One Child Nation: การพรากสิทธิเหนือร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตของเผด็จการ
*เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง
“ห้ามท้องหรือมีลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต”
“แจ้งเบาะแสผู้มีลูกเกินหนึ่งคน จะได้รับรางวัล”
“ผู้ใดฝ่าฝืนนโยบายลูกคนเดียวจะสูญเสียทรัพย์ทั้งหมด”
“ผู้ใดไม่ยอมทำหมันจะถูกจับกุมทันที”
“หนึ่งคนไม่ยอมทำหมัน ทั้งครอบครัวจะเดือดร้อน”
“ห้ามตั้งครรภ์และคลอดลูกอย่างลับ ๆ เด็ดขาด ท่านอาจปิดบังได้ชั่วคราว แต่ไม่นานหรอก”
“รีดออก ทำแท้ง อย่าคลอดออกมา”
“ปล่อยให้เลือดไหลนอง ดีกว่าตั้งท้องเกินหนึ่งคน”
ประโยคทั้งหมดข้างต้น ไม่ใช่สติกเกอร์ติดท้ายรถบรรทุก ไม่ใช่มุกเสื่อม ๆ ที่เล่นกันในวงเหล้า และไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนทึกทักขึ้นเอง เพื่อจะมาสนับสนุนงานเขียนชิ้นนี้ แต่ผู้เขียนกำลังเล่าถึงสารคดีคุณภาพ One Child Nation ซึ่งทีมงานผู้สร้างทุกคนเกิดในช่วงเวลาที่จีนบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว ผ่านการเล่าเรื่องของผู้กำกับ หวังหนานฝู เป็นหลัก โดยที่เธอทั้งเล่าเรื่องและรวมเอาตัวเองเข้าไป subject ของหนังด้วย
ประโยคที่ทุกคนเพิ่งผ่านตามาทั้งหมดนั้นคือข้อความบนป้ายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงที่นโยบายยังบังคับใช้อยู่ (ค.ศ. 1979 - 2015) ซึ่งผู้กำกับหวังหนานฝูบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า ตัวเธอเกิดในยุค “ลูกคนเดียว” และเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสิ่งของที่รัฐบาลจีนทำขึ้น เพื่อเตือนให้ทุกบ้านปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นปฏิทิน กลักไม้ขีดไฟ สำรับไพ่ หรือกล่องขนม ทุกคำโฆษณาโดยรัฐล้วนหลอมรวมเข้ากับชีวิตผู้คนอย่างแนบแน่นเป็นชิ้นเดียวโดยไม่มีใครนึกเอะใจหรือตั้งคำถาม
แต่แล้วจุดหักมุมแรกของหนังก็เข้ามาทักทายคนดูอย่างเราแบบตั้งตัวไม่ติด กับความจริงที่ว่าหวังหนานฝูไม่ใช่ลูกคนเดียว ซึ่งนั่นก็ทำให้ครอบครัวของเธอไม่เคยได้รับรางวัลชมเชยการทำดีในด้านนี้อย่างใคร ๆ เขา กลายเป็นตัวประหลาดของสังคม แถมตัวเธอยังต้องทนอับอายจากสายตาที่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนมอง เมื่อรู้ว่าเธอมีน้องชายอีกคนด้วย จะเรียกว่าครอบครัวของเธอโชคดีก็ได้ ที่ไม่ได้มีใครแจ้งทางการจนเกิดเรื่องราวร้าย ๆ แต่ความจริงแล้วเรื่องราวร้าย ๆ ที่ว่าควรเกิดขึ้นแต่แรกแล้วหรือ? แล้วรัฐที่ดีจำเป็นต้องทำร้ายประชาชนด้วยวิธีเหล่านี้จริงหรือ?
หวังหนานฝูกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพื่อสัมภาษณ์ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยนั้น เพื่อมาประกอบเป็นสารคดี และพบว่าเจ้าหน้าที่มักลงโทษครอบครัวที่ปล่อยให้มีลูกเกิดมาเกินจำนวนที่รัฐกำหนดอย่างรุนแรง ทั้งยึดทรัพย์ ทั้งรื้อบ้าน รวมถึงใช้กำลังจับกุมผู้หญิงที่ตั้งท้องแล้วไปทำหมัน ผู้ให้ข้อมูลคนแล้วคนเล่าพูดถึงกระบวนการนี้ในเชิงจนใจ พลางบอกว่าพวกเขา “ไม่มีทางเลือก” ในเมื่อมันถูกสั่งการโดยรัฐ และการทำเพื่อประเทศก็เป็นคุณค่าสูงสุดที่ต้องยึดถือ ทุกขั้นตอนที่โหดร้ายจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนยุคนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการจับผู้หญิงท้องมัดรวมกันไม่ต่างจากสัตว์แล้วส่งต่อให้คลินิกท้องถิ่นเพื่อทำแท้ง การหยิบเด็กที่รีดออกมาเพื่อใส่ถุงขยะทางการแพทย์แล้วปล่อยทิ้งให้เน่าเปื่อยไม่ต่างจากเนื้อก้อนหนึ่ง และการรวบรวมทีมแพทย์ตระเวนทำหมันทั่วราชอาณาจักรแบบตัดไฟแต่ต้นลม
“มนุษย์เราเนี่ย จะฆ่าคนได้ต้องใจเด็ด” หวังเผิง ศิลปินร่วมสมัยพูดขึ้น ขณะอธิบายผลงานภาพเด็กทารกที่เขาวาด เขาแทบไม่อยากเชื่อว่าพยาบาลสาว ๆ ที่วันหนึ่งอาจมีลูกและเป็นแม่คนจะทำเรื่องแบบนี้ได้ลงคอ แต่กระนั้นเขาก็เข้าใจดีว่าทั้งหมดเป็นเพราะการปลูกฝังความคิดความเชื่อในระยะยาวโดยรัฐ เช่นการบอกว่า “ประโยชน์ส่วนรวมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” “ปัจเจกต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม” และ “พรรคคอมมิวนิสต์ทำอะไรก็ไม่ผิด” ซึ่งก็เหมือนได้ทำลายหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวพลเมืองลงไปอย่างสิ้นเชิงจนไม่สามารถฟื้นฟูได้
แต่ “การฆ่าคน” ไม่ใช่ผลกระทบเดียวที่เกิดจากนโยบายเลือดนี้ เพราะมันยังแตกแขนงออกไปเป็นการคอร์รัปชันครั้งมโหฬารของหน่วยงานรัฐด้วย โดยหลักฐานส่วนหนึ่งถูกบันทึกไว้ได้โดย ผังเจี่ยวหมิง นักข่าวที่ถูกไล่ออก ถูกข่มขู่ และต้องหนีไปอยู่ฮ่องกงทันทีที่บทความเรื่องการโกงระบบรับลูกบุญธรรม การลักพาตัวเด็ก และผลพวงอันไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ของนโยบายลูกคนเดียวได้รับการตีพิมพ์ออกไป
หนังสือ The Orphans of Shao ของ ผังเจี่ยวหมิง เล่าเรื่องราวของชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ห่างไกลที่ถูกบังคับให้จ่ายส่วย แล้วเมื่อไม่จ่าย เจ้าหน้าที่ก็จะ “ยึดลูก” ของพวกเขาไป เพื่อเอาไปขายต่อให้บ้านเด็กกำพร้าในกำกับดูแลของรัฐ แล้วระบบก็จะนำเด็ก “ขายทอดตลาดนานาชาติ” ให้ครอบครัวชาวต่างชาติรับเลี้ยงในราคาดำเนินการที่แพงแสนแพงต่อไป โดยที่ผู้ใจบุญทั้งหลายไม่รู้เลยว่าเด็กที่รับไปมีพ่อแม่อยู่ดีครบถ้วน ไม่ใช่เด็กกำพร้าอย่างที่ “ใบปะหน้า” บอกไว้
