แจ็ค ดอร์ซีย์ Twitter: โปรเจกต์มูลค่า 30,000 ล้านเหรียญฯ ที่ 2 ปีแรกรายได้เท่ากับ 0
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าธุรกิจระดับหมื่นล้านจะมีจุดเริ่มต้นมาจากโรงรถหรือห้องเล็ก ๆ ในอพาร์ตเมนต์ ทวิตเตอร์ก็เช่นกัน แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้จุดประกายความคิดและริเริ่มทุกอย่างด้วยความเนิร์ดของเขาเอง คอนเซปต์ตัวอักษร 140 ตัว (ปัจจุบันนี้มากกว่านั้นครึ่งหนึ่ง) เพื่อบรรยายกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ เกินกว่าที่จะมีคนมาสนใจ แต่ในเวลาต่อมา ทวิตเตอร์กลายเป็นเครื่องมือของนักปฏิวัติในหลายประเทศ ตัวเลขผู้ใช้ที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี สวนทางกับรายได้ที่เขาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องนานถึง 11 ปี และ 3 ปีแรกทำเงินได้เท่ากับ 0
ในช่วงเวลาเริ่มต้นธุรกิจ อะไรกันที่ทำให้แจ็คยังเชื่อในพลังของเจ้านกสีฟ้าตัวนี้อยู่?
ดร็อปเรียนและตกงาน พล็อตสำเร็จรูปของเหล่าผู้นำยูนิคอร์น
ปี 1999 แจ็คตัดสินใจดร็อปการเรียนของเขาที่ New York University สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าจะเหลือเวลาเรียนอีกเพียงเทอมเดียว และอยู่ในมหาวิทยาลัยในฝันของเขาตั้งแต่เด็ก ในหัวของเขามีสิ่งที่อยากทำอยู่อย่างหนึ่งคือการสร้างโครงข่ายให้มนุษย์ได้สื่อสารกันรวดเร็ว ไม่ใช่แค่ระหว่างคนสองคน แต่คือการบอกให้คนในสังคมได้รับรู้ว่า ‘ตอนนี้ฉันกำลังทำอะไรอยู่’
ด้วยความเนิร์ด เขาแฮ็กเข้าระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วส่งอีเมลไปที่ผู้จัดการ แทนที่เขาจะโดนเรียกตำรวจจับ แจ็คได้งานแรกหลังออกจากมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในทีมพัฒนาการส่งข้อความแบบ SMS โปรแกรมน้องใหม่ในตอนนั้นที่ให้ผู้รับได้อ่านข้อความจากผู้ส่งทันที
หลายปีต่อมา แจ็คได้เลื่อนตำแหน่งให้ไปทำซอฟต์แวร์สำหรับส่งข้อความขนาดสั้น ติดตั้งในรถแท็กซี่และรถพยาบาล แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เขาถนัดและสนใจ แต่พระเจ้าบอกว่าเขาอาจจะประสบความสำเร็จเร็วไป ในปี 2000 เกิดวิกฤต Dot-Com Bubble ธุรกิจดิจิทัลหลายแห่งล้มระเนระนาด รวมถึงโครงการที่แจ็คทำอยู่ซึ่งกำลังไปได้ดี เขาตกงาน เป็นฟรีแลนซ์อยู่ราว 5 ปี และตัดสินใจลงเรียนคอร์สหมอนวดเพื่อหาเงิน ความหวังในโลกเทคโนโลยีระเหยไปกับอากาศหมดแล้ว
แจ็คเป็นคนพูดน้อย เขาเลยอยากให้ทุกคนส่งข้อความถึงกันแทนการพูด
ปี 1976 แจ็ค ดอร์ซีย์ เกิดที่รัฐมิสซูรี ทุกคนบอกว่าแจ็คเป็นเด็กผู้ชายพูดน้อย เขาชอบคอมพิวเตอร์และใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันศึกษาระบบเครื่อง IBM คนใกล้ตัวบอกว่าเขาเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป ชอบเล่นเทนนิส ชอบวาดรูป ชอบศิลปะ และเข้าชมรมคอมพิวเตอร์ เขาไม่ได้ดูอัจฉริยะตั้งแต่เกิด โตมาเหมือนคนทั่วไป
