ปาร์ค ยอนมี: หญิงสาวผู้เผยฉากหลังอันโหดร้ายของเกาหลีเหนือแก่สาธารณชน
เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลีเหนือ ภาพแรกที่ปรากฏในหัวหลายคน คงหนีไม่พ้นภาพผู้นำตระกูลคิมจากสื่อต่างชาติมากมายที่มักพูดถึงประเด็นนิวเคลียร์หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ในเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร ยากลำบากจริงไหมในสายตา ‘คนใน’ ที่ต้องการสื่อสารกับภายนอกจริง ๆ และทำไมจำนวนผู้อพยพจากเกาหลีเหนือสู่เกาหลีใต้ถึงมีมากกว่า 30,000 คนตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
หนึ่งคำตอบที่เปิดประตูให้โลกภายนอกเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือ มาจากสุนทรพจน์ของสาวน้อยวัย 21 ปีในชุดฮันบกอย่าง ปาร์ค ยอนมี (Yeonmi Park) ที่เล่าประสบการณ์อพยพจากเกาหลีเหนือสู่เกาหลีใต้ทั้งน้ำตา บนเวทีงานประชุม One Young World 2014 ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ จนมียอดคนฟังมากกว่า 50 ล้านวิวบน YouTube ภายใน 2 วัน
เส้นทางการอพยพของเธอถูกถ่ายทอดในหนังสือ ‘มีชีวิต…เพื่ออิสรภาพ’ (ชื่ออังกฤษ: In Order To Live) หนังสืออัตชีวประวัติที่เธอเขียนในปี 2015 บอกเล่าเรื่องราวการหลบหนีข้ามชายแดนเข้าสู่จีน เดินทางสู่มองโกเลีย ก่อนจะได้รับอิสรภาพแท้จริงในเกาหลีใต้ดังเช่นปัจจุบัน และก้าวสู่หลากหลายเวทีเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวเกาหลีเหนือ จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน Top 100 Women ในปี 2014 จาก BBC
ชีวิตของยอนมีเริ่มต้นพร้อมความหนาวเย็นและความมืดมิดในเมืองเฮซัน ปี 1993 เมืองชนบทแถบเหนือซึ่งอยู่ติดเมืองฉางไปในจีน มีเพียงแม่น้ำคั่นกลางเขตแดนจนสามารถเดินข้ามได้ในฤดูหนาวเมื่ออุณหภูมิลดลงถึง -40 องศา เมืองที่การไม่มีไฟฟ้าใช้หลายเดือนนับเป็นเรื่องปกติ และอินเทอร์เน็ตไม่เคยมีอยู่
สังคมยุคนั้นเป็นสังคมที่ประชาชนถูกจัดชนชั้นตามระดับความภักดีต่อท่านผู้นำ และครอบครัวของเธออยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก เธออาศัยอยู่กับพี่สาว แม่ และพ่อ ผู้มีอาชีพลักลอบขายสินค้า เช่น บุหรี่ เสื้อผ้า หรือโลหะ จากเมืองข้าง ๆ และประเทศจีน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ทำให้พวกเขามีฐานะดีกว่าเพื่อนบ้านข้างเคียง
ทว่ายามที่ภาวะข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจถล่มเข้าโจมตีประเทศในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ประกอบกับการเสียชีวิตของท่านผู้นำ คิม อิล-ซ็อง ในปี 1994 ครอบครัวของเธอเริ่มขาดแคลนเงินและอาหาร เนื่องจากรัฐบาลเลือกที่จะไม่สนใจวิกฤติ บอกให้ประชาชนกินข้าววันละ 2 มื้อเพื่อรักษาทรัพยากร และเอาอาหารที่ได้รับจากต่างชาติให้กองทัพ จนเหลือเพียงอาหารจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ปล่อยขายในตลาดมืดเพียงเท่านั้น แน่นอนว่าเวลานั้น หนังสือพิมพ์รายงานแค่ข่าวที่ดีเกี่ยวกับรัฐบาล พร้อมกล่าวโทษว่าความยากลำบากของประชาชนล้วนเกิดจากแผนการร้ายของศัตรูชาติอื่น
ยอนมีเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมฯ ในระบบการศึกษาที่สอนให้ทุกคนเกลียดศัตรูของรัฐอย่างรุนแรง และยัดเยียดความรักต่อท่านผู้นำเข้าสู่สมองในทุกบทเรียน เพราะหนังสือเรียนของเธอมักเต็มไปด้วยภาพทหารอเมริกันเข่นฆ่าประชาชน การบังคับให้ร้องเพลงเกี่ยวกับท่านผู้นำ การทุบตีตุ๊กตาที่แต่งตัวเหมือนทหารอเมริกัน การแสดงความเคารพต่อท่านผู้นำหน้าชั้นเรียน ทั้งหมดล้วนเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลใช้กับประชาชน จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะถูกปลูกฝังให้รักผู้นำและไม่สามารถมองทะลุโฆษณาชวนเชื่อได้ดังเช่นคนภายนอก
“ในโลกที่มีอิสรภาพ เด็ก ๆ ฝันถึงสิ่งที่พวกเขาอยากเป็นเมื่อโตขึ้น และคิดว่าจะใช้ความสามารถของตนอย่างไร ตอนที่ฉันห้าขวบ ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวของฉันถ้าโตเป็นผู้ใหญ่คือซื้อขนมปังให้ได้มากที่สุดเท่าที่ฉันต้องการ และกินให้หมด เมื่อคุณหิวอยู่ตลอดเวลา สิ่งเดียวที่คุณคิดถึงคืออาหาร”
ภาพวัย 8 ขวบของเด็กทั่วไปคือการเล่นสนุกกับพ่อแม่และเพื่อน ๆ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของยอนมี เพราะพ่อของเธอถูกจับเข้าค่ายปรับทัศนคติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โทษฐานที่ทำธุรกิจค้าของเถื่อนเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่แม่โดนจับสู่ค่ายฝึกฝนคนงานเพื่อทำงานก่อสร้างอย่างหนัก จากความผิดในการพาครอบครัวย้ายเขตแดนออกนอกเมืองไปหาญาติพี่น้องเพื่อพักพิง ช่วงที่เธอมีอายุแค่ 12 ปี ทิ้งให้เธอและพี่สาวต้องเอาชีวิตรอดอย่างดิ้นรน
และเมื่อความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีในประเทศหมดลงไป แสงสว่างในความมืดจากเมืองฉายไปตรงหน้าจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการหลบหนี ครอบครัวของเธอตัดสินใจเดินข้ามแม่น้ำเพื่อหนีข้ามแดนในคืนวันที่ 31 มีนาคม 2007 ด้วยความคาดหวังว่าจะมีอาหารกิน และมีคนรับเลี้ยงไปดูแล
“ตอนหนีออกมาจากเกาหลีเหนือ ฉันไม่ได้ฝันถึงอิสรภาพ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอิสรภาพหมายความว่าอย่างไร สิ่งเดียวที่ฉันรู้คือ ถ้าครอบครัวของเรายังอยู่ที่นั่นต่อไป เราอาจจะตายเพราะความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ สภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของคุกนักโทษ ความหิวโหยนั้นยากเกินทน ฉันยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อข้าวหนึ่งชาม”
ทว่าพ่อของยอนมีป่วยเกินกว่าจะเดินทาง และพี่สาวของเธอก็หายตัวไปก่อนหน้า ทำให้การเดินทางหนีครั้งนี้มีเพียงยอนมีในวัย 13 ปีและแม่เท่านั้น โดยไม่รู้ว่าโลกที่เธอข้ามมาอาจเลวร้ายกว่าเดิมแบบที่เธอไม่คาดคิด
