ในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์คือหลุมฝังศพของคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ที่สุสานไฮเกท (High Gate) มหานครลอนดอน และโต๊ะที่มาร์กซกับกัลยาณมิตรของเขา ฟรีดิช เองเกลส์ (Friedrich Engels) นั่งศึกษาร่วมกันในห้องสมุดเชทแทม (Chetham) เมืองแมนเชสเตอร์ สถานที่และวัตถุนี้มีความสัมพันธ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ สิ่งที่เคยหลอกหลอนยุโรปและประเทศไทยมาแล้วในอดีต ได้กลับมาหลอกหลอนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และวันนี้เรามาพบกับประวัติและความคิดของหนึ่งในสองของผู้ให้กำเนิดลัทธินี้นั่นคือ ‘คาร์ล มาร์กซ’
.
คาร์ล มาร์กซ (1818-1883) เกิด ณ เมืองเทรียร์ (Trier) ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรปรัสเซีย (Prussia) มาร์กซเกิดในครอบครัวชาวยิวที่บิดาของมาร์กซ ไฮน์ริช มาร์กซ (Heinrich Marx) เปลี่ยนศาสนาจากยิวมาเป็นคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์แบบลูเทอรัน ซึ่งเป็นนิกายประจำชาติของราชอาณาจักรปรัสเซียในขณะนั้น เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งอาชีพทางกฎหมายของตน (หลังจากสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลง เมืองทรีเออร์ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซีย นโยบายเปิดกว้างทางศาสนาที่เคยใช้ในสมัยที่นโปเลียนมีอำนาจได้ถูกทำให้สิ้นสุดลง การนับถือศาสนายิวจะถูกกีดกันไม่สามารถประกอบอาชีพทางกฎหมายได้อีก)
.
ไฮน์ริชนอกจากจะเป็นนักกฎหมายที่มีฐานะมั่งคั่ง ยังเป็นผู้มีความสนใจในความคิดทางปรัชญาในยุครู้แจ้ง ไฮน์ริชไม่ใช่ผู้เคร่งครัดทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนายิวหรือลูเทอรัน ความสนใจในปรัชญายุครู้แจ้งส่งผลให้มาร์กซโตมาในครอบครัวที่มีอิทธิพลทางศาสนาน้อยเมื่อเทียบกับครอบครัวยิวทั่วไปในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งไฮน์ริชมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าผู้ดีชาวปรัสเซีย และความสัมพันธ์ที่ดีนี่เองที่ทำให้มาร์กซได้รู้จักว่าที่ภรรยาของตนในอนาคต ซึ่งก็คือ เจนนี่ ฟอน เวสต์ฟาเลน (Jenny von Westphalen) ที่อายุแก่กว่ามาร์กซ 4 ปี
.
ไฮน์ริชและว่าที่พ่อตาของมาร์กซซึ่งก็คือ บารอนลุควิค ฟอน เวสต์ฟาเลน (Ludwig von Westphalen) มีอิทธิพลและสนับสนุนให้มาร์กซสนใจในงานเขียนทางปรัชญาแบบยุครู้แจ้ง และวรรณกรรมแบบคลาสสิกซึ่งวางรากฐานความสนใจทางปรัชญาให้กับมาร์กซไปชั่วชีวิต
.
ไฮน์ริชพยายามผลักดันให้บุตรชายของตนเรียนในวิชาชีพกฎหมายเนื่องจากมีความมั่นคงในทางอาชีพ ระหว่างนั้นมาร์กซก็หมั้นกับเพื่อนสาวเจนนี่ มาร์กซเริ่มศึกษาในมหาวิทยาลัยบอนน์ในสาขาวิชากฎหมาย แต่เนื่องจากการขาดความใส่ใจในสาขาวิชากฎหมาย และผลการเรียนที่ตกต่ำไปเรื่อย ๆ ตลอดจนการใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมชมรมกวี การเมาหัวราน้ำ การทะเลาะวิวาท การดวล ฯ ประกอบกับความสนใจในวิชาปรัชญาและวรรณคดีมากกว่า ทำให้ไฮน์ริชตัดสินใจเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้มาร์กซเป็นมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน แต่ยังศึกษาในสาขาวิชากฎหมายเหมือนเดิม
.
