เลอบรอน เจมส์: “ราชา” นักกีฬาแห่งปี 2020 ผู้ทลายขนบความเชื่อเพื่อสังคม
การเรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการบันเทิง หรือกีฬา ออกมาร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมและการเมือง หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า call out อาจเป็นเรื่องยากในบางประเทศ เพราะนั่นหมายถึงการเดิมพันชื่อเสียงเงินทองของดาราซูเปอร์สตาร์คนนั้นกับความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในสังคม ที่คนดังหลายคนอาจไม่กล้าแลก แต่ไม่ใช่ เลอบรอน เจมส์ นักบาสฯ ซูเปอร์สตาร์ของทีม ลอสแองเจลิส เลเกอร์ส เจ้าของฉายา “คิงเจมส์”
“เกมบาสเกตบอลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ผมเคลื่อนไหวยังไง ผมเดินท่าไหน พูดถึงเรื่องอะไร และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปอย่างไรต่างหาก คือ สิ่งสำคัญที่สุด” เลอบรอน ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักบาสฯ ที่เก่งที่สุดตลอดกาล กล่าว
เลอบรอน ได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็น “นักกีฬาแห่งปี 2020” จากความสำเร็จทั้งในฐานะนักกีฬาผู้พาทีม แอลเอ เลเกอร์ส คว้าแชมป์ NBA ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และความสำเร็จในฐานะผู้นำนักเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสนามของเขา ได้รับการยกย่องว่าเป็นการกระทำอันกล้าหาญของนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์คนแรก นับตั้งแต่ยุคของตำนานนักชก มูฮัมหมัด อาลี ที่ยอมเดิมพันอนาคตอันรุ่งโรจน์บนผืนผ้าใบ ให้กับการต่อสู้เพื่อสังคม เป็นผู้ทำลายกำแพงความเชื่อเก่า ๆ ที่พยายามแบ่งแยกเกมกีฬาจากการเมือง
“คิงเจมส์” vs ไมเคิล จอร์แดน
หลายคนพยายามเปรียบเทียบ เลอบรอน เจมส์ กับ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ตำนานนักบาสฯ ของทีม ชิคาโก บูลส์ โดยยกให้ทั้งคู่เป็นนักบาสฯ ที่เก่งที่สุดตลอดกาลในยุคของตนเอง และ เลอบรอน คือ ทายาทของ MJ เพราะเขามี ไมเคิล จอร์แดน เป็นฮีโรในวัยเด็ก ทว่า การเลือกเส้นทางเดินในชีวิตของ “คิงเจมส์” แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขาไม่ได้ต้องการเป็น MJ คนที่ 2 แต่อยากเป็น “ราชา” นักกีฬาในแบบของตัวเอง
ไมเคิล จอร์แดน ได้รับการขนานนามให้เป็นนักบาสฯ รักเดียวใจเดียวเล่นให้ ชิคาโก บูลส์ ทีมเดียว และพาทีมเดียวคว้าแชมป์ NBA ได้ 6 สมัยตลอดอาชีพยัดห่วง แต่ “คิงเจมส์” กลับไม่ยึดติดกับทีมต้นสังกัด และสามารถพา แอลเอ เลเกอร์ส คว้าแชมป์ปี 2020 พร้อมสร้างสถิติเป็นนักบาสฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ NBA ที่ได้แชมป์ 4 สมัยในการลงเล่นให้กับ 3 ทีมแตกต่างกันไป ได้แก่ ไมอามี ฮีท (2012, 2013), คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส (2016) และเลเกอร์ส (2020)
นอกจากเส้นทางในสนามแล้ว ชีวิตนอกสนามของทั้งคู่ก็แตกต่างกันสิ้นเชิง ไมเคิล จอร์แดน มักใช้เวลานอกสนามส่วนใหญ่ไปกับการฝึกซ้อม และเล่นกีฬาชนิดอื่นเพื่อผ่อนคลาย โดยไม่สนใจออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง มุ่งเน้นแค่ความเป็นเลิศด้านกีฬาและการทำธุรกิจ พร้อมวาทะเด็ดที่สะท้อนจุดยืนทางการเมืองของเขาได้ดีที่ว่า “พวกรีพับลิกันก็ซื้อรองเท้ากีฬาเหมือนกันนะ”
แต่กับ เลอบรอน เจมส์ ที่มี ไนกี้ เป็นสปอนเซอร์ และมีแบรนด์รองเท้ากีฬาเป็นของตนเองเช่นกัน กลับให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางการเมือง และไม่ใช่แค่ร่วมเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองแบบตามกระแส แต่ก้าวลงมาเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกสนามด้วยตนเอง
