เช เกวารา: เบื้องหลังภาพแห่งความโกรธแค้นของนักปฏิวัติผู้โด่งดังที่สุดในโลก

“ถ้าคุณตัวสั่นด้วยความโกรธ ในทุกครั้งที่คุณมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ พวกเราคือสหายกัน”
วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1964 เวลาราวบ่าย 3 โมงที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของโลกยุคสงครามเย็น เรือบรรทุกสินค้าสัญชาติฝรั่งเศส ลา คูเบรอะ (La Coubre) ที่บรรทุกเครื่องกระสุนและระเบิดจากเบลเยี่ยมปริมาณถึง 76 ตันได้เกิดระเบิดขึ้น ณ ท่าเรือกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา เหยื่อของเหตุการณ์นี้มีชาวคิวบาได้รับบาดเจ็บจำนวน 200 คน ผู้เสียชีวิต 100 คน ต้นเหตุของการระเบิดนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดจนปัจจุบัน แต่สำหรับฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) นั้นประกาศว่าการระเบิดดังกล่าว ซี.ไอ.เอ. และรัฐบาลของประธานาธิดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ต้องรับผิดชอบ ข้อกล่าวหาดังกล่าวของคาสโตรนี้เกิดขึ้น ณ สุสาน โคลอน กลางกรุงฮาวานา (El Cementerio de Cristóbal Colón) ในวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1964 หรือ 1 วันหลังเหตุการณ์ระเบิด
ในวันนั้นเองช่างภาพแฟชั่นชาวคิวบาผู้นิยามตนเองว่า “ศิลปินผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพและเรือนร่างของสตรีเพศ” นาม กอร์ดา (Korda) หรือชื่อจริงคือ อัลแบร์โต้ ดิอาซ กูเตียเรซ (Alberto Díaz Gutiérrez) ได้มีโอกาสถ่ายภาพที่ในเวลาต่อมาเป็นหนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดในโลก และโด่งดังท้ายรถบรรทุกของไทย ภาพขาว-ดำภาพนั้นแสดงในหน้าของชายอายุ 31 ปี ผู้หนึ่งผมยาว มีหนวดเครา ใส่สเว็ทเตอร์รูดซิปขึ้นจนเกือบสุด สวมหมวกเบเรต์ที่ประดับด้วยดาวดวงเล็ก ๆ สายตาสีหน้าของชายคนนั้นระคนโกรธขึ้งและเศร้าสร้อยในเวลาเดียวกัน รูปภาพนี้กลายเป็นเป็นรูปเคารพบนกำแพงบ้านของชาวอเมริกาใต้ ไปปรากฏบนแผงกั้นตำรวจของนักปฏิวัติหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1968 กลายเป็นลายเสื้อยืดในร้านค้าชั้นนำบนห้างสรรพสินค้าในประเทศจีน เป็นกราฟฟิตีของศิลปินนิรนามบนกำแพงที่นิวยอร์ค กลายเป็นหนึ่งศิลปะป็อปอาร์ตในงานแสดงภาพที่ลอนดอน ปรากฏเป็นรอยสักบนไหล่ซ้ายของตำนานนักฟุตบอลผู้ล่วงลับ ดิเอโก มาราโดนา หรือกระทั่งอยู่บนแผ่นบังโคลนรถบรรทุกบนถนนในประเทศไทย ภาพนี้มีชื่อว่า “เกริเญโร ฮีโรอิโก” (Guerrillero Heroico) หรือ “วีรบุรุษนักรบกองโจร” และชายในภาพนั้นมีชื่อว่า “เช”