แสงไฟแห่งความหวังของเธอและแม่ดับลงเมื่อข้ามมายังประเทศจีน เพราะนายหน้าเหล่านั้นที่นำทางข้ามมาต่างเป็นตัวแทนเพื่อส่งต่อหญิงสาวชาวเกาหลีเหนือเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์อย่างเต็มตัว ทำให้พวกเธอกลายเป็นสินค้า โดนต่อรองราคาเป็นทอด ๆ และส่งต่อให้นายหน้าหลายคนจนค่าตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
“ฉันน่าจะรู้ในตอนนั้นว่าแท้จริงแล้ว แสงไฟนั้นหมายถึงอะไรสำหรับชาวเกาหลีเหนืออย่างฉัน การตามมันไปจะทำให้ฉันสูญเสียความไร้เดียงสา และสูญเสียความเป็นมนุษย์ในชั่วขณะหนึ่ง”
ช่วงเวลานั้นรัฐบาลจีนซึ่งเป็นคู่ค้ากับเกาหลีเหนือไม่ต้องการให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามามาก ทำให้ผู้อพยพอย่างเธอกลายเป็นผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘ผู้แปรพักตร์’ ทรยศบ้านเกิด โดยที่ผู้แปรพักตร์ผู้ชายมักจะทำงานกับชาวไร่ ได้ค่าแรงเยี่ยงทาส และผู้หญิงเกาหลีเหนือกลายเป็นสินค้าในตลาดเจ้าสาว-ทาส เนื่องจากนโยบายควบคุมประชากรให้มีลูกคนเดียวของจีน รวมถึงลูกผู้ชายที่มีค่ามากกว่าในสังคม ทำให้ประชากรผู้หญิงขาดแคลน
การเห็นแม่ตัวเองโดนข่มขืนโดยนายหน้าเพื่อปกป้องเธอ และโดนขายให้ครอบครัวชาวไร่ ทำให้เธอเจ็บปวดจนคิดจะฆ่าตัวตาย หากแต่เป้าหมายในการตามหาครอบครัวทำให้เธอตัดสินใจสู้ที่จะมีชีวิตรอดในจีนต่อ โดยการยอมรับข้อเสนอที่จะช่วยตามหาครอบครัวของเธอให้จากชายผู้เป็นนายหน้าใหญ่ แลกกับการเป็นภรรยาน้อยของเขา และทำงานช่วยซื้อขายผู้หญิงเกาหลีเหนือคนอื่นให้ยินยอมถูกขายเป็นภรรยาผ่านการเป็นล่ามและตัวกลางดำเนินเรื่อง
ข้อตกลงเป็นไปได้ด้วยดี เพราะเธอซื้อแม่คืนจากสามีชาวไร่ได้และได้เจอพ่อในเดือนตุลาคม แต่การสูญเสียก็ตามมาทันทีที่พ่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ขั้นรุนแรงจนเสียชีวิต และเมื่อปี 2008 เริ่มต้น ตรงกับช่วงเวลาที่กีฬาโอลิมปิกซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพกำลังมาถึง รัฐบาลจีนถูกกดดันจากกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้ปราบปรามการค้ามนุษย์ ยอนมีจึงต้องหลบหนีมากกว่าเดิม จนเริ่มมองหาทางออกที่จะมีชีวิตรอดอีกครั้ง
เกือบ 2 ปีที่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนภายใต้การควบคุมของนายหน้าชาวจีน เธอและแม่ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตอีกรอบ เดินเท้าผ่านทะเลทรายโกบีในยามค่ำคืนเข้าสู่มองโกเลีย ใช้เข็มทิศและแสงไฟจากดาวเหนือนำทาง ด้วยความช่วยเหลือจากนักสอนศาสนาคริสต์ในเมืองชิงเต่าที่ช่วยให้ผู้ลี้ภัยอพยพ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามถูกจับได้ เพราะการส่งตัวกลับเกาหลีเหนือหมายถึงการทรยศต่อประเทศที่มีโทษร้ายแรงถึงการประหารชีวิต ทำให้ยอนมีและแม่ถึงขั้นวางแผนที่จะฆ่าตัวตายด้วยมีดโกนที่พกไว้หากถูกจับกุม
