คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball

คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball
“ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดใน Dragon Ball จริง ๆ  เลยตัวแรกคือ ‘เบจิต้า’ อันนี้ชัดมาก คือโผล่มาชั่วร้าย ชั่วแบบชั่วมาก แล้วก็ค่อย ๆ  กลายเป็นสีเทา แล้วก็ค่อย ๆ ดี จนกลายเป็นพ่อบ้านที่… โอ้โห พ่อบ้านในใจของสาว ๆ ญี่ปุ่นจำนวนมาก ระหว่างนี้เขามีกระบวนการผ่านประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง การถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกอะไรมาตั้งเยอะแยะเลย จนมันค่อย ๆ หล่อหลอม ตัวนี้ก็เลยเป็นตัวละครที่น่าสนใจมาก” แม้ว่า วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เมื่อถูกวัดพลังผ่านเครื่องวัดพลังที่เรียกว่า “สเกาเตอร์” แล้วพบว่า เขามีพลังเท่าค่าเฉลี่ยมนุษย์โลก และไม่สามารถปล่อยพลังคลื่อนเต่าได้ แต่ความสนใจของเขาที่มีต่อมังงะระดับขึ้นหิ้งอย่าง Dragon Ball นำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ "Japanese Manga as Intercultural Media of the U.S. and Japan: A Case Study of Akira Toriyama' s Dragon Ball" ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตร English Language Studies (ELS) ในอีกมุมหนึ่ง วีรยุทธเป็นนักเขียนประจำของ The People ได้เขียนบทความวิเคราะห์ตัวละครใน Dragon Ball ไว้มากมาย อย่างเช่น ซง โกคู, เบจิต้า, พิคโกโล่, คูริริน, ผู้เฒ่าเต่า, ฟรีเซอร์, หยำฉา, จีจี้และบูลมา เป็นต้น Dragon Ball สำคัญต่อมนุษย์โลกอย่างไร มาไขปริศนาความฮิต Dragon Ball ที่อยู่คู่ผู้ชมมากว่า 3 ทศวรรษกับบทสัมภาษณ์นี้ The People: จุดเริ่มต้นของการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับมังงะ วีรยุทธ: ตอนแรกเลยจุดเริ่มในการสนใจมังงะหรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นก็คือวัยเด็ก อย่างผมกับคุณ (ผู้สัมภาษณ์) สมัยเด็ก ๆ เราก็จะอ่านการ์ตูนพวกรายสัปดาห์ แล้วก็มีของการ์ตูนทีวีอย่างช่อง 9 เราก็สนใจตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ก็คงเหมือนเด็กทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ อ่านเป็นความบันเทิงของชีวิตธรรมดามากกว่า แล้วก็อ่านจนเริ่มโต พอเริ่มโตเข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนวิชาเอกภาษาญี่ปุ่น พอเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นปุ๊บ ทีนี้จากที่เราอ่านการ์ตูนมาเป็นภาษาไทย เราก็เริ่มมีความสนใจใหม่ว่า เฮ้ย เราอ่านภาษาไทยมาตลอด ทำไมเราไม่ลองอ่านภาษาต้นฉบับ แล้วมันก็จะเสริมการเรียนเราด้วย เราก็เลยมีการลองพยายามเอาการ์ตูนที่เราเคยอ่านตอนเด็ก ๆ เริ่มด้วยอย่าง ‘โดราเอมอน’ เริ่มก่อนเลย มาอ่านเป็นเวอร์ชันญี่ปุ่นดู เพราะว่าเนื้อเรื่องมันไม่ได้ยากมาก ไวยากรณ์อะไรก็ไม่ได้ยากมาก ก็เลยลองสตาร์ตตั้งแต่จุดนั้น คือตอนเรียนญี่ปุ่นจะไม่ได้เรียนจากตำราเรียนอย่างเดียว