และที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินนี้เองที่มาร์กซได้เข้าร่วมกลุ่มศึกษาทางปรัชญาที่เรียกว่า ‘กลุ่มเฮเคเลี่ยนเยาว์ (Young Hegelian)’ อย่างไรก็ตาม มาร์กซในฐานะนักเรียนกฎหมายหนุ่ม (อายุ 28 ปี) กลับไม่ได้ยื่นดุษฎีนิพนธ์ไปยังมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน แต่กลับไปยื่นที่มหาวิทยาลัยเจน่าแทน ในช่วงเดือนเมษายน 1841 เนื่องจากมาร์กซกังวลในชื่อเสียงที่ไม่ใคร่ดีนักของตนจากการเป็นสมาชิกกลุ่มเฮเคเลี่ยนเยาว์ที่จะเสนอดุษฎีนิพนธ์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นหัวใจของ ‘กลุ่มเฮเคเลี่ยนอาวุโส (Old Hegelian)’ ที่เฮเคลเคยทำงานเป็นศาสตราจารย์อยู่ และเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ผ่าน
.
หากให้อธิบายแนวคิดของกลุ่ม ‘เฮเคเลี่ยนเยาว์’ อย่างรวบรัดแล้ว แนวคิดของกลุ่มเฮเคเลี่ยนเยาว์มีความแตกต่างกับแนวคิดของกลุ่ม ‘เฮเคเลี่ยนอาวุโส’ ตรงที่การปฏิเสธสถานะของรัฐปรัสเซียว่าเป็นรัฐที่มีเหตุผล เป็นสากล เป็นตัวอย่างที่จะขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างปัจเจกชน กลุ่มเฮเคเลี่ยนเยาว์มองว่า หากรัฐปรัสเซียเป็นรัฐที่มีเหตุผลเป็นสากลจริงแล้ว เพราะเหตุใดเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างรัฐฝรั่งเศส และรัฐอังกฤษ กลับปรากฏว่ารัฐทั้งสองเป็นรัฐประชาธิปไตยที่รับผิดชอบต่อพลเมืองของตนมากกว่า
.
นอกจากนี้กลุ่มเฮเคเลี่ยนอาวุโสยังหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นทางศาสนา กลุ่มเฮเคเลี่ยนเยาว์จึงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มเฮเคเลี่ยนอาวุโสมีท่าทีเป็นอนุรักษนิยม และมุ่งรักษาสภาพที่เป็นอยู่มากกว่าที่จะที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแนวทางวิพากษ์วิธี (Dialectic) ที่จะทำให้สังคมรุดหน้าขึ้น พันธนาการของศาสนาจะต้องถูกขจัดออกไป เพื่อให้มนุษย์กับรัฐจะได้เป็นรัฐที่มีเหตุผลสมบูรณ์อย่างแท้จริงตามการคลี่คลายของประวัติศาสตร์แบบเฮเคเลี่ยน
.
หลังจากมาร์กซสำเร็จการศึกษา มาร์กซได้เริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์โดยเริ่มต้นจากการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไรน์นิชเชอร์ไซตุง (Rheinische Zeitung) และต่อมาได้เป็นบรรณาธิการบริหารในที่สุด (1842-1843) ระหว่างนั้นเอง มีเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อมาร์กซตลอดชีวิตคือ การได้พบกับเองเกลส์ที่อายุน้อยกว่ามาร์กซ 2 ปี และจะเป็นกัลยาณมิตรกับมาร์กซไปชั่วชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์ที่สองคือมาร์กซได้สมรสกับเจนนี่ในปี 1843
.