แต่อย่างหนึ่งที่แจ็คหลงใหลตั้งแต่เขาเป็นวัยรุ่นเลยก็คือ ‘ผังเมือง’ เขาฝันว่าจะสร้างการเคลื่อนไหวในนิวยอร์กแบบเรียลไทม์ รู้ได้ว่ารถแต่ละคันกำลังวิ่งไปทางไหน ตอนที่ครอบครัวของเขาย้ายจากมิสซูรีไปเดนเวอร์ แจ็คซื้อแผนที่ให้ตัวเองแล้วเดินไปรอบเมืองจนค่ำทุกวัน เห็นอย่างนี้แล้วคุณคงคิดว่าแจ็คน่าจะอยากโตไปเป็นสถาปนิกหรือคนออกแบบเมืองอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่เลย
หลังจากที่เขาสำรวจเมืองอย่างทะลุปรุโปร่ง แจ็คในวัย 14 กลับมาที่บ้านแล้วเริ่มเขียนโปรแกรมตัวหนึ่งขึ้นมา ในหัวของเขาคือ แทนที่คนขับแท็กซี่จะใช้วิทยุสื่อสารคุยกันว่าตัวเองกำลังอยู่ไหนและทำอะไรอยู่ ทำไมเราไม่ใช้วิธีส่งข้อความเอา แจ็คผู้เงียบขรึมกำลังหาวิธีการสื่อสารอื่นแทนการพูด เพื่อให้คนจำนวนมากได้รับรู้ในสิ่งที่เขาอยากบอก ความเป็นเมืองสำหรับเขาไม่ใช่ตึกหรือถนน แต่เป็นผู้คนที่อาศัยอยู่รวมกันในสังคมต่างหาก
อาหารเม็กซิกัน และสมุดโน้ตที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ปี 2006 แจ็คมีโอกาสได้กลับมาทำงานอีกครั้งในบริษัท Odeo สตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในซิลิคอนแวลลีย์ ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องอินเทอร์เน็ตตามเคย ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย อยู่ดี ๆ ผู้บริหารที่ชื่อ อีแวน วิลเลียมส์ ก็ประกาศเปรี้ยงลงมาว่าบริษัทมีปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ถ้าไม่หาอะไรทำเพิ่ม รับรองว่าต้องปิดตัวและลอยแพพนักงานแน่ ๆ อีแวนจึงแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ทีม บอกว่าให้ไปคิดมาว่าเราจะหาเงินจากอะไรกันดี
วันหนึ่งแจ็คกำลังนั่งกินอาหารเม็กซิกันอยู่ที่สนามหญ้า เขาคุยเล่นกับเพื่อนว่าอยากจะบอกคนทั้งโลกจังว่าตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และแล้วเขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา แจ็คที่เคยทำงานในตำแหน่งพัฒนาระบบ SMS รู้แล้วว่าจะใช้วิธีไหนสื่อสารกับคนทั่วโลกแทนการพูด เขารีบกลับบ้าน รื้อตู้เสื้อผ้าของตัวเองเพื่อหาสมุดโน้ตที่เคยจดเพื่อรวบรวมไอเดียต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่เด็ก จิ๊กซอว์ในหัวของเขาปะติดปะต่อกัน เราไม่ต้องส่งข้อความหาคนทั้งโลก แต่ต่อไปนี้ คนทั้งโลกจะอ่านความคิดของเราได้เพียงการพิมพ์แค่ครั้งเดียว
แจ็คกับเพื่อนในทีมใช้เวลา 2 อาทิตย์ขลุกอยู่ในออฟฟิศเพื่อเขียนโค้ดเริ่มต้นของโปรแกรมทวิตเตอร์ และให้กำเนิดโลโก้นกสีฟ้าขึ้นมาครั้งแรก เขากำลังคิดถึงเพื่อนในวัยเด็กจากเมืองที่เขาย้ายออกมา จะดีแค่ไหนถ้าต่อไปนี้เพื่อน ๆ จะได้รู้ทุกอย่างที่เขาคิด โดยไม่มีระยะทางมาเป็นอุปสรรคอีกต่อไป ใช่แล้ว เขาแค่คิดถึงเพื่อน
2 ปีแรก ‘เสียงร้องของนก’ ราคาเท่ากับศูนย์
แม้ว่าผ่านไป 2 ปีกว่า ภายใต้องค์กรที่มีพนักงานเพียง 15 คน จะผลักดันให้ทวิตเตอร์เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 ล้าน User อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรนี้ก็คือ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นทุกวัน แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ยังไม่สามารถทำรายได้แม้แต่เหรียญเดียว
ทวิตเตอร์ ก็เหมือนไอศกรีม