“รัฐบาลต้องการเงิน พวกเขาเลยวางแผนรีดไถ โดยเรียกว่า ‘ค่าดูแลจัดการสังคม’ สำนักงานวางแผนครอบครัว สำนักกิจการพลเรือน ตำรวจ ศาล หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ร่วมมือกันหมด เพื่อเรียกเก็บเงินนี้”
มาถึงตรงนี้ คนดูน่าจะได้รับรู้ความจริงจากมุมมองเดียวกันว่านโยบายลูกคนเดียวไม่มีไว้เพื่อจำกัดการใช้ทรัพยากรอย่างที่กล่าวอ้างมาตลอด แต่เพื่อสร้าง “กลุ่มผู้ถูกกระทำ” ขึ้นในหมู่ประชากร ให้รัฐได้กดขี่ ให้รัฐได้ใช้อำนาจ และให้รัฐได้กอบโกย แล้วที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นคือการวางนโยบายเลือดนี้ให้เป็นเหมือนแผนระยะยาวในการพัฒนาประเทศ แต่กลับกัน ที่สุดแล้วมันกลับทำให้จีนไม่มีวัยแรงงานเพียงพอในยุคถัดมา จนรัฐต้องกลับลำด้วยการสร้างโฆษณาชวนเชื่อชุดใหม่ขึ้นมา ว่าให้ครอบครัวมีลูกเกินหนึ่งคน บ้านไหนทำได้จะเป็นประชากรที่ดี
สิ่งที่รัฐไม่พูดถึง และต่อให้พูดถึงก็เป็นสิ่งที่เรียกคืนมาไม่ได้ คือชีวิตเด็กนับล้านที่ถูกฆ่าไปก่อนจะได้เกิด คือหัวใจแม่นับล้านที่ถูกทำลายโดยพวกเธอไม่ยินยอม และคือรอยร้าวในการดำเนินชีวิตของครอบครัวจีนทั่วประเทศ ที่ควรจะได้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จริงอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่ง การบังคับใช้นโยบายหนึ่ง ๆ อย่างเข้มข้นอาจทำให้ประเทศมีระเบียบและ “แข็งแรง” ตามที่รัฐต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นแผนระยะยาวที่ได้กัดกร่อนความเป็นมนุษย์ในตัวประชากรจำนวนมากไปพร้อมกันด้วย
แล้วรัฐที่ล้มเหลวในการปกป้องพลเมือง ในการอุ้มชูชีวิตประชากร และในการส่งเสริมเป็นมนุษย์อย่างไม่ต้องชดใช้ในความผิดพลาดเชิงนโยบายใด ๆ เช่นนี้ ควรแล้วหรือที่จะได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจโลก? หรืออำนาจทั้งหลายล้วนต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดและการถูกละเมิดของชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่รัฐไม่เคยมองเห็นกันนะ?
สำหรับผู้เขียน One Child Nation ดูจะไม่ใช่สารคดีวิพากษ์นโยบายการเมืองเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นงานวิจัยชิ้นย่อม ๆ ที่เผยให้เห็นว่าชีวิตที่ถูกกดทับโดยมาตรการของรัฐเผด็จการเป็นชีวิตที่ไม่มีทางเจริญงอกงามสำหรับประชาชน ซ้ำร้าย เมื่อมันต้องมีบาดแผล หรือมีผู้บาดเจ็บล้มตาย มันก็จะไม่ใช่ “คนสั่งการ” หรอก ที่จะบอบช้ำ มันคือเรา ๆ ท่าน ๆ ผู้ที่ถูกปกครองทั้งหลายนี่แหละ
สุดท้าย ถ้าการดูจนจบแล้วมันไม่ได้ทำให้หดหู่ซึมเซาหรือหัวใจฝ่อเกินไปนัก ผู้เขียนหวังว่าอย่างน้อย One Child Nation จะทิ้งประกายเล็ก ๆ ไว้ในใจคนดูได้บ้าง ว่าเราแต่ละคนต่างก็มีร่างกาย มีจิตใจ มีคุณค่าที่ควรหวงแหนรักษา และเราทุกคนก็ควรจะมีสิทธิเหนือร่างกาย จิตใจ รวมถึงคุณค่าที่ว่านั้นด้วย โดยปราศจากการตัดสินใจแทนจากผู้อื่นผู้ใด
One Child Nation รับชมได้ผ่าน Amazon Prime Video
เรื่อง: นิรามัย