือนกับว่า เนชั่นทีวีโดยสถานะ โดยกลุ่มเป้าหมาย คนรุ่นใหม่ปฏิเสธด้วยเนื้อหา ด้วยท่าทีของช่อง ไม่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ แต่เราจะบังคับให้คนรุ่นใหม่มาดูโทรทัศน์ ก็คงไม่ได้
เพราะฉะนั้น ภายใต้แบรนด์เนชั่นทีวี จะทำยังไงให้สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มได้ คนดูที่ผ่านช่องทีวีปกติ ก็ยังเป็นคนดูที่มีอายุสูง อาจจะ 40 - 45 หรือ 50 ปีขึ้นไป แต่จะทำอย่างไรให้คนที่อายุต่ำกว่านั้น ยอมรับในแบรนด์ของเนชั่นทีวี เหมือนยุคก่อน ๆ ที่เนชั่นทีวีเคยเป็นเหมือนโรงเรียนคนข่าว คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงาน อยากเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งอันนั้นคือเป็นสิ่งที่เราต้องรีแบรนด์ เพื่อทำให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ ๆ ทั้งเข้ามาติดตามเนื้อหาเรา เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานอะไรต่าง ๆ
The People: อะไรจะเป็น core value ใหม่ของเนชั่น ในยุคที่อดิศักดิ์กลับมา
อดิศักดิ์: อย่าเรียกว่า core value ใหม่เลย คือผมว่า จริง ๆ เรากลับไปสู่สิ่งที่เคยเป็นจุดแข็งของเรา แล้วทำให้มันเด่นชัดขึ้น ทำให้มันเข้ากับยุคสมัยของสื่อดิจิทัลมากขึ้น ก็คือ เอาง่าย ๆ คนชอบบอกว่า เนชั่นทีวี เป็นโรงเรียนคนข่าว ตอนนี้อาจจะเติมเป็นโรงเรียนของสังคม คือ เป็นทั้งโรงเรียนในการสร้างคนข่าว คือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้คนในสังคมเข้ามาเรียนรู้ในสิ่งที่คนของเราได้ถ่ายทอด ผลิตคอนเทนต์ออกไป เป็นเวทีที่เปิดกว้าง อันนี้ผมว่าสำคัญ จริง ๆ core value หลัก เรายึดอยู่แล้วคือ เราเป็นสถาบันสื่อมืออาชีพ เราดำรงอยู่บนความน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
The People: คือการเอาเอาตำรา Nation Way กลับมา
อดิศักดิ์: ก็ใช่ Nation Way เพียงแต่ว่า Nation Way จริง ๆ แล้วคือหลักปฏิบัติ ซึ่งถ้าใครไปอ่านจะละเอียดมาก พูดถึงการไปงานสังคม การสัมภาษณ์คนจะต้องอย่างไร อะไรต่าง ๆ การปฏิบัติตัว แต่จริง ๆ หัวใจหลัก ๆ ก็มีไม่เยอะหรอก ไม่ได้ต่างจากสื่ออื่นนะ เพียงแต่ว่า ความเข้มข้นเท่านั้นเอง ความเข้มข้นในการยึดหลักจรรยาบรรณ การทำหน้าที่สื่อที่สะท้อนความจริง แล้วก็ความน่าเชื่อถือคือเราต้องตรวจสอบให้ได้
The People: ความเชื่อทางการเมืองของคุณ มีผลต่อการบริหารงานเนชั่นไหม
อดิศักดิ์: ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน มันไม่ควรที่จะให้ทุกคนมีความเชื่อทางการเมืองไปในทางเดียว ความเชื่อทางการเมืองของผมกับการทำงาน แยกกันโดยเด็ดขาด
ผมมีจุดยืนสนับสนุนเรื่องการพูดคุยกันอย่างเปิดใจระหว่างคนต่างวัย อย่างน้อง ๆ ที่เคลื่อนไหว เราต้องมองเขาว่า ไม่ใช่มีเจตนาไม่ดี แต่เขาต้องการอนาคตของเขา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ ก็คือ เปิดกว้างพูดคุย อันนี้เป็นจุดยืน ไม่ได้หมายความว่า เราไปสนับสนุนทุกอย่างที่เขาเสนอ เพราะน้อง ๆ ที่เสนอก็อาจจะมีความเชื่อแบบหนึ่ง แต่เราผ่านเหตุการณ์ผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเยอะแยะ เราก็มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง คนอื่นก็มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันไม่สามารถที่จะบอกว่ามันถูกผิดทันที มันต้องมาคุยกัน