เช เป็นชื่อเล่นที่ฟิเดล คาสโตร ตั้งให้แก่สหายชาวอาร์เจนตินา เออร์เนสโต เกวารา เดอ ลา แซร์นา (Ernesto Guevara de la Serna) แพทย์หนุ่มอาร์เจนไตน์ผู้ที่เขาได้พบเจอในช่วงที่คาสโตรและกองกำลัง 26 กรกฎาฯ (Movimiento 26 de Julio) ของเขาลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศกัวเตมาลาและเม็กซิโก เนื่องจากสหายผู้หลงใหลแนวคิดมาร์กซิสม์ผู้นี้มักจะเริ่มบทสนทนาของตนด้วยคำทักทายสั้น ๆ ว่า “เช” (che) ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า “เฮ้ พรรคพวก” เชได้กลายเป็นสหายร่วมรบคนสำคัญของคาสโตรในตำแหน่งแพทย์สนาม เป็นหนึ่งในผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองกำลังติดอาวุธในการปฏิวัติล้มรัฐบาลเผด็จการคิวบาของประธานาธิบดีฟูลเจนชิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ในสายตาของคาสโตร รัฐบาลของบาติสตายอมรับอำนาจจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนคิวบาในช่วงทศวรรษ 50 ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นของบรรดาชนชั้นสูง นักธุรกิจที่เข้ามาร่วมมือกันคอร์รัปชันขูดรีดคิวบาผ่านธุรกิจการพนัน ธุรกิจค้าบริการทางเพศ และธุรกิจยาเสพติด
แผนการปฏิวัติสำเร็จในที่สุด และหลังการปฏิวัติคิวบา เชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารกลางคิวบา และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมคิวบาของรัฐบาลคาสโตร เป็นนักวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอย่างดุเดือด เป็นตัวอย่างของผู้ปลดแอกประชาชนที่มีวัตรปฏิบัติอันสมถะ ภาพลักษณ์หนุ่มหนวดงามในชุดทหารที่มีซิการ์อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลากลายเป็นความน่าหลงใหลแก่ปัญญาชนหัวเอียงซ้าย เป็นแรงบันดาลใจให้งานศิลปะและบทเพลงเพื่อเสรีภาพ จนที่สุดแล้ว เชกลายเป็นหนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของจักรวรรดินิยมในยุคสงครามเย็น
เช หรือ เออร์เนสโต้น้อย (Ernestito เนื่องจากพ่อของเชก็มีชื่อว่า Ernesto เช่นเดียวกันกับเขา) ถือกำเนิดจากครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างสูงของกรุง บัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เชมีความผูกพันกับการเมืองมาตั้งแต่เด็กจากการที่แม่ที่มีเชื้อสายไอริชของเขาเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีผู้มีชื่อเสียง ส่วนพ่อของเชที่มีเชื้อสายสเปนก็ให้การสนับสนุนทางการเงินที่ได้มาจากธุรกิจงานสถาปนิกของเขาแก่กลุ่มฝ่ายซ้ายในสงครามกลางเมืองสเปนช่วง ค.ศ. 1936 - 1939
เชมีโรคหอบหืดเป็นโรคประตัวทำให้วัยเด็กเขาต้องเก็บตัวอยู่ในห้องสมุดของบ้าน ที่ซึ่งสร้างนิสัยรักการอ่าน ความไฝ่รู้ในสรรพวิชาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักในงานกวีให้แก่เขา เมื่อโตขึ้น เขาพยายามต่อสู้กับโรคหอบหืดด้วยการเล่นกีฬาอย่างบ้าคลั่งและเลือกเรียนแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความกระหายใคร่รู้ของเช ทำให้เขาและเพื่อนของเขา อัลแบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) มีเป้าหมายร่วมท่องเที่ยวร่วมกัน
