14 พ.ย. 2563 | 01:45 น.
ไม่ว่าจะเป็นการชูสามนิ้ว ผูกริบบิ้นสีขาว การตัดสินใจลงถนนประท้วงของเหล่าหนุ่มสาว เริ่มมีมวลชนเข้ามาสมทบเป็นแนวร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ สังคมเริ่มหันมาสนใจการเคลื่อนไหวที่กำลังจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ และต่างก็คาดหวังว่ามันอาจจะเปลี่ยนแปลงประเทศเราได้
แต่ข้อสังเกตของนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ จิตแพทย์และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กลับชี้ให้เห็นว่า เราอาจกำลังเดินหน้าไปสู่จุดที่พาสังคมเข้าสู่วังวนเดิม ๆ ซึ่งก็คือการรัฐประหาร และในฐานะของบุคลากรที่เคยต้องทำงานในบรรยากาศการสูญเสีย ซึ่งเกิดจากการประท้วงและความขัดแย้ง วิธีคิดและมุมมองของเขาต่อปรากฏการณ์นี้ ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ
The People: กรมสุขภาพจิตทำหน้าที่อะไรในเหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดของประเทศ
นพ.ยงยุทธ: ส่วนใหญ่แล้วเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่าน ๆ มา มันมักจะจบที่ความรุนแรงและการสูญเสีย ซึ่งถ้าเป็นเหตุการณ์ช่วงก่อนหน้าปี 2536 ประเทศเราอาจจะยังไม่ได้มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเยียวยาและจัดการสภาวะหลังการสูญเสียของประชาชนอย่างจริงจังนัก แต่ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เราเริ่มมองเห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตมันเป็นเรื่องใหญ่ ก็เลยมีการตั้งกองสุขภาพจิตในตอนนั้นขึ้นมาเป็นกรม
ตอนนั้นผมก็ได้เข้าไปทำงานเป็นจิตแพทย์ที่นั่นจนกระทั่งเกษียณ ก็ถือว่าผ่านเหตุการณ์ที่จะต้องดูแลสุขภาพจิตของคนไทยในสถานการณ์ขัดแย้งมาหลายหน สมัยพฤษภาทมิฬ ปัญหาสุขภาพจิตกับการเมืองไทย ยังถือเป็นประเด็นที่ผมมองว่าใหม่ ตอนนั้นมันมีการเสียชีวิต มีคนสูญหาย เท่าที่จำได้ก็คือกรมสุขภาพจิตต้องเดินทางไปเยี่ยมบ้าน ไปเยี่ยมครอบครัวที่มีการเสียชีวิตหรือสูญหาย เพื่อช่วยรับฟังและบรรเทาความทุกข์ทางจิตใจของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ
เราเริ่มทำจากจุดนั้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2546 จนถึงช่วงปี 2549 ก็เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยิ่งชัด เป็นเรื่องของยุคที่เราเรียกกันว่าเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความจริงถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์ คือกลุ่มของคุณสนธิออกมาก่อน ตอนนั้นก็มีความรุนแรงบ้างแต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมาก ก็ทำงานลากยาวมา จนกระทั่งมีกลุ่มเสื้อแดงที่ก่อตัวขึ้นมาไล่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
ตอนนี้แหละที่มันจะมีภาพการปราบปรามที่ค่อนข้างรุนแรง มีการเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย แล้วสุดท้ายก็จบที่การรัฐประหาร งานของกรมสุขภาพจิตก็คือการเข้าไปเยียวยาจิตใจของทั้งฝั่งเสื้อแดง ฝั่งทหาร และฝั่งครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้ก็เป็นภาพรวมสถานการณ์แล้วก็บทบาทของกรมสุขภาพจิต ในกรณีความขัดแย้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา
The People: ในทางจิตวิทยา ผลกระทบที่เกิดกับผู้คน เมื่อบ้านเมืองมีความขัดแย้งมีอะไรบ้าง
นพ.ยงยุทธ: ตั้งแต่ยุคเสื้อเหลือง มันจะมีคำสำคัญคำหนึ่งที่เราเริ่มพูดถึงบ่อย ๆ คือ Political Stress Syndrome หรือ ความเครียดทางการเมือง เราก็ได้มีการทบทวนองค์ความรู้เรื่องนี้มาเรื่อย ๆ เริ่มมีการประเมินความเครียดของประชาชน และพูดถึงประเด็นที่ว่า คนเราจะจัดการความเครียดทางการเมืองได้อย่างไร ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะความเครียดทางการเมือง มันมักจะนำมาสู่ความรุนแรงได้ง่าย บริบททางจิตวิทยาของเรื่องนี้ มันจะมีอยู่ 3 ข้อที่ส่งเสริมให้เกิด หนึ่ง, คือ การสร้างความเกลียดชัง สอง, คือ ความเครียดทางการเมือง และสาม, คือ ความรุนแรง ก่อนจะมาลงเอยด้วยการเยียวยาทีหลัง ความเครียดทางการเมืองกับการสร้างความเกลียดชัง มันมักจะเกิดขึ้นและสัมพันธ์กัน เพราะถ้าสังคมเรามีความเกลียดชังสูง คนก็จะมีอารมณ์ร่วมแล้วก็จะเครียดมาก แน่นอนว่าขั้นต่อไปมันก็กลายเป็นความรุนแรง ที่จบด้วยการเยียวยา ทั้งหมดมันมาต่อเนื่องกัน
The People: แล้วทางออกไหนที่สังคมไทยจะไม่เข้าไปอยู่ในวังวนเดิม ๆ
นพ.ยงยุทธ: ถ้าเราไม่อยากให้กลับไปเหมือนเก่า ก็ต้องหันไปมองรากของปัญหา ผมพูดได้เลยว่า ความขัดแย้งในบ้านเราในเหตุการณ์ที่ผ่านมา มักจะเริ่มที่คนในสังคมมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ดูเป็นคำธรรมดาใช่ไหม แต่มันเกิดจากอะไรแบบนี้จริง ๆ ครับ
ไอ้ความแตกต่างทางความคิดนี่แหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยก แบ่งขั้วทางการเมือง สเต็ปต่อไปก็คือการพยายามดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับอีกฝ่าย หลังจากนั้นมันก็นำไปสู่ความรุนแรง แล้วก็รัฐประหาร จากนั้นก็เยียวยากันต่อ มันเป็นสูตรสำเร็จที่เกิดขึ้นวนไปวนมา ซึ่งก็เหมือนดึงให้สังคมไทยต้องถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่ซ้ำ ๆ และไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย
ถ้าถามว่าเราจะทำอย่างไรให้มันไม่จบแบบเดิม ก็ต้องทำให้คนในสังคมมีวุฒิภาวะให้ได้ เราต้องทำให้การเห็นต่างมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ จะต่างกันแค่ไหนก็อยู่ในสังคมเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง คือเราต้องมองว่าการเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม แต่การใช้ความรุนแรง รวมทั้งการรัฐประหาร อันนั้นต่างหากคืออาชญากรรม
สังเกตไหมครับว่าบ้านเรามันเหมือนกลับข้างเลย เพราะความเห็นต่างกลับกลายเป็นอาชญากรรม ความรุนแรงก็คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ส่วนการรัฐประหารเป็นฮีโร่ ถ้าเราสามารถผลักดันสังคมไปในจุดที่ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา มันก็จะเป็นหลักประกันว่า สังคมไทยจะเดินหน้าต่อโดยไม่วนกลับไปอยู่ที่เดิม
The People: ความขัดแย้งในครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา
