โต - นาว: เสพติดซาวนด์ Synthpop ชวนฝันกับ Mirrr ที่ชื่อวงมาจาก ‘ละเมอ’
คนเราเสพติดอะไรกันได้บ้าง? อาจจะเสพติดบุหรี่จากฤทธิ์ของนิโคติน หรือเสพติดความเจ็บปวดที่ชวนให้มีความสุขแบบมาโซคิสม์ ไม่ว่าจะเสพติดแบบไหน คำตอบทั้งหลายต่างสอดแทรกอยู่ในเพลง Synthpop จังหวะหน่วง ๆ ที่มาจากเมโลดีเอกลักษณ์และเสียงสังเคราะห์ติดหูจากผลงานของ 2 หนุ่มโต-นาว ดูโอวง Mirrr ที่แปลความสัมพันธ์และความรักให้กลายเป็นเพลงฮิตที่เข้าไปอยู่ในใจหลาย ๆ คน
“ผมอยากเล่าถึงใครบางคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่เขาอาจจะชื่นชอบความรู้สึกที่อีกคนทำให้เจ็บปวด หรือการมีคนอื่น อะไรก็ตามที่สังคมภายนอกมองว่าทำไมต้องทน ซึ่งผมอาจจะส่งคำถามไปในสังคมก็ได้ว่า จริง ๆ แล้ว เขาอาจะชื่นชอบกับความสัมพันธ์แบบนี้ก็ได้ แต่ไม่อยากให้สังคมเข้าไปตัดสิน” โต นักร้องนำและมือซินธิไซเซอร์กล่าวถึงที่มาของเพลง ‘มาโซคิสม์’ ซิงเกิลล่าสุดของวงที่ประกอบอยู่ใน EP ใหม่ที่เพิ่งปล่อยมาในการสัมภาษณ์กับ Joox Thailand
ไม่แปลกใจนักหากคุณลังเลที่จะออกเสียงชื่อวงเมื่อเห็นในครั้งแรก เพราะวง Mirrr (อ่านว่า เมอร์) มีที่มาจากคำว่า ละเมอ ที่มาจากการทำเพลงในช่วงดึกของ โต - เลอทัศน์ เกตุสุข และ นาว - วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา มือกีตาร์ ซึ่งเปรียบความตั้งใจในการทำดนตรีดั่งการละเมอเพ้อฝัน จนกลายมาเป็นเพลงยอดฮิตอย่าง นิโคติน กับยอดวิวกว่า 32 ล้านภายในไม่ถึง 1 ปี
จุดเริ่มต้นของวงไม่ต่างจากหลาย ๆ วงที่เกิดขึ้นจากเวทีการประกวด เช่น Hotwave Music Awards ในวัยมัธยมฯ นัก เพราะโตและนาวตัดสินใจรวมวงจริงจังเพื่อประกวดเวที Tiger Jams ครั้งแรกในปี 2016 ก่อนจะเข้าสู่รอบ finalist คว้ารางวัลจนเริ่มมีชื่อเสียง ทว่านั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาเริ่มทำเพลง เพราะพวกเขาได้พบกันในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากการชักชวนของเพื่อนให้เข้ามาทำวงอัลเทอร์เนทีฟในนาม The Clayman กับสมาชิกรวม 5 คน ก่อนจะทิ้งร้างไป
เมื่อเหลือกันเพียง 2 คนพร้อมด้วยความรักในดนตรีที่ยังอยากทำเพลงต่อไป ประกอบกับจังหวะที่เวทีประกวดเปิดรับพอดี แนวเพลงอย่าง Synthpop จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับวงดูโอที่ทำเพลงโดยมีจุดเริ่มต้นที่หน้าคอมพิวเตอร์ และความชอบเสียงสังเคราะห์ที่ทำให้การสร้างซาวนด์เป็นเรื่องสนุกจนลงตัว คว้าชัยและได้โอกาสจากวง Synthpop ชื่อดังจากสกอตแลนด์อย่าง CHVRCHES มาเลือกเพลง Good Luck, Girl ของพวกเขาไปรีมิกซ์ในอีกเวอร์ชัน
“จริง ๆ ตอนนั้นถ้าไม่มีการประกวด วงเราอาจจะอยู่ไม่ถึงตอนนี้ก็ได้นะ” นาวบอกพิธีกรในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง
เมื่อการประกวดผ่านพ้นไป ทั้งโตและนาวต่างใช้เวลาไปกับการเก็บเกี่ยววัตถุดิบและเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกือบ 2 ปี จนเกิดเป็น challenge ส่วนตัวระหว่างทั้งสองคน ที่จะทำเพลงให้เสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนจะคลอดเพลงแรกออกมาในชื่อ ‘รอให้เธอ’ เปรียบผู้หญิงที่หายไปดั่งความสุขที่ตนเองรู้สึกขาดหาย และเข้าสู่ค่ายเพลงอิสระ Macrowave ในเวลาต่อมา
นิยามแนวเพลงที่เด่นชัดจากดนตรีของพวกเขาคือ Synthpop R&B โดยมีไลน์กีตาร์และเสียงชวนฝันจากซินธิไซเซอร์เป็นหลัก ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากหลากหลายวง เช่น The Midnight, Lany และ The 1975 โดยช่วงเพลงแรก ๆ จะมีลายเซ็นและกลิ่นอายของดนตรีในยุค ’80s มาผสมผสาน ชวนให้คนฟังนึกถึงอดีตอย่างอุ่นใจ ก่อนจะปรับซาวนด์ต่าง ๆ ให้ฟังง่ายขึ้นแต่ก็ยังคงมีทิศทางที่เฉพาะในเพลงต่อ ๆ มา โดยที่โตและนาวเคยเล่าให้สื่อฟังว่า แนวคิดหลักในการทำเพลงของเขาคือ ‘ความไร้แนวเพลง’ เพราะความต้องการสร้างสรรค์โดยไม่ติดกรอบ ซึ่งหมายความว่า แฟน ๆ อาจจะได้ฟังเพลงแนวอื่นของพวกเขาได้ในอนาคต
วงของพวกเขาเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตามากขึ้นจากการปล่อยเพลง ‘นิโคติน’ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020โดยมีที่มาจากการตีความว่า นิโคติน เป็นสิ่งไม่ดีที่ชวนเสพติดในยามที่เครียด ต้องการผ่อนคลายชั่วคราว คล้ายกับความรักที่ไม่มีทางได้เป็นตัวจริง ราวควันบุหรี่ที่จางหายไป เหมือนกับอีกหลาย ๆ เพลงที่มีจุดเด่นจากคอนเซปต์ในการตีความสิ่ง ๆ หนึ่งดั่งความสัมพันธ์ เช่น เพลง ‘เกม’ ที่แปลลักษณะการเล่นเกมแบบ เติมเกมจนเหนือกว่า เป็นความรักที่นอกเหนือกติกา ไม่ต้องพยายามมากก็ได้ใจ หรือเพลง ‘ชาคริส’ ที่เล่าถึงความพยายามแย่งแฟนคนอื่นด้วยความมั่นใจ ชวนให้คนฟังคิดเล่น ๆ ว่าเป็นเพลงรักทั่วไปหรือเพลงที่แสดงการกระทำผิดกันแน่
โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลงาน EP ล่าสุดในชื่อว่า Social Anxiety เพิ่งถูกเปิดตัวด้วยแนวคิดที่อยากจะสื่อสารกับวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน พวกเขาเล่ากับ Joox ว่า
“เราอยากให้มันเป็นตัวแทนความรู้สึกของวัยรุ่นสมัยนี้ เราอยากสร้างค่านิยมบางอย่าง ให้ทุกคนสามารถแสดงออก สื่อสารทางอารมณ์ได้เป็นปกติ สุข เศร้า เหงา เสียใจ เพราะคนที่หัวเราะไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องมีความสุขเสมอ หรือคนที่เขาเศร้า เขาอาจจะมีความสุขอยู่ก็ได้ ไม่อยากให้ตีความอะไรเป็นบวกหรือลบ ฉันเป็นคนดีหรือคนไม่ดี อยู่ตรงไหนในจักรวาลนี้ มันเป็นความท้าทายที่วัยรุ่นยุคนี้จะผ่านไปด้วยกัน”
หากย้อนมาถึงเส้นทางการทำเพลงของโตและนาว แม้จะมีชื่อเสียงและได้รับผลตอบรับที่มากเกินความคาดหมายตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี พวกเขาต่างก็ยืนยันว่าปัจจัยหลักในการทำเพลงคือ อยากให้คนฟังสนุกกับเพลง และพวกเขาในฐานะคนทำเพลงก็ต้องรู้สึกสนุกเหมือนกัน ไม่อยากให้ความดังมาเปลี่ยนความตั้งใจที่อยากทำตอนเริ่ม
“สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่เรา แต่เป็นคนฟังด้วยที่ได้มาสื่อสารซึ่งกันและกัน ผมได้รู้เรื่องราวของหลาย ๆ คนผ่านคอมเมนต์และการบอกเล่ามาเจอหน้ากัน ว่าเพลงนี้ให้ความสุขกับเขายังไง มันมีค่ามากกว่ายอดวิวที่เพิ่มขึ้น เหมือนกับว่าเพลงของเราทำหน้าที่สำเร็จแล้ว”
แม้จะเข้าสู่เส้นทางนักดนตรีและวงการมาไม่นานเท่าวงรุ่นพี่ แต่ฝีมือ เอกลักษณ์ และความตั้งใจของสองหนุ่มวง Mirrr ก็ได้พิสูจน์ให้ผู้ฟังได้ลิ้มลองและเสพติดจนต้องเสพต่อ กับเพลงที่นำเรื่องราวความรักมาตีความให้ตรงยุคสมัย และแนวเพลง Synthpop ที่ฟังแล้วติดหูติดใจ ชวนติดตามตัวตนและผลงานต่อไป และสุดท้ายกับคำถามว่า คนเราเสพติดอะไรกันได้บ้าง ? เชื่อว่าการทดลองเปิดใจ เปิดหู และฟังเพลงของพวกเขาก็อาจจะเป็นหนึ่งคำตอบที่ใช่สำหรับใครหลาย ๆ คน
สำหรับใครที่อยากฟังเพลงของ Mirrr แบบสด ๆ วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 Mirrr จะขึ้นเล่นที่เทศกาลดนตรี Chang Music Connection Presents: Season of Love Song ครั้งที่ 11 ‘Make A Wish’ ที่จะจัดขึ้นที่เวเนโต้ สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีด้วย ถือเป็นโอกาสดี ๆ ที่จะได้ฟังเพลงเพราะ ๆ เคล้าบรรยากาศหนาวในฤดูกาลของความรัก
.
ที่มา:
https://www.joox.com/th/album/mgRkpxi_dWkuvoP7oxugUw==
https://www.facebook.com/watch/live/?v=207516057068514&ref=watch_permalink
https://hommesthailand.com/2020/11/music-issue-mirrr/
https://www.fungjaizine.com/trending_news/mirrr-nicotine