ทั้งคู่ร่วมกันวางแผนท่องเที่ยวทั่วอเมริกาใต้โดยมีเป้าหมายสุดท้ายของการเดินทางคือการไปเป็นแพทย์อาสา ณ เขตแยกโรคผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำอะเมซอนช่วงที่ไหลผ่านประเทศเปรูด้วย “เจ้าจอมพลัง” รถมอเตอร์ไซค์ของอัลแบร์โตที่ชื่อนี้อาจไม่เป็นจริงนักเพราะมันพังไปตั้งแต่ช่วงไม่กี่พันกิโลเมตรแรก แต่การเดินทางในครั้งนั้นก็เป็นที่มาของบันทึกของอัลแบร์โตที่ถูกตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของเช ในชื่อ Travelling with Che Guevara: The Making of a Revolutionary รวมถึงบันทึกของเชเองร่วมกับจากปากคำของสมาชิกของครอบครัวของเชที่รวบรวมจดหมายที่เชเขียนถึงครอบครัวนำมาร้อยเรียงจนเป็นบันทึกในชื่อ The Motorcycle Diaries: Notes on a Latin American Journey เรื่องราวในหนังสือได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2004 ในชื่อ The Motorcycle Diaries อีกด้วย
ช่วงเวลา 9 เดือนกับการเดินทางอย่างทุกลักทุเลกว่า 14,000 กิโลเมตร ทั้ง 2 คนได้พบเจอในสิ่งที่ไม่ได้คาดว่าจะเจอมากมาย อันได้แก่ ความยากจนข้นแค้นและการเลือกปฏิบัติต่อชนพื้นเมือง เจอการรุมทำร้ายร่างกายบุคคลที่มีความเชื่อเอียงซ้าย การกดขี่ขูดรีดแรงงานจากเหล่านายทุนทั้งที่เป็นชาวอเมริกาใต้และชาวอเมริกัน การแสดงท่าทีผู้ต่อคนยากไร้ที่เจ็บป่วยและปฏิบัติราวกับผู้ป่วยเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เชอึดอัดกับสภาพความเป็นจริงที่เขาพบเห็น จนเชเริ่มก่อร่างสร้างความเชื่อที่ว่า ความอยุติธรรมเหล่านี้เป็นเพราะระบบการปกครองที่แยกขาดผู้คนออกจากกัน กดขี่ผู้คน และไม่ได้เอื้อให้ชาวอเมริกาใต้จำนวนมากได้ใช้ชีวิตสมกับความเป็นมนุษย์ สำหรับเชนั้นอเมริกาใต้ไม่ใช่เป็นเพียงทวีปอันเป็นที่รวมของประเทศที่แยกขาดออกจากกัน แต่อเมริกาใต้ทั้งทวีปเป็นสถานที่ที่ต้องการการหลอมรวมวัฒนธรรมประเพณีอารยธรรมจนสามารถสร้างสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนชาวอเมริกาใต้โดยรวม
หลังจากจบการศึกษาใน ค.ศ. 1953 เชได้พบรักกับฮิลดา กาเดีย (Hilda Gadea) นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายชาวเปรูที่ประเทศกัวเตมาลา ผู้ซึ่งได้กลายเป็นภรรยาคนแรกของเขา เชทำงานเป็นแพทย์ประจำที่ประเทศเม็กซิโก รับบรรยายเกี่ยวกับการแพทย์และยังทำงานเป็นช่างภาพอิสระ ในบางครั้งยังออกเดินทางรักษาผู้ป่วยยากไร้ ในปี 1954 ฮิลดาได้แนะนำให้เชรู้จักกับฟิเดล คาสโตร และจากการที่เชมีทัศนคติเอียงซ้าย รวมถึงการเดินทางที่ให้ประสบการณ์มากมาย ทำให้เขาเชื่อว่าหากต้องสร้างสังคมอเมริกาใต้ที่ทุกคนเท่าเทียมดังที่เขาวาดฝันนั้น การปฏิวัติด้วยกองกำลังประชาชนติดอาวุธคือวิธีที่รวดเร็วและดีที่สุด นี่เองเป็นเหตุผลที่เชตัดสินใจเข้าร่วมกองกำลังปฏิวัติคิวบากับคาสโตรใน ค.ศ. 1956 หรือเพียง 2 ปีหลังจากที่เขาจบการศึกษาแพทย์นั้นเอง
