read
thought
23 พ.ย. 2563 | 17:32 น.
รีวิวเทศกาลดนตรี Cat Expo 7: ชูสามนิ้ว พายุฝน และแถวคนยาวเหยียด
Play
Loading...
“วงเรามี 3 เจเนอเรชัน ผมเองเป็นเจเนอเรชันเอ็กซ์ น้อยเป็นนักร้อง รักในการออกเสียงของน้อย ไม่ต่างจากหลายคนที่รักในการออกเสียงเช่นกัน รู้ว่าทุกคนคิดต่างกัน เหมือนกัน ในช่วงนี้ น้อยรู้สึกว่าน้อง ๆ ทุกคน คืออนาคตของเรา ของบ้านเรา น้อยคิดอย่างนั้น เราอาจจะคิดไม่เหมือนกัน น้อยรู้สึกว่าน้อง ๆ คืออนาคต และเป็นหน้าที่เราที่จะทำให้อนาคตมันใช่ที่สุด สวยงามที่สุด ให้มันแฟร์ที่สุดครับ สำหรับอนาคตของน้อง ๆ
“ความเปลี่ยนแปลงมันไม่ง่าย มันทำยากอยู่แล้วนะครับ แต่การเปลี่ยนแปลงมันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มันเหมือนกับที่น้อง ๆ มาดูเรา พระอาทิตย์กำลังลง พระจันทร์กำลังขึ้นใช่ไหมครับ ก็มันคือธรรมชาติ มันคือการเปลี่ยนแปลง และน้อยรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งมันก็จะมา ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหน แต่มันก็จะมา และพอถึงวันนั้น ผมหวังว่าทุกคนพยายามรู้สึก เท่าที่เราจะรู้สึกระหว่างกันให้ได้ ไม่ว่าหลายอย่างมันจะซับซ้อน แต่จงพยายามรู้สึก พยายามปลอดภัย
“ทุกคนต้องปลอดภัย เราไม่อยากให้ใครมาเป็นศัตรูหรือมาเกลียดกันอะไรอย่างนั้นครับ เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากจะขอโทษ น้อยอาจจะโดนด่าก็ได้ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น
“เพลงสุดท้ายนี้คิดว่าน้อง ๆ คืออนาคตของเรานะครับ และเพลงต่อไปนี้ ผมจะร้องให้น้อง ๆ นะครับ เพลงนี้ชื่อว่า เพื่อนเอ๋ย นะครับ
“ทุกอย่างมันยากนะ ความเข้าใจมันยากนะ ความรู้สึกมันยากนะ พยายามนะ We can do it เราทำได้”
ข้อความข้างต้น คือสิ่งที่น้อย วงพรู - กฤษดา สุโกศล แคลปป์ พูดไว้บนเวทีในงาน Cat Expo 7 ซึ่งอาจจะเป็นบทสรุปของ ‘งานแคท’ คราวนี้ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่โกลาหล, ‘เดือด’, และเปี่ยมความรู้สึกมากที่สุด
Cat Expo เทศกาลดนตรีประจำปีของรายการวิทยุออนไลน์ Cat Radio ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 (แต่ถ้านับย้อนตั้งแต่สมัย Fat Festival ที่เป็น ‘สารตั้งต้น’ ของงานนี้ ก็นับว่างานนี้อยู่มานานเกือบ 20 ปีแล้ว)
Cat Expo ในปีนี้มีความพิเศษกันตั้งแต่วันขายบัตร เพราะเป็นเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ครั้งแรก ๆ ที่เปิดขายบัตรหลังจากช่วง COVID-19 ผลก็คือบัตรขายหมด sold out ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน Cat Expo ครั้งก่อน ๆ ที่มาหน้างานก็ยังพอจะหาบัตรได้ (บัตรจากผู้จัดงานจริง ๆ ไม่ใช่ตั๋วผีนะ)
และถัดจากบรรทัดนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน Cat Expo 7 จากมุมมองของผู้เขียน
ฝูงชน ฝนกระหน่ำ และดรามาบนโลกโซเชียลฯ
ตัดภาพกลับมาในช่วงบ่ายของงานวันแรก (21 พฤศจิกายน 2563) ภาพที่เราเห็นคือการจราจรรอบ ๆ สถานที่จัดงานอย่างสวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ (รามอินทรา กม.10) ที่ติดขัด ต่อด้วยแถวคนดูยาวเหยียดที่ต่อคิวรอเข้างาน ที่ต้องผ่านทั้งด่านตรวจบัตรตามปกติ และการตรวจวัดอุณหภูมิตามมาตรการของรัฐ ทำให้กว่าจะได้เข้างานก็ใช้เวลาพอตัว อย่างต่ำ ๆ ก็ครึ่งชั่วโมง หรือหนักสุดที่มิตรสหายของผู้เขียนเจอ คือชั่วโมงครึ่งไปแบบจุก ๆ
เมื่อเข้างานได้ สิ่งที่ได้พบด่านต่อไป คือพายุฝนที่กระหน่ำในช่วงเย็นและหัวค่ำของงานวันแรก...ซึ่งพายุฝนเป็นของแสลงสำหรับเทศกาลดนตรีกลางแจ้งอยู่แล้ว ทำให้หลาย ๆ เวทีต้องหยุดการแสดง ตารางเวลาของคอนเสิร์ตที่ปกติก็ late อยู่แล้วตามประสาคอนเสิร์ตแบบไทย ๆ ก็ยิ่ง late กันไปอีก หลาย ๆ วงต้องตัดเพลงบางเพลงออกจากลิสต์การแสดงเพื่อให้สมดุลกับเวลาที่มี