แต่เรียนทั้งจากสื่อต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์ ละคร หนัง การ์ตูน ทุกอย่างเลย ก็เลยมีความสนใจมากขึ้น อ่านการ์ตูนในเชิงวิเคราะห์ตัวละคร ในเชิงวิเคราะห์บท ทีนี้ที่ผ่านมาชีวิตการทำงานเคยทำงานภาคธุรกิจมาตลอด แต่พอตอนทำปริญญาเอกที่ธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เขาจะมีวิชาเอก 3 วิชาของปริญญาเอก แบบแรกคือภาษาศาสตร์ประยุกต์  Applied Linguistics แบบที่ 2 คือวรรณกรรม คือ Literary Study แบบที่ 3 Intercultural Communication คือการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม  ตอนแรกที่จะทำปริญญาเอกที่นี่ยังคิดแต่ภาคธุรกิจอยู่ มันยังไม่ได้ที่การ์ตูน แต่พอคุยกับอาจารย์ผู้สอนหลาย ๆ คน เขาบอกว่าคือในความเป็นศิลปศาสตร์มันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาการ คุณอาจจะเอาสิ่งที่คุณชอบมาทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็ได้ สิ่งไหนที่เป็นตัวคุณ ที่คุณอยู่พื้นฝั่งญี่ปุ่นมาตลอด ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นรวมทั้งหมดมาตั้ง 7 ปี แล้วตอนนี้คุณย้ายมาอยู่สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คุณมีอะไรที่ความเป็น hybrid ของคุณมันดึงออกมาได้บ้าง ความเป็นญี่ปุ่นและอังกฤษผสมกัน พอลองไปนั่งค้นหาตัวเองดูจริง ๆ ลองสำรวจความชอบ ก็เลยรู้สึกเราจะต้องอยู่กับวิทยานิพนธ์เราไปตั้งหลายปี อย่างน้อย 4-5 ปี เอาเรื่องที่เราชอบในชีวิตดีกว่า มันก็เลยหวยออกว่าเราจะทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่การ์ตูนญี่ปุ่นในญี่ปุ่น เราจะทำเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไปในต่างชาติแล้ว โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไปตีตลาดในอเมริกา เรามองว่ามันเป็นเหมือนหนังฮอลลีวูดอเมริกันมันไม่ใช่ของอเมริกาใช่ไหม แต่มันเป็นสื่อที่ไปทั่วโลกแล้ว เราก็เลยเอามุมเดียวกันมามองกลับว่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่เป็นของญี่ปุ่นแล้ว แต่เป็นสื่อที่ไปทั่วโลกแล้ว มันมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็เลยมีความสนใจที่จะทำเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นในเชิงวิชาการขึ้นมา ณ ตอนนั้น The People: ทำไมถึงเลือกมังงะเรื่อง ‘Dragon Ball’ วีรยุทธ: คำถามว่าทำไมเป็น ‘Dragon Ball’ คือตอนแรกเนื่องจากถึงเราชอบการ์ตูนเนอะ แต่ว่าด้วยความที่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมันต้องมีความเป็นวิชาการด้วย พอมีความเป็นวิชาการแปลว่าเราทำเรื่องที่เราชอบล้วน ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้นะ เราต้องมีความ make sense บางอย่างว่าทำไมเราเลือกเรื่องนี้ ตอนนั้นเรามาลิสต์ประมาณ 7 เรื่อง 10 เรื่องว่ามันควรจะเป็นเรื่องไหนแล้วก็เข้าไปดู อันนี้ต้องบอกก่อนว่า Dragon Ball เป็น 1 ใน 10 เรื่องที่ชอบที่สุด แต่ว่าไม่ใช่เป็นแบบที่สุดเบอร์ 1 จริง ๆ มีเรื่องอื่นที่ชอบมากกว่านี้ แต่พอดูในท็อป 10 แล้ว ในเชิงแบบนักวิชาการเราก็ต้องดูว่ามีเรื่องไหนที่มี impact มากที่สุดจริง ๆ ที่ไม่ใช่เป็น bias ของเรา แต่เป็นอ้างอิงจากหนังสือ อ้างอิงจากเว็บไซต์ จากสถิติจากอะไรหลาย ๆ อย่าง พอลองไปดูแล้วพบว่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลในอเมริกามากที่สุดจริง ๆ มี 2 เรื่องฝ่ายการ์ตูนผู้ชายคือDragon Ball ฝ่ายการ์ตูนผู้หญิงคือ ‘เซเลอร์มูน’ แต่ตัวเราตอนเด็กเราก็ไม่ได้อ่านเซเลอร์มูนอะไรมากมาย พอต้องทำตอนแรกคุยกับอาจารย์ว่าทำ 2 เรื่องได้ไหม แต่อาจารย์เขาบอกว่าคือฝั่งหนึ่งมันการ์ตูนผู้ชาย ฝั่งหนึ่งมันการ์ตูนผู้หญิง มันเท่ากับว่าคุณ hard work 2 ขาเลยนะ แต่ตอนทำ ป.เอก มันควรจะต้องทำให้มันลึกไปเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอลองเลือกแล้ว Dragon Ball ดีกว่า เพราะตัวเองคุ้นเคยกับการอ่าน การสัมผัสสื่อนี้มากกว่า  คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball The People: ส่วนตัวแล้วคุณชอบมังงะเรื่องไหนมากที่สุด วีรยุทธ: มังงะเรื่องที่ชอบที่สุด ถ้าชอบที่สุดที่สุดจริง ๆ เลยนะจะเป็น ‘Fullmetal Alchemist’ (แขนกล คนแปรธาตุ) แล้วก็โดราเอมอนน่าจะชอบพอ ๆ กันทั้งสองเรื่องนี้ ก่อนหน้าจะทำDragon Ballเคยตีพิมพ์ไปฉบับหนึ่งแล้วอันนั้นจะเป็นโฟกัสเรื่องโดราเอมอนโดยเฉพาะ แต่นั่นเป็นบทความวิจัยฉบับเล็กมีประมาณ 20-30 หน้าเอง ไม่ใช่วิทยานิพนธ์เล่มใหญ่ ประเด็นคือดูสื่อของโดราเอมอนที่เข้าไปในอเมริกาว่าถูกอเมริกาเซ็นเซอร์ ถูกตัด ถูกอะไรยังไงบ้าง เราจะดูเรื่อง power relation เรื่องของการบริหารอำนาจทางวัฒนธรรมที่อเมริกามีต่อสื่อญี่ปุ่น เพราะเหมือนกับใน… อันนี้พูดถึง paper โดราเอมอนนะครับ สื่อในอเมริกา ฮอลลีวูดมันไปทั่วโลก แล้วก็คือเหมือนกลายเป็น common sense กลายเป็นเหมือนเขาจะเรียกว่าเป็นมายาคติของคนทั่วโลก ทุกประเทศทั่วโลกรับสื่ออเมริกาเป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใช่ไหมเวลาเราไปดูหนังฮอลลีวู้ด แต่สำหรับอเมริกามันแปลกที่ว่าเขาจะมาดูสื่อที่มาจากต่างชาติอย่างญี่ปุ่น มันกลับจะมีแรงต้าน โดราเอมอนที่เข้าอเมริกาเลยถูกเซ็นเซอร์ ถูกแปลงเพลง เพลงอัง อัง อัง เนี่ยไม่มี เขาจะต้องแต่งเพลงใหม่เป็นภาษาอังกฤษ ภาพต่าง ๆ เข้าจะต้องเซ็นเซอร์ เงินเยนเขาเซ็นเซอร์ให้กลายเป็นเงินดอลลาร์ กินข้าวด้วยตะเกียบเขาลบภาพทิ้ง ให้กินด้วยส้อมกับมีดแทน คือเขาเซ็นเซอร์หนักมากจนโดราเอมอนมันกลายเป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันไม่มีความเป็นญี่ปุ่นเหลือ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นฝรั่ง มันก็เลยเป็นลูกผีลูกคน ก็เลยดูว่าตรงนี้คือการบริหารอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่อเมริกาเขาทำกับโดราเอมอน เพื่อไม่ให้มีความเป็นญี่ปุ่นสอดแทรกไปให้เด็กเขาได้รับรู้ The People: Dragon Ball มีความสนใจในแง่วิชาการอย่างไร วีรยุทธ: ธีสิสของ Dragon Ball เรามองมันว่ามันเป็นสื่อที่ข้ามวัฒนธรรม