เอลิซาเบธ โฮล์มส: เครื่องตรวจเลือด เรื่องอื้อฉาวของสาวผู้มีสตีฟ จ็อบส์เป็นไอดอล
หากเครื่องตรวจจับระเบิด “จีที 200” คือเทคโนโลยีลวงโลกที่เคยหลอกคนมาแล้วมากมาย รวมถึงผู้มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายคน “เอดิสัน” อุปกรณ์ตรวจเลือดแบบมินิมอลที่ “สตีฟ จ็อบส์หญิง” แห่งซิลิคอน แวลลีย์ นามเอลิซาเบธ โฮล์มส (Elizabeth Holmes) พยายามอวดอ้างเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่า มันคือ “จีที 200” แห่งวงการแพทย์หรือไม่
เอลิซาเบธ โฮมส์ และ “เอดิสัน” นวัตกรรมตรวจเลือดจากปลายนิ้วสุดแสนสะดวก-รวดเร็วตามที่เธอขายฝัน กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงธุรกิจสตาร์ตอัพ แวดวงการแพทย์ และการลงทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และน่าจะยังไม่จบง่าย ๆ จนอาจกลายเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่งของโลก
ความสำเร็จที่มาเร็วและพังทลายลงอย่างรวดเร็วของเธอ ทำให้ฮอลลีวูด สนใจนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ให้คนทั่วโลกได้ชมกัน เป็นหนังบอกเล่าละครชีวิตอันเข้มข้นดรามาของผู้หญิงที่ชื่อว่า เอลิซาเบธ โฮล์มส
แฟนตัวยงสตีฟจ็อบส์
เอลิซาเบธ โฮล์มส คือใคร?
เอลิซาเบธ เกิดที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1984 หลังจาก สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรกสู่ตลาดไม่ถึง 2 สัปดาห์ และนั่นอาจเป็นที่มาที่ทำให้เธอโตมาคลั่งไคล้หลงใหลในตำนานผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ถึงขั้นพยายามแต่งตัวเลียนแบบด้วยเสื้อคอเต่าสีดำเป็นเครื่องแบบประจำ จ้างอดีตพนักงานแอปเปิล รวมถึงอดีตมือขวา สตีฟ จ็อบส์ และผู้ร่วมออกแบบโทรศัพท์ iPhone มาร่วมงาน แถมยังตกแต่งห้องทำงานด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกับออฟฟิศของ สตีฟ จ็อบส์ ด้วย
นอกจากนี้ เอลิซาเบธยังเลียนแบบสไตล์การทำงานของฮีโรแห่งซิลิคอน แวลลีย์ ด้วยการทำตัวเป็นคนชอบเก็บงำความลับ ทำงานด้วยความจริงจัง และบ้างานถึงขั้นไม่เคยใช้วันลาพักร้อนในแต่ละปี
ทั้งเพื่อนบ้าน ครู และญาติ ๆ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บุคลิกมุ่งมั่นตั้งใจไม่ยอมแพ้ คือคาแรกเตอร์ของเอลิซาเบธตั้งแต่เด็ก เธอมักทำการบ้านอ่านหนังสือจนดึกดื่น และกลายเป็นเด็กเรียนดีที่สอบได้เกรดเอทุกวิชาตั้งแต่เรียนไฮสคูล
เรียนเก่งอยากเป็นเศรษฐี
เอลิซาเบธบอกกับพ่อและญาติ ๆ เสมอว่า เธออยากโตไปเป็นมหาเศรษฐี
ตอนเกิดมา แม่ของเธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกรรมาธิการสภาคองเกรสสหรัฐฯ ส่วนบิดาเคยเป็นผู้บริหารในหลายหน่วยงานของรัฐ ก่อนลาออกไปรับตำแหน่งรองประธานบริษัทเอ็นรอน ธุรกิจพลังงานที่ต่อมามีคดีคอรัปชันอื้อฉาวจนล้มละลายในปี 2001
ช่วงไฮสคูล ครอบครัวของเอลิซาเบธจ้างติวเตอร์ส่วนตัวมาสอนภาษาจีนให้ที่บ้าน ทำให้เธอใช้ภาษาจีนได้อย่างแตกฉาน และเป็นเด็กไฮสคูลเพียงคนเดียวในรุ่นที่สามารถขอเข้าไปนั่งเรียนคอร์สภาษาจีนภาคฤดูร้อนร่วมห้องกับนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้
หลังจบไฮสคูล เธอเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในสาขาวิศวกรรมเคมี และสามารถสมัครเข้าฝึกงานที่สถาบันจีโนมในประเทศสิงคโปร์ ด้วยความสามารถพิเศษด้านภาษาจีน ตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนชั้นปีที่ 1
Profile ดี Story เด่น
ประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงาน และความรู้ในห้องเรียนมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เอลิซาเบธตัดสินใจลาออกจากสแตนฟอร์ดกลางคันในปี 2003 เพื่อมาตั้งบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีการแพทย์ของตนเองใน ซิลิคอน แวลลีย์ ขณะมีอายุแค่ 19 ปี
เรื่องราวของเธอ ณ จุดนี้เป็นจุดขายที่ทำให้ Story คล้ายคลึงกับสตาร์ตอัพระดับตำนานของซิลิคอน แวลลีย์ ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์, บิลล์ เกตส์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งทุกคนล้วนเป็นเด็กหัวดีที่มีความขบถ ไม่เรียนต่อให้จบมหาวิทยาลัย เพราะอยากออกมาปั้นธุรกิจในฝันของตนเอง
เอลิซาเบธก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า เธรานอส (Theranos) มาจากการเล่นคำสองคำรวมกันคือ Therapy กับ Diagnosis ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวชูโรง คือ “เอดิสัน” อุปกรณ์ตรวจเลือดโฉมใหม่ที่เธอเปรียบให้เป็น “iPod แห่งวงการสาธารณสุข”
ปฏิวัติวงการเจาะตรวจเลือด
สรรพคุณของ “เอดิสัน” ตามที่เธอขายฝัน คือ นวัตกรรมปฏิวัติการตรวจเลือด โดยวิธีใหม่จะใช้เข็มเจาะเอาตัวอย่างเลือดเพียงไม่กี่หยดที่ปลายนิ้ว นำเข้าเครื่องตรวจวินิจฉัยซึ่งมีขนาดเท่าเครื่องถ่ายเอกสารย่อม ๆ ที่ยกไปตั้งที่ไหนก็ได้ เพียงไม่นานก็สามารถทราบผลทันที ต่างจากวิธีเดิม ๆ ที่ต้องใช้เลือดเยอะเป็นหลอด และต้องนำเข้าห้องแล็บที่มีขั้นตอนยุ่งยาก รอผลนาน ส่วนวิธีใหม่ของเธอรวดเร็วกว่า และให้ผลไม่ต่างกัน ตรวจได้ตั้งแต่คอเลสเตอรอล ยันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมะเร็ง
ผู้ก่อตั้งเธรานอส เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า มาจากความสูญเสียในวัยเด็กเมื่อลุงอันเป็นที่รักต้องจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง เธอจึงคิดว่าคงเป็นการดี หากสามารถตรวจพบโรคร้ายได้เนิ่น ๆ เพื่อสามารถป้องกันรักษาได้ทัน ขณะเดียวกัน เธอยังเป็นคนกลัวเข็มฉีดยา ดังนั้น การเจาะเลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้ว จึงประหยัด สะดวก ปลอดภัย และยังดีต่อใจคนกลัวเข็มเช่นเธอ
ด้วยวิสัยทัศน์อันชาญฉลาด และเรื่องราวที่น่าดึงดูดใจ นำมาซึ่งการใช้ connection เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และระดมทุน
หาทุนจากสายสัมพันธ์ส่วนตัว
เงินทุนก้อนแรก ๆ ของเธรานอส มาจากความช่วยเหลือของ ทิม เดรเปอร์ นักธุรกิจที่เป็นบิดาของเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ส่วนอีกก้อนมาจาก ซันนี บัลวานี อดีตผู้บริหารไมโครซอฟต์ ซึ่งรู้จักกันในชั้นเรียนภาษาจีนที่สแตนฟอร์ด จนต่อมา ซันนียังร่วมบริหารเธรานอสในตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) มีอำนาจสูงสุดอันดับสอง รองจากเอลิซาเบธ ที่เป็นซีอีโอ
ความฉลาด มีเสน่ห์ และเป็นนักเล่าเรื่องที่มีวาทศิลป์ของเอลิซาเบธ ยังทำให้บอร์ดบริหารเธรานอส ได้รับการยกย่องว่าเป็นบอร์ดทรงอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาสตาร์ตอัพแห่งซิลิคอน แวลลีย์ เพราะเต็มไปด้วยบุคคลชื่อดังซึ่งมีดีกรีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตผู้ว่าการรัฐ
การระดมผู้อาวุโส และมีชื่อเสียงเหล่านี้เข้ามา ก็เพื่อเสริมบารมีให้บริษัท และชดเชยภาพลักษณ์เด็กไร้ประสบการณ์ของเธอ เริ่มจากความสำเร็จในการทาบทาม จอร์จ ชูลซ์ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีชื่อเสียงในฐานะพาอเมริกาชนะสงครามเย็นมาร่วมทีม จากนั้นจึงใช้ connection ของชูลซ์ ดึงอดีตนักการเมืองคนอื่น ๆ เข้ามา รวมถึง เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการเจรจายุติสงครามเวียดนามในอดีต