วัยเด็กยากไร้ไม่มั่นคง
ความจริงจังในการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้นและมีความยุติธรรมมากขึ้นของ “คิงเจมส์” น่าจะมาจากปมในวัยเด็กของเขาที่พบเห็นปัญหาสังคมมามากมาย และหลายครั้งก็ได้สัมผัสปัญหาเหล่านั้นกับตัวเองโดยตรง
“คิงเจมส์” หรือชื่อเต็ม เลอบรอน เรย์โมน เจมส์ ซีเนียร์ เกิดวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1984 ที่เมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ครั้งหนึ่งได้รับการขนานนามให้เป็น “นครหลวงแห่งยางของโลก” เพราะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดังยี่ห้อ กู๊ดเยียร์
อย่างไรก็ตาม ชีวิตในวัยเด็กของ “คิงเจมส์” ไม่ได้สวยหรู หรือเป็น “ปีที่ดี” เหมือนชื่อบริษัทยางยักษ์ใหญ่ประจำเมือง
เลอบรอน เป็นลูกชายของ “แม่วัยใส” ที่ชื่อ กลอเรีย เจมส์ เธอตั้งครรภ์และคลอด “คิงเจมส์” ออกมาลืมตาดูโลกขณะมีอายุเพียง 16 ปี ส่วนบิดาของเขาเคยต้องโทษจำคุก และไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดู เลอบรอน เลย แม้ในยามพ้นโทษออกมา และนั่นเป็นเหตุผลที่ เลอบรอน ใช้นามสกุลของมารดามาตลอด
ช่วง 2-3 ปีแรกหลังลืมตาดูโลก เลอบรอน อาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับยายและทวดรวม 4 รุ่น โดยทั้งสองคอยช่วยกันเลี้ยงดูเขาในขณะที่แม่ต้องกลับไปเรียนหนังสือต่อให้จบ แต่หลังจาก เลอบรอน อายุประมาณ 3 ขวบ ทั้งทวดและยายก็ทยอยจากโลกนี้ไป ปล่อยให้แม่วัยใส กลอเรีย ต้องรับภาระเลี้ยงดูหนูน้อย เลอบรอน แต่เพียงผู้เดียว
หลังการเสียชีวิตของญาติผู้ใหญ่ทั้งสอง กลอเรีย หอบหิ้ว เลอบรอน ระหกระเหินไปขอนอนค้างตามอพาร์ทเมนต์ของบรรดาเพื่อนบ้าน, ญาติ ๆ, คนรู้จัก และเพื่อนสนิท เนื่องจากบ้านเดิมมีสภาพทรุดโทรมเกินจะมีกำลังทรัพย์ปรับปรุงซ่อมแซม ขณะเดียวกัน ทั้งสองแม่ลูกยังต่างมีชีวิตอยู่รอดบางช่วงมาได้เพราะคูปองอาหารฟรี หรือ ฟู้ดสแตมป์ และความช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐสวัสดิการ
ความไม่มั่นคงในครอบครัวทำให้ เลอบรอน ในวัยเยาว์เป็นเด็กพูดน้อย ขาดความมั่นใจในตัวเอง และขาดเรียนบ่อยครั้ง เพราะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และต้องย้ายที่หลับนอนเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม แม้ กลอเรีย จะยังชอบเที่ยวเล่นตามประสาแม่วัยใส แต่เธอก็คอยดูแลเอาใจใส่ เลอบรอน และเป็นเกราะป้องกันเขาให้ห่างจากอบายมุขต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี
ค้นพบพรสวรรค์ด้านกีฬา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของ “คิงเจมส์” เกิดขึ้นเมื่อเขามีอายุ 9 ขวบ เมื่อ บรูซ เคลเคอร์ โค้ชอเมริกันฟุตบอลทีมเยาวชนท้องถิ่น มองเห็นศักยภาพด้านกีฬาในตัว เลอบรอน และชวนเขามาร่วมทีม East Dragons ก่อนที่ แฟรงค์ วอล์คเกอร์ โค้ชทีมเยาวชนอีกคนจะยื่นข้อเสนอให้ เลอบรอน มาพักอาศัยประจำอยู่ที่บ้านร่วมกับลูก ๆ ของเขาอีก 3 คน และนั่นเป็นประสบการณ์แรกในชีวิตของ เลอบรอน ที่ทำให้ได้สัมผัสความเป็นอยู่แบบครอบครัวที่แท้จริง
เลอบรอน แชร์ห้องนอนกับ แฟรงกี วอล์คเกอร์ จูเนียร์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมอเมริกันฟุตบอลเยาวชน และต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของเขาจนปัจจุบัน
ครอบครัววอล์คเกอร์ เลี้ยงดู เลอบรอน เหมือนลูกแท้ ๆ อีกคน และเป็น แฟรงค์ผู้พ่อที่สอน เลอบรอน เล่นบาสเกตบอลอย่างจริงจัง ทั้งทักษะการเลี้ยงลูก และขึ้นเลย์อัพทำแต้มด้วยมือซ้าย ก่อนจะพาไปเข้าทีมบาสฯ เยาวชนอายุ 9 ปี และใส่ชื่อเข้าร่วมเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมรุ่นน้องอายุ 8 ปี โดยแฟรงค์ เชื่อว่า การเป็นโค้ชจะช่วย เลอบรอน พัฒนาทักษะการเล่นกีฬาชนิดนี้ได้อย่างรวดเร็วและรอบด้าน ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องจริง
เลอบรอน ฉายแววอัจฉริยะในกีฬายัดห่วงตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นมัธยมปลายที่ เซนต์วินเซนต์-เซนต์แมรี ไฮสคูล โดยเอกลักษณ์ของเขา คือ การผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างรูปร่างที่สูงใหญ่ (ปัจจุบันสูง 6 ฟุต 9 นิ้ว หรือ 205 ซม.) กับความคล่องแคล่วว่องไวในสนาม และวิสัยทัศน์ในการอ่านเกม จนได้รับรางวัลมากมาย และกลายเป็นที่จับตาของหลายมหาวิทยาลัยที่อยากได้ไปร่วมทีม
อย่างไรก็ตาม หลังจบไฮสคูลในวัย 18 ปี เลอบรอน ตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนักบาสฯ NBA ทันที คล้ายเส้นทางของ โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสฯ ทีม แอลเอ เลเกอร์สผู้ล่วงลับ และก็เป็นไปตามคาด “คิงเจมส์” เป็นนักบาสฯ คนแรกที่ถูกเลือกในการดราฟต์ตัวเข้าสู่ลีก NBA ในปี 2003 โดย คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ทีมดังในบ้านเกิด คือ ผู้โชคดีที่ได้ผู้เล่นดาวรุ่งพุ่งแรงในตำแหน่งฟอร์เวิร์ดคนนี้ไปครอง
เส้นทางราชา NBA
เลอบรอน ยังคงทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง ได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของ NBA ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ลงเล่น และเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในขณะนั้นที่ได้รับรางวัลนี้ในวัย 20 ปี นอกจากนี้ยังช่วยให้ “แคฟส์” ยกระดับทีมขึ้นมามีลุ้นแชมป์ แต่หลังจากรับใช้ทีมบ้านเกิดอยู่นาน 7 ฤดูกาล และยังไม่สามารถคว้าแชมป์แรกในชีวิตมาครองได้ เลอบรอน ตัดสินใจย้ายไปเล่นให้ ไมอามี ฮีท ในฐานะฟรีเอเจนต์ หรือนักกีฬาที่ไม่มีสัญญาผูกมัดกับทีมใดในฤดูกาล 2010-11
การตัดสินใจครั้งนั้นนำมาซึ่งการต่อว่าต่อขานกันอย่างอึกทึกของแฟนบาสฯ ในบ้านเกิด โดยเฉพาะ แดน กิลเบิร์ต ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ซึ่งเรียกการย้ายทีมของ เลอบรอน ว่าเป็น “ความเห็นแก่ตัว” “ไร้หัวจิตหัวใจ” และเป็น “ผู้ทรยศที่ขี้ขลาด”
อย่างไรก็ตาม หลังใช้เวลาปรับตัวที่ ไมอามี แค่ซีซั่นเดียว เลอบรอน ก็พิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่า เขาตัดสินใจถูกแล้วที่ย้ายทีม เพราะสามารถพา ฮีท เอาชนะโอคลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ ในรอบชิงชนะเลิศ และคว้าแชมป์ NBA สมัยแรกของตัวเองได้สำเร็จ แถมยังทำได้ 2 ปีติดต่อกัน ก่อนจะนำประสบการณ์ที่ได้ย้ายกลับไปเล่นที่ คลีฟแลนด์ และพาทีมบ้านเกิดคว้าแชมป์แรกในประวัติศาสตร์ของทีมได้ในปี 2016
วันที่ 1 กรกฎาคม 2018 เลบรอน ประกาศย้ายทีมอีกครั้งไปอยู่กับ แอลเอ เลเกอร์ส ด้วยสัญญา 4 ปี มูลค่า 153.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยก่อนย้ายมา ผลงานของ เลเกอร์ส ตกต่ำ ไม่สามารถผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟถึง 6 ปีติด แต่หลังจาก “คิงเจมส์” ใช้เวลาปรับตัวกับทีมนี้แค่ฤดูกาลเดียว เลเกอร์ส ก็กลับมาผงาดคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง
เลอบรอน เจมส์ คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 4 และได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นทรงคุณค่าที่สุด (MVP) ในรอบชิงชนะเลิศทั้ง 4 สมัย
ผู้นำเรียกร้องความยุติธรรมให้สังคม