แต่พอเราไปปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นสื่อ จริง ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากคนขายสินค้าบริษัททั่วไปนะ บริษัททั่วไปเขาขายของทุกคน เขาไม่ได้ขายของให้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองเหมือนเขา ไม่ขายของให้กับคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่เหมือนเขา ไม่ใช่
เราก็เหมือนกัน เราผลิตคอนเทนต์ มันก็เหมือนสินค้า เราต้องผลิตคอนเทนต์ให้ทุกคนสามารถบริโภคได้ สามารถเสพได้ เราต้องเป็นแพลตฟอร์มเปิดที่ให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้น ความเชื่อทางการเมืองกับการทำหน้าที่มันคนละอย่างกัน ไม่ควรเอามาตัดสินว่า ผมจะเอาความเชื่อทางการเมืองแบบนี้มาทำสื่อแบบนี้ ไม่ใช่ มันคนละแบบ
ผมจะเลือกพรรคไหน อันนี้เป็นสิทธิของผมนะ
The People: แนวทางการทำข่าวของเนชั่น หลังจากที่เราเข้ามา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปไหม
อดิศักดิ์: ถ้ามองอย่างปกติ ไม่ได้เปลี่ยนเลย เรากลับมาทำหน้าที่ปกติเหมือนสื่ออื่น ซึ่งคนดูจำนวนหนึ่งที่อาจจะชอบแบบเดิม รู้สึกว่าเราเปลี่ยนไปเป็นอีกข้างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ แต่ถ้าคนที่มองอย่างปกติ เปรียบเทียบเรากับสื่อโดยทั่วไป ไม่มีอะไรผิดปกติเลย แทบจะเหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจุดยืน มันเป็นเรื่องของการกลับมาทำหน้าที่สื่อมืออาชีพอย่างปกติ ไม่มีอคติ ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง
คือไม่ผิดปกติ แต่มันเหมือนว่าคนทำงาน อันนี้เท่าที่ผมเข้ามาได้ 2-3 วันนี้นะ เหมือนคนทำงานมีอารมณ์ของการถูกปลดปล่อย จากเดิมเขาอาจจะทำงานบนข้อจำกัด บนความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เขานำเสนอไปจะถูกใจใครไหม ตอนนี้ผมบอกให้ทุกคนทำงานปกติ ก็เหมือนว่าทุกคนถูกปลดปล่อย จากเดิมที่มีข้อจำกัด มีความระแวง ไม่มั่นใจในการทำงานของตัวเอง เป็นการปลดปล่อยเท่านั้นเอง ก็ทำงานปกติ
เพียงแต่หลังจากนี้ เราจะนำไปสู่การกำหนดวาระทางสังคม การทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้ทุกคนเข้ามาจอยได้ อันนั้นเป็นภารกิจ แต่เบื้องหน้า เราทำแค่ตรงนี้ก่อน
The People: การเข้ามาของคุณ ช่วยลดกระแส #แบนเนชั่น ไหม
อดิศักดิ์: ผมคิดว่า เมื่อเรากลับมาทำหน้าที่ของความเป็นสื่อมืออาชีพแล้ว ผู้ลงโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักขององค์กร ย่อมมองเห็นว่าที่ผ่านมา กระแสของการแบนโฆษณามีผลพอสมควร เพราะว่าในโลกยุคปัจจุบัน เจ้าของสินค้าไม่ต้องการไปอยู่กับแบรนด์ของสื่อที่เลือกข้าง
คือจริง ๆ เลือกข้างอาจจะไม่เป็นไรนะ แต่เลือกข้างแล้วมีเนื้อหาไปในลักษณะของ hate speech หรือมุ่งโจมตีใคร อันนี้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เขาจะไม่ยินยอม ถึงแม้เจ้าของแบรนด์จะมีความเชื่อแบบไหน เพราะว่าเขาขายของให้ทุกคน พอคุณฉายได้บอกแนวทางอย่างนี้แล้วเชิญผมมาร่วมในการบริหาร ผู้ลงโฆษณาซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรู้จักผมอยู่แล้วว่าผมบริหารตัวเนชั่นทีวีมา 17 ปี เขารู้จักอยู่แล้ว เสียงตอบรับก็ค่อนข้างดี