คือในชื่อจะเขียนว่าเป็น Intercultural Media คือต้องบอกก่อนว่าจากเรื่องในญี่ปุ่นก่อน การเขียนการ์ตูนในญี่ปุ่นยุคของ Dragon Ball คือยุคประมาณปี 1980 ปี 1990 ตอนนั้นนักเขียนญี่ปุ่นเขายังไม่ได้มองเรื่องตลาดต่างประเทศ เพราะปี 1980 ทำอะไรเขาก็ยังมองแต่เรื่องในประเทศ แต่ที่มันน่าสนใจคือเขามองแต่ลูกค้าในประเทศ โดยที่เขาไม่ได้แคร์มาร์เก็ตติ้งต่างชาติเลย แต่ไม่รู้ทำไมไอ้สิ่งที่เขามองแต่ตลาดญี่ปุ่น กลายเป็นว่ามันเป็นความเข้าใจสากล แล้วมันไปดังในต่างประเทศ มันดังในเอเชีย โดยเฉพาะในไทย จีน ไต้หวัน เกาหลี ก็คือทวีปเอเชียเกือบจะทุกประเทศฮิต Dragon Ball มากช่วงปี 1990 แต่มันไม่ใช่แค่นั้น พอผ่านไปอีก 10 กว่าปี พอหลังปี 2000 อยู่ดี ๆ มันไปตีตลาดในอเมริกา แล้วตีตลาดอย่างหนักมาก ๆ เลย คือถึงขั้นว่ายอดขายพุ่งแซงพวกการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรของอเมริกาเลย ตามร้านการ์ตูนในอเมริกา จากที่มีการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรจะวางแผงให้เห็นในระดับสายตา พวกการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรอเมริกันกลายไปอยู่ชั้นใต้ ๆ แทน ไปอยู่มุมมืด แล้วเขาต้องเซ็ตเป็นมุมหนึ่งสำหรับมังงะญี่ปุ่นขึ้นมาตามร้านหนังสือในอเมริกา แล้วเรื่องที่ไปฉายพวก Cartoon Network Dragon Ball ก็ครองแชมป์อันดับ 1 เรตติงยอดนิยม คือมันก็เลยน่าสนใจว่าสื่อที่เขาไม่แคร์เวิลด์ มองแต่ผู้บริโภคญี่ปุ่น ทำไมมันมีอะไรบางอย่างมันถึงตีตลาดได้ทุกประเทศทั่วโลกได้ขนาดนั้น ณ ตอนนี้ เพราะว่าช่วงที่ไปอเมริกาตอนนั้นก็ยังไม่ได้มี Dragon Ball ภาค Super นะ ยังเป็นภาคเก่าที่จบไปเมื่อปี 1990 กว่า ๆ แล้ว แต่ว่าไปตีตลาดอเมริกาได้ เราก็เลยเข้าไปดูไส้ในว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ ทำไมมันถึงมีความเป็นสากลที่ไปได้ทุกประเทศขนาดนั้น นี่คือหลัก ๆ ที่เป็นเนื้อหาในเล่ม The People: เห็นอะไรบ้างจากการศึกษาเรื่อง Dragon Ball วีรยุทธ: หัวข้อค้นพบเลยที่สุดแล้วใน Dragon Ball มันมีความเป็น multiculture มีหลาย ๆ อย่างของหลาย ๆ ชาติยำรวมกันหมดอยู่ในนั้น จนเหมือนกับว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติไหน คุณจะต้องมีอะไรบางอย่างในนั้นที่คุณเข้าใจมัน แล้วคุณก็อินกับมัน คุณจะมีความประสบการณ์ร่วมบางอย่างกับบางเรื่องในนั้นอยู่เสมอ เพราะว่า Dragon Ball เขายำรวมปรากฏการณ์ฮิต ๆ ของ pop culture ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1970 1980 1990 พี่แกเอามายำรวมกันหมดทั้งหมดในเรื่องเลย มันก็เลยจะมีความอินมาก อย่างเช่น ตอนเริ่มแรกจะเป็นเรื่องของ ‘ไซอิ๋ว’ ซึ่งไซอิ๋วฮิตมากช่วงปี 1980 เพราะว่าอิทธิพลของฮ่องกง ซึ่งไซอิ๋วในเมืองไทยก็ฮิต เพราะว่าเราก็รู้จักไซอิ๋ว อย่างในญี่ปุ่นก็ฮิตไซอิ๋วเหมือนกัน ตอนแรกก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไซอิ๋ว เรื่องเกี่ยวกับตำนานจีน แล้วพอไปเรื่อย ๆ เขาก็จะเริ่มมีการเปลี่ยน story พอตอนที่ซง โกคู