แน่นอนเขายอมรับว่ารู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จในเกมกีฬา แต่ในใจลึก ๆ แล้ว เขาต้องการได้รับการจดจำในฐานะผู้ประสบความสำเร็จนอกสนามแข่งขันมากกว่า และเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมไม่ได้ใช้ชีวิตโดยคิดถึงเรื่องมรดกตกทอด แต่สิ่งที่ผมทำนอกสนามมันมีความหมายกับผมมากกว่าสิ่งที่ทำในสนาม”
เลอบรอน และกลอเรีย ก่อตั้งองค์กรการกุศลชื่อ LeBron James Family Foundation ในปี 2004 เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้ทุกข์ยากในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวคอยเลี้ยงดูค้ำจุน เหมือนที่เขาเคยมีประสบการณ์กับตัวเองมาในอดีต
นอกจากนี้ มูลนิธิดังกล่าวยังจัดโครงการอื่น ๆ เพื่อสังคมอีกมากมาย อาทิ การสร้างสนามเด็กเล่นในพื้นที่ขาดแคลน และเป็นเจ้าภาพจัดงานปั่นจักรยานประจำปี เพื่อระดมเงินบริจาค และปลุกจิตสำนึกให้กับสาธารณชนในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ
ความเป็นเลิศด้านกีฬา และความสำเร็จที่เข้ามาในชีวิต ยังช่วยให้ เลอบรอน ในวัยเด็กที่เคยขี้อาย พูดน้อย กลายเป็นนักกีฬาที่มีความโดดเด่นด้านภาวะการเป็นผู้นำ เชื่อมั่นในตนเอง และกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อออกมาให้สังคมรับรู้
เลอบรอน ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง ทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 48 ล้านบัญชี ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และต่อต้านการเหยียดผิวจากกระแส Black Lives Matter อย่างแข็งขัน ขณะเดียวกันก็สวมเสื้อสกรีนข้อความรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งระหว่างการฝึกซ้อม และนอกสนามแข่งขัน
นักกีฬาแห่งปี 2020
เหตุผลสำคัญที่ทำให้นิตยสารไทม์ เลือก เลอบรอน เจมส์ เป็น “นักกีฬาแห่งปี 2020” มาจากความเคลื่อนไหวของเขาระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี จนทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำที่ถูกวิจารณ์เรื่องสร้างความแตกแยก และเป็นคนเหยียดเชื้อชาติ พ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศสหรัฐฯ ต่อเป็นสมัยที่สอง
“เขามีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้” คริสโตเฟอร์ ทาวเลอร์ อาจารย์ผู้ก่อตั้งโครงการ Black Voter Project จาก California State University กล่าวถึงบทบาทของ เลอบรอน ต่อผลเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ที่ โจ ไบเดน เอาชนะ ทรัมป์ ได้สำเร็จ
“เลอบรอน เจมส์ สามารถอุดช่องว่างมหึมาในการพยายามสร้างการขับเคลื่อนทางสังคมในอนาคต และสร้างอำนาจให้กับคนผิวดำได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ในแบบที่นักการเมือง นับตั้งแต่ (บารัค) โอบามา ไม่สามารถทำได้” ทาวเลอร์ เผย
ในระหว่างที่การหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2020 ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ควบคู่กับการประท้วงต่อต้านกระแสตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำเกินขอบเขต เลอบรอน ร่วมเป็นแกนนำเปิดตัวองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อ More Than a Vote โดยมีเป้าหมายเดียว คือ การระดมประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด โดยเฉพาะคนผิวดำที่ถูกสภาพแวดล้อมทางสังคมกดทับไม่ให้สามารถออกมาใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่