ผมมีคิวนัดที่จะต้องไปเจอผู้สนับสนุน ผู้ลงโฆษณาค่อนข้างยาว เราก็พยายามไปทำความเข้าใจกับเขาว่า ตอนนี้ปัญหาเรื่องที่เขาเคยถูกโจมตีถูกอะไรต่าง ๆ ก็น่าจะลดน้อยหรือหมดลงไป เพราะว่า เรากลับมาทำหน้าที่สื่อมืออาชีพที่เป็นที่ไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงโฆษณาที่สนับสนุนเรามาโดยตลอด เพราะว่าช่องเนชั่นทีวี เติบโตมาบนพื้นฐานของผู้สนับสนุนที่จริง ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการขายสินค้ามาก เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ เป็นส่วนใหญ่ และหลาย ๆ ราย ได้สนับสนุนตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่ปี 2543 ต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี ไม่ได้เปลี่ยนเลย อาจจะมีหายไปบ้างบางช่วง แต่โดยส่วนใหญ่ 80 - 90% ยังอยู่เหมือนเดิมจากวันแรกมา
ในช่วงมีกระแสแบนโฆษณา ผมทราบว่ามีบางรายที่ชะลอ หรือหยุดชั่วคราว ตอนนี้เราก็ต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นกลับมาว่า ช่องเนชั่น จะกลับมาทำหน้าที่สื่อมืออาชีพ ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าผู้สนับสนุน โฆษณา องค์กรต่าง ๆ จะกลับมาสนับสนุนเราเหมือนเดิม มิเช่นนั้น เราไม่สามารถเดินมาได้ถึงปีที่ 20 หรอก ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งพอ
The People: มองความขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้อย่างไร
อดิศักดิ์: คือผมคิดว่า การแก้ปัญหา วิกฤตทางการเมือง ทางฝั่งของรัฐบาล ฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล ควรที่จะมองแบบเปิดใจ มันจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถ้ามองแบบเป็นศัตรูกัน มันไม่มีทาง และยิ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
การแก้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านสภาไป อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกระบวนการสำคัญกว่า กระบวนการของ ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ อันนี้ผมยังเชื่อมั่นนะว่า น่าจะช่วยได้ มันต้องใช้เวลา เพียงแต่ว่า ท่าทีระหว่างฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายรัฐ กับผู้ชุมนุมต่าง ๆ ต้องลดทอน ในเรื่อง hate speech ลง
คือการใช้สันติวิธี มันไม่ใช่สันติวิธีที่การกระทำอย่างเดียว ต้องคำพูดด้วยนะ มิฉะนั้น ต่างคนต่างปลุกเร้ากัน ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อดำ ทั้งฝ่ายอำนาจรัฐต่าง ๆ มันไม่ช่วย จะสังเกตว่า ทุกครั้งเวลามีชุมนุม ถ้าตำรวจไม่ขัดขวาง การชุมนุมก็จะเลิกไปเองโดยสันติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีความสูญเสีย ไม่มีความรุนแรงอะไร แต่ทุกครั้งถ้าตำรวจสกัดกั้น ใช้แบริเออร์ ใช้กำแพง ใช้ลวดหนาม มันก็จะเป็นการยั่วยุ เพราะฉะนั้น ทั้ง 2 ฝั่ง ต้องลดทั้งท่าที ลดทั้งคำพูด ลดทั้งการกระทำลง ที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือความเกลียดชังมากขึ้น ที่มันแยกออกไปมากขึ้น ต้องลด
ผมคิดว่า มันต้องมีพื้นที่ปลอดภัยที่คุยกันได้ แล้วคนที่กลาง ๆ ต้องออกมาช่วย คือ ตอนนี้ทั้ง 2 ฝั่ง มันเหมือนแยกห่างกัน ห่างกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ถามว่าจะยุติได้ไหม ผมยังเชื่อว่า ยุติได้ แล้วก็จะไม่เกิดความรุนแรงถึงขั้นผู้คนล้มตายมากมาย มีโอกาสที่จะสงบได้
จริง ๆ ถ้าลดท่าทีและมีพื้นที่กลาง มันก็เกิดขึ้นได้ แต่มันต้องใช้เวลา แล้วระหว่างนี้ process ของการแก้รัฐธรรมนูญต้องจริงใจ ต้องเปิดกว้าง