read
sports
21 ธ.ค. 2563 | 01:52 น.
ปทุมมาศ จัดแจง: “วิ่งหายเจ็บใจ” เมื่ออาการซึมเศร้าบรรเทาได้ด้วยการออกวิ่ง
Play
Loading...
“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล ตะละล้า”
เชื่อกันว่าเพลงกราวกีฬา ของเจ้าพระธรรมศักดิ์มนตรี ที่แต่งมานานกว่า 120 ปีนี้ เป็นหนึ่งในเพลงสุดคลาสสิคของวงการกีฬาไทย จากทำนองที่สนุกเร้าใจ แล้วยังช่วยย้ำถึงข้อดีของการเล่นกีฬาในเรื่องการช่วยสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ซึ่ง เอ-ปทุมมาศ จัดแจง นางฟ้านักวิ่ง เจ้าของเพจ “วิ่งหายเจ็บใจ” เป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วยยืนยันว่า การเล่นกีฬาเป็นยาวิเศษที่ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจของเราได้จริง ๆ
“ตอนนั้นงานที่เราทำอยู่มีการเปลี่ยนแปลง จากคนที่มีรายได้เดือนละเกือบแสนกลายเป็นคนตกงาน ซึ่งเรายังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ดูแลพ่อแม่อยู่ด้วย พองานสะดุดทั้งที่เราตั้งใจทุ่มให้กับทำงานเต็มที่ เลยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรมกับเราเลย เป็นจุดที่ทำให้เป็นซึมเศร้าแล้วพยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งตอนหลังมารู้ว่าจริง ๆ เรามีการอาการสะสมมานานแล้ว เรื่องนี้แค่เป็นตัวประทุให้ทุกอย่างระเบิดออกมาเท่านั้นเอง”
เอ เล่าให้ฟังว่าเธอค่อนข้างจะ Perfectionist ติดความสมบูรณ์แบบมากจนคิดว่าโลกต้องเป็นตามที่ต้องการทุกอย่าง ทั้งการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ต้องมีงานที่ดีมีอนาคต มีทรัพย์สิน บ้าน และรถยนต์ แต่พอทุกอย่างไม่เป็นตามที่คาดหวังเลยทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
ด้วยความคาดหวัง และภาระความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับ พอชีวิตมาสะดุดทำให้เอซึ่งตอนนั้นอายุเพิ่งจะ 26 ปี กลายเป็นคนเก็บตัวอยู่แต่ในห้องมืด ๆ เพียงลำพังโดยไม่ทำอะไรเลยนานกว่า 2 เดือน จนสุดท้ายเธอตัดสินใจที่จะไปปรึกษาหมอ ครั้งแรกเธอยังไม่กล้าถามตรง ๆ กับหมอว่าเป็นอะไร จนกระทั่งหมอได้บอกว่าเธอมีอาการซึมเศร้า นั่นทำให้เธอเสียใจจนร้องไห้ออกมาในทันที
หลังจากกินยาอยู่ 2 เดือน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย เหมือนยิ่งกินยายิ่งรู้สึกไม่ดี เพราะไปตอกย้ำกับตัวเองว่าเป็นคนป่วย จนช่วงนั้นเธอหมดแรงผลักดันที่จะทำอะไร สุดท้ายคุณหมอได้บอกกับเธอว่าให้ลองไปวิ่ง
“ที่ผ่านมาเราทุ่มกับงานจนห่างหายจากการออกกำลังกายไปนาน เลยเริ่มจากลองเดินบนลู่วิ่งอยู่ 2-3 เดือน วันหนึ่งได้ 2-3 กิโลเมตร จนรู้สึกว่าเดินไม่เหนื่อยแล้ว ก็เริ่มมีกำลังใจ เลยลองไปลงรายการวิ่งแบบ fun run ระยะทาง 5 กิโลเมตร ปรากฏว่าเราวิ่งเข้าเส้นชัยเป็น 1 ใน 10 คนแรก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยซ้อมวิ่งไกลเกิน 3 กิโลเมตรเลย”
การก้าวข้ามขีดจำกัดแรกที่ระยะ 5 กิโลเมตร ช่วยให้เธอเริ่มรู้ว่าตัวเองทำได้ นอกจากนี้การออกวิ่งยังทำให้เธอรู้สึกสนุกระหว่างเส้นทางที่วิ่ง ได้ออกไปเจอผู้คนใหม่ ๆ ยิ่งทำให้เธออยากออกไปวิ่งอีกเรื่อย ๆ
ความสนุกและมิตรภาพที่ได้รับจากคนที่มีความสนใจในการวิ่งเหมือนกัน ช่วยเปลี่ยนให้นักวิ่งมือใหม่รู้สึกว่า นอกจากเรื่องร่างกายที่แข็งแรงขึ้นแล้วยังมีผลพลอยได้เป็นการเยียวยาหัวใจ จากการได้ออกไปเที่ยวได้ไปเจอสถานที่และผู้คนใหม่ ๆ พอรู้ตัวอีกทีเธอก็ข้ามรุ่นไปวิ่งมาราธอนที่ Fujisan Marathon แล้วเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 5 ชั่วโมงกว่า
แต่การที่เธอใช้เวลาไม่ถึงปีในการพิชิตระยะทาง 42.195 กิโลเมตรมาได้ ต้องแลกมากับอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่จบฮาล์ฟมาราธอน ครั้งแรกหลังจากเริ่มวิ่งได้ประมาณ 8 เดือน