หลังการปฏิวัติคิวบาสำเร็จลงในต้นปี ค.ศ. 1959 เชที่ได้กลายเป็นทั้งมันสมอง และมือขวาของฟิเดลคาสโตร แต่เขาต้องหยุดพักรักษาตัวจากอาการหอบหืดที่กลับมากำเริบ ในช่วงนี้เองที่เขาได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1961 คือ Guerrilla Warfare ซึ่งเขาได้บันทึกประสบการณ์และข้อสรุปจากการปฏิวัติคิวบาให้เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยสงครามกองโจรไว้ว่า
1) กำลังของประชาชนสามารถเอาชนะกำลังของกองทัพได้
2) ไม่มีความจำเป็นต้องรอให้เกิดเงื่อนไขของการปฏิวัติครบถ้วน แค่เพียงการก่อกบฏก็สามารถแทนเงื่อนไขทุกอย่างได้หมด
3) ในประเทศด้อยพัฒนาของอเมริกา ชนบทคือชัยภูมิจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการรบ
คำว่าการรบกองโจร (guerrilla) ของเช ไม่ใช่การรบแบบทหาร แต่คือการรบของนักปฏิรูปสังคมที่ต่อสู้อย่างมีเหตุผล และมีระเบียบวินัยราวกับนักพรต การรบแบบกองโจรต้องสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ร่วมรบ สร้างภราดรภาพให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวนา (peasant) ที่จะกลายมาเป็นกำลังรบที่สำคัญที่สุดของกองโจรไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านเทคนิควิธีการรบ การสร้างทรัพยากรให้กองโจร สร้างระเบียบปฏิบัติ สร้างแนวทางการอยู่ร่วมกันในกองโจร หรือแม้แต่การให้ความสนับสนุนโดยที่ไม่ได้เข้าร่วมรบกับกองโจร
หลังจากรักษาอาการหอบหืด เชกลับมาร่วมงานในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคาสโตร เขามีบทบาทในการเป็นผู้หัวหน้าฝึกสอนการรบในกองทัพคิวบา ร่วมพิจารณาคดีในศาลปฏิวัติ ณ เรือนจำ ลา คาบาญา (Fortaleza de San Carlos de la Cabaña) ผลักดันการปฏิรูปที่ดินการเกษตร ปฏิรูปการเงินการธนาคาร ปฏิรูประบบการศึกษา เชยังเป็นทูตของคิวบาในการสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสหภาพโซเวียต ที่เชเสนอให้เข้ามาติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบาจนเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธใน ค.ศ. 1962 รวมทั้งการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐอเมริกาโดยเรียกสหรัฐอเมริกาว่าเป็นประเทศจักรวรรดินิยมที่คอยขัดขวางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของโลกใบนี้กลางเวทีสหประชาชาติใน ค.ศ. 1964
ตุลาคม 1965 ฟิเดล คาสโตรได้รับจดหมายจากเช ที่เขากล่าวว่าภารกิจที่เขามีต่อคิวบานั้นได้จบลงแล้ว นอกจากการบอกเล่าถึงมิตรภาพอันงดงามของเขากับคาสโตรและความรักอันสุดซึ้งที่เชมีต่อชาวคิวบา เชยังแสดงความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าแม้ตัวเขาจะจากคิวบาไป ครอบครัวของเขาก็จะมีชีวิตที่ดีจากการที่รัฐคอมมิวนิสต์ที่เขากับฟิเดลและสหายร่วมรบได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา เชเชื่อว่าความด้อยพัฒนาของโลกที่สามเป็นผลจากจักรวรรดินิยม ดังนั้นแม้การปลดปล่อยคิวบาออกจากจักรวรรดินิยมเสร็จสิ้นลง แต่เชเชื่อว่าเขายังมีภารกิจในการปลดปล่อยผู้คนอีกมากมาย เชจึงขอลาออกจากทุกตำแหน่งของรัฐบาลและกองทัพคิวบา และเดินทางพร้อมกับกองกำลังชาวคิวบาผิวดำสู่ประเทศคองโกเพื่อฝึกสอนกองกำลังติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับกองทัพทหารรับจ้างจากเจ้าอาณานิคมเบลเยียม เชเชื่อว่าดินแดนแอฟริกานั้นเป็นจุดอ่อนสำคัญของจักรวรรดินิยมเพราะมีพื้นที่กว้างขวางและเต็มไปด้วยเขตแดนของชนเผ่า (ชาวนา) ต่าง ๆ ที่ถูกจัดระบบระเบียบด้วยความเอาแต่ใจของประเทศเจ้าอาณานิคม หากแอฟริกากลายเป็นคอมมิวนิสม์ อำนาจในการครอบงำโลกของจักรวรรดิยมย่อมถูกสั่นคลอนอย่างมหาศาล แต่ที่คองโกนี้เอง เชประสบความล้มเหลว จากการที่เขาไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาพื้นถิ่นได้มากพอ จึงไม่สามารถเปลี่ยนให้ชาวนากลายเป็นกองโจรได้ ชื่อเสียงและความได้รับการยอมรับของเชในบริบทการเมืองโลกกลับไม่สามารถกรุยทางให้กับภารกิจที่คองโกของเขาได้เลย
เพียง 1 ปี เชจึงย้ายมาที่ประเทศโบลิเวียเพื่อตั้งกองกำลังปลดแอกแห่งชาติโบลิเวีย (Ejército de Liberación Nacional de Bolivia: ELN) ขึ้นในพื้นที่ภูเขาตอนใต้ของโบลิเวียด้วยกำลังพลเพียง 50 นาย แต่ก็สามารถต่อสู้เอาชนะกองทัพของรัฐบาลโบลิเวียที่อยู่หลายครั้ง จนกระทั่ง ซี.ไอ.เอ. จากสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาแทรกแซงการรบในช่วง ค.ศ. 1967 ซึ่งปลายปีเดียวกันนี้เอง กองกำลัง ELN ของเชก็ถูกโจมตีจนพ่ายแพ้ และเขาเองก็ถูกจับกุม เชในวัย 39 ปีถูกรัฐบาลโบลิเวียสั่งประหารชีวิตในวันที่ 10 ตุลาคม 1967 เพียงไม่นานนักหลังโดนควบคุมตัว ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) กล่าวตำหนิรัฐบาลโบลิเวียที่ตัดสินใจประหารชีวิตเช ทว่าก็กล่าวต่อว่าเป็นสิ่งที่ “เข้าใจได้”
ศพของเชถูกทำลายอัตลักษณ์ ถูกตัดมือ และนำไปฝังในสถานที่ที่เป็นความลับ หลักฐานในการจับกุมทั้งหมดถูกเก็บเป็นความลับ มีเพียงภาพถ่ายขาว-ดำไม่กี่ใบ ร่างของเชถูกค้นพบใน ค.ศ. 1997 และนำกลับไปทำพิธีฝังศพที่คิวบาอย่างสมเกียรติ ส่วนภาพถ่ายศพของเชอีกจำนวนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองเห็นร่างไร้วิญญาณของเขาราวกับภาพของพระเยซู คริสต์เพิ่งจะถูกค้นพบเพิ่มเติมในราวปี 2012 ที่ผ่านมานี้เอง
วันที่ 18 ตุลาคม 1967 หลังการประกาศยอมรับการตายของเช 3 วัน ฟิเดล คาสโตรกล่าวสรรเสริญเชต่อประชาชนคิวบานับล้านคน ณ ลานปฏิวัติ กรุงฮาวานา (Plaza de la Revolución) ไว้ว่า
“หากพวกเราอยากจะให้ผู้คนในยุคต่อไปเป็นแบบใด พวกเราต้องพูดว่า ต้องเป็นอย่างเช ถ้าเราต้องการให้ลูกหลานของเราได้รับรู้เรื่องนี้ พวกเราก็พูดถึงเขา (เช) อย่างไม่ลังเล พวกเราอยากให้ลูกหลานของเรารับรู้จิตวิญญาณของเช ถ้าพวกต้องการใครสักคนเป็นมนุษย์ต้นแบบ ผู้ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดจากกาลเวลาของเรา แต่เป็นต้นแบบของอนาคต ข้าพเจ้าขอกล่าวจากส่วนลึกของจิตใจเลยว่า ต้นแบบที่ไร้ความด่างพร้อยใด ๆ นั้น คือเช”