แปลงร่างเป็นลิงยักษ์ มันจะเริ่มเป็นพล็อตของพวกหนังมนุษย์หมาป่าแล้ว ที่ว่าพอเห็นพระจันทร์แล้วกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่า แต่ว่าคนเขียนเขาก็เขียนแต่ต้นว่ามันเป็นลิง พอจะเห็นพระจันทร์ก็เลยต้องแปลงเป็นลิงยักษ์แทน พอขั้นถัดมาอีกมีกองทัพโบแดง (Red Ribbon) กองทัพโบแดงจริง ๆ มันก็มาจากพวกหนัง James Bond พวกผู้ก่อการร้ายที่เป็นรัสเซียน เป็นอะไรยังงี้ พอเป็นภาคโบแดงก็จะไปทำตามแบบ James Bond แล้วก็มีภาคที่ว่าไปค้นหา Dragon Ball ในใต้ทะเล ก็มาจากเรื่อง ‘The Goonies’ (ขุมทรัพย์ดำดิน - 1985) ที่เป็นขุมทรัพย์ แล้วก็เรื่อง ‘ใต้ทะเล 20,000 โยชน์’ (20,000 Leagues Under the Sea - 1954) เขาจะเอาเรื่องต่าง ๆ ที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นสากลอยู่แล้ว เอาพล็อตพวกนี้มายัดรวมกันในเรื่อง Dragon Ball มันก็เลยรู้สึกแต่ละขั้นของการที่ story มัน develop ก็เลยอิน ดูแล้วสนุก จนพอถึงภาคฟรีเซอร์ก็เป็นภาคเหมือนกับ ‘Superman’ (1978-1987) ของคุณ Christopher Reeve แสดง คือซูเปอร์แมน 2 ภาคแรกก็คือไปค้นพบว่าตัวละครเอกกลายเป็นมนุษย์ต่างดาวที่บินหนีออกมาจากดาวตอนที่ดาวตัวเองระเบิด แล้วก็มาเข้าพวกกับมนุษย์โลก แล้วก็มีผู้ร้ายที่มาจากดาวตัวเอง 3 คน นี่ก็คือเหมือนซูเปอร์แมนเป๊ะเลย แล้วไอ้ฝั่งที่ต้องอยู่มนุษย์โลกก็ไปสู้กับเผ่าพันธุ์ตัวเองอีก 3 คน มันก็จะมีฉากบินสู้อะไร มันก็คือมาจากซูเปอร์แมนอย่างนี้ story มันหมุนไปเรื่อย ๆ ตามเรื่องที่มันฮิตอยู่ในยุคนั้นของทั่วโลก ช่วงที่เรื่องไหนฮิตมันก็จะมีพล็อตนั้นโผล่มาใน Dragon Ball พอเป็นภาคเซลล์เนี่ย ‘Terminator ภาค 2’ (1991) ฮิต ก็เลยจะต้องเป็นพล็อตย้อนเวลา อย่างนี้ไปเรื่อย ใครที่เป็นแฟนนักอ่านทั่วโลกที่ชอบเรื่องไหน ๆ มันจะมีไส้นิดนึง เสี้ยวนู้นหน่อยนึงแทรก ๆ อยู่ตลอดเวลา ใครเป็นคอศาสนาก็จะเห็นว่ามันมีเรื่องของลัทธิเต๋า เรื่องของขงจื๊อ เรื่องของศาสนาพุทธ เรื่องของคริสต์ศาสนาแทรกอยู่ด้วย มันก็เลยเหมือนเป็นการยำใหญ่ของอีก 100 กว่าเรื่องที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี แล้วยำรวมกันอยู่ในนั้นหมดเลย แล้วกลายเป็นเรื่องใหม่ขึ้นมา ก็เลยเป็นเสน่ห์ของมันครับ คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball The People: ศาสนาแทรกอยู่ใน Dragon Ball อย่างไรบ้าง วีรยุทธ: ก็เอาอย่างแรกเรื่องของคริสต์ก่อน คือเขามีกล่าวถึงว่ามันมีพระเจ้า พระเจ้าก็คือ God อันนี้คือคริสต์อยู่แล้วว่าเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อันนี้คือเป็นแนวคิดที่เป็นคริสต์มากเลย เพราะว่าโลกมนุษย์ก็มีโลกมนุษย์แล้วก็มี God อย่างนี้ เพราะว่าในศาสนาอื่นอย่างของพุทธเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของพระเจ้า ของ God ในลักษณะนี้ อันนี้ก็เป็นแนวคริสต์อยู่ แต่ก็มีพล็อตซ้อนไปอีก คือมีความเป็นลัทธิเต๋าด้วยคือมีหยินหยาง เพราะฉะนั้น ในขณะที่มี God  มันก็เลยต้องมีจอมมารพิคโกโล่ด้วย เพราะว่า God