ในหัวของแจ็ค แอนด์ เฟรนด์ ทวิตเตอร์คือประดิษฐกรรมอันยิ่งใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนโลก แต่คนที่ได้ทดลองใช้ในช่วงแรก ๆ กลับให้ความเห็นว่าเป็นโปรแกรมที่ปัญญาอ่อน ไร้สาระ ทำไมต้องมาบอกคนอื่นด้วยว่าตอนนี้ตัวเองทำอะไรอยู่ ขนาดอีแวน เจ้าของ Odeo และผู้ให้เงินทุนในการพัฒนายังบอกกับแจ็คเลยว่า “ทวิตเตอร์นั้นเหมือนไอศกรีม กินแล้วรู้สึกอร่อยนะ แต่ไม่มีประโยชน์”
ขณะที่แจ็คกำลังตื่นเต้นอยู่กับผลงานใหม่ เขาคงลืมไปว่าโจทย์ของอีแวนคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อทำเงินให้กับบริษัทที่กำลังจะถังแตก แน่นอนว่าทวิตเตอร์ในช่วงเริ่มนั้นหาเงินไม่ได้สักบาท เริ่มมีคนรู้จักโปรแกรมทวิตเตอร์แล้ว แต่คนทำงานจะไม่มีเงินซื้อข้าวกินแม้แต่เหรียญเดียว แจ็คเริ่มคิดถึงเรื่องการระดมเงินทุน อยู่ดี ๆ เขาก็ได้รับกระดาษโน้ตหนึ่งแผ่น เป็นข้อความเชิญไปกินอาหารเช้าด้วยกัน เขารู้ดีว่านี่อาจเป็นโอกาสสุดท้าย เขาพยายามอธิบายงานของเขาให้กับเจ้าของนัดได้ฟังอย่างเต็มที่ เพียงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่กลับมาถึงออฟฟิศ เขาได้รับอีเมลฉบับหนึ่ง เป็นรูปสแกนเช็คเงินสดมูลค่า 5 แสนเหรียญ ลงชื่อว่า เฟร็ด วิลสัน แจ็คและ Odeo ได้ไปต่อ และจะไปได้ไกลกว่าเดิมเป็นพันเท่า
11 ปีแห่งธุรกิจไร้ซึ่งกำไร การเติบโตที่รอฤดูเก็บเกี่ยวอย่างยาวนาน
มีคนเคยบอกว่าธุรกิจแบบ ‘สตาร์ตอัป’ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อมีกำไร แต่คือการออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อหลอกล่อนายทุนให้เข้ามาซื้อต่อกิจการ นั่นต่างหากคือรายได้ที่แท้จริง
ไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 บริษัททวิตเตอร์ออกมาป่าวประกาศอย่างตื่นเต้นว่าสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งมายาวนานถึง 11 ปี โดยมีรายได้ในไตรมาสที่ 4 รวม 732 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นกำไรทั้งหมด 91 ล้านเหรียญฯ ถึงแม้ว่าภาพรวมของปี 2017 จะยังขาดทุนอยู่ 108 ล้านเหรียญฯ แต่ก็ดีกว่าปี 2016 มากที่ตัวเลขการขาดทุนนั้นสูงถึง 456 ล้านเหรียญฯ จนในตอนนั้นมีคนมาเขียนวิเคราะห์กันอย่างถล่มทลายว่าทวิตเตอร์กำลังจะตาย และเล่นตัวไม่ยอมขายให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เอาเงินจำนวนมากใส่พานเดินมาให้ถึงหน้าบ้าน
แต่เชื่อเถอะว่าแจ็คไม่ใช่คนโง่ ภายใต้การขาดทุนของทวิตเตอร์ (ที่อย่างน้อยก็มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ) เขาก็มีอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างกำไรไม่น้อย นั่นก็คือระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Square แจ็คประเมินแล้วว่าการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก แห่ขันหมากมาขอซื้อ ต้องเห็นอะไรบางอย่างในทวิตเตอร์ แถมหลังจากที่แจ็คปฏิเสธไป มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็เบนไปซื้อบริษัทอินสตาแกรมแทน แล้วเร่งพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้คล้าย (หรือเหมือน?) แอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่ไม่ยอมขายให้กับเขา