แม้เชจะจากโลกนี้ไปกว่า 50 ปี แต่ภาพวีรบุรุษนักรบกองโจรของกอร์ดาที่ส่งผ่านสายตาที่โกรธเกรี้ยวและโศกเศร้าของเชที่มีต่อชะตากรรมอันน่ารันทดของมนุษย์ร่วมสังคมที่ต้องทุกข์ทรมานจากการกดขี่ข่มเหงของจักรวรรดินิยมได้ส่งผ่านวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของนักปฏิวัติสังคม ส่งผ่านเรื่องราวของวีรบุรุษสามัญชนนักปฏิบัติที่ไฝ่ฝันถึงสังคมอุดมคติที่ไม่ยินยอมต่อความอยุติธรรมใด ๆ แก่คนหนุ่มสาวรุ่นหลัง
เชจึงยังไม่ตาย และไม่ได้ดำรงอยู่เพียงท้ายรถบรรทุก แต่เชมีชีวิตอยู่ในจิตวิญญาณแห่งการปลดแอกสังคมของผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น จากบทสัมภาษณ์ คุณหมอ อาเลย์ดา เกวารา (Aleida Guevara) บุตรสาวของเช ที่ได้ใช้ชีวิตร่วมเชอยู่เพียง 7 ปี ในคำถามที่ว่าเธอเสียใจในสิ่งที่เชตัดสินใจกระทำคือละทิ้งครอบครัวไว้ที่คิวบาแล้วหันหน้าสู่การปฏิวัติครั้งใหม่นั้นหรือไม่ และอาเลย์ดาอยากให้คนรุ่นใหม่จดจำเชอย่างไร เธอตอบว่า แม้เธอจะอยากให้เชอยู่กับครอบครัวมากกว่านี้ แต่เธอไม่เสียใจในเส้นทางที่เชเลือก เธอไม่รู้ว่าในอนาคตผู้คนจะยังรู้จักเชและงานของเชในแง่มุมใด เธอหวังเพียงว่าผู้คนจะจดจำเชในฐานะนักสู้ที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยม การกดขี่ข่มเหง และความยากจนข้นแค้นอย่างไม่ย่อท้อ เพียงเท่านั้น
เชเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ก็มีแง่มุมสุข เศร้า เหงา รักในชีวิตครอบครัวที่ไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่น ๆ ดังปรากฏในบันทึกของ อเลย์ดา มาร์ช (Aleida March) ภรรยาคนที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ของลูก 4 คนของเชรวมถึงคุณหมอ อาเลย์ดา เกวาราที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งในการเป็นนักปฏิวัติของเขามันอาจทำให้เรายังอาจมีความสงสัยในเบื้องลึกของจิตใจว่าเพราะเหตุใดกัน คน ๆ หนึ่งจึงเลือกเดินทางเพื่อทำความเข้าใจความระกำลำบากของผู้อื่น ทำไมทิ้งชีวิตชนชั้นกลางเพื่อเข้าป่า ทำไมทิ้งอาชีพแพทย์ไปเป็นกองโจร ทำไมทิ้งสิ่งที่เขาสามารถเสวยสุขจากการร่วมสร้างขึ้นมากับกองกำลังปฏิวัติ ทำไมทิ้งอำนาจจากตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลที่เขาได้รับจากการการเป็นผู้ชนะในการปฏิวัติ ทำไมโกรธเกรี้ยวและกล้าที่จะแข็งกร้าวต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ทำไมเข้าร่วมกับการปฏิวัติในพื้นที่ห่างไกลที่อาฟริกา ทำไมกลับมานำการปฏิวัติที่อเมริกาใต้ ทำไมสหรัฐอเมริกามองว่าเขาเป็นศัตรูตัวฉกาจ ทำไมคนที่ช่วงเวลาบนโลกเพียง 39 ปี ถึงได้กล้าที่จะละทิ้งความปกติสุขของชีวิตเพื่อหันหน้าออกสู่เวทีแห่งการต่อสู้ที่อาจไม่มีวันจบสิ้น