“ตอนนั้นบ้าวิ่งมาก ซ้อมวิ่งหนัก ๆ ทุกวัน เพื่อไปมาราธอน รู้ตัวอีกทีเราก็เสพติดมันไปแล้ว เราตั้งเป้าวิ่งให้ได้ 5 กิโลเมตร ภายใน 30 นาที พอได้ก็ตั้งเป้าใหม่เป็นทำซับ 1 วิ่ง 10 กิโลเมตรใน 1 ชั่วโมงให้ได้ กลายเป็นมีเป้าหมายใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตอนนั้นลืมเรื่องซึมเศร้าไปเลย เพราะสมาธิอยู่กับการวิ่ง วิ่งจนบาดเจ็บต้องไปกายภาพ ไปประคบเย็น ทำอัลตร้าซาวด์ เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอกับการฝึกหนัก ตอนนั้นรู้สึกเจ็บที่หัวเข่าจนแทบจะก้าวขาไม่ได้เลย”
เคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยบรรเทาเธอจากอาการบาดเจ็บคือ เจล และสเปรย์เย็นพ่นแก้ปวดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะสเปรย์พ่นแก้ปวดที่ให้ความรู้สึกเย็นมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายจากอาการอักเสบ โดยเธอแนะนำว่าให้ใช้ก่อนที่จะมีอาการ อาจจะใช้ทาก่อนที่จะเริ่มออกวิ่ง เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อบาดเจ็บ และลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเธอเองก็พกติดตัวอยู่เป็นประจำในระหว่างที่ไปวิ่ง
แม้เธอจะตัวช่วยและวิธีการมากมายในการป้องกันร่างกายจากอาการบาดเจ็บ แต่สำหรับจิตใจแล้ว เธอกลับถูกทดสอบความแข็งแกร่งครั้งสำคัญ เมื่อคุณอาที่สนิทที่สุดของเธอ ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะมีอาการซึมเศร้า!!
“ช่วงแรกที่เริ่มวิ่งเหมือนอาการซึมเศร้าของเราจะหายไปแล้ว แต่พอคุณอาที่เลี้ยงเรามาฆ่าตัวตาย แล้วยิงแม่ยายที่ป่วยอีกคนเพราะไม่อยากให้เป็นภาระตอนที่เขาไม่อยู่ กลับทำให้เรามีอาการหนักกว่าเดิม นั่นเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตแล้วเรายังไม่คิดมาก่อนเลยว่าคุณอาจะมีปัญหาอาการซึมเศร้าเหมือนกันเรา”
จากโลกที่เริ่มสดใสกลับเปลี่ยนมาเป็นสีหม่นอีกครั้ง ทำให้คนที่เคยหยิบรองเท้าออกวิ่งเกือบทุกวัน กลายเป็นคนที่นอนนิ่ง ๆ ไม่อยากทำอะไรเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอรู้สึกผิดที่ไม่ได้สังเกตเห็นอาการซึมเศร้าของคุณอามาก่อน ทั้งที่เธอเองก็มีอาการนี้ ไม่เช่นนั้นอาจจะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้
พอคุณอาเสียชีวิต ครอบครัวของเธอถึงเริ่มเข้าใจว่าอาการซึมเศร้าเป็นอย่างไร ซึ่งช่วงที่กลับมามีอาการ เธอมีเวลาทบทวนกับตัวเองจนคิดได้ว่า ถ้าไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจสู้อีกครั้งโดยเปิดเพจ “วิ่งหายเจ็บใจ” ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ที่มีอาการซึมเศร้าด้วยการออกวิ่งให้ลืมความเจ็บปวดทางจิตใจ
“เราไม่สามารถบรรยายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจออกมาให้ใครเห็นได้ เลยอยากแสดงออกเป็นรูปธรรมด้วยการทำโครงการที่มีประโยชน์ ตอนนั้นคนในสังคมมีอาการซึมเศร้าอยู่เยอะมาก เราแค่อยากให้คนที่เป็นยอมรับว่ามีอาการแล้วมาหาทางรักษาร่วมกัน”
ด้วยสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทำให้หลายคนเกิดความเครียด แล้วผลักให้มีอาการซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งโครงการของเธอช่วยทำให้คนที่ยังไม่รู้ว่ามีอาการ ได้เข้าใจและยอมรับว่าเป็นเพียงอาการป่วยอย่างหนึ่งซึ่งรักษาได้ ด้วยการเปลี่ยนความคิดและมุมมองเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าใหม่
“มีน้องคนหนึ่งมาปรึกษา แต่เขาไม่มีเงินไปหาหมอ เราเลยชวนเขาวิ่ง แล้วกลายเป็นพี่สาวที่คอยรับฟังเขาไปเลย เพราะเรารู้ว่าคนที่เป็นซึมเศร้าต้องการคนมาเข้าใจรับฟัง จนตอนนี้น้องดีขึ้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในกลุ่มวิ่งหายเจ็บใจมีแบบนี้เยอะ คนมีอาการซึมเศร้าจากหลายสาเหตุ พวกเราก็ช่วยกันดึงออกมาจากมุมมืดให้มาเจอผู้คน ให้ออกมาวิ่ง กลุ่มวิ่งหายเจ็บใจเลยเป็นกลุ่มที่น่ารักมาจากคนหลายอาชีพ ตั้งแต่ คุณหมอ ทนายความ ทหาร ตำรวจ แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือการวิ่ง และมีทัศนคติเดียวกันคืออยากช่วยให้คนอื่นหายจากอาการป่วย”