ในเวลาที่ Cat Expo ในโลกจริงกำลังจัดการกับบรรดาความขลุกขลักทั้งหลาย ในโลกเสมือนอย่าง Twitter ก็เกิดแฮชแท็ก #Catexpoเอาเปรียบศิลปิน ที่ศิลปินหลายคนตั้งคำถามต่อค่าตัวศิลปินในงาน ที่บางวงก็เล่นฟรี ไม่ก็ได้น้อยกว่าอัตราปกติ รวมถึงตั้งคำถามต่อการจัดการต่าง ๆ ภายในงาน กลายเป็นเทรนด์บนทวิตเตอร์อยู่นานพอสมควร ซี่งภายหลังแม้ Cat Radio จะชี้แจงในประเด็นดังกล่าว (สามารถอ่านคำชี้แจงได้ที่
https://www.facebook.com/thisiscatradio/photos/a.189399344600650/1634971346710102/
) แต่สำหรับหลาย ๆ คน ดูจะเหมือนเป็นการ ‘ราดน้ำมันเข้ากองไฟ’ เสียมากกว่า
เรียกได้ว่านี่น่าจะเป็น Cat Expo ปีที่ ‘หนัก’ ที่สุดสำหรับทีมงานแล้วก็ว่าได้
สามนิ้ว เสื้อเลอะสีน้ำเงิน และเป็ดยาง
เมื่อมามองส่วนสำคัญที่สุดของเทศกาลดนตรี นั่นคือการแสดงบนเวที ในปีนี้นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดมาก ๆ คือการแสดงออกทางการเมือง หลาย ๆ คนคงได้เห็นข่าวที่แอมมี่ The Bottom Blues, ไผ่ ดาวดิน, รุ้ง ปนัสยา และแกนนำคณะราษฎร ขึ้นเวทีในท้ายโชว์ของ T_047 กันไปแล้ว
แต่นั่นไม่ใช่แค่ครั้งเดียวภายในงาน เพราะนี่คือปีที่ศิลปินจำนวนมากพร้อมใจกันแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางอ้อมหรือทางตรง ยกตัวอย่างเช่น
- วง Mints ณ เวที 3 ที่คุณอัด - นักร้องนำชวนคนดูชูมือกันด้วยประโยค “พวกเราเล่นอยู่ที่เวทีอะไร ขอชูนิ้วหน่อย” ตามด้วยสามนิ้วจากคนดูที่ชูกันพรึ่บ
-“ขอท่าชูนิ้ว 3 บาท” เจนนิษฐ์ BNK48 ขอให้คนดูชูมือถ่ายรูปหลังจบโชว์
-ยูนิฟอร์มนักเรียนสีดำของวง Fever ที่ทำให้แอบคิดถึงชุดของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’
-คนดูชูสามนิ้วพร้อมเพรียงกันในโชว์ของวงไททศมิตร และ ‘เป็ดยาง’ ที่ทางวงเอามาเล่นกับคนดูช่วงท้ายโชว์
-เฟนเดอร์จากวง Solitude is bliss พูดบนเวทีตรง ๆ ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
ฯลฯ
นอกจากนี้ศิลปินหลาย ๆ คนยังพร้อมใจกันใส่ชุดเลอะสีน้ำเงินในงานเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการสลายการชุมนุม ตามโปรเจกต์ #unmutepeople ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่า นี่คือการที่ศิลปินพร้อมใจกันแสดงออกทางการเมืองมากที่สุด น่าจะนับกันตั้งแต่สมัย Fat Festival เป็นต้นมาเลยทีเดียว
น่าสนใจว่าตัวผู้จัดงานอย่าง Cat Radio พยายามไม่พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ...บางทีการแสดงออกทางการเมืองของคนดูและตัวศิลปิน อาจจะเป็นสารที่ส่งต่อตัวผู้จัดงานโดยอ้อมว่าลูกค้าของเขาคิดเห็นอย่างไรต่อสังคมในวันนี้
สรุป : กับวันที่ต้องไปต่อ
ผู้เขียนกลับมานั่งสรุปความรู้สึกต่องาน Cat Expo คราวนี้ในใจตัวเอง แน่นอนว่าภาพหลัก ๆ คือความตื่นเต้นต่อการแสดงออกทางการเมืองของศิลปินและผู้ชม, คำถามต่อ Cat Radio ในสังคมออนไลน์ อย่างที่ได้เขียนไปในตัวบทความ
แต่อีกด้านหนึ่ง ความประทับใจในส่วนของดนตรีมันก็ยังมีอยู่ เช่น โชว์ของเขียนไขและวานิชที่คนดูแน่นขนัด, วงฝีมือดีอย่างจุลโหฬาร, วงฝีมือดีที่ไม่แน่ใจว่าพวกพี่เขาบ้าจริงหรือแกล้งบ้าอย่างไปส่งกู บขส. ดู๊ และ CGM48 ที่น่ารักเป็นบ้าเลย ?
ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็ตามมาตั้งแต่สมัย Fat Fest ครั้งแรกที่โรงงานยาสูบ ก็คงบอกได้แค่ว่าในช่วงเวลาที่อัตราการหมุนของสถานการณ์โลกเร็วขึ้นทุกวันอย่างปัจจุบัน บางที Cat Radio อาจจะต้องหันกลับมามอง และปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน
Cat Radio (รวมถึงยุค Fat Radio) ฝ่าฟันอะไรมานาน ตั้งแต่ยุคซีดี ยุค MP3 ไปจนถึงยุค streaming ซึ่งก็ผ่านยุคเหล่านั้นมาได้ตลอด แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน มันเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนเราตามไม่ทัน และมันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทาง format การรับสาร แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงไปในระดับวิธีคิด จุดยืน และความเชื่อแล้ว
ผู้เขียนก็หวังว่า Cat Radio จะทำได้
เรื่อง: ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
The People
Thought
Cat Expo 7