ในระยะแรกบทความของมาร์กซมุ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐปรัสเซียที่มีลักษณะเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ข้อวิจารณ์ของมาร์กซยิ่งรุนแรงขึ้นทุกขณะ เนื้อหายิ่งโน้มเอียงไปทางการปฏิวัติและมีความเห็นใจในการต่อสู้ของขบวนการสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และผลพวงของคำวิจารณ์นี้เองที่ทำให้รัฐบาลปรัสเซียสั่งปิดหนังสือพิมพ์ มาร์กซต้องลาออกจากการเป็นบรรณาธิการ
.
และด้วยความหวั่นเกรงต่ออนาคตที่ไม่มั่นคงจากพฤติกรรมทางการเมืองของตน มาร์กซจึงตัดสินใจออกจากปรัสเซียและเดินทางไปยังฝรั่งเศส
.
หลังจากนี้ชีวิตของมาร์กซและครอบครัวก็ต้องระหกระเหินเร่ร่อนไปยังประเทศต่าง ๆ อันเนื่องจากถูกรัฐบาลของประเทศที่ตนพำนักอยู่ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียมหรือฝรั่งเศสยื่นคำขาดไม่ให้อยู่ในประเทศ เนื่องจากการเข้ามีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง โดยให้การสนันสนุนขบวนการทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศที่มาร์กซไปอาศัยอยู่ หรือรัฐบาลประเทศนั้น ๆ โดนกดดันจากรัฐบาลปรัสเซียให้ขับมาร์กซออกนอกประเทศ เนื่องจากมาร์กซยังสนับสนุนขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในปรัสเซียอยู่
.
ถึงแม้ตนจะไม่ได้อยู่ในประเทศนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสในปี 1843 เบลเยียมปี 1845 มาร์กซได้เดินทางไปยังอังกฤษในระยะสั้นและกลับไปยังบรัสเซลส์ในเบลเยียมอีก ในปลายปี 1845 มาร์กซสละสัญชาติปรัสเซีย ช่วงเวลาที่อยู่ในเบลเยียมนี้เองที่มาร์กซเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องโดยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเน้นแนวทางสังคมนิยม และเริ่มผลิตงานชิ้นสำคัญ ๆ ที่เขียนร่วมกับเองเกลส์ เช่น อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology, 1846), ประกาศลัทธิคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto, 1848)
.
มาร์กซยังเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพอย่างเต็มตัว และในประกาศลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เองที่ปรากฏคำขวัญว่า กรรมาชีพทั้งโลกล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน (Working Men of All Countries, Unite!) แต่ในภายหลังมาร์กซก็ถูกขับออกจากเบลเยียม มาร์กซและครอบครัวเดินทางไปยังฝรั่งเศส แล้วกลับเข้าไปยังปรัสเซียเข้าทำกิจกรรมทางการเมือง และออกหนังสือพิมพ์นอยเออร์ ไรน์นิชเชอร์ไซตุง (Neue Rheinische Zeitung, 1848) และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง มาร์กซถูกคำสั่งรัฐบาลขับออกจากปรัสเซีย ไปยังฝรั่งเศส และถูกขับออกจากฝรั่งเศส จนสุดท้ายมาร์กซและครอบครัวต้องไปอาศัยอยู่ในอังกฤษในปี 1849
.
มาร์กซอาศัยอยู่ในอังกฤษตราบสิ้นชีวิตของเขา ชีวิตที่ระเหเร่ร่อน และการปราศจากอาชีพการงานที่มั่นคงทำให้มาร์กซมีชีวิตครอบครัวที่ยากลำบาก การอาศัยอยู่ในอังกฤษก็ไม่สามารถที่จะหาค่าเช่าพอเลี้ยงดูตัวเองกับครอบครัวได้ เจนนี่และลูก ๆ ต้องพยายามหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการยืมเงินที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อไรจะใช้คืนได้ รายได้ของมาร์กซส่วนหนึ่งมาจากเงินช่วยเหลือที่เองเกลส์ส่งมาให้ ลูกของมาร์กซหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากโรคภัยและภาวะทุพโภชนาการ บุตรและธิดาของมาร์กซและเจนนี่ทั้ง 7 คน เหลือรอดจนเติบใหญ่เพียง 3 คน
.