นพ.ยงยุทธ: ที่เหมือนก็คือมันมีความเห็นที่แตกเป็นสองขั้ว แต่ที่ต่าง อย่างแรกเลยคือ หนนี้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ตอนนั้นยังไม่มีสัญญาณอะไรเลย แต่พอมาสิงหาคม-กันยายน มันลากยาวมาจนถึงจุดที่มีการชุมนุมทุกวัน ความต่างอีกข้อคือที่ผ่านมามันจะเป็นภาพของการเห็นต่างใน ‘คนสองกลุ่ม’ ที่มาปะทะกัน แต่คราวนี้พอภาพของการชุมนุมถูกนำด้วยคนหนุ่มสาว มันจึงมีมิติที่สะท้อนความเห็นต่างของแต่ละช่วงวัย และทำให้ประเด็นความขัดแย้งในครอบครัวมันชัดขึ้นมาด้วย ให้ลองนึกภาพบ้านที่มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย กับลูกหลานที่มีความเห็นทางการเมืองกันคนละฝั่ง จุดนี้มันจึงอาจมีประเด็นความรุนแรงในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง
The People: มีทางออกในการบรรเทาความขัดแย้งไม่ให้ไปสู่ความรุนแรงไหม
นพ.ยงยุทธ: มีครับ คือระดับการเห็นต่างในครอบครัว มันยังจัดว่าเป็น verbal violence หรือ การกระทบกระทั่งทางวาจาอยู่ คือเวลาเราพูดถึงความรุนแรง มันจะมีทั้งทางวาจา แล้วก็ทางกายภาพ ขณะนี้ในครอบครัวรวมถึงในสังคมส่วนใหญ่ ก็ยังถือว่าเป็นความรุนแรงทางวาจาอยู่ ถึงแม้จะมีความรุนแรงทางกายภาพบ้าง บางครอบครัว แต่มันมักเกิดในครอบครัวที่ต้นทุนเดิมไม่ค่อยดีอยู่แล้ว พวกการไล่ลูกออกจากบ้าน หรือแจ้งความจับ ไปจนถึงใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่สถาบันครอบครัวเขาก็จะไม่ค่อยแข็งแรง แต่ความขัดแย้งในครอบครัวส่วนใหญ่ ยังเป็นความเห็นต่างที่สามารถคุยกันได้ ดังนั้น หากมีการรับฟังกัน ก็อาจทำให้มันไม่ไปถึงขั้นที่เกิดความรุนแรง
The People: สถาบันครอบครัวต้องเริ่มปรับตัวอย่างไร
นพ.ยงยุทธ: ถ้าเราอยากนำสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี ครอบครัวก็ต้องทำตัวเป็นพื้นฐาน เพราะว่าหลักของการสร้างความรุนแรง คือมันต้องสร้างความเกลียดชังก่อน คราวนี้ในครอบครัวมันจะยังมีสายสัมพันธ์ที่ทำให้ไม่เกิดการเกลียดชังกันได้ง่าย ๆ ซึ่งมันจะกลายมาเป็นจุดแข็งในการบรรเทาความขัดแย้งได้เหมือนกัน
ความเกลียดชังมันจะเกิดในตอนที่เราเริ่มเห็นอีกฝ่ายเป็นคนเลว ในครอบครัวที่พอจะรู้จักนิสัยใจคอกันดี เขาก็คงพอรู้ว่าคนในบ้านเขามีนิสัยอย่างไร สายสัมพันธ์ตรงนี้มันก็จะมีความพิเศษ ที่เราสามารถใช้เป็นต้นทุนในการปรับตัวเข้าหากันได้
ส่วนการจะปรับตัว มันก็มีหลักสำคัญคือให้เรามองความต่างเป็น asset (สินทรัพย์) ถ้าเรามองว่าความเห็นต่างเป็นต้นทุนที่ดี ที่ทำให้เห็นว่าสังคมมีอะไรต้องเปลี่ยนบ้าง เราก็จะมองเห็นความตั้งใจดีของแต่ละฝ่าย คือมากกว่าที่จะไปมองลงไปข้างล่าง เราต้องมองขึ้นบน เพราะทุกคนที่ออกมา เขาล้วนคิดว่าตัวเองมีเจตนาที่ดี อยากให้สังคมมันดี
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยจริง ๆ เราก็ต้องลองมองและทำความเข้าใจเป้าหมายของแต่ละฝ่าย ว่าความปรารถนาดีเขาคืออะไร แต่ในความเป็นจริงใครจะเริ่มต้นยอมก่อน ที่จริงใครจะเริ่มต้นก่อนก็ดีทั้งนั้น แต่โดยหลักการแล้ว คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า เป็นผู้มีอำนาจมากกว่า ก็ควรเริ่มต้นก่อน เพราะเราจะไปบอกให้คนที่ไม่มีอำนาจเขายอมฟังก่อนก็คงไม่ได้
เราจะไปบอกให้เด็กยอมฟังผู้ใหญ่ได้อย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมาเขาก็ฟังมาตลอด ทีนี้พอเขาเริ่มไม่ฟัง ฝั่งผู้ใหญ่ก็ต้องลองฟังเขาบ้าง มันก็เป็นหลักสากลที่เราจะเริ่มต้นทำความเข้าใจปัญหาของกันและกัน