หลายคนในกลุ่มวิ่งหายเจ็บใจ เลยผันตัวมาเป็นโค้ชสอนวิ่งที่พร้อมให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการวิ่ง การใช้ชีวิต การเข้าสังคม จากกลุ่มวิ่งเล็ก ๆ เลยขยายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ และผู้คนที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คนที่มาวิ่งในกลุ่มนี้ ช่วยเติมความสุขให้กับเอได้เป็นอย่างดี จากเริ่มแรกที่ทำวิ่งหายเจ็บใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น กลับเป็นตัวเธอเองเสียอีกที่รู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะได้รับพลังความสุขกลับมามากมาย จนทุกวันนี้เธอมีชีวิตที่มีความหมายมากขึ้น แม้ด้วยหน้าที่การงานซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับการวิ่งจะทำให้เธออาจไม่ได้วิ่งบ่อยเท่าเดิม แต่การได้เห็นคนอื่นมีความสุขและมีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนเป็นมือที่มองไม่เห็นคอยผลักดันให้เธอก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา
“จากครั้งแรกที่วิ่งได้ 5 กิโลเมตร จนสามารถวิ่งผ่านกิโมเมตรที่ 42.195 มาได้ เรารู้สึกภูมิใจที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปได้เรื่อย ๆ เราเชื่อว่ามีความพยายามและพลังใจสำคัญกว่าพลังกาย การที่จะลุกขึ้นมาซ้อมในทุกวัน ต้องใช้พลังใจมาก่อน ถ้าใจไม่สู้ร่างกายเราก็ไม่สู้ตาม”
เป้าหมายต่อไปของนักวิ่งคนนี้คือการทำเวลาเข้าเส้นชัยของฮาล์ฟมาราธอนให้ได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง รวมถึงการสร้างเพจใหม่ที่ชื่อว่า “วิ่งปล่อยไก่” ชุมชนที่รวมความสนุกสนานของนักวิ่งหลากหลายบุคลิกที่น่าสนใจ ซึ่งอีกนัยหนึ่งเหมือนเป็นการบอกว่าตอนนี้เธอก้าวข้ามอาการซึมเศร้าได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว ถ้านับจากก้าวแรกหลังจากหมอบอกให้เธอลองวิ่งเพื่อเยียวยาตัวเอง จนทำให้เธอกลายมาเป็นนางฟ้านักวิ่งที่สามารถพิชิตมาราธอนได้ในที่สุด ระยะทางที่วิ่งผ่านอาจไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดมาก่อน
“มองย้อนกลับไปเรารู้สึกว่ามาไกลมาก วันแรกที่เริ่มวิ่งไม่รู้เลยว่าจะได้รับทั้งรอยยิ้ม ความสุข มิตรภาพมากมาย และยังมีเรื่องราว มีความเจ็บปวดในทุกระยะที่วิ่งผ่าน รวมแล้วเป็นความรู้สึกดีถ้าไม่ได้วิ่งด้วยตัวเองจะไม่มีทางรู้เลย จริง ๆ แล้วการวิ่งหรือการออกกำลังกายเหมือนการบอกรักตัวเอง และคนรอบข้าง เพราะเราจะมีร่างกายแข็งแรงที่จะสามารถดูแลคนอื่นต่อไปได้ นอกจากร่างกายแล้วจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเราไม่รักษาใจให้มีความรู้สึกว่าอยากหาย ไม่เปิดใจซึมซับความหวังดีแล้วทำความเข้าใจชีวิต ต่อให้มีคนคอยให้กำลังใจหรือช่วยรักษาอย่างไรอาการก็ไม่ดีขึ้น การเปิดรับความสุขให้เข้ามาหาตัวเองเลยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
”
ผู้ที่สนใจเทคนิคในการป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย สามารถเข้าไปชมรายการ Sport Injuries Tips by Reparil ที่มาให้ความรู้โดย ณัฐ ศักดาทร และอาจารย์ เอกวิทย์ แสวงผล ผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย ได้ที่นี่
https://fb.watch/2s9J_V-RTh/
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3555
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6974
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
868
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Sport
PathummasJadjang
วิ่งหายเจ็บใจ
Reparil
ReparilGelN
ปวดบวมมองหาหลอดสีเขียว