นอกจากแรงสนับสนุนทางการเงิน และความน่าเชื่อถือทางสังคมแล้ว เอลิซาเบธยังเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการแพทย์ให้กับเธรานอส ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Walgreens บริษัทร้านขายยาที่มีสาขาทั่วสหรัฐฯ ณ เวลานั้นกว่า 8,000 สาขา เพื่อทำให้นวัตกรรม “เอดิสัน” สามารถเข้าถึงชาวอเมริกันได้กว้างขวางมากขึ้น
เศรษฐินีพันล้านอายุน้อยสุดในโลก
ความสำเร็จมาถึงจุดสูงสุดเมื่อเรื่องราวและใบหน้าของเธอได้ขึ้นปกนิตยสารฟอร์จูน ฉบับเดือนมิถุนายน 2014 ทำให้เอลิซาเบธยิ่งโด่งดังเป็นพลุแตก ได้ไปปรากฏตัวออกสื่ออื่น ๆ และถูกเชิญไปสัมภาษณ์ ได้ขึ้นพูดให้แรงบันดาลใจบนเวทีต่าง ๆ แทบทุกสัปดาห์ รวมถึงเวทีของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่มี แจ็ค หม่า วีรบุรุษสตาร์ตอัพชาวจีนมาร่วมปาฐกถาด้วย
ณ จุดนี้ยิ่งทำให้ เธรานอส ระดมทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นทุนจากเซเลบฯ หลากหลายวงการ ทั้งผู้ก่อตั้งห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ Walmart (150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าพ่อสื่อมวลชน (125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), และครอบครัวตระกูล DeVos รวมถึง เบตซี ดีวอส รมว.กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
เงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ทำให้เธรานอส เติบโตเป็น “ยูนิคอร์น” หรือบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2014 มูลค่าของเธรานอส เคยขึ้นไปแตะระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ จนเอลิซาเบธ โฮล์มสได้ขึ้นแท่นเป็นสตรีที่ก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมากลายเป็นมหาเศรษฐินีพันล้านอายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 4,500 ล้านดอลลาร์
ความสำเร็จดีใจได้ปีเดียว
หลังขึ้นสู่จุดสูงสุดได้แค่ปีเดียว สัญญาณแห่งความหายนะก็มาเยือน เมื่อเดือนตุลาคม 2015 จอห์น แครีย์รู นักข่าวแนวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เปิดตัวหนังสือตีแผ่ความลับของเธรานอส และความลวงโลกของเอลิซาเบธ โดยใช้ชื่อว่า Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup (เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์)
ไฮไลต์ในหนังสือมาจากการสัมภาษณ์อดีตพนักงานหลายคนของเธรานอส ที่ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลภายในองค์กร โดยเฉพาะบุคลิกแปลก ๆ ของเอลิซาเบธ และความล้มเหลวของ “เอดิสัน” ที่ผู้บริหารพยายามปิดบังสังคม
“ผมไม่คิดว่าจะมีใครทำตัวแบบที่เธอทำในตำแหน่งซีอีโอ เชื่อผมเถอะ ผมเคยทำงานกับ สตีฟ จ็อบส์ ผมเจอเรื่องบ้า ๆ มาเยอะ” อาวี เทวาเนียน อดีตมือขวาสตีฟ จ็อบส์ ที่มานั่งบอร์ดบริหารเธรานอส เล่าถึงความไม่ปกติของเอลิซาเบธ ก่อนที่เขาจะถูกกดดันให้ออกจากบริษัท เพราะตั้งคำถามกับข้อบกพร่องในนวัตกรรมของเธอมากเกินไป
เอลิซาเบธถูกกล่าวหาว่าทำตัวประหลาด นอกจากจะเลียนแบบ สตีฟ จ็อบส์ แทบทุกเรื่องแล้ว ยังปลอมเสียงพูดให้ทุ้มต่ำเพื่อเพิ่มความขึงขังแบบผู้ชาย บริหารองค์กรด้วยความหวาดกลัวแบบเผด็จการ ไม่ฟังความคิดเห็นใคร และแบ่งแยกปกครองแต่ละแผนกไม่ให้สุงสิงกันเพื่อป้องกันความลับรั่วไหล โดยมีซันนี ที่เป็นซีโอโออายุแก่กว่า 20 ปี และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวลึกซึ้งกัน คอยช่วยทำหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงาน
จากเปลี่ยนโลกเป็นลวงโลก