The People: ผู้ใหญ่ควรเริ่มต้นอย่างไรเพื่อเข้าใจคนหนุ่มสาว
นพ.ยงยุทธ: อย่างที่บอก ก็ต้องเริ่มจากการมองสูง อย่าไปมองว่าเขาโดนหลอก โดนชักจูง เพราะมันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนหนุ่มสาวด้วยว่าวัยนี้เขาเป็นวัยที่กำลังแสวงหาคำตอบ และคำตอบที่ว่านี่ก็ไม่ได้มีแค่คำตอบจากตัวเอง แต่เป็นคำตอบของสังคมด้วย เขาอยากให้สังคมเป็นอย่างไร อยากให้การเมืองเป็นอย่างไร ภาษาทางจิตวิทยาของมันคือ self-identity และ social identity ที่พวกเขาเป็นวัยที่กำลังค้นหาอยู่
การที่เขาจะไม่ฟังเรา เขาหาคำตอบเอง เขาถามเพื่อน ก็ล้วนเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น พ่อแม่เองสมัยวัยรุ่นก็เป็นแบบนี้ แต่ที่พ่อแม่จะงงนิดหน่อย อาจจะเป็นประเด็นที่เขามีข้อมูลคนละชุดกับเรา ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้มันมีเครื่องมือ มีอินเทอร์เน็ตที่เขาสามารถเข้าถึงความรู้ที่มันอาจจะมากกว่าที่เราเคยได้รับ เป็นชุดข้อมูลที่แตกต่าง
อีกข้อก็คือทำไมมันเร็วนัก มีคนหนุนหลัง มีคนบงการหรือเปล่า ข้อนี้ถ้าเราเข้าใจว่า เด็กยุคนี้เขาใช้โซเชียลฯ ที่เอื้อให้เขาสามารถรวมตัวได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราพยายามเข้าใจธรรมชาติของเขา และยอมรับในความตั้งใจดีของเขา การที่ตัวเยาวชนเองจะยอมรับฟังผู้ใหญ่ มันก็จะไม่ยาก ฝั่งหนุ่มสาวเองก็ต้องลองเริ่มต้นฟังความเห็นของผู้ใหญ่ด้วย
ข้อดีของวัยนี้คือมันจะมีความเป็น pragmatic เพราะประสบการณ์จะสอนพวกเขาว่า ความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ที่เขาออกมาบอกว่าให้ใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ก็เพราะเขาไม่ต้องการให้มันเกิดเหตุรุนแรงเดิม ๆ ซ้ำอีก การมองเห็นจุดดีของแต่ละฝ่าย มันจะเกิดการเข้าใจกันได้มากขึ้น ครอบครัวก็จะกลายเป็นปฐมบทของสังคมประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะได้
The People: ถ้าลองทำความเข้าใจแล้วจะเริ่มต้นสื่อสารกันอย่างไร
นพ.ยงยุทธ: การสื่อสารมันก็มีทั้งทางลบและทางบวก ทางลบก็ตั้งแต่ห้ามปราม ตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ มันก็จะไต่ระดับไปเรื่อย ๆ ส่วนถ้าเป็นการสื่อสารทางบวกก็คือ รับฟัง ถ้าจะรับฟัง มันก็ไม่ใช่แค่ฟังแต่ไม่ได้ยินอะไรที่เขาพูด ฟังแล้วเราก็ต้องประมวลผลออกมาด้วยว่า เขามีความปรารถนาอย่างไร ต้องฟังเพื่อให้ได้ยิน ไม่ใช่ฟังเพื่อถกเถียง
ถ้าเราลองมองจากเหตุการณ์ทุกครั้งมา ความเกลียดชังมักจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะเรารู้สึกว่ามันชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่าย ดังนั้น ความรุนแรงทางวาจา มันจึงพาไปสู่ความรุนแรงจริงที่มีการทำร้าย จับกุม คุมขัง จนกระทั่งปลิดชีวิตได้ หากมันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะเข้าสู่สูตรเก่า คือการรัฐประหาร
ถ้าเราอยากป้องกันไว้ก่อน ก็ต้องพยายามทำให้สังคมไม่อุดมไปด้วย hate speech โดยครอบครัวก็ต้องทำสองหน้าที่ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ครอบครัวเราเป็นปฐมบทของประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ ฟังกันมากขึ้น และต้องช่วยกันทำให้บรรยากาศด้านลบของสังคมมันเบาบางลง