กับจอมมารพิคโกโล่จริง ๆ คือตัวตนเดียวกัน อันนี้เป็นแนวคิดของลัทธิเต๋า เต๋าคือทุกสรรพสิ่งจะต้องมี 2 แง่มุมเสมอ  แง่หยางก็คือความสว่าง ความเข้มแข็ง กับแง่หยินที่เป็นความมืด หรือความนุ่มนวล ความอ่อนช้อย ในตัวคอนเซปต์ของพระเจ้ามันก็เลยเป็นพระเจ้าที่เป็นคริสต์ที่ปนกับเต๋าเรียบร้อยแล้ว คือมีพระเจ้าเป็นด้านสว่างกับมีด้านมืดที่เป็นตัวตนเดียวกันกับพระเจ้า ถ้าอ่านแล้วจะเห็นชัดคืออ่านเวอร์ชันหนังสือการ์ตูนมังงะที่เป็นขาวดำ ถ้าเป็นเวอร์ชันแอนิเมชันสีมันจะไม่ชัด แต่ถ้าในมังงะจะเห็นชัดมากว่าตัวละครพระเจ้าชุดจะเป็นสีขาวและผ้าคลุมจะเป็นสีดำ แล้วตัวหนังสือที่อกจะเขียนว่าพระเจ้า แต่ถ้าเป็นจอมปีศาจพิคโกโล่ตัวเดิมจะแต่งตัวสลับกัน คือเสื้อข้างในจะเป็นสีดำแล้วมีตัวหนังสือว่าจอมมาร แล้วผ้าคลุมจะเป็นสีขาวแทน คือเข้าเหมือนจงใจใช้สีสลับกันระหว่างขาวดำ พระเจ้าจะเป็นขาวห่มดำ แต่ถ้าเป็นจอมมารจะเป็นดำแล้วห่มขาว มันคือมาจากเต๋าเลย แล้วก็พล็อตของเรื่องวิทยายุทธในเรื่องก็เป็นวิทยายุทธของเต๋าที่มาจากฝั่งเส้าหลิน ของฝั่งมวยจีน ของฝั่งบู๊ตึ๊งอย่างนี้มันก็จะเป็นพล็อตตรงนี้ อันนี้คือเรื่องเต๋าที่อยู่ในนี้ The People: ปรากฏการณ์ Dragon Ball ที่อเมริกาดังขนาดไหน วีรยุทธ: ในอเมริกาต้องบอกก่อนว่าเขาจะแยกระหว่าง comic books ที่เป็นหนังสือการ์ตูนจริง ๆ กับ Animation TV จะเป็นคนละอย่างกัน ถ้าเฉพาะ comic หนังสือการ์ตูนที่ฮิตสุดที่ผ่านมาในยุคที่ Dragon Ball เริ่มตีตลาดคือช่วงต้นปี 2000 เขาจะฮิตก็แค่ซูเปอร์ฮีโรอย่าง Marvel กับ DC หนังสือการ์ตูน Marvel DC คือตลาดหลักของหนังสือการ์ตูนที่อเมริกา แล้วจุดที่แปลกคือที่อเมริกาคนที่อ่านหนังสือการ์ตูนไม่ใช่เด็ก แต่มักจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เลยแล้วเป็นผู้ใหญ่ผิวขาวด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก แต่ว่ามีสถิติแล้วก็มีงานวิจัยรองรับออกมาอย่างนี้เลย เขาใช้คำว่า adult white male เป็นผู้ใหญ่ที่ผิวขาวแล้วก็เพศชายจะชอบอ่านการ์ตูนอเมริกาพวก DC กับ Marvel  ย้ำอีกทีว่านี่ไม่ใช่แอนิเมชัน ถ้าแอนิเมชันทางทีวีเขาก็มีทุกเพศทุกวัยตามปกติ แต่เฉพาะตลาดหนังสือการ์ตูนยึดครองด้วยผู้ใหญ่ผิวขาวเพศชาย พอญี่ปุ่นเข้าไปมันก็เลยเวิร์ก เพราะว่าของเขามันสำหรับผู้ใหญ่ไง แต่ของ graphic novel ญี่ปุ่นมันสำหรับเด็กกว่านั้นหน่อยนึง คือเป็นสำหรับ teenager สำหรับวัยรุ่นประมาณสักอายุ 10 กว่า ๆ ถึง 18-19 ปี แล้วก็บางเรื่องของญี่ปุ่นอย่างเซเลอร์มูนมันก็มีตลาดของเพศหญิงด้วย ซึ่งในอเมริกา ณ จุดนั้นหนังสือการ์ตูนไม่มีหนังสือการ์ตูนสำหรับเพศหญิง และไม่มีสำหรับเด็กเลย พอการ์ตูนญี่ปุ่นเข้าไปมันก็เลยไป fulfill รูมที่เขาตลาดใหญ่มากรออยู่ ที่เป็น hidden แต่ว่าไม่มีอะไรตอบโจทย์เขาเลย แต่เขามี need ตรงนี้ แล้วพอการ์ตูนญี่ปุ่นเข้าไปทีมันก็เลยบึ้ม... เซเลอร์มูนก็เลยกลายเป็นตำนานแห่งการ์ตูนผู้หญิงในอเมริกาด้วย เพราะการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรมันไม่มีสำหรับผู้หญิงเลย แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีเซเลอร์มูนตูมไปเลย คือฮิตระเบิดเถิดเทิง ก็เลยได้เป็นเซเลอร์มูนกับ Dragon Ball ที่ฮิตมาก The People: soft power ที่อยู่ในเรื่องDragon Ball? วีรยุทธ: Dragon Ball มีจุดนี้มาก เพราะว่าการที่เขาเข้าอเมริกามันมีหลายอย่างที่ชาวอเมริกาจำนวนมากไม่ค่อย อย่างเช่น เรื่องมิตรภาพ สังเกตใน Dragon Ball พวกศัตรูทั้งหมดมันกลายมาเป็นเพื่อนเราในตอนหลังได้ คือเป็นแนวคิดญี่ปุ่นเลย สมมติผมกับคุณทะเลาะกัน พอถึงจุดหนึ่งมีศัตรูที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก แล้วกลายเป็นว่าเป็นศัตรูของเราร่วมกัน มันจะทำให้เรากับศัตรูที่ผ่านมา เราเกิดร่วมมือกันเป็นมิตรภาพเพื่อไปสู้กับศัตรูที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ อันนี้มันเป็นแนวคิดของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘อุจิ’ และ ‘โซโตะ’ คือเป็นแนวคิดของคนใน คนนอก คือเป็นอาณาบริเวณ อย่างตัวเราคืออุจิ ตัวผมคนเดียว แต่พอผมเป็นศัตรูกับคุณ แต่มีศัตรูที่มากกว่าอีก แปลว่าอาณาเขตของอุจิมันจะแผ่กว้างขึ้นแล้ว แปลว่าอาณาเขตของตัวผม ผมจะเริ่มครอบถึงคุณแล้ว จากคุณเป็นศัตรู คุณจะกลายเป็นพวกพ้องของผมแล้ว เพราะเรามีศัตรูยิ่งกว่าที่มาจากเส้นที่ไกลออกไปอีก อย่างญี่ปุ่นในระบบบริษัท เพื่อนร่วมงานคนนี้ไม่ถูกกับคนนี้ แต่พอเขามีศัตรูเป็นบริษัทคู่แข่งเข้ามา เพื่อนร่วมงานในบริษัทเดียวกันที่เคยเกลียดกันมา เขาสามารถร่วมงานกันได้ด้วย เพื่อที่จะร่วมมือกันไปสู้กับศัตรูที่เป็นคู่แข่งภายนอกมากกว่า ซึ่งคอนเซปต์ตรงนี้ในอเมริกาไม่มี เด็กที่เราอ่านหนังสือ บางทีเราก็รู้สึกไหม คือเราทะเลาะกับคนนี้ เราเกลียดกับคนนี้ คือมันทำให้เป็นในจินตนาการว่า if ถ้าเพียงแต่ว่าเราสามารถเป็นเพื่อนกับอีกคนที่เป็นศัตรูมันจะดีแค่ไหน มันมีพวกนี้ในจิตใจของเด็กที่เป็นวัยรุ่น คนอ่าน เรื่องมิตรภาพ เรื่องการค้นหาตัวเอง พอโตแล้วคุณควรจะมีเป้าหมายอะไรในชีวิต เกี่ยวกับการหาเป้าหมายในชีวิตด้วย แล้วก็เกี่ยวกับความเท่ในเรื่องท่าไม้ตาย เรื่อง movement ในเรื่องด้วย มันก็เลยมีเสน่ห์หลาย ๆ อย่างของอเมริกัน The People: 3 ตัวละครในเรื่อง Dragon Ball ที่คุณคิดว่าน่าสนใจที่สุด วีรยุทธ: ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดใน Dragon Ball จริง ๆ เลยตัวแรกคือ ‘เบจิต้า’ อันนี้ชัดมาก คือโผล่มาชั่วร้าย ชั่วแบบชั่วมาก แล้วก็ค่อย ๆ กลายเป็นสีเทา แล้วก็ค่อย ๆ ดี จนกลายเป็นพ่อบ้านที่… โอ้โห พ่อบ้านในใจของสาว ๆ ญี่ปุ่นจำนวนมาก ระหว่างนี้เขามีกระบวนการผ่านประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง การถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกอะไรมาตั้งเยอะแยะเลย จนมันค่อย ๆ หล่อหลอม ตัวนี้ก็เลยเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากคือตัวเบจิต้า อันนี้น่าสนใจที่สุด แล้วก็ตัวที่สองที่สนใจเลยกลับจะเป็นตัว ‘จอมมารบู’ ที่เป็นตัวอ้วน