เลอบรอน สามารถระดมแนวร่วมที่เป็นเซเลบฯ ได้เกือบ 50 คน ทั้งนักกีฬา ดาราบันเทิง และคนดังในแวดวงสื่อมวลชน ที่ออกมาช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการ นอกจากนี้ เขายังเป็นแกนนำนักบาสฯ NBA ในการต่อรองกับเจ้าของทีม เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงิน และเปลี่ยนสนามกีฬาเป็นคูหาเลือกตั้ง แลกกับการกลับมาลงสนามแข่งขันอีกครั้ง หลังทีม มิลวอคกี บัคส์ จุดกระแส “วอล์ค เอาต์” ไม่ลงแข่งรอบเพลย์ออฟ เพื่อประท้วงเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงสังหาร จาคอบ เบลค ในรัฐวิสคอนซิน
การเจรจาประสบความสำเร็จด้วยดี เจ้าของทีม NBA ต่างรับปากจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เลือกตั้งเพื่อใช้สนามกีฬาเป็นคูหาเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสะดวกปลอดภัยแล้ว ยังง่ายต่อการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่วัยรุ่น ช่วยกันออกมาเป็นอาสาสมัครประจำคูหาเลือกตั้งแทนผู้ใหญ่วัยชรา ซึ่งเสี่ยงอันตรายจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า
ฮีโร่ทั้งใน-นอกสนามกีฬา
สหภาพนักบาสฯ NBA เผยว่า โครงการ More Than a Vote ของ “คิงเจมส์” ทำให้มีนักบาสฯ ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2020 มากกว่าร้อยละ 95 เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ผ่านมาในปี 2016 ซึ่งมีนักบาสฯ สนใจใช้สิทธิเพียงร้อยละ 22
“เขา (เลอบรอน) ไม่ใช่แค่นักกีฬาที่เก่งที่สุด แต่เขายังมีเสียงอันทรงพลังมากที่สุดด้วย” นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสาวดาวรุ่งเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลมกล่าวถึง “คิงเจมส์” ขณะที่ ลูอิส แฮมิลตัน ซูเปอร์สตาร์นักแข่งรถผิวสีคนเดียวในศึกฟอร์มูลาวัน บอกว่า “เมื่อผมมองข้ามห้วยมาพบว่า มีสุดยอดนักกีฬาอีกคนกำลังต่อสู้ในเรื่องคล้ายกัน ผมรู้ทันทีว่า โอเค ผมไม่ได้อยู่ตรงนี้เพียงลำพัง”
ในเส้นทางนักกีฬาอาชีพ เลอบรอน ยังคงมุ่งมั่นฝึกซ้อมดูแลร่างกายเป็นอย่างดี และไม่มีท่าทีว่า พลังซูเปอร์สตาร์ในสนามของเขาจะลดลงไป แม้วัยล่วงเข้า 35 ปี
ปัจจุบัน เลอบรอน สมรสอยู่กินกับ สะวันนาห์ บรินสัน ภรรยาซึ่งรักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนไฮสคูล มีลูกด้วยกัน 3 คน (เลอบรอน จูเนียร์, บริซ แม็กซิมัส และ ซูห์รี) โดยความใฝ่ฝันของเขา คือ การลงเล่นบาสฯ อาชีพต่อไป จนกระทั่งลูกชายคนโต เรียนจบไฮสคูลในปี 2022 และได้ลงสนามพร้อมกันใน NBA
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น เลอบรอน บอกว่า “มันจะไม่มีทางกลับไปทำให้เราแค่เล่นกีฬาของเราไปวัน ๆ มันจะไม่มีทางกลับไปเป็นแบบนั้นตราบใดที่ผมยังอยู่ตรงนี้ และก็หวังว่า ผมจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาคนอื่น ๆ เพียงพอที่ในยามเมื่อผมจากไป มรดกนั้นจะยังคงตกทอดอยู่ต่อไป”
นั่นคือคำประกาศลั่นของ “คิงเจมส์” นักกีฬาสู้ชีวิตผู้ก้าวข้ามวัยเด็กอันแสนขมขื่น สู่ “ราชา” นักบาสฯ ผู้ทำลายกำแพงความเชื่อเดิม ๆ และใช้พรสวรรค์ด้านกีฬาที่มีในตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งตนเองและคนรอบตัวได้อย่างแท้จริง
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ข้อมูลอ้างอิง:
https://time.com/athlete-of-the-year-2020-lebron-james/
https://edition.cnn.com/.../lebron-james-time.../index.html
https://www.nba.com/news/lebron-james-named-times-2020-athlete-of-the-year
https://www.bbc.com/sport/basketball/54511347
https://www.espn.com/nba/story/_/id/30472113/lebron-james-best-thing-extension-potential-future
https://www.biography.com/athlete/lebron-james
https://www.espn.com/nba/story/_/id/9825052/how-lebron-james-life-changed