การหลบหนีสู่อิสรภาพสำเร็จผล พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ NIS (National Intelligence Service) หรือ CIA ของเกาหลีใต้ เดินทางเข้าสู่โซล และเข้าเรียนในศูนย์ช่วยเหลือผู้มาใหม่ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกเขตแดนที่ปิดตายของเกาหลีเหนือ ผ่านบทเรียนที่ท้าทายความเชื่อพื้นฐานเดิมจากโฆษณาชวนเชื่อและสังคมเลวร้ายที่เคยเจอในทุก ๆ วัน จนเธอเล่าว่า “มันเป็นครั้งแรกที่เราได้เรียนรู้ว่ามีประเทศประชาธิปไตยที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทั่วโลก และเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แถมยังกดขี่ที่สุดด้วย”
ยอนมีเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะพลเมืองเกาหลีในปี 2009 แม้จะไม่ง่ายที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมที่มีการแข่งขันและทันสมัย แต่ความกระหายที่จะเรียนรู้และเป้าหมายในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยทำให้เธอลงมืออ่านหนังสืออย่างหนักกว่า 100 เล่มต่อปี เริ่มจากหนังสือเด็ก หนังสือภาพ ประวัติศาสตร์โลก และวรรณกรรมคลาสสิกมากมาย ทั้งของเชกสเปียร์ ตอลสตอย หรือแม้กระทั่ง Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้เธอได้เข้าใจโลกที่ตัวเองเคยอยู่ ผ่านการเปรียบฟาร์มสัตว์เหมือนเกาหลีเหนือ และตัวเธอเป็นหมูตัวใหม่
การศึกษา 12 ปีถูกยัดภายใน 8 เดือน จนเธอได้รับประกาศนียบัตรเทียบเท่าความรู้ทั่วไป (GED: General Equivalency Diplomas) ระดับมัธยมฯ ต้นและมัธยมฯ ปลาย และตัดสินใจเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทงกุก ภาควิชากระบวนการยุติธรรมทางอาญา เธอเอาชนะความกลัวกับเรื่องราวเลวร้ายในอดีต ยอมเล่าประสบการณ์การลี้ภัยของตัวเองในรายการทีวีที่ติดต่อเข้ามาด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบเจอพี่สาวหลังหายไป 7 ปี จนได้พบกันจริง ๆ ในปี 2013 และอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง
เมื่อเป้าหมายเพื่อครอบครัวสำเร็จ ก็ถึงเวลาเอาชนะความกลัว ยอนมีขึ้นพูดบนเวทีปี 2014 ต่อหน้าผู้แทนแต่ละประเทศและสื่อกว่า 1,300 คน เธอตัดสินใจเปิดบาดแผลที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตกับการโดนขายในห่วงโซ่ค้ามนุษย์และการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของมันเพื่อเอาชีวิตรอดในหนังสือของเธอ ทำให้เธอกลายเป็นผู้แทนของชาวเกาหลีเหนือ ก้าวขึ้นเวทีนานาชาติเพื่อพูดเกี่ยวกับความอยุติธรรมของโลกจนคนจดจำ
แม้จะโดนรัฐบาลเกาหลีเหนือโจมตีด้วยการเรียกเธอว่า “หุ่นเชิดโฆษณาชวนเชื่อของสิทธิมนุษยชน” จนเจ็บปวด แต่ชีวิตในวัย 27 ปีของยอนมีในปัจจุบันนี้ เธอยังคงเดินทางไปทั่วโลกในฐานะนักพูด ทำงานในองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือในจีน เป็นทนายช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และยังคงพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพ ส่งแสงสว่างเปิดฉากเกาหลีเหนือให้คนได้เห็น เปล่งแสงประกายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนด้วยเรื่องราวของเธอ
.
ที่มา: หนังสือ ‘มีชีวิต…เพื่ออิสรภาพ’ (In Order to Live: A North Korean Girl’s Journey to Freedom) เขียนโดย ปาร์ค ยอนมี, สำนักพิมพ์: Post Books