ยูกิ ฮาชิโมโตะ: จากวงไอดอลใต้ดิน สู่ นักการเมืองท้องถิ่นแห่งชิบูยะ
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ปรากฏข่าวหนึ่งบนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องของ ยูกิ ฮาชิโมโตะ อดีตนักร้องญี่ปุ่นวัย 27 ปี ที่ถูกแมวมองชักชวนไปร่วมวงไอดอล แต่หารู้ไม่ว่า เธอเคยสังกัดวงนี้มาแล้ว แถมแมวมองคนนั้นยังเปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อโชว์รูปสมาชิกในวงที่มีเธออยู่ในนั้นให้ดูด้วย สิ่งที่สะดุดใจในข่าวนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดขำ ๆ ของคุณแมวมอง แต่เป็นประวัติของฮาชิโมโตะที่น่าสนใจไม่น้อย เธอเป็นอดีตไอดอลที่ผันตัวมาทำงานการเมือง และปัจจุบันเธอคือสมาชิกสภาแขวงชิบูยะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรามาลองมาดูกันว่าเธอเปลี่ยนผ่านจากนักร้องวัยรุ่นสู่นักการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร
ยูกิ ฮาชิโมโตะ เกิดเมื่อปี 1992 ในจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นอาชีพนักร้องไอดอลในสังกัด “อลิสโปรเจกต์” ด้วยวัย 17 ปี มีชื่อในวงการว่า ยูกิ ซากูระ เธอเป็นสมาชิกรุ่นแรกของวง “คาเมงโจฉิ” วงไอดอลใต้ดินที่ สมาชิกในวงจะใส่หน้ากากคล้ายหน้ากากเจสันจากภาพยนตร์ชุด “ศุกร์ 13” และเป็นวงนักร้องหญิงอิสระวงแรกของญี่ปุ่นที่มีผลงานติดอันดับหนึ่งของชาร์ตจัดอันดับเพลงรายสัปดาห์ “โอริคอน”
ขณะเป็นไอดอล เธอได้ศึกษาด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และลงศึกษาวิชาการเมืองในโครงการเปิดของมหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาในปี 2016 เธอเข้าร่วมสถาบันการเมืองคิโบโนะจูกุ ของยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนปัจจุบัน แต่ตอนนั้นเธอยังไม่คิดจะเป็นนักการเมือง เธอแค่ต้องการนำความรู้ทางการเมืองไปลับคมทางปัญญาเพื่อใช้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ หรือสนทนาในหัวข้อต่าง ๆ เวลาที่ถูกสัมภาษณ์ในนามของวง
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่ โทโมกะ อิงาริ เพื่อนร่วมวงคาเมงโจฉิประสบอุบัติเหตุ ถูกป้ายโฆษณาล้มทับขณะเดินทางมาซ้อมเต้น เธอกลายเป็นผู้พิการอัมพาตตั้งแต่เอวลงไป แต่เพียงสี่เดือน อิงาริก็กลับมาซ้อมและแสดงกับวงอีกครั้งแม้จะต้องอยู่บนรถเข็นก็ตาม ความกล้าหาญไม่ยอมแพ้ของอิงาริได้สร้างแรงบันดาลใจให้ฮาชิโมโตะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ LGBTQ+ รวมถึงคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากต่าง ๆ และนั่นทำให้เธอตัดสินใจเบนเข็มเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเต็มตัว
“ฉันอยากสร้างสังคมที่ทุกคน ไม่ว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นเช่นไร สามารถใช้ชีวิตอยู่บนความท้าทายได้ด้วยรอยยิ้ม ฉันเข้าใจว่าการเมืองคือหนทางหนึ่งที่นำไปสู่จุดนั้นและการเผชิญความท้าทายนี้ตอนอายุ 26 ปีมีความหมายต่อฉันมาก ฉันจึงตัดสินใจเป็นนักการเมือง”
ฮาชิโมโตะอำลาวงการไอดอลในปี 2019 เพื่อมาทำงานการเมืองร่วมกับพรรคอาตาราชิ พรรคการเมืองเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ และเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดยการระดมทุนแบบ crowdfunding เธอลงสมัครสมาชิกสภาแขวงชิบูยะในนามของพรรค และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 2,376 เสียง สร้างสถิติเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของสภาแห่งนี้
แม้เธอจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่การก้าวเข้าสู่สนามการเมืองก็ทำให้เธอต้องเผชิญกับการโดนเหยียดเพศและอายุจากทั้งในและนอกสภา โดยหลายคนแสดงออกกับเธอว่า เธอควรอยู่บ้านหรือไม่ก็ออกไปหาสามีแทนที่จะมาเสียเวลากับงานนี้
“เมื่อเดือนก่อน (มิถุนายน 2019) ตอนประชุมสภาเรื่องปัญหาเงินบำนาญในญี่ปุ่น ก็มีสมาชิกสภาสูงอายุท่านหนึ่งอภิปรายว่า เรื่องนี้มันจะไม่แย่ขนาดนี้ถ้าคนอย่างฉันตั้งใจมีลูกให้มาก ๆ คุณคงเคยอ่านความเห็นแบบนี้ตามหนังสือพิมพ์ แต่การได้ยินกับหูตรง ๆ มันทำให้ฉันช็อกมาก ทัศนคติอย่างนี้พบเห็นได้บ่อยในรัฐบาลและสังคมญี่ปุ่น แม้แต่พวกเราเองก็ถูกล้างสมองตั้งแต่เด็กให้เชื่อว่าแต่ละเพศมีบทบาทเฉพาะที่ต่างกัน มุมมองล้าหลังอย่างนี้มันช่างน่าละอาย”
สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยังคงมีประเด็นปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศเสมอ แม้ในสมัยของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะเคยออกนโยบาย Womenomics เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และเพิ่มตัวแทนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารแล้วก็ตาม ความต่างระหว่างผลตอบแทนของชายกับหญิงก็ยังคงห่างกันเช่นเดิม รวมถึงโอกาสในการเข้ารับการศึกษาหรือเข้าถึงงานบางสายก็ยังเหลื่อมล้ำกันอีกด้วย อย่างเช่นที่ฮาชิโมโตะยกตัวอย่างปัญหาในเว็บไซต์ Tokyo Weekender เกี่ยวกับการรับนักศึกษาเข้าเรียนสายการแพทย์ว่า บางมหาวิทยาลัยยังคงรับแต่ผู้ชายเป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงมักมีปัญหาด้านการลาคลอดที่ใช้เวลานาน ทำให้ขาดบุคลากร เป็นต้น
จนมาถึงเดือนพฤษภาคม 2018 ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายสนับสนุนความเท่าเทียมการทางเพศในวงการการเมือง ส่งผลให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กระนั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลบังคับตามกฎหมายใด ๆ จึงเป็นภาระที่พรรคและกลุ่มการเมืองต้องคอยสนับสนุนกันเอง นั่นทำให้ฮาชิโตะมองว่า มาตรการต่าง ๆ เป็นเพียงส่วนบนของภูเขาน้ำแข็ง การเมืองญี่ปุ่นจะต้องทำได้มากกว่าการเพิ่มจำนวนนับของสตรีในวงการต่าง ๆ เท่านั้น
“พอเป็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศมันก็จะมีข้อดีอยู่นิดหน่อย แต่โดยทั่วไป ฉันคิดว่า 6 ปีที่ผ่านมันไม่ก้าวหน้าเลย นายกฯ (อาเบะ) ดีแต่ใช้สถิติมาอ้างว่า Womenomics ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็จริงเพราะมีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับการจ้างงานและได้ทำงานในออฟฟิศ แต่ถ้าคุณมองให้ลึกลงไป คุณจะรู้ว่าคำพูดของเขามันตื้นเขิน ผู้หญิงยังต้องเผชิญอุปสรรคอีกมาก นักการเมืองญี่ปุ่นหลายคนก็ยังมีวิธีคิดแบบเก่า ฉันเชื่อว่าเราต้องการความหลากหลายในรัฐบาลมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนผู้หญิง แต่เป็นการเพิ่มสมาชิกจากชุมชน LGBTQ+ ผู้พิการ และคนจากกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ประชาชนจะได้มีตัวเลือกที่มากขึ้น”
สำหรับเธอแล้ว ความไม่เป็นธรรมและคำเหยียดหยามเป็นเหมือนน้ำมันที่คอยเติมแรงไฟในตัวเธอ ทำให้เธอต้องตั้งใจเป็นนักการเมืองที่ดีและประสบความสำเร็จเพื่อทำลายค่านิยมแบบเก่าที่มีอำนาจครอบงำสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมกับการพัฒนาแขวงชิบูยะในฐานะสมาชิกของสภาด้วย
“ฉันอยากให้คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมหรืออย่างน้อยก็มาสนใจเรื่องการเมือง สังคมญี่ปุ่นมักมองว่าการถกกันเรื่องการเมืองของคนรุ่นฉันเป็นเรื่องต้องห้าม ซึ่งแปลกมาก เพราะการเมืองมันเกี่ยวกับอนาคตของพวกเรา เราต้องการให้พูดคุยกันในประเด็นสำคัญ ๆ รวมถึงเรื่องการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ถ้าคุยกันไม่ได้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ฉันรู้ว่าประสบการณ์ของฉันยังน้อย ยังไร้เดียงสา และต้องเรียนรู้อีกหลายเรื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ฉันควรจะอยู่เฉย ๆ แล้วปล่อยให้คนรุ่นก่อนมาควบคุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร เพศไหน หรือมีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบใด เราทุกคนต่างมีสิทธิ์พูดทั้งนั้น”
ความเปลี่ยนแปลงของฮาชิโมโตะจากนักร้องไอดอลที่คอยสร้างความสุขแก่แฟน ๆ สู่นักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่ ที่ถือธงนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เธอคือกรณีตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่กระโจนเข้าสู่การเมืองเชิงสถาบันเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบบางอย่างที่เห็นว่าเป็นปัญหา และพยายามชี้ให้คนอื่นเห็นเหมือนกันว่ามันมีปัญหาเช่นนั้นอยู่จริง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเธอไม่นิ่งเฉยและปล่อยให้อนาคตตกอยู่ในมือของคนอื่น เพราะเธอตระหนักได้ว่าอนาคตเป็นของคนรุ่นพวกเธอ โลกที่คนรุ่นเดียวกับเธอต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
ที่มา:
https://akibatan.com/2020/11/tokyo-talent-scout-pick-wrong-not-just-shes-politician/?fbclid=IwAR2DonsouImv0baoBt2kMfYPfuACGBrwwrzkxWPizgubs1WykALw8LA2dn4
https://grapee.jp/en/116306?fbclid=IwAR1gssKMskTckH26wN28gTx-LlYP7vGeA
https://www.tokyoweekender.com/2019/08/pop-idol-to-politician-why
.
เรื่อง: พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล
.
#ThePeople #Politics