มาร์กซอาศัยอยู่ในลอนดอนในช่วงเวลาที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเข้มข้น การใช้แรงงานผู้หญิงและเด็กเกินเวลา การปราศจากค่าตอบแทนที่เพียงพอที่จะช่วยให้กรรมกรเด็กและสตรีเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้ สภาพสุขอนามัยย่ำแย่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคที่ทำให้เกิดอัตราการป่วยและเสียชีวิตที่สูงกว่าปกติ รวมไปถึงสภาพที่เกิดขึ้นกับครอบครัวมาร์กซเอง ต่างเป็นพลังอันสำคัญที่ทำให้มาร์กซผู้คับข้องใจเดินเข้าออกในพิพิธภัณฑ์บริเทน (British Museum) ขลุกอยู่ในห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ เพื่อตอบปัญหาว่าสาเหตุใดที่ทำให้เกิดความทุกขเวทนาสาหัสนี้เกิดขึ้น มาร์กซจึงผลิตผลงานชิ้นสำคัญ ๆ ในช่วงหลังออกมา เช่น ทุน (Das Capital Volume 1, 1869) ในขณะที่เล่ม 2 และเล่ม 3 ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงที่มาร์กซมีชีวิตอยู่
.
แนวคิดของมาร์กซอาจแสดงออกมาได้ใน 2 ลักษณะเด่นใหญ่ ๆ คือในธรรมชาติที่สร้างสรรค์ของมนุษย์ และการอธิบายประวัติศาสตร์ผ่านโครงสร้างทางสังคม
.
ประการแรกในประเด็นเรื่องธรรมชาติที่สร้างสรรค์ของมนุษย์ สำหรับมาร์กซแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้แรงงานของตนสร้างและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ มนุษย์ไม่ได้มองตอไม้ ดิน โลหะก่อนถลุงแต่เพียงวัตถุดิบ มนุษย์ได้เชื่อมโยงวัตถุดิบเหล่านั้นเข้ากับจินตนาการของตน และแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม กระบวนการนี้เองที่ทำให้เกิดเอกภาพระหว่างการกระทำและความคิด เอกภาพนี้เกิดขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผนมาจากความตั้งใจ โลหะถูกถลุง ตีและขึ้นรูปเป็นค้อน ก็เพราะมีความคิดเรื่องว่า ค้อนหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนประกอบเป็นอย่างไร กระบวนการแปรรูปจากวัตถุดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์ มนุษย์ทดลองเรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาดและทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
.
ประการที่สอง การอธิบายประวัติศาสตร์จากโครงสร้าง มาร์กซปฏิเสธการอธิบายประวัติศาสตร์ว่ามาจากพัฒนาการของรัฐตามความมีเหตุผลสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยพิจารณาตามจำนวนของผู้มีเสรีภาพเพียงคนเดียวคือกษัตริย์ สู่หลายคนที่มีเสรีภาพในการปกครองแบบคณาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตย ไปสู่รัฐที่มีเหตุผลที่จะทำให้ทุกคนมีเสรีภาพตามแบบเฮเคล แต่ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโลยีการผลิตหรือที่มาร์กซเรียกว่า 'พลังการผลิต' พลังการผลิตนี้ที่เป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
.
เมื่อมนุษย์สร้างโลหะหรือสร้างเครื่องมือในการทำการเกษตร เพื่อที่จะทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ มนุษย์ต้องอาศัยการแบ่งงานกันทำ มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมว่าใครควรทำอะไร และควรได้อย่างไร จะแลกเปลี่ยนกันอย่างไร ความสัมพันธ์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้เองที่มาร์กซเรียกว่า 'ความสัมพันธ์ทางการผลิต' พลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตจะรวมเรียกว่าแบบวิถีการผลิตซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและสังคม เช่นในอดีตกาล แบบวิถีการผลิตแบบคอมมูน มนุษย์ยังอาศัยการอยู่ร่วมกัน เทคโนโลยีการผลิตไม่สลับซับซ้อน มนุษย์ไม่สามารถที่จะเก็บผลผลิตส่วนเกินได้มากพอ ทุกคนก็ตามเก็บของป่า ล่าสัตว์ร่วมกัน แบ่งปันสิ่งที่ได้มาร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้จึงมีความแตกต่างจากกัน
.
เมื่อมนุษย์สามารถลงพื้นที่เพาะปลูก มีเครื่องมือทางการเกษตรที่ทำจากโลหะ พื้นที่ถูกกันออกเป็นของส่วนบุคคล ผลผลิตไม่ได้เป็นของส่วนรวมของชุมชนอีกต่อไป มนุษย์จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีตัวกลางที่จะคอยบังคับให้การแลกเปลี่ยนนั้นมีผล กฎระเบียบและความสัมพันธ์ก็จะเปลี่ยนไปจากสมัยที่มีวิถีการผลิตแบบคอมมูน หากมีสงครามระหว่างชุมชนที่ลงหลักปักฐานนั้น ผู้แพ้ก็จะกลายเป็นทาสและแรงงานที่ต้องใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ความสัมพันธ์การผลิตแบบทาสจึงเกิดขึ้น ระหว่างนายทาสผู้ใช้กำลังและความสมัครใจให้ทาสทำงานเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ให้กับตน สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จากสังคมบุพกาล, ทาส, ศักดินา, มาสู่สังคมทุนนิยมในปัจจุบัน
.
ในยุคสมัยนี้เองในสังคมทุนนิยมที่ลักษณะคำอธิบายของมาร์กซทั้งสองประการมาผูกรวมกัน ภายใต้สังคมทุนนิยม มนุษย์ผู้ใช้แรงงานและมีความคิดสร้างสรรรค์ในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ กลายเป็นแรงงานที่รับค่าจ้างตามเวลา มนุษย์ไม่ได้มองว่าตนเองได้สร้างสรรค์สิ่งใดอีก แรงงานที่ใส่ลงไปในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาตินั้นเป็นแค่แรงงานที่ถูกคิดค่าจ้างตามเวลาเท่านั้น และสามารถที่จะตีราคาได้ด้วยเงิน ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์จึง 'แปลกแยก' ต่อแรงงานของตนเอง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์รอบตัวมนุษย์ทุกสิ่งล้วนต่างมีแรงงานของผู้อื่นประกอบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น
.
แต่ภายใต้ระบบทุนนิยม สิ่งของไม่ได้แสดงออกถึงคุณค่านั้น แต่กลับแสดงออกถึงมูลค่าแลกเปลี่ยน ในแง่นี้เองที่มนุษย์ทั้งแปลกแยกจากตัวเองและแปลกแยกจากผู้อื่น ภายใต้ระบบทุนนิยม มนุษย์ไม่ได้มองตนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์อีกต่อไป ต่างเป็นเพียงแต่เครื่องจักรที่มีชีวิตชนิดหนึ่ง นอกจากนี้เพื่อทำให้ระบบทุนนิยมดำรงอยู่ต่อไป กระบวนการเสริมสร้างความแปลกแยกของมนุษย์โดยการนำคนเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบทุนนิยมก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนแรงงานให้สามารถวัดด้วยค่าจ้าง และเปลี่ยนกรรมกรเป็นผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน และรักษาไว้ซึ่งผลกำไรของนายทุนผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้น
.
ถ้าเช่นนั้นแล้วจุดมุ่งหมายของมาร์กซและการเดินทางเข้าออกในพิพิธภัณฑ์บริเทนในการเขียนหนังสือเรื่องทุนคือสิ่งใด คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียว คือการปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อล้มล้างระบบทุนนิยม เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ที่มนุษย์จะไม่แปลกแยกจากตนเอง และไม่แปลกแยกซึ่งกันและกัน ทั้งนี้การปฏิวัติดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจหรืออยากจะทำก็สามารถทำได้ แต่พลังการผลิตต้องพร้อมที่จะทำให้เกิด เหมือนกับที่พลังการผลิตตามวิถีการผลิตแบบทุนนิยมที่แทรกอยู่ในสังคมศักดินา ทำให้เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบศักดินาและสถาปนาสังคมทุนนิยมขึ้น หากเงื่อนไขทุกประการพร้อมเพรียงก็จะทำให้เกิดสังคมรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือสังคมคอมมิวนิสต์นั่นเอง
.
มาร์กซภายหลังจากอยู่ที่ลอนดอนได้พยายามเผยแพร่แนวความคิดดังกล่าวไปยังขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ (ชนชั้นแบบมาร์กซนั้นนับจากการถือครองปัจจัยการผลิต เช่น มีทุนคือชนชั้นนายทุน, มีแรงงานคือชนชั้นแรงงาน) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยิ่งขบวนการกรรมกรเจริญเติบโตขึ้น เกิดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Party) ในประเทศต่าง ๆ สิ่งที่เรียกร้องกลับยิ่งห่างไปจากการปฏิวัติสังคมนิยม ข้อโต้เถียงกลายเป็นการเพิ่มค่าจ้าง ปรับปรุงสวัสดิการ ลดชั่วโมงการทำงาน
.
ชีวิตของมาร์กซอาจจะสามารถสรุปได้เป็นสามช่วง ช่วงแรกคือช่วงการตั้งหลักทางปรัชญาที่มีอิทธิพลจากครอบครัวและมหาวิทยาลัย ช่วงที่สองคือการเป็นนักหนังสือพิมพ์และการต่อสู้ทางการเมืองที่ทำให้กำหนดประเด็นและเนื้อหาที่มาร์กซจะอธิบายและสนับสนุน และช่วงสุดท้ายคือความทุกข์เข็ญที่ลอนดอน กลายเป็นแรงผลักดันให้มาร์กซผลิตผลงานเพื่ออธิบายสภาพอันโหดร้ายของระบบทุนนิยมขึ้นมา
.
เราได้เห็นมาแล้วถึงที่มาของหนึ่งในผู้ให้กำเนิดลัทธิคอมมิวนิสต์ และเราก็ได้เห็นว่าชีวิตภาพรวมชีวิตของมาร์กซที่มีผลต่อความคิดและการกำเนิดของลัทธินี้ ดังจะเห็นได้จากจุดเริ่มต้นของมาร์กซที่กำเนิดในครอบครัวกระฎุมพีที่มีฐานะ ได้แต่งงานกับเจนนี่ผู้เป็นลูกสาวของบารอน ได้รับโอกาสทางสังคมโดยได้เรียนและสำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่เพราะความเห็นทางการเมือง และคำอธิบายประวัติศาสตร์ และกิจกรรมทางการเมืองของเขา ทำให้มาร์กซต้องอุทิศชีวิตตนและครอบครัวเพื่อการปฏิวัติ ผลของความพยายามและการอุทิศตัวผ่านงานเขียนของมาร์กซ (และเองเกลส์) คือการเกิดขึ้นและเติบโตของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ มีลักษณะเป็นนานาชาติ โดยไม่อ้างอิงกับศาสนา ไม่ได้ขึ้นกับอำนาจรัฐ แต่ภายหลังการเสียชีวิตของมาร์กซผู้คับข้องใจในปี 1883 ขบวนการต่อสู้ดังกล่าวได้เผชิญกับความแตกแยกระหว่างมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม (Orthodox Marxism) กับลัทธิแก้ (Revisionism) และเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปมาของขบวนการ
.
แต่ทั้งหมดจะเปลี่ยนไปเมื่อการมาถึงของชายผู้มีนามจัดตั้งว่า 'เลนิน' แต่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อไป
.
เรื่อง: วนัส ปิยะกุลชัยเดช
.