เพราะจอมมารบูที่เป็นตัวอ้วนเปิดตัวคือเหมือนผู้ร้าย แต่ว่าระหว่างที่ดูกลายเป็นว่าเขาไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เขาเหมือนเป็นเด็กที่เกิดใหม่ ที่ดันมีพลังอำนาจสูงมาก แต่ว่าไม่มีใครคอยอบรม แต่มีพลังเยอะมากที่จะไปฆ่าใคร ไป harass ใครก็ได้ คือเกิดมาเป็นเด็กแต่มีพลังล้นฟ้า อันนี้น่าสนใจว่าการที่เราจะค่อย ๆ ดูแลเด็กคนนี้ อบรมบ่มนิสัยมันคือยังไง ซึ่งเราก็จะเห็นผ่านมิสเตอร์ซาตานที่เป็นคนแรกที่มาคุยกับเด็กคนนี้ดี ๆ ว่า เฮ้ย การฆ่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ แล้วผลก็คือบูก็เชื่อฟังจนถึงภาค Super บูก็เลยกลายเป็นเหมือนเด็กในอุปการะของมิสเตอร์ซาตาน ทั้งที่ความสามารถมิสเตอร์ซาตานไม่มีอะไรสู้บูได้เลย แต่คือการ handle กับเด็กมันต้องคุยด้วยเหตุและผล แต่จอมมารบูโผล่มาก็มีแต่คนมาใช้กำลังด้วย ซึ่งมันก็ใช้กำลังกลับ แล้วมันก็ฆ่า มันก็เลยจบด้วยการฆ่าฟันคาแรกเตอร์ของจอมมารบูก็เลยน่าสนใจ แล้วคาแรกเตอร์ที่สามสนใจมาก ๆ ก็คือของ ‘ฟรีเซอร์’ เพราะฟรีเซอร์ก็คือชั่วร้ายแบบชั่วร้ายมาก แล้วฟรีเซอร์ก็ชั่วแบบไม่เคยกลับเป็นคนดีด้วย แต่กลายเป็นว่าในภาค Super เขาสามารถกลับมาร่วมมือกับพวกพระเอกได้ด้วย โดยที่เขาก็ยังไม่ได้กลับมาเป็นคนดี เขาก็ยังชั่วเหมือนเดิม อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เมื่อกี้พูดถึงอุจิกับโซโตะเลย คือฟรีเซอร์กับฝั่งพระเอกก็ยังเกลียดกันมาก ตอนที่เจอกันใหม่ ๆ รอบ 2 ก็ยังฆ่ากันยิ่งกว่าอะไร แต่พอมันมีศึกระหว่างจักรวาล คือเป็นศึกนอกมา พอมีศึกนอกเป็นกลุ่มที่เขาเรียกโซโตะ คือฝั่งนอกมากกว่า ไอ้ที่มันฆ่ากันตลอดมันกลายเป็นร่วมทีมกันได้ แล้วก็ร่วมมือกันด้วย เพื่อจะไปสู้กับศัตรูที่มันมาจากนอกโซนมากกว่า คุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล คนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Dragon Ball The People: Dragon Ball ให้อะไรกับคุณบ้าง วีรยุทธ: ที่พูดมาทั้งหมดนี้เลย การมีมิตรภาพแม้แต่กับศัตรูของเรา การที่ให้โอกาสคนได้กลับตัวกลับใจใหม่ อย่าไป judge อย่าไปฟันธงว่าคนนี้เลวแล้วมันต้องเลวตลอดชีวิต หรือคนนี้มัน loser มันไม่มีความสามารถ แล้วมันก็ต้องไม่มีความสามารถไปตลอดชีวิต คือไม่ใช่ คือแต่ละคนมีโอกาสเลือกทางเดินชีวิตใหม่ได้เสมอ แต่ละคนมีความสามารถที่จะสร้างมิตรภาพดี ๆ ใหม่ ๆ ได้เสมอ แต่ละคนสามารถพัฒนาความสามารถหรือนิสัยใจคอของตัวเองได้เสมอ แล้วมันก็จะมีเรื่องของเจเนอเรชันด้วย อย่างผู้เฒ่าเต่าอย่างนี้เขาก็จะทำตัวสมกับเป็นคนที่สูงอายุ คือเป็น old but wise จริง ๆ คือแก่แต่เก๋า เขาก็จะรู้ว่าตัวเองมีความสามารถบางอย่างสู้รุ่นหลังไม่ได้ แต่ก็เปิดโอกาสให้รุ่นหลัง เสียสละกระทั่งชีวิตให้เด็กรุ่นหลัง คอยให้คำปรึกษา คอยให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจในหลาย ๆ อย่าง พวกนี้มันก็มีคุณค่าในแบบต่าง ๆ แต่ละคนก็จะพบว่ามันมีคุณค่าไม่เหมือนกันตามแต่ละคนจะมีรสนิยมในการเสพสื่อก็แล้วกัน