แต่เรื่องสำคัญซึ่งพนักงานหลายคนรับไม่ได้ เพราะหมายถึงความเป็นความตายของคนไข้ที่เป็นลูกค้า นั่นคือ การพยายามปกปิดความล้มเหลวของ “เอดิสัน”
“มีผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะที่ 3 และ 4 หลายคนนำเลือดมาให้ตรวจ แต่แสงมันลอดเข้าไปได้ทำให้การประเมินผลคลาดเคลื่อน ข้อมูลที่ได้จึงไม่ถูกต้อง ฉันนำเรื่องนี้ไปบอกเอลิซาเบธ และเธอก็ยื่นคำขาดมาว่าให้ทำลายผลนั้นทิ้งไป และกลับไปทำหน้าที่เหมือนเดิมตามปกติ ฉันยอมรับสิ่งนั้นไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออก” อานา อาริโอรา นักออกแบบ iPhone เล่าถึงเหตุผลที่เธอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าสถาปนิกออกแบบของเธรานอส
สาเหตุที่ทำให้เอลิซาเบธ ปิดบังข้อบกพร่องของ “เอดิสัน” จากโลกภายนอกและนักลงทุนมาได้เป็นระยะเวลานาน คือ การอ้างเหตุผลเรื่องความลับทางธุรกิจ ส่วนการหลุดรอดสายตาขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เพราะแอบใช้ผลตรวจจากห้องแล็บด้วยวิธีเก่าส่งให้ดู แทนที่จะใช้ผลตรวจด้วยนวัตกรรมที่กล่าวอ้าง ซึ่งยังทำงานไม่แม่นยำจริง
เมื่อคนนอกยังไม่ทราบ แต่คนในออกมาแฉ และมีหนังสือตีแผ่เรื่องราวลวงโลกออกมา แรก ๆ เอลิซาเบธยังคงปฏิเสธความผิด โดยบอกว่า “นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณพยายามเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อันดับแรกพวกเขาคิดว่าคุณเสียสติ จากนั้นก็ต่อต้าน แต่ทันใดนั้นคุณได้เปลี่ยนแปลงโลกสำเร็จ”
ต่อมาเมื่อมีหลักฐานมัดตัวเพิ่มขึ้นจนยากจะดิ้นหลุด คำตอบของเธอก็เปลี่ยนไปเป็น “ฉันไม่รู้ ฉันไม่ทราบ” เท่านั้น
มหากาพย์ยังไม่อวสาน
เอลิซาเบธ กับซันนี ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงรวม 11 กระทง และมีกำหนดขึ้นศาลในสหรัฐฯ เดือนมีนาคม 2021 หากพบว่ามีความผิดจริง ทั้งคู่อาจติดคุกนาน 20 ปี และถูกปรับอีกกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เอลิซาเบธยังคงเชื่อว่าเธอบริสุทธิ์ และแม้เธรานอส จะปิดตัวลงไปแล้ว แต่เธอยังคงไม่เลิกล้มความตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรมตามความฝันของตัวเอง เธอยังคงมองหาเงินทุนเพื่อเปิดบริษัทใหม่ และเพิ่งเข้าพิธีวิวาห์กับ บิลลี อีแวนส์ ทายาทเจ้าของเครือโรงแรม Evans Hotel Group ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ได้
เรื่องราวของเธอได้รับความสนใจจากวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่เตรียมสร้างหนังอ้างอิงจากหนังสือของจอห์น แครีย์รู โดยมีดาราเจ้าบทบาทอย่าง เจนนิฟอร์ ลอเรนซ์ จากเรื่อง The Hunger Games มารับบทเป็นเอลิซาเบธ โฮล์มส
เรียกได้ว่า มหากาพย์เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ ยังมีทั้งหนัง และคดีความให้ได้ลุ้นกันต่อไป แต่ที่สำคัญ “สตีฟ จ็อบส์” ในร่างสตรีแห่งซิลิคอน แวลลีย์ ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ดูเหมือนจะยังไม่ยอมแพ้ และยังคงพยายามจะพิสูจน์ให้ได้ว่า ตอนอวสานของเรื่องจริงไม่อิงนิยายในชีวิตเธอ “เอดิสัน” จะต้องไม่มีชะตากรรมแบบเดียวกับ “จีที 200” ตามที่เขาว่ากันในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.biography.com/news/elizabeth-holmes-theranos-scam
https://www.vanityfair.com/news/2019/02/inside-elizabeth-holmess-final-months-at-theranos
https://www.businessinsider.com/theranos-founder-ceo-elizabeth-holmes-life-story-bio-2018-4#holmes-family-moved-when-she-was-young-from-washington-dc-to-houston-2
https://abc.com/shows/2020/episode-guide/2019-03/15-the-dropout