The People: จะลดการเกิด hate speech ได้อย่างไร
นพ.ยงยุทธ: อันนี้ผมก็เข้าใจว่ามันอาจจะยากกว่าทุกครั้ง เพราะสังคมมันมีตัวยกกำลัง hate speech อยู่ คือโซเชียลมีเดีย ช่วงสมัยก่อนสมมติยุค 6 ตุลาคม มันก็จะมีสื่อยานเกราะ ที่ออกมาปลุกเร้ารุนแรงทุกวัน พอตอนยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดงนี่ก็ช่องทีวีของแต่ละฝ่าย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ ฉะนั้นทุกคนก็อาจจะช่วยสร้างความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นมันถึงได้มีหลักที่เขาเรียกว่า ‘2 ไม่ 1 เตือน’
The People: หลัก 2 ไม่ 1 เตือนคืออะไร
นพ.ยงยุทธ: ถ้าเราจะอยากให้สังคมไม่เกลียดชังกันมากนัก ในยุคที่สื่อโซเชียลฯ มีอิทธิพลและทุกคนเป็นสื่อ ก็ต้องเริ่มจาก ‘2 ไม่’ เลย ไม่แรกคือเราต้องไม่ผลิตข้อความที่รุนแรง และเป็น hate speech ส่วนไม่ที่สองคือบางคนอาจไม่ได้เป็นคนผลิต hate speech แต่ว่าชอบส่งต่อจังเลย การส่งต่อนี่มันเข้าทาง algorithm ของอินเทอร์เน็ต สมมุติเราส่งไปสิบ มันก็อาจจะถูกส่งต่อไปอีกเป็นพัน หรือไปถึงเป็นแสน
คราวนี้มันก็จะสร้างบรรยากาศของความเกลียดชังขึ้นมาแล้วจริง ๆ เราจึงต้องไม่ส่งต่อและมีวิจารณญาณพอ แม้มันจะเป็นความเห็นที่เรารู้สึกเห็นด้วยมาก ๆ ส่วน ‘1 เตือน’ ก็คือเตือนเมื่อเราเจอกับ hate speech โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเดียวกัน การเตือนมันจะได้ผลดี ถ้าเขาใช้คำด่าว่ารุนแรง เราก็เข้าไปเตือนด้วยความหวังดี ว่าจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่จำเป็นต้องว่ากันขนาดนี้ คุยกันด้วยเหตุผลดีกว่า ตรงนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวัง และมีการควบคุมระดับความรุนแรงของบรรยากาศได้
The People: ศักยภาพของคนในสังคมไทย จะสามารถจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่นำสังคมไปสู่วังวนเดิม ๆ ได้ไหม
นพ.ยงยุทธ: จริง ๆ แล้ว ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะอยู่ตรงกลาง ส่วนที่มีความคิดรุนแรงที่สุดของแต่ละฝั่งมักจะเป็นคนส่วนน้อย วันนี้คนส่วนน้อยเขาก็พยายามจะดึงคนกลาง ๆ ให้มาเห็นด้วยกับตัวเอง แต่ถ้าคนกลาง ๆ บอกว่า เขาฟังความเห็นต่าง แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างความเกลียดชัง นี่แหละจะเป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงสังคม ผมคิดว่าเราก็ต้องเพิ่มสัดส่วนคนกลาง ๆ ให้มากขึ้น เปลี่ยนจาก major silent ให้กลายเป็น major voice เราต้องทำให้เขาออกมา voice เสียงของตัวเองว่าเราไม่เอา hate speech เราไม่เอาความรุนแรง อย่างกรณีของวันฉีดน้ำ (16 ตุลาคม 2563) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการ major voice เลย คือคนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการชุมนุมของนักศึกษา แต่เขาก็ออกมาบอกว่าการฉีดน้ำ การใช้ความรุนแรงมันไม่ถูกต้อง มันไม่โอเค ตรงนี้ก็จะเป็นหลักสำคัญมาก ๆ ที่จะพาสถานการณ์ไปสู่ทางออกโดยไม่กลับไปอยู่ในวังวนเดิม