คำตอบอาจจะอยู่ในข้อความในจดหมายสั้น ๆ ที่เชเขียนลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1964 ที่เขากล่าวว่า
“ผมไม่รู้ชัดๆหรอกว่าครอบครัวผมมาจากส่วนใดของสเปน ก็เพราะว่าบรรพบุรุษผมทิ้งที่นั่นมานานแล้ว แม้ผมจะมีความผูกพันกับที่เก่า (สเปน) อยู่ แต่ผมก็มีความผูกพันกับที่ใหม่ (อาร์เจนติน่า/อเมริกาใต้) ด้วยเช่นกัน ผมไม่คิดว่าเราจะเป็นญาติสนิทกันหรอก แต่ถ้าคุณตัวสั่นเทิ้มด้วยความโกรธในทุกครั้งที่คุณมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ พวกเราคือสหายกัน นั่นแหละสำคัญที่สุด”
ผู้บัญชาการ เออร์เนสโต เช เกวารา
.
ที่มา
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2550). เช เกวารากับความตาย. เดอะ ยิปซี.
Che. (1964, Dec 11). At the United Nations. Speech at 19th General Assembly of the United Nations in New York. https://www.marxists.org/archive/guevara/1964/12/11.htm
Che. (1964, Feb 20). Letter to María Rosario Guevara – Havana. http://sobrecartas.com/a-maria-rosario-guevara-la-habana-20-de-febrero-de-1964/
Che. (1965, Oct, 3). Farewell letter from Che Guevara to Fidel Castro" – Havana. http://sobrecartas.com/carta-de-despedida-del-che-guevara-a-fidel-castro-la-habana-3-de-octubre-de-1965/
Kirkpatrick, Nick. (2014, Nov 17). New (and disturbing) pictures of Che Guevara right after death resurface. https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2014/11/17/new-and-disturbing-pictures-of-che-guevara-right-after-death-resurface/
March, Aleida. (เขียน). (2561). ผู้หญิงของเช: เช เกวารา ในความทรงจำของภรรยาผู้เป็นที่รัก. (Remembering Che : My Life with Che Guevara). เบญจมาศ วงศ์สาม. (แปล). ยิปซี.
Nagarajan, Saraswathy. (2019, Aug 28). INTERVIEW WITH ALEIDA GUEVARA, CHE’S DAUGHTER. https://popularresistance.org/interview-with-aleida-guevara-ches-daughter/
Pardo Lazo, Orlando Luis. (2016, Nov 3). The Story Behind Che’s Iconic Photo. https://www.smithsonianmag.com/travel/iconic-photography-che-guevara-alberto-korda-cultural-travel-180960615/
Sierra, Jerry A. (n.d.). Ernesto Che Guevara. http://www.historyofcuba.com/history/chebio.htm.
Sinclair, Andrew A. (n.d.). Che Guevara: Argentine-Cuban revolutionary. https://www.britannica.com/biography/Che-Guevara
Che Guevara. https://en.wikipedia.org/wiki/Che_Guevara
Fidel Castro. https://en.wikipedia.org/wiki/Fidel_Castro
Guerrillero Heroico. https://en.wikipedia.org/wiki/Guerrillero_Heroico
เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม