เพราะนัวเนียใกล้ชิดอยู่กับ โทบี เวล (Tobi Vail) แฟนสาวในเวลานั้น เคิร์ท โคเบน (Kurt Cobain) นักร้องนักแต่งเพลง แห่งวงเนอร์วานา (Nirvana) วงร็อกชื่อดังแห่งยุค 90s จึงมีกลิ่นยาทาเต่าของโทบีติดตามตัวไปด้วยตลอดเวลา
วันหนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นจากการทำกิจกรรมพ่นสเปรย์กราฟฟิตี้ตามสถานที่ต่าง ๆ มาตลอดทั้งวัน เคิร์ท และ แคธลีน ฮันนา (Kathleen Hanna) นักร้องนำวง Bikini Kill ซึ่งเป็นเพื่อนของโทบี ก็ลงเอยด้วยการกินดื่มที่อพาร์ตเมนต์ของเคิร์ท เมื่อเมามายจนได้ที่ แคธลีนเกิดอาการมันมือขึ้นมา เลยควักปากกามาร์คเกอร์ยี่ห้อ Sharpie เขียนลงบนกำแพงว่า
“Kurt smells like teen spirit.” (เคิร์ทมีกลิ่นตัวเหมือนทีนสปิริต)
ตอนนั้นเคิร์ทเผลอหลับไป มาตื่นอีกทีก็เห็นข้อความปรากฏหราบนกำแพงห้องเช่าแล้ว เขาประทับใจพร้อม ๆ กับเข้าใจผิดว่าเพื่อนสาวชื่นชมจิตวิญญาณแห่งความขบถของคนหนุ่มไปเสียนั่น โดยหารู้ไม่ว่า คำว่า ‘teen spirit’ ที่ว่านั้น ที่แท้คือ ‘ดีโอโดแรนท์’ หรือ ‘ยาทาเต่า’ ยี่ห้อ Teen Spirit ซึ่งสาว ๆ อเมริกันยุคนั้นใช้กันเกร่อ !
ช่างมันเถอะ ตามประสานักแต่งเพลง อะไรที่ใช้ได้ ขอเก็บไว้ใน think tank ก่อน เคิร์ทปิ๊งกับวลี “Smells Like Teen Spirit” สุด ๆ และอยากนำไปใช้ในงานเพลง จนหลังจากนั้น 6 เดือน เคิร์ทโทรศัพท์ไปหาแคธลีนเพื่อขออนุญาตนำวลีนี้ไปใช้เป็นชื่อเพลงใหม่ (น่าสังเกตว่าเนื้อร้องของเพลง กลับไม่มีข้อความนี้สักนิด แต่กลับมีคำว่า Nevermind อันเป็นชื่ออัลบั้ม! กับปกเด็กว่ายน้ำไปหาธนบัตรดอลลาร์อันลือลั่น)
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบทเพลงที่มีความสำคัญในการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์เพลงร็อกยุคใหม่ บทเพลงที่เป็นเสมือนการหลอมรวมใจของคนรุ่นเจเนอเรชันเอ็กซ์ เพราะ Smells Like Teen Spirit ทำให้เพลงนอกกระแสแนว ‘กรันจ์’ (Grunge) หรือ ขบวนความเคลื่อนไหวที่เรียกรวม ๆ ว่า ‘ซีแอตเทิล ซาวนด์” (อาทิวงดนตรีซาวนด์การ์เดน, สโตนเทมเพิลไพล็อตส์ และเพิร์ลแจม) กลายมาเป็นเพลงกระแสหลัก (mainstream) ที่โดนใจคนฟังหมู่มากได้ในบัดดล
Smells Like Teen Spirit ออกวางขายในรูปแบบซิงเกิลเมื่อวันที่ 10 กันยายน 1991 ก่อนจะบรรจุอยู่ในอัลบั้ม Nevermind ที่ทยอยออกขายในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา กล่าวกันว่า ด้วยความฮิตเปรี้ยงปร้างของมัน ได้สร้างความบีบคั้นทรมานจิตใจให้แก่ เคิร์ท โคเบน อย่างหนักหน่วงรุนแรง เพราะเจ้าตัวไม่ชอบอะไรซ้ำซาก ยัดเยียด หรืออะไรที่ยอดนิยมอยู่แล้ว
ดังมีบันทึกไว้ว่า เนอร์วานาจะต้องเล่นเพลงนี้ทุก ๆ คืน ตลอดทั้งปี 1993 จนในที่สุด เคิร์ทกับวงตัดสินใจจะไม่เล่นเพลงนี้อีกในคอนเสิร์ตครั้งหลัง ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ได้สร้างความผิดหวังให้แก่แฟนเพลงไม่น้อย จวบจนกระทั่งวันที่เคิร์ทตัดสินใจใช้ลูกปืนจบชีวิตตัวเองลง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 1994 ด้วยวัยเพียง 27 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากวงเนอร์วานาประสบความสำเร็จสูงสุด
แม้ที่มาของชื่อเพลงอาจจะฟังดูผิดที่ผิดทางไปหน่อย แต่ตัวเพลง Smells Like Teen Spirit กลับให้แง่มุมของความลึกซึ้งน่าค้นหา ตามลักษณะพื้นฐานของบทเพลงชั้นดี นั่นคือเอื้อให้คนฟังตีความเพลงแตกต่างกันไป
โดยส่วนตัว เคิร์ทชื่นชอบวงอเมริกันร็อกรุ่นพี่ ‘พิกซีส์’ เป็นชีวิตจิตใจ เขาจึงหยิบเอาลักษณะบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลของวงดนตรีแห่งเมืองบอสตันนี้มาใช้ โดยนำเสนอการร้องบรรเลงที่สลับไปมา ระหว่างความเบา-ความดัง ตลอดจนถึงการแผดเสียงกึกก้อง และการใช้เอฟเฟกต์ดิสทอร์ชันหนัก ๆ อันกลายมาเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวในที่สุด
“ผมอยากจะเขียนเพลงป๊อปเจ๋ง ๆ สักเพลง โดยพื้นฐานผมอยากทำให้ได้เหมือน ๆ กับวงเดอะพิกซีส์ ตอนผมฟังเดอะพิกซีส์ครั้งแรก ผมเชื่อมโยงกับวงนี้อย่างรุนแรง ถึงขั้นว่าผมน่าจะเป็นสมาชิกวง หรืออย่างน้อย ๆ อยู่ในวงที่เล่นเพลงคัฟเวอร์ของพิกซีส์ พวกเราใช้สัมผัสของความไดนามิก นำเสนออย่างนุ่มนวลและบางเบา (จากนั้นเพิ่ม) ไปสู่ความดังและความแรง”
จังหวะเวลาของเนอร์วานาค่อนข้างเป็นใจ เพราะตอนนั้น นอกจาก เคิร์ท และ คริสต์ โนโวเซลิก (Krist Novoselic) มือเบสแล้ว พวกเขาเพิ่งได้ เดฟ โกรห์ล (Dave Grohl) มาเป็นมือกลองคนใหม่ ด้วยสุ้มเสียงกลองที่เต็มไปด้วยพลัง กับไอเดียในการเขียนเพลงของเคิร์ทที่มีเพาเวอร์คอร์ด ตามสูตรทางเดินคอร์ด Fm-Bb-Ab-Db ผนวกกับคำร้องและการใช้เทคนิคการเล่นเสียงสระ (Assonace) ดังในท่อน “Hello, hello, hello, how low” ทำให้โปรดิวเซอร์ อย่าง บุทช์ วิก (Butch Vig) ถึงกับรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรก
“แม้เราไม่รู้แจ้งชัดนักว่าเคิร์ทร้องเกี่ยวกับอะไร (แต่) มีบางสิ่งบางอย่างในนั้นที่คุณเข้าใจ สัมผัสของความขุ่นเคืองและความแปลกแยก สำหรับผม Smells Like Teen Spirit ทำให้ผมคิดถึงบทเพลงของบ๊อบ ดีแลน ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในยุค 60s ในวิถีทางหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มีผลกระทบต่อคนรุ่นเยาว์ในยุค 90s พวกเขาเชื่อมโยงกับมัน”
ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนการดำรงอยู่แบบขบถ Smells Like Teen Spirit เปิดตัวด้วยบริบทที่สอดคล้องกัน ซึ่งเราอาจจะตีความได้ถึงยาเสพติด ตั้งแต่วรรคแรก (Load up on guns, bring your friends / It's fun to lose and to pretend) และในท่อนหลัง ๆ (And I forget just why I taste / Oh yeah, I guess it makes me smile)
บทเพลงสะท้อนภาพของความรู้สึกแปลกแยก และความพึงใจในพื้นที่เฉพาะ (With the lights out, it’s less dangerous) ตามด้วยประโยคที่เคิร์ทชอบพูดเสมอตอนไปร่วมงานปาร์ตี้ (Here we are now, entertain us) นอกจากนี้ยังมีพูดถึงเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่เป็นปมความขัดแย้งลึก ๆ ในสังคมอเมริกันกับแรงขับด้านเพศ (“A mulatto, an albino / A mosquito, my libido”)
รวมทั้งปมทางจิตใจของผู้สร้างสรรค์งานเพลง (I'm worse at what I do best / And for this gift, I feel blessed) ที่สะท้อนท่าทีเสียดสีเย้ยหยัน โดยลึก ๆ แล้วเจ้าตัวยังขุ่นข้องหมองใจกับความว่างเปล่าของตัวเอง
นับจากปี 1991 Smells Like Teen Spirit เป็นต้นมา บทเพลงนี้ก้าวข้ามความเป็นกรันจ์ไปสู่รูปแบบทางดนตรีอื่น ๆ ที่มีความหลากหลาย ด้วยการร้องบรรเลงของศิลปินหลากหลายราย คลี่คลายมาเป็นผลงานที่มีเวอร์ชันแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันของ โทรี เอมอส, แพตตี สมิธ, ศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง พอล แองกา ที่ปรับการนำเสนอมาเป็นบิ๊กแบนด์แจ๊ส หรือจะเป็นการตีความของนักเปียโนผิวสี โรเบิร์ต กลาสเปอร์ หรือวงดนตรีแจ๊สเยี่ยมยุทธ อย่าง เดอะ แบดพลัส
ทั้งหมดนี้เพื่อตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันดั้งเดิมของเนอร์วานา หรือเวอร์ชันที่ตีความใหม่ Smells Like Teen Spirit ก้าวไปไกลกว่าสถานะ ‘เพลงชาติ’ ของแวดวงอัลเทอร์เนทีฟร็อก และยังสุกสกาวข้ามยุคมาจนถึงวันนี้
มิพักต้องพูดถึงที่มาของชื่อเพลง เพราะ ‘ยาทาเต่า’ นั่นเป็นเสมือน ‘วาบ’ หรือ ‘ประกาย’ ของความคิดสร้างสรรค์ ที่มีเพียงศิลปินผู้สร้างเท่านั้นจะหยิบฉวยมาใช้ได้อย่างถูกที่ มีความหมาย และทรงพลัง
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ที่มา :
https://americansongwriter.com/behind-the-song-smells-like-teen-spirit-by-nirvana/
https://www.nme.com/news/music/nirvana-18-1223015
https://www.rollingstone.com/music/music-news/smells-like-teen-spirit-95234/
https://www.ft.com/content/d3aeae20-c37c-11e5-808f-8231cd71622e
https://www.loudersound.com/features/17-facts-about-smells-like-teen-spririt