แจ็คคิดถูก ปัจจุบันทวิตเตอร์มีผู้ใช้แบบแอคทีฟมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับตัวเลขในการลงโฆษณาที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เคล็ดลับความสำเร็จของแจ็ค ดอร์ซีย์
ปี 2013 แจ็คและเพื่อนเข็นทวิตเตอร์เข้าตลาดหุ้นอเมริกา ในวันแรกที่เปิดการขาย ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นจาก IPO ถึง 182%
นอกจากเฟร็ดจะเซ็นเช็คจำนวนครึ่งล้านให้กับแจ็คแล้ว เขายังรับหน้าที่เข้ามาช่วยบริหารเพื่อแจ็คจะได้มีเวลาพัฒนาระบบของทวิตเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น ในตอนที่โลกยังตื่นเต้นกับมือถือจอสีและการส่ง SMS อย่างไม่จำกัด แจ็คปล่อยทวิตเตอร์ออกมาเป็นตัวเลือกใหม่ ในงานประกาศรางวัล Southwest Film Festival 2007 บริษัททวิตเตอร์เอาจอมาตั้งตามจุดต่าง ๆ ในงาน แล้วโชว์ให้เห็นว่าทุก ๆ ข้อความที่ทวีตแล้วติดแฮชแท็กนั้น จะขึ้นโชว์ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการประมวลผลหรือจัดเรียงอะไรอีก ผู้คนตื่นเต้นกับความใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ทวิตเตอร์เริ่มเป็นที่ยอมรับในอเมริกา และมีคนสมัครเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าเฟซบุ๊กจะเป็นโซเชียลมีเดียเบอร์ใหญ่ซึ่งยากที่จะแข่งด้วย แต่คนดังทั้งฝั่งนักการเมือง และศิลปินตัวท็อปหลายคนก็สะดวกใจพิมพ์ข้อความสั้น ๆ หาแฟนคลับของตัวเองผ่านทวิตเตอร์มากกว่า ประดิษฐกรรมของเขาค่อย ๆ เติบโตไปทีละนิดเหมือนนิสัยของเขาไม่มีผิด แจ็คไม่ได้วู่วามในการทำธุรกิจ เขายังคงทำงานหนักอยู่อย่างเดิม
แจ็คทำงานวันละ 16 ชั่วโมง เพราะเขาคือสมองของทุกอย่าง เขาใช้เวลา 8 ชั่วโมงแรกไปกับทวิตเตอร์ และอีก 8 ชั่วโมงกับธุรกิจ Square เขาจะมีสมุดจดบันทึกเพื่อบอกตัวเองว่าตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์นั้นต้องทำอะไรบ้าง ในทุกเช้าก่อนเริ่มงาน แจ็คจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งนาทีดู Working Plan และลงมือทำงานทันที วันเสาร์ใช้ออกกำลังกาย ส่วนวันอาทิตย์เอาไว้อ่านคอมเมนต์ที่มีต่อบริษัทของเขา
ปัจจุบันทวิตเตอร์มีมูลค่าในตลาดประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ คูณเป็นเงินไทยก็ประมาณ 9 หมื่น 5 พันล้านบาท แถมยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในหลายประเทศ หน้าที่ของแจ็คคือสร้างแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้คนธรรมดา ๆ อย่างที่เขาเคยเป็น ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกต่อโลก จุดเริ่มต้นแค่นี้แหละที่พาเขามาไกลถึงขนาดนี้
ที่มา:
www.investerest.co/business/twitter-profit-first-time/
blog.hootsuite.com/twitter-statistics/
astrumpeople.com/jack-dorsey-biography-success-story-of-twitter-co-founder/
www.cnbc.com/2019/09/24/facebook-bought-instagram-because-it-was-scared-of-twitter-and-google.html
https://www.washingtonpost.com/news/the-switch/wp/2018/02/08/why-twitter-is-now-profitable-for-the-first-time-ever/
เรื่อง: พัธรพงศ์ เลิศปัญญาธรรม